องุ่น
องุ่น ชื่อสามัญ Grape, Grape vine[2]
องุ่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitis vinifera L. จัดอยู่ในวงศ์องุ่น (VITACEAE)
องุ่น มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า ผูเถา (จีนกลาง), ผู่ท้อ (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[1]
ลักษณะของต้นองุ่น
- ต้นองุ่น จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยจำพวกเถา มีความยาวได้ประมาณ 10 เมตร ทั้งต้นมีขนปกคลุม เถาอ่อนผิวเรียบ ตามข้อเถามีมือสำหรับยึดเกาะ และมีขนปกคลุมทั้งต้น ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด[1],[2],[3]
- ใบองุ่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปกลมรี กลมรี หรือกลมรูปไข่ มีหยักคล้ายรูปฝ่ามือ หนึ่งใบจะมีรอยเว้าประมาณ 3-5 รอย ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเข้าหากันเป็นรูปหัวใจ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย เนื้อใบบาง ใต้ใบมีขนปกคลุม ความยาวและความกว้างของใบมีขนาดพอ ๆ กัน คือกว้างยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ส่วนก้านใบนั้นยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกองุ่น ออกดอกเป็นช่อตรงข้ามกันใบ ลักษณะกลมยาวใหญ่ ดอกย่อยเป็นสีเหลืองอมสีเขียว แบ่งเป็น 5 กลีบย่อย แตกออกเป็นแฉก 5 แฉก มีรังไข่ 2 อัน ในแต่ละรังไข่จะมีไข่อ่อน 2 เมล็ด ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรเพศผู้จะมีขนาดยาว ส่วนก้านเกสรเพศเมียสั้น กลม เมื่อดอกโรยจะติดผล[1]
- ผลองุ่น ออกผลเป็นพวง ผลย่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรีเป็นรูปไข่ ผลเป็นสีเขียว สีม่วงแดง หรือสีม่วงเข้ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ที่ปลูก เปลือกผลจะมีผงสีขาวเคลือบอยู่ เนื้อในผลขององุ่นจะฉ่ำน้ำ ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดองุ่นเป็นรูปยาวรี[1]
สรรพคุณขององุ่น
- ผลมีรสหวาน เปรี้ยวเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอ ม้าม และไต ใช้เป็นบำรุงโลหิต (ผล)[1],[2],[3]
- ผลมีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง (ผล)[2],[3] ให้ใช้ผลองุ่นแห้งและโสม อย่างละ 3 กรัม นำมาแช่ในเหล้าประมาณ 1 คืน แล้วนำมาทาบริเวณฝ่ามือและแผ่นหลัง (ผล)[1]
- ช่วยลดความดันโลหิตสูง (ผล)[2]
- ช่วยลดไขมันในเลือด ด้วยการใช้เมล็ดองุ่นนำมาบดให้เป็นผงแห้ง บรรจุแคปซูลกิน 1-2 เม็ด เช้าและเย็น (เมล็ด)[2]
- ผลมีสรรพคุณช่วยต้านมะเร็ง (ผล)[2]
- ผลนำมาคั้นเอาน้ำรับประทาน จะช่วยแก้อาการหงุดหงิดได้ (ผล)[1]
- ช่วยแก้หัวใจเต้นผิดปกติ แก้เหงื่อออกไม่รู้ตัว เหงื่อออกเนื่องจากหัวใจไม่ปกติ (ผล)[1],[2],[3]
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้เลือดน้อย โลหิตจาง (ผล)[1]
- เถาและใบมีรสชุ่มฝาด สุขุม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ตาแดง (เถาและใบ)[2],[3]
- ช่วยแก้อาการไอ ไอเรื้อรัง (ผล)[1],[3]
- ใช้รักษาอาการอาเจียนเป็นเลือด ด้วยการใช้รากองุ่นสด รากหญ้าคา รากไวเช่า รากบัวหลวง ใบสนแผง (สนหางสิงห์) และดอกแต้ฮวย อย่างละ 15 กรัม และเนื้อสัตว์นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)[3]
- ผลสดนำมาคั้นเอาน้ำรับประทานแก้กระหายน้ำ หรือใช้ผลสดนำมาคั้นเอาน้ำ แล้วใช้ภาชนะที่ปั้นด้วยดินเผา เคี่ยวผสมน้ำผึ้งเล็กน้อย เก็บไว้กินทีละน้อย (ผล)[1],[3]
- น้ำมันที่ได้จากเมล็ดเมื่อนำมากินก่อนหรือพร้อมอาหาร จะสามารถลดกรดที่มีมากเกินไปในกระเพาะอาหารได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[3]
- น้ำมันจากเมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาระบาย (น้ำมันจากเมล็ด)[3]
- องุ่นแห้งมีสรรรพคุณช่วยหล่อลื่นลำไส้ และเป็นยาระบายอ่อน ๆ (ผลแห้ง)[3]
- ใบใช้เป็นยารักษาบิดในวัวควาย (ใบ)[3]
- ช่วยบำรุงครรภ์ ครรภ์รักษา (ผล)[1],[2],[3]
- ราก เถา และใบ มีรสชุ่ม ฝาด เป็นยาสุขุม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด (ราก,เถา,ใบ)[1],[2],[3] ส่วนผลก็มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะเช่นกัน (ผล)[1],[2],[3]
- ผลมีสรรพคุณแก้ปัสสาวะขัด เจ็บ มีเลือดออก ด้วยการใช้ผลสดนำมาคั้นเอาน้ำ และน้ำต้มรากบัวหลวง น้ำต้มจากโกฐขี้เถ้า น้ำผึ้ง นำไปต้มกินครั้งละ 2 ถ้วยชา (ผล)[3]
- ผลมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคหนองใน (ผล)[2] ให้ใช้ผลสดนำมาคั้นเอาน้ำ และน้ำต้มรากบัวหลวง น้ำต้มจากโกฐขี้เถ้า น้ำผึ้ง นำไปต้มกินครั้งละ 2 ถ้วยชา (ผล)[3]
- ผลองุ่นมีสรรพคุณช่วยบำรุงไต (ผล)[1],[2],[3]
- ช่วยขับลมชื้นในร่างกาย แก้บวมน้ำ (ราก,เถา,ใบ)[1],[2],[3] แก้ตัวบวมน้ำ (ผล)[2],[3]
- ช่วยขับน้ำดี (น้ำมันจากเมล็ด)[3]
- องุ่นที่ไม่แก่จัดใช้กินวันละประมาณ 1.4-2.7 กิโลกรัม เป็นยารักษาอาการตับและดีเสื่อมสมรรถภาพหรือทำงานไม่ดี (ผล)[3]
- ใบใช้เป็นยาห้ามเลือดในริดสีดวงทวาร และบาดแผลสด (ใบ)[3]
- ใบและเถามีฤทธิ์ยาสมานแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น (แต่ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค) (ใบและเถา)[3]
- ราก เถา และใบ ใช้ภายนอกเป็นยารักษาฝีหนองอักเสบ แผลบวมเป็นหนอง (ราก,เถา,ใบ)[1],[2],[3]
- รากสดใช้ตำพอกแก้อาการฟกช้ำได้ (ราก)[3]
- ช่วยบำรุงเส้นเอ็นและกระดูก (ผล)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดหลัง ให้ใช้ผลองุ่นแห้งและโสม อย่างละ 3 กรัม นำมาแช่ในเหล้าประมาณ 1 คืน แล้วนำมาทาบริเวณฝ่ามือและแผ่นหลัง จะช่วยแก้อาการปวดหลังได้ (ผล)[1]
- รากและผลมีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดข้อ (ราก,ผล)[2],[3] ใช้แก้อาการปวดตามข้อให้ใช้รากสดประมาณ 60-90 กรัม และขาหมูตามบริเวณเล็บ 1 ขา หรือปลาหลีอื้อประมาณ 1-2 ตัว ใส่น้ำพอสมควร ต้มหรือใส่น้ำและเหล้าอย่างละเท่ากัน แล้วนำไปตุ๋นกิน (ราก)[3] ใช้แก้อาการปวดข้อเนื่องจากลมชื้นเข้าข้อกระดูก ด้วยการใช้รากองุ่น 100 กรัม, คากิ 1 อัน นำมาตุ๋นกับเหล้าและน้ำอย่างละ 1 ส่วน แล้วนำมารับประทาน (ราก)[1]
- ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก กระดูกร้าว กระดูกหัก ด้วยการใช้รากองุ่นสดนำมาตำแล้วพอก หรือจะนำมาตำแล้วนำมาคั่วกับเหล้าใช้พอกบริเวณที่เป็นก็ได้ (ราก)[1],[3]
- ผลมีสรรพคุณช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง (ผล)[2],[3]
หมายเหตุ : การใช้ตาม [1] ส่วนของผลสามารถนำมาใช้ได้ตามบริเวณที่ต้องการ โดยผลแห้งให้นำมาต้มน้ำรับประทาน ส่วนผลสดให้คั้นเอาน้ำรับประทาน หรือรับประทานเป็นผลไม้ก็ได้ หรือจะทำเป็นเหล้าองุ่นก็ได้เช่นกัน ส่วนรากให้ใช้รากสดครั้งละ 60-100 กรัม ถ้าเป็นรากแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนเถาและใบให้ใช้เถาและใบแห้งครั้งละ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ถ้าเป็นยาสดให้ใช้ตำพอกแผลภายนอก[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาขององุ่น
- ผลองุ่น มีน้ำตาล glucose, fructose, sucrose, xylose และพวกกรดอินทรีย์ ได้แก่ citric acid, oxalic acid, malic acid, tartaric acid, loxzlic acid นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วย polyphenol, proanthocyanin, flavonoid ผลองุ่น 100 กรัม ประกอบไปด้วยโปรตีน 0.2 กรัม, วิตามินบี1 0.04 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.01 มิลลิกรัม, วิตามินซี 4 มิลลิกรัม, กรดนิโคตินิค 0.1 มิลลิกรัม[1],[2] ส่วนผลและรากองุ่นพบสาร cyanidin, delphinidin, oenin, peonidin, petunidin, malic acid, nalvidin และยังพบโปรตีน แคลเซียม เป็นต้น[1]
- เปลือกผลองุ่น มี cyanidin, delphindin, peonidin, petunidin, malvidin, malvidin-3-B-glycoside[2]
- เมล็ดองุ่น พบน้ำมัน 9.58% Catechol, Gallocatechol และเกลือของ gallic acid[1],[2]
- เถาองุ่น มีน้ำตาลคืนรูป หรือ invert sugar, sucrose, แป้ง, ฟลาโวนอยด์, แทนนิน[2]
- ใบองุ่น มีกรดอินทรีย์ ได้แก่ citric acid, fumaric acid, glyceric acid, quinic acid, malic acid, shikimic acid, succinic acid, tartaric acid, oxalic acid นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วย quercitrin, isoquercitrin, rutin ส่วนในราก เถา และใบมียางและพวกน้ำตาล [2]
- ผลองุ่นมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง ช่วยลดคอเลสเตอรอล ต้านมะเร็ง ขยายหลอดเลือด ช่วยป้องกันไม่ให้หัวใจเต้นผิดปกติ[2]
- เมื่อปี ค.ศ.2004 ที่ประเทศจีน ได้ทำการทดลองผลของเมล็ดองุ่นในการลดไขมันในเลือด โดยทำการทดลองหาสาร proanthocyanidin ในองุ่น ทดลองกับกระต่าย 27 ตัว แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยให้อยู่ในห้องที่มีระบบแอร์คอนดิชั่นและให้อาหาร 10-120 g./ head per day และจำกัดน้ำดื่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2 ให้อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง 1% กลุ่มที่ 3 ให้อาหารผสมเมล็ดองุ่น 1% และมีคอเลสเตอรอลผสม 1% โดยทำการทดลองเป็นเวลา 12 สัปดาห์ มีการเจาะเลือดในระหว่างทำการทดลอง สัปดาห์ที่ 2, 4, 8 และ 12 โดยเจาะก่อนให้อาหาร 8 ชั่วโมง ผลการทดลองพบว่ากระต่ายกลุ่มที่ 3 มีระดับไขมันในเลือดลดลง ทั้ง cholesterol, triglyceride อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P[2]
- เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศรัสเซีย ได้ทำการทำลองผลในการลดไขมันขององุ่นกับอาสาสมัครจำนวน 44 คน ที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่เป็นโรคเบาหวาน แต่มีไขมันในเลือดสูง มีอายุประมาณ 40 ปี น้ำหนัก 77±5 กิโลกรัม ดัชนีมวลกายเฉลี่ย 22.2±2.7 kg./m2 และมีระดับไขมันในเลือด 280±22 mg./dl. ทำการทดลองใช้เวลา 4 สัปดาห์ ทำการทดลองโดยใช้ Radical fruits ได้แก่ พรุน แอปเปิ้ล องุ่น บลูเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ เชอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ มีกลุ่มควบคุมจำนวน 22 คน ทำการบันทึกข้อมูลในระหว่างการทดลองทุก ๆ สัปดาห์ พบว่าระดับไขมันในเลือดลดลงจาก 280 เหลือ 250 ml./dl. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P[2]
- เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศอเมริกา ได้ทำการศึกษาทดลองผลของเมล็ดองุ่นในการลดไขมันในเลือด โดยทำการทดลองกับคนไข้จำนวน 32 คน ที่ทำ hemodialysis ให้เมล็ดองุ่น วิตามินอี โดยทำการทดลอง 7-14 วัน ผลการทดลองพบว่าเมล็ดองุ่น สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ โดยช่วยลด LDL-C และเพิ่ม HDL-C และช่วยลดปัจจัยสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจล้มเหลว[2]
- เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศอียีปต์ ได้ทำการศึกษาทดลองผลการลดไขมันในเลือดของเมล็ดองุ่นกับหนูทดลอง โดยแบ่งกลุ่มการทดลองออกเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง โดยให้อาหารที่มีไขมันสูงในหนูทั้ง 2 กลุ่ม โดยกลุ่มทดลองให้สารสกัดจากเมล็ดองุ่น 0.3% ใช้ระยะเวลาการทดลองนาน 8 สัปดาห์ ทำการวัดระดับไขมันในเลือด ระดับไขมันในตับและไต ผลการทดลองพบว่า กลุ่มทดลองหนูมีระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดลดลง 31% ค่า LDL-C ลดลง 41% และ HDL-C เพิ่มขึ้น 25% การทำงานของตับ ไต ปกติ และผลในการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมล็ดองุ่นไปกระตุ้นการทำงานอง antioxidant enzyme[2]
- เมื่อปี ค.ศ.2009 ที่ประเทศอียิปต์ ได้ทำการทดลองในหนูทดลอง โดยให้สาร Cispaltin กับหนู เพื่อกระตุ้นให้หนูเป็นมะเร็ง โดยพบว่าในเมล็ดองุ่นนั้นมีสาร proanthocyanidin เป็นสารต้านการออกฤทธิ์ของสาร Cisplatin ได้ผล ซึ่งสารดังกล่าวมักออกฤทธิ์ในอวัยวะหัวใจ ตับ ไต ซึ่งมีเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ คือ GST, SOD, CAT, GSH-Px, Glutathione ผลการศึกษาทดลองพบว่าเมล็ดองุ่นสามารถลดระดับไขมันในเลือดได้ และลดค่าเอนไซม์ในตับได้ และมีผลในการต้านอนุมูลอิสระได้ด้วย[2]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ ส่วนสกัดแทนนินขององุ่น พบว่าเมื่อป้อนให้หนูขาวในขนาด 71 มก./กก. ไม่พบพิษ[2]
ประโยชน์ขององุ่น
- น้ำตาลที่ได้จากองุ่น เป็นน้ำตาลที่สามารถดูดซึมได้เร็ว จึงทำให้รู้สึกสดชื่นและให้พลังงานได้เร็ว และยังช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในคนไข้ได้ (แต่ไม่เหมาะกับคนไข้ที่มีอาการอักเสบ ติดเชื้อ เป็นโรคเก๊าท์)[3]
- การรับประทานองุ่นเป็นประจำ จะมีส่วนช่วยในการบำรุงหัวใจ บำรุงสมอง บำรุงกำลัง แก้อาการกระหายน้ำ และคนที่มีร่างกายผอมแห้งแรงน้อย ไร้เรี่ยวแรง แก่ก่อนวัย หากรับประทานองุ่นเป็นประจำ จะช่วยส่งเสริมทำให้ร่างกายค่อย ๆ แข็งแรงขึ้นมาได้[1],[2],[3]
- ประโยชน์ขององุ่นเขียว องุ่นชนิดนี้นิยมนำมารับประทานสด ๆ เป็นองุ่นที่มีความหวาน มีเนื้อมาก เมล็ดมีขนาดเล็ก รสชาติดี และราคาไม่แพง องุ่นเขียวอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น คาเทชิน (Catechin) และ เทอโรสติลบีน (Petrostilbene) ที่สามารถช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคของระบบประสาท โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดหัวใจ ลูคีเมีย และช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสและเชื้อราต่าง ๆ[4]
- ประโยชน์ขององุ่นแดง องุ่นแดงก็มีรสชาติที่ดีเช่นเดียวกัน องุ่นแดงมีสารอาหารสำคัญ คือ เรสเวอราทรอล (Resveratrol) ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ช่วยยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง ทำลายพิษของสารก่อมะเร็ง และช่วยชะลอวัย และยังมีสารซาโปนิน (Saponin) ซึ่งเป็นสารช่วยลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด จึงช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ และยังช่วยต้านแบคทีเรียไวรัส ป้องกันเนื้องอกได้ด้วย[4] นอกจากนี้ยังมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่ช่วยเพิ่มระดับไขมันดี (HDL) ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย, มีสารโพลีฟีนอล (Pholyphenols) ที่เป็นตัวลดระดับไขมันเลว (LDL) และช่วยต้านอนุมูลอิสระ, มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่ช่วยชะลอความแก่ ควบคุมการทำงานของระบบประสาท เพิ่มการไหลเวียนเลือด ขยายหลอดเลือด บำรุงสายตา และป้องกันการอักเสบของร่างกาย, มีวิตามินซีที่มีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจน เสริมสร้างภูมิต้านทานโรค, มีวิตามินบี12 ที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน ควบคุมการทำงานของระบบประสาท และสร้างเม็ดเลือดแดง, มีแคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง เป็นต้น
- ประโยชน์ขององุ่นดำ ชนิดนี้ผลจะมีขนาดเล็กกว่าชนิดอื่น ซึ่งนิยมเอามาทำเป็นไวน์องุ่น (ไวน์องุ่นทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี) สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก มีคำแนะนำว่าให้รับประทานองุ่นดำวันละ 1 ครั้ง เพราะองุ่นดำอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ทำให้รู้สึกอิ่มเร็วและมีแคลอรี่ต่ำ ช่วยทำให้การทำงานของไส้เป็นไปอย่างปกติ และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระในองุ่นดำที่ช่วยในการขับท็อกซินออกจากร่าง จึงช่วยให้กระบวนการลดน้ำหนักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้องุ่นดำยังมีประโยชน์ในการช่วยการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ช่วยเพิ่มการสร้างเกล็ดเลือดและเพิ่มการผลิตไนตริกออกไซด์เพื่อช่วยปกป้องเส้นเลือดแดง และช่วยต่อต้านความเครียด[4]
- นอกจากนี้ผลและน้ำองุ่นสดยังมีส่วนช่วยบำรุงผิวหน้าและเส้นผมได้ด้วย อย่างสูตรบำรุงเส้นผมก็ให้ใช้น้ำองุ่นแดงหรือม่วงคั้นสดประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมกับแชมพูสระผม โดยพักไว้หลังสระ 5 นาที แล้วจึงล้างฟองออกให้สะอาด วิธีนี้จะช่วยทำให้เส้นผมนุ่มและเงางามได้ ส่วนสูตรบำรุงผิวหน้าให้เปล่งปลั่งชุ่มชื่นไม่แห้งกร้านก็ทำได้ไม่ยาก โดยให้นำองุ่นแดงหรือม่วงทั้งเปลือก 1 ถ้วย ผสมกับน้ำแตงกวาสด 1 ช้อนโต๊ะ และน้ำผึ้งอีก 1 ช้อนโต๊ะ แล้วนำไปปั่นรวมกัน เสร็จแล้วนำมาทาให้ทั่วผิวหน้าทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงล้างออก
- องุ่นสามารถนำไปแปรรูปเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น น้ำองุ่น เหล้าองุ่น ไวน์องุ่น องุ่นดอง แยมองุ่น เยลลี่องุ่น องุ่นอบแห้ง ลูกเกด น้ำมันเมล็ดองุ่นใช้ผสมในโลชั่น ทำสารสกัดจากเมล็ดองุ่น ส่วนเปลือกผงนำมาใช้ทำสี เป็นต้น[4]
หมายเหตุ : คุณประโยชน์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่เปลือกและเมล็ดมากกว่าเนื้อในผลองุ่น ส่วนประโยชน์ของ Grape seed extract (GSE) คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้ สารสกัดจากเมล็ดองุ่น
คุณค่าทางโภชชนาการขององุ่นเขียวหรือแดง ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 69 กิโลแคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 18.1 กรัม
- น้ำตาล 15.48 กรัม
- ใยอาหาร 0.9 กรัม
- ไขมัน 0.16 กรัม
- โปรตีน 0.72 กรัม
- วิตามินบี1 0.069 มิลลิกรัม (6%)
- วิตามินบี2 0.07 มิลลิกรัม (6%)
- วิตามินบี3 0.188 มิลลิกรัม (1%)
- วิตามินบี5 0.05 มิลลิกรัม (1%)
- วิตามินบี6 0.086 มิลลิกรัม (7%)
- วิตามินบี9 2 ไมโครกรัม (1%)
- วิตามินซี 3.2 มิลลิกรัม (4%)
- วิตามินอี 0.19 มิลลิกรัม (1%)
- วิตามินเค 14.6 ไมโครกรัม (14%)
- โคลีน 5.6 มิลลิกรัม (1%)
- แคลเซียม 10 มิลลิกรัม (1%)
- ธาตุเหล็ก 0.36 มิลลิกรัม (3%)
- แมกนีเซียม 7 มิลลิกรัม (2%)
- ฟอสฟอรัส 0.071 มิลลิกรัม (3%)
- โพแทสเซียม 191 มิลลิกรัม (4%)
- โซเดียม 2 มิลลิกรัม (0%)
- สังกะสี 0.07 มิลลิกรัม (1%)
- ฟลูออไรด์ 7.8 ไมโครกรัม
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “องุ่น”. หน้า 640.
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “องุ่น” หน้า 205-206.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “องุ่น”. หน้า 832-834.
- ผู้จัดการออนไลน์. “องุ่นมีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [24 ก.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Gino Cherchi, enbodenumer, Nuuuuuuuuuuul, John Poulakis, Fernando Picarelli Martins, Mª África), www.diaryclub.com, ipattaya.co, bloggang.com (by ขอบฟ้า ใบหญ้า ตะวัน), atsiam.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)