อะราง
อะราง ชื่อสามัญ Copper pod[8]
อะราง ชื่อวิทยาศาสตร์ Peltophorum dasyrrhachis (Miq.) Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baryxylum dasyrrhachis Pierre, Caesalpinia dasyrhachis Miq., Peltophorum dasyrhachis (Miq.) Baker, Peltophorum dasyrhachis var. dasyrhachis, Peltophorum dasyrrhachis var. dasyrrhachis)[1],[8] จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[4]
สมุนไพรอะราง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ช้าขม จ๊าขาม (เลย), ร้าง อะล้าง (นครราชสีมา, อุดรธานี), อินทรี (จันทบุรี), คางรุง คางฮุ่ง (พิษณุโลก), กว่าแซก (เขมร-กาญจนบุรี), ตาแซก (เขมร-บุรีรัมย์), ราง (ส่วย-สุรินทร์), นนทรี (ภาคกลาง) เป็นต้น[1] (บ้างเรียกว่า นนทรีป่า (ฉะเชิงเทรา), ซ้าขม (เลย ), กร่าเซก (เขมร-กาญจนบุรี), คางรุ้ง (พิษณุโลก), ตาเซก (เขมร-บุรีรัมย์) เป็นต้น[2],[8]
ลักษณะของต้นอะราง
- ต้นอะราง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง 30 เมตร ต้นเล็กมักจะแตกกิ่งต่ำ แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะมีลักษณะเปลาตรง มีเรือนยอดเป็นรูปทรงกลมทึบ เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาล (บ้างว่าสีเทาหรือเทาอมน้ำตาล) เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ทั่วไป หรือแตกเป็นร่องตามยาวแบบตื้น ๆ เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลปนแดง ทีกิ่งและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงคลุมอยู่หนาแน่น มักขึ้นเป็นกลุ่มตามชายป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคเหนือ และขึ้นตามป่าโปร่งชื้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และมีเขตการกระจายพันธุ์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงอินโดนีเซีย[1],[2],3],[4],[8]
- ใบอะราง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับกัน ช่อใบมีความยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร มีช่อใบแขนงด้านข้างอยู่ตรงข้ามกันประมาณ 5-9 คู่ ในแต่ละช่อจะมีใบย่อยเล็ก ๆ ออกตรงข้ามกันคล้ายกับใบกระถิน โดยในแต่ละช่อใบจะมีใบย่อยอยู่ประมาณ 6-18 คู่ ซึ่งลักษณะของใบย่อยจะเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 10-25 มิลลิเมตร ปลายใบมนเว้าตื้นตรงกลาง โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนเกลี้ยงและเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนสีน้ำตาลอยู่ประปราย ที่ใบย่อยไม่มีก้านใบ[1],[2],[3]
- ดอกอะราง ออกดอกเป็นช่อแบบห้อยระย้าลงสู่พื้นดิน โดยออกตามซอกใบ ช่อดอกมีความยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลือง มีลักษณะตูมเป็นรูปไข่ กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ส่วนดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายมน โคนเรียว เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร และดอกอะรางจะบานในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม[1],[2],[3]
- ผลอะราง มีผลเป็นฝักแบน ผิวเรียบ ลักษณะของผลเป็นรูปบรรทัดแกมรูปหอก ขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ปลายและโคนผลสอบแหลม ผลเมื่อแห้งจะเป็นสีน้ำตาลแดงและแตกออกเป็นสองซีก (บ้างก็ว่าจะไม่แตกอ้าออกจากกัน) และมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด (ประมาณ 4-8 เมล็ด) เมล็ดมีลักษณะแบนเรียงตัวตามขวางของฝัก โดยจะออกผลในช่วงเดือนสิงหาคม[1],[2],[4],[5]
สรรพคุณของอะราง
- เปลือกต้นมีรสฝาด ใช้รับประทานรักษาโรคเกี่ยวกับโลหิต (เปลือกต้น)[1]
- เปลือกต้นใช้รับประทานเป็นยากล่อมเสมหะ รักษาโรคเกี่ยวกับเสมหะ (เปลือกต้น)[1],[6]
- ใช้เป็นยาช่วยขับลม (เปลือกต้น)[1],[3],[4],[6]
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือกต้น)[1],[3],[4],[6]
- เปลือกต้นใช้ต้มดื่มแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น)[1],[4]
ประโยชน์ของอะราง
- นิยมใช้ปลูกเป็นไม้เบิกนำ เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว จึงเหมาะสำหรับการปลูกเพื่อฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม[3],[4]
- ต้นอะรางสามารถนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีลักษณะของทรงพุ่มที่สวยงาม ดอกสวยมีสัน ทนความแล้งได้ดี ลักษณะโดยรวมคล้ายกับต้นนนทรี แต่ช่อดอกจะห้อยลง เหมาะแก่การปลูกในพื้นที่กว้าง หรือเป็นไม้ให้ร่มเงาตามสวนสาธารณะ ริมถนน ทางเดิน ที่จอดรถ ตามรีสอร์ท หรือริมทะเล ฯลฯ[3],[6]
- เปลือกต้นที่มีอายุมากใช้รับประทานได้ โดยขุดผิวด้านในออกมาแล้วสับให้ละเอียด ใส่ในส้มตำร่วมกับสับปะรดและมดแดง[7]
- เปลือกสามารถนำมาต้มกับเทียนไข เพื่อนำมาใช้ถูพื้นได้[5]
- เปลือกต้นใช้เป็นสีสำหรับย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีน้ำตาลแดง[7]
- เนื้อไม้อะรางสามารถเลื่อยผ่า ไสกบ และตกแต่งได้ง่าย จึงสามารถนำมาใช้ทำเครื่องเรือน วัสดุในการสร้างบ้าน เช่น ไม้กระดาน หน้าต่าง วงกบประตู ฯลฯ และยังใช้ทำเป็นเครื่องมือกสิกรรมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี[4],[5],[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “อะราง (A Rang)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 341.
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “อะราง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [25 ม.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “อะราง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [25 ม.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. “อะราง”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [25 ม.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “อะราง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th/plant/. [25 ม.ค. 2014].
- สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๓ (สาขาลำปาง). “อะราง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: lampang.dnp.go.th. [25 ม.ค. 2014].
- หนังสือพรรณไม้พื้นบ้านอีสาน เล่ม 1. “อะราง”. (สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม). หน้า 71.
- Tree2Go. “นนทรีป่า ต้นไม้ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tree2go.com. [25 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hai Le, Doksarapee, PongsawatD), www.copper.msu.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)