อะดรีนาลีน (Adrenaline) / เอพิเนฟริน (Epinephrine) สรรพคุณ วิธีใช้ ฯลฯ

อะดรีนาลีน (Adrenaline) / เอพิเนฟริน (Epinephrine) สรรพคุณ วิธีใช้ ฯลฯ

อะดรีนาลีน

อะดรีนาลีน (Adrenalin หรือ Adrenaline) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เอพิเนฟรินเอพิเนฟรีน / อิพิเนฟริน / อีพิเนฟริน (Epinephrine) จัดเป็นฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่ร่างกายสังเคราะห์มาจากสารนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนและสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติ และปกติร่างกายจะหลั่งอะดรีนาลีนมาจากต่อมหมวกไต (Adrenal gland)

นักวิทยาศาสตร์ได้สังเคราะห์สารอะดรีนาลีนและนำมาผลิตเป็นยาช่วยชีวิต เช่น ใช้เป็นยากู้ชีพในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น, อาการแพ้รุนแรงต่าง ๆ, โรคหืดระยะที่มีอาการรุนแรง, ใช้ผสมกับยาชาเพื่อทำหัตถการต่าง ๆ ทางการแพทย์ เป็นต้น

ตัวอย่างยาอะดรีนาลีน

ยาอะดรีนาลีน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อะดรีนาลีน แอตแลนติก (Adrenaline atlantic), อะดรีนาลีน จีพีโอ (Adrenaline GPO), ชาโลเคน วิท อะดรีนาลีน (Chalocaine with Adrenaline), อีพิเพ็น (EpiPen), ลิโดเคชั่น (Lidocation), สแกนโดเนสท์ (Scandonest), เซ็พทาเนสท์ 4% เอสพี อินเจ็กชั่น (Septanest 4% SP Injection), ไซโลเคน (Xylocaine) ฯลฯ

รูปแบบยาอะดรีนาลีน

อะดรีนาลีนเป็นยาอีกตัวหนึ่งที่ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยระบุเป็นยารักษาอาการหัวใจล้มเหลว รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมของยาชาและใช้หัตถการด้านทันตกรรม โดยรูปแบบของยาอะดรีนาลีนนั้นจะมีทั้งรูปแบบยาฉีด ยาพ่น และยาหยอดตา แต่สำหรับที่ใช้กันในประเทศไทยเรามักพบเห็นการใช้ยาอะดรีนาลีนในรูปแบบของยาฉีดเป็นส่วนใหญ่ โดยจะมีใช้ในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและของเอกชนทั่วไป สำหรับยาในรูปแบบฉีดนั้นมีดังนี้

  • ยาฉีดขนาดความแรง 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (1:1,000) บรรจุในหลอด 1 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดที่บรรจุตัวยา 0.3 และ 0.15 มิลลิกรัม
  • ยาฉีดที่ผสมร่วมกับยาชาลิโดเคน (Lidocaine) ได้แก่ Lidocaine HCl 10 mg/mL + Adrenaline 1:200,000 (5 mcg/mL) และ Lidocaine HCl 20 mg/mL + Adrenaline 1:200,000 (5 mcg/mL)

อะดรีนาลีน
IMAGE SOURCE : www.wikimedia.org (by Jfoldmei), emergencypedia.com

สรรพคุณของยาอะดรีนาลีน

  1. ใช้เป็นยากู้ชีพในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นฉุกเฉิน (Cardiac arrest)[2],[3]
  2. ใช้รักษาภาวะหัวใจหยุดสนิท (Asystole)[3]
  3. ใช้รักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว (Ventricular fibrillation)[3]
  4. ใช้รักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ (Ventricular tachycardia)[3]
  5. ใช้รักษาอาการแพ้ (Allergic reaction)[3]
  6. ใช้รักษาลมพิษชนิดรุนแรงหรือลมพิษยักษ์ (Angioedema)[1]
  7. ใช้รักษาโรคหืด (Asthma) ช่วงที่มีอาการรุนแรง[2],[3]
  8. ใช้รักษาอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylactic shock หรือ Anaphylaxis)[1],[2],[3]
  1. ใช้รักษาปฏิกิริยาอะนาไฟแล็กทอยด์ (Anaphylactoid reaction)[1]
  2. ใช้รักษาอาการตีบแคบของช่องทางเดินหายใจซึ่งเกิดจากการอักเสบของกล่องเสียงและหลอดลม (Croup)[2]
  3. ใช้รักษารูม่านตาขยาย (Pupillary dilation)[3]
  4. ใช้รักษาภาวะมีความดันในลูกตาสูง (Ocular hypertension) เช่น ในโรคต้อหิน, ผู้ที่สายตาสั้นมาก ๆ, โรคเบาหวาน, ผู้สูงอายุ[2]
  5. ใช้รักษาอาการต้อหินประเภท Open-angle glaucoma[2]
  6. ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)[3]
  7. ใช้รักษาอาการช็อก (Shock)[3]
  8. ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ (Bradyarrhythmia)[3]
  9. ใช้ผสมกับยาชา เช่น ยาลิโดเคน (Lidocaine) เพื่อทำหัตถการต่าง ๆ ทางการแพทย์[2]
  10. ใช้ห้ามเลือดที่ออกจากหลอดเลือดฝอย เช่น ใช้ผ้าก๊อซชุบยานี้อุดจมูกเพื่อรักษาเลือดกำเดา[1]

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะดรีนาลีน

อะดรีนาลีนเป็นยาในซิมพาโทมิเมติก (Sympathomimetic) ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับชื่อ แอดริเนอจิก ทั้งแอลฟาและเบต้า (Alpha and Beta adrenergic receptors) ซึ่งเป็นตัวรับที่ทำงานเกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติ ส่งผลให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลม กระตุ้นการทำงานของหัวใจ รวมถึงทำให้หลอดเลือดบริเวณกล้ามเนื้อคลายตัว ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณดังกล่าว[2]

ส่วนการใช้อะดรีนาลีนในรูปแบบที่ผสมกับยาชา จะทำให้ลดการดูดซึมของยาชาจากบริเวณอวัยวะที่ใช้ยาชานั้น ทำให้ยาชาออกฤทธิ์ได้นานและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น[2]

ก่อนใช้ยาอะดรีนาลีน

เมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดรวมถึงยาอะดรีนาลีน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาอะดรีนาลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาอะดรีนาลีนร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูง เช่น กัวเนธิดีน (Guanethidine), เมทิลโดปา (Methyldopa) อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันจะต้องเฝ้าระวังความดันโลหิตให้เป็นปกติอยู่เสมอ หรือแพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยเป็นกรณีไป[2]
    • การใช้ยาอะดรีนาลีนร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือดหรือยารักษาโรคเบาหวาน เช่น อะโลกลิปทิน (Alogliptin), เมทฟอร์มิน (Metformin) อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดน้ำตาลในเลือดด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยเป็นกรณีไป[2]
    • การใช้ยาอะดรีนาลีนร่วมกับยารักษาโรคซึมเศร้าประเภท Tricyclic and tetracyclic antidepressants (TCAs) อาจกระตุ้นทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นผิดจังหวะ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน หรือแพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยเป็นกรณีไป[2]
    • การใช้ยาอะดรีนาลีนร่วมกับยาขับปัสสาวะ (Diuretics drugs) และยาดิจิทาลิส (Digitalis) ซึ่งเป็นยารักษาอาการโรคหัวใจล้มเหลวและหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้[1]
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาอะดรีนาลีน

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาอะดรีนาลีน[2]
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจเต้นเร็ว[2]
  • ห้ามใช้ยานี้เพื่อรักษาต้อหินประเภท Angle-closure glaucoma[2]
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาชาและฉีดเข้าบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า หู จมูก และอวัยวะเพศ[2]
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาขับปัสสาวะและยาดิจิทาลิส (Digitalis) เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้[1]
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) เพราะยานี้จะทำให้ความดันสูง หัวใจเต้นแรงและเร็วผิดจังหวะ ซึ่งอาจทำให้เป็นอันตรายได้[1],[2]
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และผู้สูงอายุ และการให้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น[2]

วิธีใช้ยาอะดรีนาลีน

  • สำหรับใช้รักษาภาวะหัวใจหยุดเต้นฉุกเฉิน (Cardiac arrest), ภาวะหัวใจหยุดสนิท (Asystole), ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว (Ventricular fibrillation) และภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ (Ventricular tachycardia) ในผู้ใหญ่ ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดในขนาด 0.5-1 มิลลิกรัม (5-10 มิลลิลิตร) และให้ยาซ้ำในขนาด 0.5 มิลลิกรัม (5 มิลลิลิตร) ทุก ๆ 5 นาทีในระหว่างการกู้ชีพ (ส่วนในเด็กเฉพาะสำหรับการรักษาภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดในขนาด 0.01-0.03 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว)[3]
  • สำหรับรักษาโรคหืด (Asthma) ที่อาการรุนแรง ในผู้ใหญ่ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดในขนาด 0.1-0.25 มิลลิกรัม (1-2.5 มิลลิลิตร) อย่างช้า ๆ เพียงครั้งเดียว ส่วนในเด็กทารก (0-1 เดือน) ให้ฉีดเข้าหลอดเลือดในขนาด 0.01 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อย่างช้า ๆ เพียงครั้งเดียว ส่วนในเด็กอ่อน (อายุ 1-12 เดือน) ให้ฉีดเข้าหลอดเลือดในขนาด 0.05 มิลลิกรัม อย่างช้า ๆ เพียงครั้งเดียว และอาจซ้ำได้ทุก 20-30 นาทีตามความจำเป็น[3] (ในปัจจุบันไม่แนะให้ใช้ยานี้ฉีดรักษาอาการหืดกำเริบรุนแรงแล้ว เนื่องจากมียาอื่นที่ได้ผลและปลอดภัยมากกว่า[1])
  • สำหรับรักษาอาการแพ้ (Allergic reaction) และอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนัก 30 กิโลกรัมขึ้นไป ให้ฉีดยาในขนาด 0.3 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนังบริเวณส่วนหน้าทางด้านข้างของต้นขา และหากจำเป็นอาจต้องใช้ยาซ้ำ (ในเด็กที่มีน้ำหนักตัว 15-30 กิโลกรัม ให้ฉีดยาในขนาด 0.15 มิลลิกรัม ส่วนเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 30 กิโลกรัม ให้ฉีดยาในขนาด 0.3 มิลลิกรัม ด้วยวิธีเดียวกันและให้ยาซ้ำได้เมื่อจำเป็น)[3]
  • สำหรับใช้รักษาภาวะความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) และอาการช็อก (Shock) ในผู้ใหญ่ ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดในขนาด 0.05-2 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที และปรับขนาดยาตามค่าความดันเลือดแดงเฉลี่ย (MAP)[3]
  • สำหรับใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ (Bradyarrhythmia) ในผู้ใหญ่ ให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดในขนาด 2-10 ไมโครกรัม/นาที และปรับขนาดยาตามการตอบสนองของผู้ป่วย[3]

การเก็บรักษายาอะดรีนาลีน

  • ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เก็บยาไม่ให้ถูกแสง และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น)
  • ให้ทิ้งยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว เช่น ยาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

ผลข้างเคียงของยาอะดรีนาลีน

ยานี้อาจทำให้มีอาการตื่นเต้น ใจสั่น มือสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน[1] ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น เหงื่อออกมาก น้ำลายออกมาก น้ำตาลในเลือดสูงเพิ่มขึ้น อ่อนเพลีย มีอาการตัวสั่น เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (ก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อเป็นตะคริว หัวใจเต้นผิดปกติ) ตาพร่ามัว ตากลัวแสง ตัวบวม รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหารและลำไส้ อาหารไม่ย่อย ปัสสาวะขัด เป็นต้น[2]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “อะดรีนาลีน (Adrenaline)/เอพิเนฟรีน (Epinephrine)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 273-274.
  2. หาหมอดอทคอม.  “อะดรีนาลีน (Adrenaline)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [25 ต.ค. 2016].
  3. Drugs.com.  “Epinephrine Dosage”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [25 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด