หูอื้อ มีเสียงในหู (Tinnitus) อาการ สาเหตุ และการรักษาหูอื้อ 11 วิธี !!

หูอื้อ มีเสียงในหู (Tinnitus) อาการ สาเหตุ และการรักษาหูอื้อ 11 วิธี !!

หูอื้อ

หูอื้อ, มีเสียงในหู, เสียงดังในหู หรือ เสียงรบกวนในหู (Tinnitus) เป็นอาการหรือภาวะที่พบได้ทั่วไป ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกามีคนป่วยเป็นโรคนี้ถึง 40 ล้านคน แต่มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่รู้สึกว่าหูอื้อนี้เป็นปัญหาสำคัญ

ในด้านของความหมาย “อาการหูอื้อ” หมายถึง การได้ยินลดลง ความคมชัดของเสียงลดลง หรือบางรายอาจรู้สึกเหมือนมีอะไรอุดหูหรือรู้สึกมีเสียงรบกวนในหู ซึ่งอาจเป็นเสียงแหลมวี้ด ๆ คล้ายมีแมลงวันบินอยู่ในหู หรือเป็นเสียงหึ่ง ๆ หรือเสียงตุบ ๆ ที่ดังตามจังหวะการเต้นของชีพจร เป็นต้น แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ได้ยินเสียงเหล่านี้จะรู้สึกรำคาญจนทนไม่ได้ เพราะบางคนอาจไม่มีปัญหากับอาการหูอื้อที่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ทั้งนี้หูอื้อบางชนิดก็มีอันตราย บางชนิดก็ไม่มีอันตราย ดังจะกล่าวถึงต่อไป

เสียงในหู คือ เสียงที่เกิดจากความผิดปกติของหูหรืออวัยวะข้างเคียง ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ

  1. เสียงในหูที่ผู้ป่วยได้ยินคนเดียว (Subjective Tinnitus) เช่น เสียงแหลมวี้ดหรือเสียงจิ้งหรีดร้อง, เสียงหึ่ง ๆ อื้อ ๆ, เสียงลม, เสียงพรึบพรับ เป็นต้น
  2. เสียงที่แพทย์ได้ยินด้วย (Objective Tinnitus) มักเป็นเสียงที่เกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่ (Carotid artery) หลอดเลือดดำใหญ่ (Jugular vein) ที่ผ่านจากคอไปสมอง ซึ่งมักเป็นเสียงตุบ ๆ หรือเสียงฟู่ ๆ ตามชีพจร

ลักษณะเสียงรบกวนในหู

การสังเกตลักษณะเสียงรบกวนในหูของผู้ป่วยต่อไปนี้จะช่วยในการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุได้ เช่น

  • เสียงแหลมวี้ด ๆ คล้ายมีแมลงในหู หรือเสียงจิ้งหรีดร้อง หรือเสียงรบกวนที่มีความถี่สูง เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน ทั้งมาจากอายุที่มากขึ้นและจากการได้ยินเสียงเป็นเวลานาน ๆ หรือจากการได้ยินเสียงดังมาก ๆ ในทันที (เช่น เสียงระเบิด เสียงพลุ เสียงปืน เสียงประทัด), การติดเชื้อบางชนิด (เช่น เชื้อซิฟิลิสหรือเชื้อไวรัสที่ทำให้หูชั้นในอักเสบ), การผ่าตัดรักษาโรคทางสมองหรือทางหูบางโรคที่อาจกระทบกระเทือนประสาทหู, การใช้ยาบางอย่าง (เช่น ยาปฏิชีวนะที่มีผลข้างเคียงต่อประสาทหู ยาขับปัสสาวะบางชนิด ยาลดการอักเสบกลุ่มแอสไพริน ยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีบริเวณศีรษะเพื่อรักษาโรคมะเร็ง) เป็นต้น
  • เสียงหึ่ง ๆ อื้อ ๆ หรือเป็นเสียงรบกวนที่มีความถี่ต่ำ มักเกิดจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ร่วมกับอาการเวียนหัวบ้านหมุนและการได้ยินลดลง
  • เสียงลม เกิดจากการทำงานของท่อปรับความดันหูผิดปกติ
  • เสียงรบกวนจากโรคหินปูนเกาะฐานกระดูกโกลนในหูชั้นกลาง
  • เสียงพรึบพรับ เกิดจากขี้หูที่อยู่ใกล้กับแก้วหูขยับไปมาตามการสั่นของแก้วหูเมื่อมีการรับเสียงจากภายนอก
  • เสียงก้องในหู เกิดจากการมีน้ำขังในหูชั้นกลาง
  • เสียงตุบ ๆ หรือเสียงฟู่ ๆ ที่ดังตามจังหวะการเต้นของชีพจร กลุ่มนี้อาจเกิดจากเนื้องอกในช่องหู (Glomus tumor) หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด ซึ่งเป็นภาวะบางอย่างที่ทำให้เลือดในร่างกายเพิ่มขึ้นและหัวใจต้องบีบตัวแรงขึ้นจนส่งผลให้เกิดเสียงดังในหู เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง, ภาวะตั้งครรภ์, ภาวะซีด, ไทรอยด์เป็นพิษ, หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (Carotid artery) ตีบจากภาวะที่มีคราบไขมันเกาะผนังหลอดเลือด, หลอดเลือดดำใหญ่ (Jugular vein) วางตัวสูงใกล้กับกระดูกกกหู (เมื่อแพทย์กดบริเวณนั้นเสียงมักจะหายไป,) ภาวะหลอดเลือดผิดรูป ลิ้นหัวใจรั่ว, ภาวะความดันในกะโหลกสูงโดยไม่มีสาเหตุ เป็นต้น
  • เสียงคลิกในหู เกิดจากการหดเกร็งของเอ็นยึดกระดูกโกลนของหูชั้นกลาง

นอกจากเสียงรบกวนในหูดังกล่าวจะช่วยในการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุได้แล้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะมีวินิจฉัยโดยการตรวจการได้ยิน (Audiogram) ร่วมด้วยเสมอ เพื่อความแม่นยำและความถูกต้องในการวินิจฉัยโรค

สาเหตุที่ทำให้หูอื้อ

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อมีหลายสาเหตุ เช่น

  • อาการหูอื้ออาจเกิดร่วมกับอาการปวดหู, หูตึง/หูหนวก, ปวดศีรษะ, ภาวะซีด, มีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู
  • อาการหูอื้อที่เกิดขึ้นทันทีหลังการว่ายน้ำหรือดำน้ำ (หรือใช้เครื่องส่องหูดูพบว่ามีขี้หูอุดตัน) มักเกิดจากขี้หูอุดตัน
  • อาการหูอื้ออาจเกิดขึ้นหลังจากการดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ โคล่า ช็อกโกแลต หรือสูบบุหรี่
  • อาการหูอื้ออาจเป็นผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่คุณกำลังใช้อยู่ก็ได้ เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), ยาแก้แพ้ (Antihistamine), แอสไพริน (Aspirin), ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine), ฟูโรซีไมด์ (Furosemide), คลอโรควิน (Chloroquine), ควินิน (Quinine), เตตราไซคลีน (Tetracycline), ดอกซีไซคลีน (Doxycycline), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), โคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole), อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline), ยาเคมีบำบัดกลุ่มซิสพลาติน (Cisplatin) เป็นต้น
  • ถ้ามีอาการหูอื้อร่วมกับมีก้อนค้างที่คอ อาจเกิดจากคางบวม/คอบวม
  • ถ้ามีอาการหูอื้อร่วมกับเป็นไข้หวัดหรือเจ็บคอ อาจมีสาเหตุมาจากท่อยูสเตเชียนบวมจากโรคติดเชื้อ และถ้ามีเยื่อแก้วหูบวมแดงร่วมด้วยอาจเกิดจากหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
  • ถ้ามีอาการหูอื้อร่วมกับมีอาการบ้านหมุนนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ อาจเกิดจากโรคเมเนียส์ (โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน), หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน, เนื้องอกประสาทหู
  • ถ้ามีอาการหูอื้อร่วมกับการได้ยินเสียงดังตามจังหวะการเต้นของชีพจร อาจเกิดจากเนื้องอกหรือความผิดปกติของหลอดเลือดของหูชั้นใน แต่หากไม่ได้มาจากเส้นเลือดและไม่สัมพันธ์กับชีพจร สาเหตุอาจมาจากกล้ามเนื้อที่กระตุกผิดปกติ (Myoclonus) เช่น บริเวณเพดานอ่อน หรือในบริเวณหูชั้นกลางซึ่งมีกล้ามเนื้ออยู่อีก 2 มัดไว้ดึงกระดูกฆ้อน (Tensor tympani) และกระดูกโกรน (Stapedius muscle)
  • ถ้ามีอาการหูอื้อเป็น ๆ หาย ๆ เป็นครั้งคราว และมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ อาจเกิดจากท่อยูสเตเชียนบวมจากการแพ้
  • ถ้ามีอาการหูอื้อร่วมกับมีอาการนอนไม่หลับ ชอบคิดมาก หรือมีอารมณ์ซึมเศร้า อาจเกิดจากโรควิตกกังวลทั่วไป โรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรคซึมเศร้า
  • ถ้าไม่มีอาการร่วมต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา (มีหูอื้อเกิดขึ้นโดยหาสาเหตุไม่ได้หรือไม่รู้สาเหตุ) อาจเกิดจากมะเร็งโพรงหลังจมูกหรือเนื้องอกสมอง

สาเหตุหูอื้อ
IMAGE SOURCE : www.wikihow.com

ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดหูอื้อ

  • ผู้ที่มีโรคหรือภาวะต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาในหัวข้อสาเหตุ
  • ผู้ที่ทำงานหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังโดยไม่มีเครื่องป้องกันหูที่ถูกต้อง
  • ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่หูได้ยินลดลงเรื่อย ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น
  • เป็นผู้ที่มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจจากการถูกทำร้ายร่างกาย (Post traumatic stress disorder) ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการเมื่อมีคนพูดเสียงดัง
  • ผู้ที่เป็นชาวตะวันตก

อาการหูอื้อ

ผู้ป่วยจะมีอาการได้ยินเสียงลดลง ความคมชัดของเสียงลดลง หรือบางรายอาจรู้สึกเหมือนมีอะไรอุดหูหรือรู้สึกมีเสียงรบกวนในหู ซึ่งลักษณะของเสียงที่ได้ยินจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็นดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

อาการหูอื้อหรือมีเสียงในหูส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง แต่อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญได้ เพราะบางรายอาจเป็นถึงขั้นนอนไม่หลับจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายส่วนอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุด้วยว่าเกิดจากอะไร เพราะถ้าอาการหูอื้อเกิดจากเนื้องอกในช่องหู (Glomus tumor) หรือโรคมะเร็ง ก็จะเป็นโรคที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม สาเหตุนี้ก็พบได้น้อยกว่าสาเหตุอื่น ๆ มาก

จะทราบได้อย่างไรว่าหูอื้อ ?

ส่วนใหญ่อาการหูอื้อที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันนั้นตัวผู้ป่วยเองมักจะรู้สึกถึงความผิดปกติได้ แต่ในกลุ่มที่มีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยมักไม่ทราบด้วยตัวเองและต้องอาศัยคนใกล้ชิดปกติ เช่น เรียกแล้วไม่ค่อยได้ยินหรือต้องเปิดโทรศัพท์เสียงดัง ๆ

ทั้งนี้ สำหรับวิธีการทดสอบการได้ยินด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ สามารถทำได้โดยการใช้นิ้วมือถูกันเบา ๆ ที่บริเวณหน้าหูทีละข้าง แล้วสังเกตความแตกต่างของระดับเสียงที่ได้ยิน (การทดสอบนี้จะใช้ได้เมื่อหูทั้งสองข้างมีการได้ยินไม่เท่ากัน)

อาการหูอื้อ
IMAGE SOURCE : hearinggroup.com

การวินิจฉัยอาการหูอื้อ

แพทย์จะทำการซักประวัติอาการและตรวจหูของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อดูว่าเสียงนั้นน่าจะมาจากในหูหรือนอกหู เกี่ยวกับเส้นประสาทหรือไม่ เป็นหูชั้นนอก หูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน แล้วผู้ป่วยได้ยินคนเดียวหรือแพทย์ได้ยินเสียงนั้นด้วย เมื่อตรวจเจอสาเหตุก็จะรักษาไปตามสาเหตุนั้น ๆ

แต่ในกรณีที่ตรวจไม่เจอความผิดปกติใด ๆ คราวนี้จะยากขึ้นมาหน่อย เพราะแพทย์อาจจะต้องทำการตรวจการได้ยิน (Audiogram) เพื่อดูว่าหูของผู้ป่วยได้ยินเสียงที่ความถี่ต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง หูข้างซ้ายและข้างขวาได้ยินเท่ากันหรือไม่ เพราะมีผู้ป่วยหลายรายที่พบว่าหูทั้งสองข้างปกติ แต่มีข้างหนึ่งที่ดีกว่าอีกข้างอย่างชัดเจน (ประมาณว่า “ดีเกินไป”) จึงอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงอื้อ ๆ กับหูข้างที่ด้อยกว่าแต่ยังปกติได้ครับ นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาโรคที่อาจซุกซ่อนอยู่ด้วย เช่น การตรวจหาเชื้อซิฟิลิส, การวิเคราะห์การทำงานของเส้นประสาทหูส่วนก้านสมองเพื่อหาหลักฐานว่ามีเนื้องอกหรือไม่ (Audiotory brain stem response – ABR), การสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อจะทำให้เห็นเนื้องอกได้

วิธีรักษาอาการหูอื้อ

  • ถ้าทราบสาเหตุของอาการหูอื้อ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ (ขอกล่าวถึงเฉพาะสาเหตุที่พบได้บ่อย)
    1. หูอื้อที่เกิดจากขี้หูอุดตัน ถ้าขี้หูไม่แน่นมาก อาจใช้วิธีแคะหรือเขี่ยออกด้วยความระมัดระวังอย่างเบามือหรือใช้น้ำฉีดล้างออก แต่ถ้าขี้หูแน่นมากไม่แนะนำให้ใช้วิธีแคะหรือเขี่ยออก เพราะมักจะเอาไม่ออกและทำให้ขี้หูถูกดันลึกเข้าไปมากขึ้น นอกจากนั้นยังอาจทำให้ช่องหูชั้นนอกเกิดแผล มีเลือดออกและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมได้ (หูชั้นนอกอักเสบ) ส่วนวิธีที่แนะนำคือ ให้หยอดยาละลายขี้หูให้ท่วมรูหูทิ้งไว้สักครู่แล้วเทออก ถ้ายังรู้สึกอื้ออยู่ให้ทำซ้ำอีก 2-3 ครั้ง แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวดหูร่วมด้วยควรรีบไปพบแพทย์
    2. หูอื้อที่เกิดจากการได้ยินเสียงดังมาก ๆ เช่น เสียงระเบิด เสียงปืน เสียงประทัด หรือเกิดอาการหูอื้อขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดร่วมกับมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน หรือมีเสียงในหู ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทางทันที
    3. หูอื้อที่เกิดจากหวัด ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติในหูชั้นกลางและตรวจภายในโพรงจมูกร่วมด้วย เนื่องจากมักพบจมูกอักเสบเรื้อรังหรือไซนัสอักเสบได้บ่อยจากภาวะดังกล่าว
    4. หูอื้อที่เกิดจากสิ่งแปลกปลอมเข้าหู ให้เอียงหูข้างนั้นลงต่ำและเคาะที่ศีรษะเบา ๆ หรือถ้าแมลงเข้าหู ให้หยอดหูด้วยน้ำมันพืชหรือกลีเซอรีนบอแรกซ์ (Glycerine borax)
    5. หูอื้อที่เกิดขึ้นหลังจากกินยาหรือฉีดยา หรือหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ โคล่า ช็อกโกแลต หรือสูบบุหรี่ ให้หยุดยาหรือสารเหล่านี้เสีย
    6. หูตึงในผู้สูงอายุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกที่ทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็วกว่าปกติ และรับการประเมินระดับการได้ยินว่าสมควรใช้เครื่องช่วยฟังหรือไม่ เพื่อเลือกชนิดของเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละรายต่อไป
  • การรักษาอาการหูอื้อที่สำคัญที่สุด คือ การรักษาที่ต้นเหตุ (ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อหรือมีเสียงในหู) หากแพทย์ตรวจพบสาเหตุที่ชัดเจน การรักษาจะมุ่งเน้นไปตรงนั้น ซึ่งจะช่วยทำให้อาการหูอื้อที่เป็นอยู่นั้นหายขาดได้ เช่น ถ้าเกิดจากขี้หูอุดตัน (Cerumen impaction) แพทย์จะช่วยเอาขี้หูออกให้ ซึ่งจะช่วยทำให้อาการหูอื้อที่เป็นอยู่หายไปทันที, ถ้าเกิดจากเนื้องอกในช่องหู (Glomus tumor) ต้องรักษาโดยการผ่าตัด, ถ้าเกิดจากกล้ามเนื้อที่กระตุกผิดปกติ (Myoclonus) ต้องรักษาด้วยการฉีดโบทอกซ์ ฯลฯ
    • หากใช้ยาอยู่หลายตัว ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาต่าง ๆ เหล่านั้นที่ใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการหูอื้อได้ แล้วปรับเปลี่ยนไปใช้ยาแบบใหม่แทน
    • สาเหตุบางอย่างอาจต้องอาศัยการผ่าตัด เช่น การใส่ท่อระบายน้ำที่ขังอยู่ในหูชั้นกลาง, การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกโกลนเพื่อรักษาภาวะหินปูนเกาะที่ฐานกระดูกโกลนในหูชั้นกลาง
    • การรักษาเสียงตุบ ๆ หรือเสียงฟู่ ๆ ที่ดังตามชีพจร ต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อการรักษาต่อตามสาเหตุที่ตรวจพบ
    • เสียงคลิกในหูซึ่งเกิดจากการหดเกร็งของเอ็นยึดกระดูกโกลนของหูชั้นกลาง สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ยา แต่ถ้าไม่ดีขึ้นอาจต้องอาศัยการผ่าตัดรักษาต่อไป
    • เสียงในหูบางชนิดจะค่อย ๆ เกิดขึ้นโดยไม่รบกวนผู้ป่วยมากนัก แต่จะทำให้การได้ยินลดลงเรื่อย ๆ พร้อมกับมีอาการเดินเซ ซึ่งมักเกิดมาจากเนื้องอกของเส้นประสาทคู่ที่ 8 เนื้องอกในสมอง หรือก้านสมองขาดเลือดไปเลี้ยง การเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะช่วยในการวินิจฉัยได้ ส่วนการรักษาจะต้องทำการผ่าตัดหรือแกมมาไนฟ์ (Gamma Knife) ต่อไป
  • การรักษาอาการหูอื้อชั่วคราว
    1. ลองใช้เทคนิคการเคาะกะโหลก หากรู้สึกว่าอาการหูอื้อยังไม่หายหลังจากเพิ่งได้รับเสียงดังเป็นเวลานาน เช่น หลังจากดูคอนเสิร์ตหรือเที่ยวผับ (สาเหตุอาจเกิดจนเซลล์ขนเล็ก ๆ ภายในคลอเคลียถูกกระทบกระเทือนจนทำให้เกิดการอักเสบและเส้นประสาทถูกกระตุ้น แล้วสมองแปลงอาการอักเสบนี้ออกมาเป็นเสียงอื้อหรือเสียงดังในหูอย่างต่อเนื่อง) คุณอาจใช้เทคนิคนี้เพื่อช่วยทำให้เสียงน่ารำคาญเหล่านั้นหายไปได้ด้วยการใช้ฝ่ามือปิดหู (ให้นิ้วหันกลับและวางอยู่ทางด้านหลังของกะโหลกศีรษะ)โดยให้นิ้วกลางทั้งสองข้างชี้เข้าหากันตรงด้านหลังสุดของกะโหลก และให้วางนิ้วชี้ไว้ด้านบนนิ้วกลาง จากนั้นให้เคลื่อนนิ้วในจังหวะเคาะ โดยกระดกนิ้วชี้ลงจากนิ้วกลางไปที่ด้านหลังกะโหลก (การเคลื่อนไหวลักษณะนี้จะทำให้เกิดเสียงเหมือนการตีกลอง และเพราะนิ้วกระแทกกับกะโหลกด้วยในขณะเดียวกัน เสียงที่เกิดขึ้นจึงอาจดังพอสมควร ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ) แล้วให้เคาะนิ้วลงบนด้านหลังของกะโหลกอย่างต่อเนื่องประมาณ 40-50 ครั้ง แล้วลองสังเกตอาการหูอื้อดูว่าทุเลาลงแล้วหรือยัง
    2. ลองรอสักพัก เพราะอาการหูอื้อที่เกิดจากการได้ยินเสียงดัง ๆ มักหายไปเองได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง และคุณอาจเบี่ยงเบนความสนใจออกจากเสียงในหูด้วยการพักผ่อนและอยู่ให้ห่างจากสิ่งที่อาจทำให้อาการหูอื้อแย่ลง แต่ถ้ายังหูอื้อไม่หายหลังจากผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์
  • การรักษาอาการหูอื้อเรื้อรัง หากตรวจไม่พบสาเหตุหรือความผิดปกติ (ซึ่งส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบ) การรักษาจะไม่ค่อยมีแล้วครับ แต่การใช้วิธีเหล่านี้อาจช่วยลดเสียงรบกวนในหูให้ลดน้อยลงได้ เช่น
    1. การใช้กลยุทธ์กลบเสียง ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น
      • การเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อช่วยกลบเสียงในหู
      • การเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศที่มีเสียงเบา ๆ อาจช่วยกลบเสียงในหูลงได้
      • การฟังวิทยุไม่ตรงช่องเพื่อให้มีเสียงซ่า ๆ มากลบเสียงในหู
      • การทำให้บ้านมีเสียงพื้นไว้ (Ambient sound) กล่าวคือ อย่าให้บ้านเงียบเกินไป
      • ในปัจจุบันมีผู้คิดเครื่องสร้างเสียงดนตรีที่ไม่เป็นเพลงเพื่อช่วยดึงความสนใจของผู้ป่วยออกจากภาวะหูอื้อได้
    2. การใช้อุปกรณ์ที่ช่วยกลบเสียง นอกจากวิธีข้างต้นแล้วยังมีวิธีกลบเสียงอื้อในหูอีกหลากหลายรูปแบบที่แพทย์นำมาใช้เพื่อกลบเสียงอื้อในหู เช่น
      • การใช้เครื่องสร้างสัญญาณรบกวนสีขาว (White noise) ซึ่งเครื่องสัญญาณรบกวนนี้จะสร้างเสียงเบื้องหลังในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เสียงฝนตก เสียงลมพัดแรง ฯลฯ ซึ่งจะช่วยกลบเสียงอื้อในหูอย่างได้ผล
      • การใช้อุปกรณ์กลบเสียง ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์ที่จะติดไว้ที่หูเพื่อสร้างคลื่นสัญญาณรบกวนสีขาวอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยกลบเสียงอื้อเรื้อรังในหู
      • การสวมเครื่องช่วยฟัง อุปกรณ์นี้จะได้ผลอย่างมากถ้าผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน (หูตึง) ร่วมกับอาการหูอื้อ
    3. การเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการหันไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ปล่อยตัวให้ว่างนัก ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่พอช่วยได้ครับ
    4. การรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการหูอื้อ ด้วยการให้ยาเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน, ยารักษาอาการบวมของท่อปรับความดันหู หรือการให้ยาเพื่อรักษาอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน, ยาสเตียรอยด์, ยาเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหูชั้นในอื่น ๆ เช่น เบตาฮีสทีน (Betahistine) ซึ่งจะช่วยลดเสียงในหูได้ประมาณ 60%, ยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants – TCA), ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) หรือที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า “ซาแนกซ์” (Xanax) เพราะมีการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ยาอัลปราโซแลมสามารถช่วยลดอาการเสียงดังในหูอย่างได้ผล ฯลฯ (แม้ยาอาจไม่สามารถทำให้อาการหูอื้อหายขาดได้ แต่ถ้าการรักษาด้วยยามันจะทำให้อาการหูอื้อทุเลาลงได้)
    5. การรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย การรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วยพร้อมอาหารวันละ 3 ครั้ง อาจช่วยทำให้เลือดไหลเวียนไปที่ศีรษะและชะลอน้อยลง จึงช่วยลดอาการหูอื้อจากความดันโลหิตได้ (คุณอาจต้องลองรับประทานสัก 2 เดือน จากนั้นจึงค่อยตรวจเช็กประสิทธิภาพในการรักษา แต่ในระหว่างนี้ถ้ามีอาการเลวลงหรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่นเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที)
    6. การทำใจยอมรับ บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยสามารถปรับตัวให้อยู่กับอาการหูอื้อหรือเสียงในหูจนเกิดความคุ้นเคยและไม่รำคาญต่อไปได้ พูดง่าย ๆ คือ พยายามอยู่กับมันให้ได้ครับ

      วิธีแก้หูอื้อ
      IMAGE SOURCE : www.actiononhearingloss.org.uk

  • การดูแลตนเองเมื่อมีอาการหูอื้อ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
    1. ก่อนอื่นต้องสังเกตตัวเองก่อนว่าเป็นหูอื้อแบบไหน เช่น มีอาการหูอื้อเวลาเป็นหวัดหรือเปล่า เป็นต้น แล้วให้การดูแลรักษาหรือควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุนั้นให้ดี
    2. หลีกเลี่ยงเสียงดัง เช่น งานคอนเสิร์ต บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เครื่องบิน เสียงปืน และเสียงดังอื่น ๆ หรือใส่เครื่องป้องกันเสียงเสมอ
    3. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ เพราะน้ำและสารคลอรีนอาจติดค้างอยู่ในหูชั้นในในขณะว่ายน้ำจนเป็นสาเหตุหรือทำให้อาการเสียงดังในหูแย่ลงได้ (แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการใส่ที่อุดหูในขณะว่ายน้ำ)
    4. เมื่อเกิดความรู้สึกรำคาญจากเสียงในหู อาจเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อช่วยกลบเสียงในหูได้
    5. หาวิธีระบายความเครียด เช่น การออกกำลังกาย นั่งสมาธิ การนวดบำบัด ฯลฯ เพราะความเครียดอาจทำให้อาการแย่ลงได้
    6. ยอมรับและปรับตัวเพื่อลดความกังวลและความเครียด รักษาสุขภาพจิตให้ดี เพราะความเครียดจะทำให้รู้สึกว่ามีเสียงในหูดังขึ้น
    7. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กาเฟอีน เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวและส่งผลทำให้ได้ยินการไหลเวียนของเลือดในหูดังขึ้นหรือหูอื้อมากขึ้นได้
    8. งดการสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพราะนิโคตินในบุหรี่อาจทำให้อาการหูอื้อที่เป็นอยู่เลวลงได้
    9. ถ้ามีอาการได้ยินลดลง ควรรีบไปพบแพทย์ด้านหูคอจมูก เพราะอาจเป็นอาการของประสาทหูเสื่อมได้

วิธีป้องกันอาการหูอื้อ

การป้องกันการเกิดอาการหูอื้อสามารถทำได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  1. หลีกเลี่ยงการฟังเสียงดัง ๆ หรือถ้าต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังก็ต้องมีเครื่องป้องกันหูที่ถูกต้อง เช่น ที่อุดหู
  2. ควรป้องกันตนเองไม่ให้เป็นหวัด โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เช่น ความเครียด, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, การตากฝน, การดื่มหรืออาบน้ำเย็น, การสัมผัสอากาศที่เย็นเกินไป, การสัมผัสอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (เช่น จากร้อนไปเย็น จากเย็นไปร้อน), การมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้ เป็นต้น (แต่ในกรณีที่เป็นหวัดแล้ว ต้องรีบรักษาตัวเองให้หายและงดการดำน้ำในช่วงนั้น)
  3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกหรือไซนัสอักเสบเรื้อรัง ควรป้องกันไม่ให้อาการทางจมูกหรือไซนัสกำเริบ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ความเครียด, อารมณ์เศร้า เสียใจ, ความวิตกกังวล, ของฉุน, ฝุ่น, ควัน, อากาศที่เปลี่ยนแปลง, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือวัด เป็นต้น เนื่องจากถ้ามีการอักเสบในโพรงจมูกเกิดขึ้นจะส่งผลทำให้ท่อยูสเตเชียน* ทำงานผิดปกติ
  4. ถ้ามีอาการทางจมูกเกิดขึ้น เช่น คันจมูก คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล และจำเป็นต้องขึ้นเครื่องบิน ควรใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการทางจมูกก่อนขึ้นเครื่องเป็นเวลาตามที่แพทย์แนะนำ เช่น การรับประทานยาแก้แพ้ ยาหดหลอดเลือด หรือยาพ่นจมูก และอาจร่วมกับการล้างจมูกหรือการสูดไอน้ำร้อน เพื่อทำให้การอักเสบภายในจมูกลดน้อยลง ซึ่งจะช่วยทำให้ยูสเตเชียนกลับมาทำงานปกติได้เร็วขึ้น นอกจากนั้น ควรทำให้ท่อยูสเตเชียนทำงานเปิดและปิดอยู่ตลอดเวลาในระหว่างเครื่องบินขึ้นและลงด้วย เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่ง (เพื่อทำให้มีการกลืนน้ำลายบ่อย ๆ ซึ่งในขณะที่กลืนน้ำลายจะมีการเปิดและปิดท่อยูสเตเชียน) หรือบีบจมูก 2 ข้างและกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง (จะทำให้ท่อยูสเตเชียนปิด) และเอามือที่บีบจมูกออกและกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง (จะทำให้ท่อยูสเตเชียนเปิด) เป็นต้น ทั้งนี้ในขณะที่เป็นหวัดหรือไซนัสอักเสบซึ่งมีการติดเชื้อในจมูก ไม่ควรบีบจมูกและเป่าลมให้เข้ารูเปิดของท่อยูสเตเชียน เพราะอาจจะทำให้เชื้อโรคในจมูกเข้าไปสู่หูชั้นกลางได้ (ถ้าลองใช้ยาตามวิธีข้างต้นแล้วยังมีอาการทางหูอยู่ ให้พ่นยาหดหลอดเลือดเข้าไปในจมูกอีกทุก ๆ 10-15 นาที ร่วมกับทำตามวิธีที่ให้ท่อยูสเตเชียนทำงานเปิดและปิดอยู่ตลอดเวลาดังกล่าว ดังนั้น จึงควรพกยาหดหลอดเลือดชนิดพ่นและชนิดรับประทานติดตัวไว้ด้วยเสมอ)
  5. ดูแลรักษาหรือควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการหูอื้อดังที่กล่าวมา
  6. หลีกเลี่ยงการใช้ยาใด ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อป้องกันการทำลายเซลล์ประสาทรับเสียงในหูชั้นใน
  7. ลดการบริโภคแอลกอฮอล์ กาเฟอีน และนิโคติน เพราะสิ่งเหล่านี้อาจทำให้หลอดเลือดขยายตัวและส่งผลทำให้ได้ยินการไหลเวียนของเลือดในหูดังขึ้นหรือหูอื้อมากขึ้นได้
  8. หลีกเลี่ยงเกลือ เพราะเกลือจะทำให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายอ่อนแรง ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อีกทั้งยังอาจทำให้อาการเสียงดังในหูแย่ลงอีกด้วย
  9. เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดการติดเชื้อและลดการเกิดโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการหูอื้อได้
  10. ไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับหูเกิดขึ้น

วิธีป้องกันหูอื้อ
IMAGE SOURCE : www.wikihow.com

หมายเหตุ : ท่อยูสเตเชียน (Eustachain tube) เป็นท่อที่ช่วยปรับความดันของหูชั้นกลางให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก เพราะเมื่อใดก็ตามที่ท่อนี้ทำงานผิดปกติ จะทำให้เกิดอาการหูอื้อ ปวดหู มีเสียงในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้ ตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่เราพบได้บ่อย ๆ คือ การขึ้นหรือลงลิฟต์เร็ว ๆ หรือในขณะที่เครื่องบินขึ้นหรือลงเร็ว ๆ ก็จะทำให้มีอาการหูอื้อได้

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “หูอื้อ (Decreased hearing)/มีเสียงในหู (Tinnitus)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 100-102.
  2. หาหมอดอทคอม.  “หูอื้อ เสียงในหู (Tinnitus)”.  (นพ.วิรัช ทุ่งวชิรกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [31 ธ.ค. 2016].
  3. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “หูอื้อ”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [31 ธ.ค. 2016].
  4. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ขึ้น… ลงเครื่องบิน มีปัญหาปวดหู หูอื้อ…ทำอย่างไรดี”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [31 ธ.ค. 2016].
  5. โรงพยาบาลบางปะกอก 9.  “โรคเสียงอื้อในหู ความผิดปกติของหู”.  (พญ.พัตราภรณ์ ตันไพจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangpakokhospital.com.  [01 ม.ค. 2017].
  6. wikiHow.  “วิธีการแก้อาการหูอื้อ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikihow.com.  [01 ม.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด