หูตึง หูหนวก หูดับ อาการ สาเหตุ และการรักษาภาวะหูตึงหูหนวก 10 วิธี !!

หูตึง หูหนวก หูดับ อาการ สาเหตุ และการรักษาภาวะหูตึงหูหนวก 10 วิธี !!

หูตึง หูหนวก

หูตึง หูหนวก หูดับ หรือ การสูญเสียการได้ยิน (Hearing loss, Hearing impairment, Deaf หรือ Deafness) หมายถึง ภาวะที่ความสามารถในการได้ยิน/รับเสียงลดลง ซึ่งอาจเป็นเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้ยินเลยก็ได้ (หูหนวกสนิท) โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมักเกิดจาก ประสาทหูเสื่อมตามวัย ความผิดปกติแต่กำเนิด การได้ยินเสียงดังมากกว่าปกติเป็นเวลานาน การได้รับบาดเจ็บบริเวณหู ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด (โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะแบบฉีด) เป็นต้น

กลไกการได้ยินปกติจะประกอบไปด้วยโครงสร้าง 3 ส่วน ได้แก่ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน โดยหูชั้นนอกจะที่ทำหน้าที่รวบรวมเสียงจากภายนอกเข้าสู่ช่องหูและส่งผ่านไปยังหูชั้นกลาง ส่วนหูชั้นกลางจะมีหน้าที่รับพลังงานเสียงที่ส่งผ่านมาจากหูชั้นนอก ทำให้เยื่อแก้วหูและกระดูกหู 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน เกิดการสั่นสะเทือนตามคลื่นเสียง และหูชั้นในจะรับการสั่นสะเทือนที่ส่งผ่านมาจากหูชั้นกลางนั้นมายังคอเคลีย (Cochlea) ที่มีตัวรับสัญญาณเสียงเป็นเซลล์ขนขนาดเล็ก (Hair cell) ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า (Electronic impulses) แล้วสัญญาณไฟฟ้านี้จะส่งต่อไปยังเส้นประสาทรับเสียงและสมอง เพื่อแปลความหมายของเสียงที่ได้ยิน

ประเภทของการสูญเสียการได้ยิน

การสูญเสียการได้ยินสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ

  1. การสูญเสียการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่อง (Conductive hearing loss) มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง (แต่ประสาทหูยังดีอยู่) ทำให้มีความผิดปกติในการส่งผ่านคลื่นเสียงไปยังส่วนของหูชั้นใน สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ยาหรือการผ่าตัด (โดยปกติคลื่นเสียงจากภายนอกเมื่อผ่านเข้าไปในช่องหูจะไปกระทบกับเยื่อแก้วหู แล้วมีการส่งต่อและขยายเสียงไปยังส่วนของหูชั้นในต่อไป) โดยสาเหตุมักเกิดจาก
    • เยื่อแก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum) ผู้ป่วยจะมีอาการหูตึงเกิดขึ้นในทันทีภายหลังการได้รับบาดเจ็บ
    • ขี้หูอุดตัน (Cerumen impaction) ทำให้เกิดอาการหูตึงได้แบบชั่วคราว เมื่อเอาขี้หูออกก็สามารถกลับมาได้ยินเป็นปกติอีกครั้ง
    • หูชั้นกลางอักเสบหรือหูน้ำหนวก (Otitis media) ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้ผู้ป่วยหูหนวกได้
    • ภาวะมีน้ำขังอยู่ในหูชั้นกลาง (Serous otitis media)
    • ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ (ท่อยูสเตเชียนเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก)
    • โรคหินปูนในหูชั้นกลาง (Otosclerosis) ทำให้กระดูกใหม่งอกขึ้นมา ซึ่งมักงอกขึ้นมายึดกระดูกโกลน ทำให้การสั่นของกระดูกผิดปกติและส่งผลให้เกิดอาการหูตึง โรคนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย การรักษาต้องทำการผ่าตัดหรือใส่เครื่องช่วยฟัง
    • กระดูกหูชั้นกลางหักหรือหลุดจากอุบัติเหตุ เกิดจากการได้รับอุบัติเหตุอย่างรุนแรงที่ศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหูอื้อ หูตึงทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ การรักษาต้องอาศัยการผ่าตัด
    • สาเหตุอื่น ๆ เช่น หูพิการแต่กำเนิด สิ่งแปลกปลอมเข้าหูทำให้เกิดการอุดตันในช่องหู แก้วหูอักเสบ เยื่อแก้วหูหนา มีเลือดออกในหูชั้นกลาง ฯลฯ
  2. การสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับเสียงบกพร่อง (Sensorineural hearing loss) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของส่วนหูชั้นใน ประสาทรับเสียง ไปจนถึงสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เรารับรู้และเข้าใจเสียงต่าง ๆ ความผิดปกติบริเวณนี้จะทำให้ได้ยินเสียงแต่ฟังไม่รู้เรื่อง ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดภาวะหูตึง หูหนวกถาวร ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และบางโรคอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ โดยสาเหตุมักเกิดจาก
    • ประสาทหูเสื่อมตามวัย/หูตึงในผู้สูงอายุ (Presbycusis hearing loss) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด (80% มักเกิดจากสาเหตุนี้) มีสาเหตุมาจากเซลล์ขนในหูชั้นในและเส้นประสาทหูค่อย ๆ เสื่อมไปตามอายุ โดยเฉพาะเซลล์ขนส่วนฐานของคอเคลียจะเสื่อมไปก่อน ทำให้สูญเสียการได้ยินช่วงเสียงแหลมเมื่ออายุมากขึ้น การเสื่อมนั้นจะลามไปถึงช่วงความถี่กลางสำหรับฟังเสียงพูด ทำให้ผู้สูงอายุเริ่มหูตึง ฟังไม่ชัดเจนถึงระดับเสียงที่ดังขึ้น และมักบ่นว่าได้ยินเสียงแต่ฟังไม่รู้เรื่อง นั่นเป็นเพราะเซลล์ขนแปลสัญญาณผิดเพี้ยนไป ทำให้สมองอ่านสัญญาณไม่ออก โดยมากผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุได้ประมาณ 60 ปีขึ้นไป ในผู้ชายจะมีโอกาสเป็นมากกว่าและมีความรุนแรงกว่าผู้หญิง การใส่เครื่องช่วยฟังจะช่วยให้ได้ยินได้
    • ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน (Acoustic trauma) เป็นการเสื่อมของเส้นประสาทหูที่เกิดจากการได้ยินเสียงที่ดังมากในระยะเวลาสั้น ๆ หรือได้ยินเพียงครั้งเดียว เช่น การได้ยินเสียงฟ้าผ่า เสียงระเบิด เสียงปืน เสียงพลุ หรือเสียงประทัด เป็นต้น
    • ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป (Noise-induced hearing loss) จากการได้ยินเสียงดังระดับปานกลางหรือดังเกิน 85 เดซิเบลขึ้นไปเป็นเวลานาน ๆ (เสียงสนทนาปกติจะดังประมาณ 60 เดซิเบล และเสียงจากเครื่องเจาะถนนจะดังประมาณ 120 เดซิเบล) เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงาน, ทหาร/ตำรวจที่ต้องฝึกซ้อมการยิงปืนเป็นประจำ, เสียงดังจากเครื่องจักรหรือยวดยานพาหนะต่าง ๆ, เสียงเพลงหรือเสียงดนตรีที่ดังเกินควรที่ฟังผ่านหูฟัง, เสียงในงานคอนเสิร์ตที่ดังมาก ๆ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเสียงความถี่สูง ๆ (เสียงสูง) มักทำให้เกิดอาการหูตึงได้ เนื่องจากเซลล์ประสาทหูถูกคลื่นเสียงทำลายไปอย่างถาวรและไม่มีทางแก้ไขให้กลับคืนมาดีได้เหมือนเดิม ผู้ป่วยมักจะมีอาการเริ่มจากการได้ยินเสียงสูง (เช่น เสียงกระดิ่ง) สู้เสียงต่ำ (เช่น เสียงเคาะประตู) ไม่ได้ ถ้ายังอยู่ในที่ที่มีเสียงดังเช่นเดิม อาการหูตึงจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นหูหนวกได้ แต่ถ้าเลิกอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง ๆ อาการหูตึงก็จะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง
    • ประสาทหูเสื่อมแต่กำเนิด เช่น การขาดออกซิเจนขณะอยู่ในครรภ์หรือระหว่างคลอด, การติดเชื้อแต่กำเนิดหรือหลังคลอด เช่น ซิฟิลิส หัด หัดเยอรมัน คางทูม อีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ (มักเกิดจากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์หรือใช้ยาที่มีฤทธิ์ทำลายประสาทหูทารกในครรภ์ ในรายที่หูหนวกแต่กำเนิด หากไม่ได้รับการรักษาฟื้นฟูเด็กมักจะใบ้ร่วมด้วย)
    • หูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis)
    • โรคเมเนียส์/น้ำในหูไม่เท่ากัน (Ménière’s disease) ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและอาจหายเองได้ แต่มีส่วนน้อยที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหูตึงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหูหนวกสนิทได้ ส่วนการรักษา แพทย์จะทำการรักษาด้วยยา ถ้าไม่ได้ผลอาจต้องทำการผ่าตัด
    • โรคเนื้องอกประสาทหู (Acoustic neuroma) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหูตึงขึ้นทีละน้อยหรือเกิดขึ้นอย่างฉับพลันก็ได้
    • โรคซิฟิลิส (Syphilis) ซึ่งในระยะท้ายของโรคหรือระยะแฝงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตาบอด หูหนวก ใบหน้าผิดรูป กระดูกผุ
    • การได้รับอุบัติเหตุของหูชั้นใน ซึ่งอาจเกิดจากการถูกตบตี การได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณกกหูหรือถูกตบตีบริเวณด้านหลังศีรษะ ทำให้กระดูกหูชั้นในแตกร้าวและส่งผลให้เกิดอาการหูตึงชนิดประสาทหูเสื่อมในระดับเล็กน้อยถึงหูหนวกได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอุบัติเหตุและลักษณะการแตกร้าวของกระดูก
    • การผ่าตัดหูแล้วมีการกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน
    • การมีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน (Perilymphatic fistula)
    • การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู (Ototoxic drug) เป็นระยะเวลานาน เช่น ซาลิไซเลต (Salicylate), อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside), ควินิน (Quinine), แอสไพริน (Aspirin), สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin), กานามัยซิน (Kanamycin), เจนตามัยซิน (Gentamicin), โทบรามัยซิน (Tobramycin) เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นกับหูทั้งสองข้าง อาการจะเป็นทีละน้อยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยาบางชนิดจะทำให้มีอาการเพียงชั่วคราว เมื่อหยุดยาแล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นหรือคงเดิมได้ แต่ยาบางชนิดก็ทำให้มีอาการถาวร รักษาไม่หาย
    • สาเหตุทางกรรมพันธุ์ เช่น โรคหูตึงจากกรรมพันธุ์
    • สาเหตุจากโรคทางกาย เช่น โรคโลหิตจาง, โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ, โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, โรคที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูงหรือต่ำ, โรคเบาหวาน, โรคไต เป็นต้น
    • สาเหตุที่เกิดในสมอง (Central hearing impairment) ทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียง แต่ไม่สามารถแปลความหมายได้ จึงไม่สามารถเข้าใจความหมายของเสียงที่ได้ยินและไม่สามารถตอบโต้กลับไปได้ เช่น โรคของเส้นเลือด (เช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน), โรคความดันโลหิตสูง, เลือดออกในสมองจากไขมันในเลือดสูง, โรคเนื้องอกในสมอง (เนื้องอกของประสาทหู และ/หรือประสาทการทรงตัว)
  3. การสูญเสียการได้ยินชนิดการรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม (Mixed hearing loss) เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติในการนำเสียงบกพร่องร่วมกับประสาทรับเสียงบกพร่อง ซึ่งพบในโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ร่วมกับความผิดปกติของหูชั้นใน โรคที่พบ เช่น
    • โรคหูน้ำหนวกเรื้อรังที่ลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน
    • โรคในหูชั้นกลางของผู้สูงอายุที่มีปัญหาประสาทรับเสียงเสื่อมด้วย
    • โรคหินปูนเกาะกระดูกโกลนและมีพยาธิสภาพในหูชั้นในร่วมด้วย (Cochlear otosclerosis)

อย่างไรก็ตาม มีผู้สูญเสียสมรรถภาพของการได้ยินจำนวนไม่น้อยที่แพทย์อาจตรวจไม่พบสาเหตุก็ได้

การสูญเสียการได้ยิน
IMAGE SOURCE : audiology.nmsu.edu

อาการหูตึงหูหนวก

ผู้ป่วยจะมีอาการที่การได้ยินลดลงจนถึงไม่ได้ยินเลยก็ได้ โดยอาจมีอาการเกิดขึ้นกับหูเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น

คนที่หูตึงข้างเดียวจะมีปัญหาในการฟังและลำบากในการหาทิศทางของเสียง ส่วนคนที่หูตึงทั้งสองข้างจะมีปัญหาทางการได้ยินในระดับที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความผิดปกติของการสูญเสียการได้ยินว่าเป็นมากน้อยเพียงใด เช่น ถ้าหูตึงน้อยจะไม่ได้ยินเสียงพูดเบา ๆ หรือเสียงกระซิบ หูตึงปานกลางจะไม่ได้ยินเสียงพูดปกติ หูตึงมากจะไม่ได้ยินเสียงพูดดัง ๆ หูตึงรุนแรงจะได้ยินเสียงตะโกนเพียงเล็กน้อย แต่ได้ยินไม่ชัด แต่ถ้าหูหนวก การตะโกนก็ไม่ช่วยทำให้ได้ยินเสียงแต่อย่างใด

นอกจากนี้ อาการหูตึงหูหนวกอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ เวียนศีรษะ มีสารคัดหลั่งจากหู เป็นใบ้

ทราบได้อย่างไรว่าหูตึงหูหนวก ?

เดซิเบล” (decibel – dB) เป็นหน่วยวัดระดับความดังของเสียง ค่าเดซิเบลจะเพิ่มขึ้นตามเสียงที่ดังมากขึ้น ในคนที่การได้ยินปกติจะได้ยินเสียงในระดับ 25 เดซิเบลหรือเบากว่านั้นได้ แต่ในคนหูตึงจะไม่ได้ยินเสียงที่เบากว่าระดับ 25 เดซิเบล

ระดับความผิดปกติของการสูญเสียการได้ยิน

ระดับความผิดปกติของการสูญเสียการได้ยินสามารถแบ่งออกได้เป็น หูตึงน้อย หูตึงปานกลาง หูตึงมาก หูตึงรุนแรง และหูหนวก

ระดับการได้ยิน|ระดับความผิดปกติ|ลักษณะอาการ
-10-25 dB|การได้ยินปกติ|ได้ยินเสียงพูดกระซิบเบา ๆ
26-40 dB|หูตึงน้อย|ไม่ได้ยินเสียงพูดเบา ๆ แต่ได้ยินเสียงพูดปกติ และอาจต้องใช้เครื่องช่วยฟังบางโอกาส เช่น ตอนเรียนหนังสือ
41-55 dB|หูตึงปานกลาง|ไม่ได้ยินเสียงพูดปกติ ต้องพูดดังกว่าปกติจึงจะได้ยิน และจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟังขณะพูดคุย
56-70 dB|หูตึงมาก|ไม่ได้ยินเสียงพูดที่ดังมาก และจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟังตลอดเวลา
71-90 dB|หูตึงรุนแรง|ต้องตะโกนหรือใช้เครื่องขยายเสียงจึงจะได้ยิน แต่ได้ยินไม่ชัด
มากกว่า 90 dB|หูหนวก|การตะโกนหรือใช้เครื่องขยายเสียงก็ไม่ได้ยินและเข้าใจความหมาย

แม้การสังเกตข้างต้นอาจบอกจะพอบอกได้คร่าว ๆ ว่า เรามีภาวะหูตึงหรือหูหนวกหรือไม่เพียงใด แต่การประเมินระดับความผิดปกติของการสูญเสียการได้ยินที่แน่นอนกว่านั้นจะต้องใช้เครื่องตรวจการได้ยิน (Audiogram) เพื่อวัดระดับการได้ยินเสียงบริสุทธิ์ในแต่ละความถี่

วิธีการสังเกตอาการหูตึงด้วยตนเอง

เราสามารถสังเกตว่ามีภาวะหูตึงหรือไม่ด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ

  1. ฟังเสียงกระซิบหรือเสียงถูนิ้วระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ใกล้ใบหู ซึ่งปกติเสียงกระซิบจะได้ยินดังประมาณ 30 เดซิเบล แต่ถ้าไม่ได้ยินให้สงสัยว่าอาจมีปัญหาการได้ยิน
  2. ไปตรวจวัดสมรรถภาพการได้ยินที่โรงพยาบาล ซึ่งการตรวจจะใช้เวลาเพียง 10-15 นาที ผู้ตรวจจะให้เราฟังเสียงพูดหรือเสียงบริสุทธิ์ที่ความถี่ต่าง ๆ ผ่านทางหูฟัง หรือใช้อุปกรณ์พิเศษผ่านทางกระดูก ก็จะทำให้ทราบผลได้ทันทีภายหลังการตรวจ

หูไม่ได้ยิน
IMAGE SOURCE : www.ezyhealth.com

การวินิจฉัยหูตึงหูหนวก

  • แพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียดเกี่ยวกับการสูญเสียการได้ยินและสาเหตุต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ที่อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ระยะเวลาที่เริ่มเกิดอาการหูอื้อ หูตึง, ลักษณะอาการที่เป็นเกิดขึ้นทันทีหรือเป็น ๆ หาย ๆ หรือค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ, ประวัติการได้ยินเสียงดัง เช่น เสียงระเบิด เสียงปืน เสียงพลุ เป็นต้น, การมีอาการทางหูและอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีเสียงรบกวนในหู เวียนศีรษะ มีอาการชาใบหน้า เดินเซ เป็นต้น, ประวัติการใช้ยาและโรคประจำตัว, ประวัติคนในครอบครัวที่เป็นโรคหูตึง
  • แพทย์จะทำการตรวจหูอย่างละเอียด ทั้งหูชั้นนอก ช่องหู แก้วหู หูชั้นกลาง และบริเวณรอบหูของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจมูกและคอ นอกจากนั้นก็จะตรวจระบบประสาท เส้นประสาทสมองต่าง ๆ
  • การตรวจพิเศษต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจการได้ยิน (Audiogram) เพื่อยืนยันและประเมินระดับความผิดปกติของการสูญเสียการได้ยิน, การตรวจวัดสมรรถภาพของหูชั้นกลาง (Tympanogram), การตรวจดูคลื่นของเส้นประสาทรับเสียงและก้านสมอง (Evoke auditory response) ในรายที่สงสัยว่ามีความผิดปกติของเส้นประสาทรับเสียง
  • ถ้ายังไม่พบสาเหตุหรือในรายที่แพทย์สงสัยว่าจะมีเนื้องอก อาจจำเป็นต้องทำการตรวจเอกซเรย์สนามแม่เหล็กไฟฟ้า (CT/MRI)
  • นอกจากนี้อาจมีการตรวจเลือด เบาหวาน โรคไต ไขมัน คอเรสเตอรอล ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เชื้อซิฟิลิสหรือภูมิคุ้มกันของร่างกาย ฯลฯ

การรักษาหูตึงหูหนวก

แพทย์จะให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ ซึ่งแบ่งเป็นการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด

  • เมื่อมีอาการหูตึงหูหนวกเกิดขึ้นหรือเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ดังที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์หูคอจมูกที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป เพราะบางสาเหตุอาจรักษาให้หายและหูกลับมาได้ยินเป็นปกติได้
  • ถ้าหูตึงไม่มาก ยังพอได้ยินเสียง และไม่รบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันมากนัก คือ ยังพอสื่อสารกับผู้อื่นได้อยู่หรือเป็นกับหูเพียงข้างเดียว แต่อีกข้างยังดีอยู่ อาจไม่ต้องรักษา เพียงแต่ต้องทำใจยอมรับ
  • ถ้าหูตึงมาก ไม่ค่อยได้ยินเสียง โดยเฉพาะในรายที่เป็นกับหูทั้ง 2 ข้าง และรบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันมาก คือไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ และเกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว ควรฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินด้วยการใช้เครื่องช่วยฟัง
  • ถ้าหูตึงเกิดจากประสาทหูเสื่อมตามวัย ควรป้องกันไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น โดยการหลีกเลี่ยงเสียงดัง, รักษาหรือควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ดี (เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคซีด โรคเลือด โรคไต), หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู, ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู, หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหูหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน, ลดอาหารเค็มหรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท (เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงการสูบบุหรี่), ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
  • ส่วนใหญ่ที่สูญเสียการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่องจากโรคของหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง เช่น เยื่อแก้วหูทะลุ ภาวะน้ำขังในหูชั้นกลาง ช่องหูตีบตัน กระดูกหูผิดรูปหรือเลื่อนหลุด และโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่อง แพทย์สามารถให้การรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดแก้ไขให้ได้ยินดีขึ้นได้ (ยาที่อาจทำให้การได้ยินดีขึ้นบ้าง คือ ยาขยายหลอดเลือดที่ช่วยเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น และยาบำรุงประสาทหู)
  • ในรายที่ประสาทหูเสื่อมหรือเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาจจะต้องให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง ในรายที่มาพบแพทย์ช้า การรักษามักจะไม่ค่อยได้ผลดี และส่วนใหญ่จะรักษาไม่ได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง
  • ในรายที่ประสาทหูเสื่อมแบบเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีโอกาสรักษาให้คืนกลับสู่ปกติได้ในช่วงเดือนแรก ๆ แต่หากยังไม่ฟื้นคืนภายใน 3 เดือนแรก ก็จะมีโอกาสน้อยมากที่จะหายเป็นปกติ ในผู้ที่มีประสาทหูเสื่อมเกิน 6 เดือน ควรพิจารณาใช้เครื่องช่วยฟัง
  • สำหรับเครื่องช่วยฟังจะมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดและมีกลไกการทำงานที่ต่างกันไป (ปัจจุบันในประเทศมีให้เลือกใช้เพียง 2 ชนิดแรก) เช่น
    1. เครื่องช่วยฟังแบบใส่ในช่องหู (Conventional hearing aids) เป็นเครื่องช่วยขยายเสียงให้ดังขึ้น โดยเสียงจะเดินทางผ่านอวัยวะรับการได้ยินตามเส้นทางการเดินของคลื่นเสียงปกติ

      เครื่องช่วยฟัง
      IMAGE SOURCE : hearingaidbuyertoday.com, www.zazbot.com

    2. ประสาทหูเทียม (Cochlear implant) เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ทำด้วยสายไฟฟ้าเล็ก ๆ ที่มีการรับเสียงและแปรเสียง แล้วส่งสัญญาณเข้าไปกระตุ้นประสาทการได้ยินเข้าไปที่สมอง ทำให้สามารถแปลเสียงนั้นออกมาได้ โดยประสาทหูเทียมจะถูกฝังเข้าไปในกระดูกก้นหอยที่อยู่ในหูชั้นในโดยการผ่าตัดหลังหูกรอเอากระดูกหลังหูออกและทำการฝังเครื่องเอาไว้ที่หลังหูด้านนอกกะโหลกศีรษะ แล้วต่อกับเครื่องภายนอกด้วยระบบแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้กระตุ้นเสียงเข้าไปข้างใน (มักใช้ในรายที่ประสาทหูเสื่อมอย่างรุนแรงที่เรียกว่า หูหนวกหรือหูเกือบหนวก เพราะการใส่เครื่องช่วยฟังมักไม่ได้ผล)

      ประสาทหูเทียม
      IMAGE SOURCE : cias.rit.edu, wexnermedical.osu.edu

    3. เครื่องช่วยฟังชนิดฝังที่กะโหลกศีรษะ (Bone-anchored hearing aid – BAHA) สัญญาณเสียงจะทำให้เครื่องสั่นเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้หูชั้นในซึ่งอยู่ในกะโหลกศีรษะส่งสัญญาณกระตุ้นเส้นประสาทรับเสียงต่อไป
    4. เครื่องช่วยฟังชนิดฝังที่หูชั้นกลาง (Middle ear implantable device) จะแปลงสัญญาณเสียง ทำให้ชิ้นส่วนของเครื่องซึ่งฝังติดอยู่กับกระดูกหูขยับและส่งต่อสัญญาณเข้าหูชั้นในสู่เส้นประสาทรับเสียงและสมองตามลำดับ
    5. เครื่องช่วยฟังชนิดฝังที่ก้านสมอง (Auditory brain stem implant) จะกระตุ้นส่วนรับการได้ยินบนก้านสมอง จากนั้นจะส่งสัญญาณไปยังสมองให้รับว่าได้ยินเสียง

ทั้งนี้ยังไม่มียาที่ช่วยแก้ไขการเสื่อมการได้ยินทั้งการนำเสียงและประสาทรับเสียงบกพร่องเพื่อให้การได้ยินกลับคืนมาได้ทั้งหมด การใช้ยาเพื่อรักษาโรคจากการติดเชื้อโรคตามระบบ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น เสียงดัง การใช้ยาที่มีพิษต่อหู จะเป็นเพียงการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหูหนวกหูตึงขึ้นเท่านั้น

วิธีป้องกันหูตึงหูหนวก

การป้องกันโดยทั่วไป คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำลายหู ได้แก่

  • การหลีกเลี่ยงได้ยินเสียงดังมาก ๆ หรือการได้ยินเสียงดังเป็นเวลานาน ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องได้ยินเสียงดัง ๆ เป็นเวลานาน ๆ ควรสวมเครื่องป้องกันในขณะที่อยู่ในที่ทำงาน ไปพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบการได้ยินเป็นระยะ ๆ และหากเริ่มมีอาการหูตึงเกิดขึ้น ควรเลิกทำงานในสถานที่เดิมและย้ายไปทำงานในสถานที่ที่ไม่มีเสียงดังแทน
  • การหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาใด ๆ มาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ถ้าได้รับยาจากแพทย์แล้วมีอาการหูตึงควรรีบกลับไปพบแพทย์ทันทีเพื่อที่แพทย์จะได้ปรับยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “หูตึง/หูหนวก (Hearing loss/Deafness)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 924-925.
  2. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “หูไม่ได้ยิน..จะให้ทำอย่างไร?”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [29 ธ.ค. 2016].
  3. ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “หูหนวก หูตึง รักษาได้”.  (ผศ.พญ.สุวิชา อิศราดิสัยกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th.  [29 ธ.ค. 2016].
  4. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.  “การสูญเสียการได้ยิน”.  (นพ.ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bumrungrad.com.  [30 ธ.ค. 2016].
  5. INTIMEX.  “หูตึงในผู้ใหญ่”.  (รศ.พ.อ.พงษ์เทพ หารชุมพล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.intimexhearing.com.  [30 ธ.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด