อรพิม
อรพิม ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia winitii Craib (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clypea venosa Blume) (เนื่องจากพรรณไม้ชนิดนี้เป็นพรรณที่พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ชื่อวิทยาศาสตร์ของพรรณไม้ชนิดนี้มาจากชื่อของพระยาวินิจวนันดร นักพฤกษศาสตร์ชาวไทยในอดีต ซึ่งเป็นผู้ค้นพบและเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นคนแรก) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[2]
สมุนไพรอรพิม มีชื่อท้องถิ่นอื่นว่า คิ้วนาง (ภาคกลาง)[1]
ลักษณะของอรพิม
- ต้นอรพิม จัดเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยไปได้ไกล ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก เปลือกเถาเรียบเป็นสีน้ำตาล ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล และมีมือสำหรับยึดเกาะ อรพิมเป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่นของเมืองไทย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้นและดินร่วนซุยระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำปานกลาง และชอบแสงแดดจัดแบบเต็มวัน พบได้ทางภาคเหนือตอนล่างแถบจังหวัดนครสวรรค์ หรือทางภาคกลางที่จังหวัดสระบุรี ลพบุรี และทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยมักขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ หรือตามที่โล่งบนเขาหินปูนเตี้ย ๆ ที่ระดับความจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100 เมตร[1],[2],[3]
- ใบอรพิม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบค่อนข้างกลม ปลายใบมนเว้าลึกเกือบถึงโคนใบเป็นสองแฉก เกิดช่องว่างเป็นระยะห่างระหว่างสองแฉกประมาณ 0.8-1.6 เซนติเมตร ปลายของแต่ละแฉกจะมน โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าหลังใบเรียบเกลี้ยง ส่วนท้องใบปกคลุมไปด้วยขนสั้นประปราย เส้นใบมี 3-4 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.3 เซนติเมตร หูใบมีขนาดเล็กร่วงได้ง่าย[1],[2],[3]
- ดอกอรพิม ออกดอกเป็นช่อกระจะขนาดใหญ่ โดยจะออกดอกตามซอกใบและที่ปลายยอด ดอกย่อยมีก้านเรียงสลับบนแกนกลางลดหลั่นตามลำดับจากบนลงล่าง ช่อดอกยาวประมาณ 13-17 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาวนวล กลีบดอกบางมี 5 กลีบ ลักษณะกลีบย่นเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ดอกจะบานไม่พร้อมกัน ส่วนกลีบเลี้ยงยาวมี 5 กลีบ แยกจากกัน โคนเชื่อมติดกัน และแบ่งเป็นกลีบกลางกว้างประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร เป็นสีครีมรูปไข่กลับ ส่วนกลีบคู่ข้างและกลีบคู่ล่างจะมีขนาดเท่ากัน โดยมีความกว้างประมาณ 2.3-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศเมีย 1 อัน อยู่เหนือวงกลีบ มีขนสีน้ำตาลปกคลุมรวมไปถึงก้านชูดอกและก้านชูช่อดอก ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าอรพิมจะออกดอกในช่วงปลายฤดูฝนถึงฤดูหนาวหรือในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2],[3]
- ผลอรพิม ออกผลเป็นฝักแบนขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นรูปใบหอก ฝักบิดเล็กน้อย ผิวฝักเรียบเนียนเป็นสีน้ำตาลอมแดง ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ12-30 เซนติเมตร ส่วนก้านผลนั้นยาวได้ประมาณ 6-9.5 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่แล้วจะแตกออก ภายในมีเมล็ดประมาณ 6-10 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบนเกลี้ยง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร[1],[2]
สรรพคุณของอรพิม
- เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (เปลือกต้น)[1],[2]
- และยังมีข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุด้วยว่าอรพิมยังมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ แก้บิด และช่วยขับเสมหะด้วย (ข้อมูลไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้) โดยข้อมูลส่วนนี้ถูกอ้างอิงจากวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ของคุณระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์ ในเรื่องสารทุติยภูมิและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพืชสกุลชงโค หน้าที่ 116-130 (แต่ผู้เขียนหาไฟล์เอกสารต้นไม่พบ)
ประโยชน์ของอรพิม
- เปลือกต้นใช้เคี้ยวกินกับหมากแทนการใช้สีเสียดได้[1],[3]
- เส้นใยจากเปลือกไม้สามารถนำมาใช้ทำเชือกได้[3]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เพราะดอกมีความสวยงาม โดยนิยมนำมาปลูกตามริมรั้ว ริมทางเดิน แต่ถ้าจะปลูกขึ้นซุ้มก็ต้องเป็นซุ้มที่มีความแข็งแรงและมีขนาดใหญ่[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “อรพิม (Ora Phim)”. หน้า 338.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “อรพิม”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 196.
- สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “อรพิม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [25 ก.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by VanLap Hoàng, Kukiat Tanteeratarm, songkran01), www.gotoknow.org (by paaoobtong)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)