หูชั้นกลางอักเสบ
หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media หรือ Middle ear infection) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย แต่จะพบได้มากในทารกและเด็กเล็ก (4 เดือนถึง 4 ขวบ) เนื่องจากภูมิต้านทานยังน้อยและยังเจริญไม่เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกที่ไม่ได้กินนมมารดา อยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่ หรือมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบมากขึ้น
สาเหตุของหูชั้นกลางอักเสบ
โรคนี้สามารถแบ่งออกเป็นชนิดเฉียบพลัน ชนิดเรื้อรัง และชนิดที่มีน้ำคั่งในหูชั้นกลาง
- หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute otitis media – AOM) ส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกับการติดเชื้อในบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น (คอและจมูก) ได้แก่ ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ และบางรายหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ ไอกรน หัด ทำให้เชื้อโรคบริเวณคอผ่านท่อยูสเตเชียน/ท่อปรับความดันหูชั้นกลาง (Eustachain tube) เข้าไปในหูชั้นกลางได้ และเกิดการอักเสบขึ้นมา ทำให้เยื่อบุผิวภายในหูชั้นกลางและท่อยูสเตเชียนบวม และมีหนองขังอยู่ในหูชั้นกลาง เพราะไม่สามารถระบายผ่านท่อยูสเตเชียนที่บวมและอุดตันได้ ในที่สุดเยื่อแก้วหูซึ่งเป็นเยื่อบาง ๆ ที่กั้นอยู่ระหว่างหูชั้นกลางอักเสบกับหูชั้นนอกก็จะเกิดการทะลุเป็นรู หนองที่ขังอยู่ภายในก็จะไหลออกมากลายเป็นหูน้ำหนวก
- เชื้อโรคสามารถเข้าสู่หูชั้นกลางได้จาก 3 ช่องทาง คือ 1. จากการติดเชื้อในคอหรือจมูกผ่านเข้าทางท่อยูสเตเชียนไปสู่หูชั้นกลางซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ดังที่กล่าวไปแล้ว 2. จากการติดเชื้อในรูหู ผ่านแก้วหูที่ทะลุ แล้วเข้าสู่หูชั้นกลาง และ 3. ผ่านทางกระแสเลือด
- เชื้อก่อโรคส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งพบได้ประมาณ 55-75% โดยเป็นเชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae), เชื้อฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae) และเชื้อมอแรเซลลา (Moraxella catarrhalis) ถึง 80% ส่วนที่เหลือจะเป็นพวกเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus), เชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอและบี (group A and group B streptococcus) และพวกแบคทีเรียแกรมลบ เช่น สูโดโมแนส (Pseudomonas) ซึ่งมักเป็นสาเหตุในทารกแรกเกิด
ส่วนกลุ่มถัดมาจะเป็นเชื้อไวรัส ซึ่งพบได้ประมาณ 10-40% ได้แก่ เชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus), ไรโนไวรัส (Rhinovirus), ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus), อดีโนไวรัส (Adenovirus) ตามลำดับ (แต่บางข้อมูลระบุว่า โรคนี้โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมักพบร่วมกับไข้หวัด ซึ่งมักจะไม่รุนแรงและหายได้เองภายในไม่กี่วันหรือประมาณ 2-3 วัน และมีส่วนน้อยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างจริงจัง เพราะหากปล่อยไว้ไม่รักษาก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้) - สาเหตุที่พบโรคนี้ในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ เป็นเพราะว่าในทารกและเด็กเล็กจะมีท่อยูสเตเชียน (Eustachain tube) ที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูกยังมีการพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่ คือ มีขนาดสั้นกว่าในผู้ใหญ่และมักจะอยู่ในแนวขนานกับแนวราบ (ทำมุมกับแนวราบเพียงเล็กน้อย) ซึ่งต่างจากผู้ใหญ่ที่ท่อยูสเตเชียนจะทำมุมกับแนวราบได้มากกว่า และท่อยูสเตเชียนมีขนาดยาวกว่าในเด็ก จึงทำให้เชื้อโรคจากจมูกและโพรงหลังจมูกเข้าสู่หูชั้นกลางของเด็กได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ และประกอบกับการที่เด็กมักเกิดภาวะติดเชื้อเป็นไข้หวัดได้บ่อย ซึ่งถ้าโรคหวัดที่เป็นอยู่เกิดลุกลามก็จะมีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบต่อเนื่องไปยังรูเปิดของท่อยูสเตเชียนได้ และมีผลทำให้เกิดภาวะหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
- ภาวะนํ้าคั่งในหูชั้นกลาง (Otitis media with effusion – OME) เป็นภาวะที่มีนํ้าขังอยู่ในหูชั้นกลางโดยที่ไม่มีอาการแสดงของการอักเสบหรือติดเชื้อ ผู้ป่วยมักจะมีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง แต่ไม่มีอาการปวดหูและไม่มีไข้ เมื่อตรวจดูในหูจะไม่พบการบวมแดงของแก้วหู แต่จะมีการขยับของเยื่อแก้วหูลดลง (เพราะมีน้ำขังอยู่ด้านหลัง) ภาวะนี้มักพบในเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ กลุ่มอาการของดาวน์ มีโครงสร้างใบหน้าที่ผิดปกติ แต่หากพบภาวะนี้ในผู้ใหญ่ควรตรวจหาโรคมะเร็งของคอหอยส่วนจมูก (Nasopharyngeal carcinoma) ด้วย เพราะอาจไปอุดท่อยูสเตเชียนได้
- หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (Chronic otitis media หรือ Chronic suppurative otitis media – CSOM) เป็นภาวะที่มีการทะลุของเยื่อแก้วหูและมีหูน้ำหนวกไหลแบบเรื้อรัง (โดยมากจะเริ่มเป็นมาตั้งแต่เด็ก ในเด็กที่ขาดสารอาหารหรือมีสุขภาพไม่แข็งแรง หรือขาดสุขนิสัยจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง) โดยอาจเป็นผลมาจากหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันหรือมาจากการได้รับบาดเจ็บจนแก้วหูทะลุก็ได้ และบางครั้งอาจพบร่วมกับผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง ทอนซิลอักเสบเรื้อรัง ผนังกั้นช่องจมูกคด ริดสีดวงจมูก
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ
- การสูดควันบุหรี่
- มีภูมิต้านทานน้อยหรือไม่ดี เช่น ในทารกที่ไม่ได้กินนมมารดา
- ภาวะที่ท่อยูสเตเชียนอุดตัน เช่น เป็นไข้หวัด การใส่สายป้อนอาหารทางจมูก
- ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
- การเลี้ยงลูกด้วยนมขวด การใช้จุกนมปลอม การนอนหงายดูดนม
- การส่งเด็กไปเลี้ยงที่ศูนย์เลี้ยงเด็ก
- การสั่งน้ำมูกแรง ๆ การดำน้ำ การว่ายน้ำ ในขณะที่มีการอักเสบในโพรงจมูกหรือโพรงหลังจมูกจะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในหูชั้นกลางได้ง่ายขึ้น
อาการของหูชั้นกลางอักเสบ
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหลังจากเป็นไข้หวัด เจ็บคอ หรือเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยจะมีอาการปวดในรูหู (แต่ดึงใบหูจะไม่เจ็บมากขึ้นเหมือนโรคหูชั้นนอกอักเสบ) หูอื้อ การได้ยินลดลง มีไข้สูง หนาวส่ัน และบางรายอาจมีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเดินได้ด้วย ส่วนในทารกและเด็กเล็กจะมีอาการตื่นขึ้นร้องกวนเวลากลางดึกด้วยอาการเจ็บปวดหู และร้องไห้งอแงเกือบตลอดเวลา บางรายอาจเอามือดึงใบหูตัวเองข้างที่ปวด เด็กมักจะมีไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักเนื่องจากไข้สูง และเด็กมักมีอาการของไข้หวัดหรือมีอาการไอร่วมด้วย
- หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะบวมแดง ถ้าตรวจดูในหูด้วยเครื่องมือแพทย์จะพบแก้วหูบวมแดง ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหูหรือแน่น ๆ ในหู มีไข้ และการได้ยินผิดปกติ ส่วนในทารกและเด็กเล็กจะร้องไห้งอแงไม่ยอมนอน และบางรายมักเอามือดึงใบหูตัวเอง
- ระยะมีน้ำ ภายใน 1-2 วัน จะเริ่มมีซีรั่มซึมออกมาจากหลอดเลือดที่ขยายตัวเข้าไปในหูชั้นกลางและในโพรงกระดูกมาสตอยด์ที่อยู่หลังหู ในระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดหูมากขึ้น มีไข้สูง และการได้ยินลดลง เมื่อตรวจดูในหูจะพบแก้วหูมีลักษณะบวมแดงโป่งนูน เพราะถูกน้ำข้างในดันออกมา
- ระยะทะลุ เป็นระยะที่แก้วหูไม่สามารถทนต่อแรงดันจากน้ำข้างในหูชั้นกลางได้อีกจนเกิดการทะลุ ทำให้มีหนองไหลออกมาในรูหูชั้นนอก ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีน้ำปนหนองไหลออกมาจากหูอยู่พักหนึ่งแล้วอาการปวดหูและไข้จะลดลงอย่างมาก ส่วนใหญ่การอักเสบแบบเฉียบพลันจะหยุดแค่ในระยะนี้ เยื่อแก้วหูจะซ่อมแซมปิดรูที่ทะลุได้เองภายใน 2 สัปดาห์ และการได้ยินของผู้ป่วยจะกลับมาเป็นปกติหรือเกือบปกติ แต่ในผู้ป่วยบางรายที่รูทะลุไม่สามารถปิดได้เองก็จะเข้าสู่การอักเสบแบบเรื้อรังต่อไป (โดยทั่วไปจากระยะบวมแดงถึงระยะทะลุจะกินเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ และหากรักษาได้ทันก็จะช่วยป้องกันการทะลุได้)
หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (หูน้ำหนวกเรื้อรัง) ผู้ป่วยมักจะมีอาการหูน้ำหนวกไหลเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังร่วมกับมีอาการหูอื้อ หูตึง หูน้ำหนวก มักเกิดขึ้นเวลาเป็นหวัด เจ็บคอ หรือหลังจากเล่นน้ำ มีลักษณะเป็นหนองสีเหลืองหรือสีเขียว บางรายอาจมีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย และส่วนมากจะไม่มีไข้หรือเจ็บปวดในรูหูแต่อย่างใด
- หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง อาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
- ชนิดปลอดภัย (Safe ear) เป็นชนิดที่เยื่อแก้วหูทะลุอยู่แค่ตรงกลาง ส่วนขอบของแก้วหูยังอยู่ครบ แต่จะไม่พบว่ามีถุงน้ำในหูชั้นกลาง (Cholesteatoma) ผู้ป่วยจะมีหนองไหลจากหูเป็น ๆ หาย ๆ และสูญเสียการได้ยินไปบางส่วน แต่จะไม่มีไข้หรืออาการเจ็บปวดในรูหู
- ชนิดไม่ปลอดภัย (Unsafe ear) เป็นชนิดที่เยื่อแก้วหูทะลุถึงบริเวณขอบแก้วหู และจะมีถุงน้ำในหูชั้นกลางร่วมด้วย ซึ่งจะสามารถทำลายกระดูกบริเวณรอบข้างได้ ส่วนอาการจะเหมือนกับชนิดปลอดภัย แต่ผู้ป่วยอาจจะมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน เพิ่มเติมเข้ามาด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของหูชั้นกลางอักเสบ
- หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้กลายเป็นหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง, หูชั้นในอักเสบ (เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหูอื้อ มีเสียงดังในหู และบ้านหมุน), หูหนวก, โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบ (Mastoiditis) ซึ่งผู้ป่วยจะมีไข้สูงร่วมกับมีอาการปวดตรงบริเวณกระดูกมาสตอยด์ตรงหลังหู, ใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ฝีในสมอง เป็นต้น
- หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดหูชั้นในอักเสบ, โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบ (Mastoiditis), มีฝีรอบ ๆ หู, หูหนวกสนิท (เนื่องจากกระดูกนำเสียงภายในหูถูกทำลาย), อาจทำลายเส้นประสาทใบหน้าทำให้ใบหน้ากลายเป็นอัมพาตครึ่งซีก (เวลายิ้มมุมปากขวาจะยกไม่ขึ้น ส่วนเวลาหลับตาหนังตาขวาจะปิดไม่สนิท), เชื้ออาจลุกลามเข้าสู่สมองทำให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือฝีในสมองซึ่งเป็นอันตรายได้
การวินิจฉัยหูชั้นกลางอักเสบ
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการซักประวัติอาการของผู้ป่วย (เช่น อาการปวดหู หูอื้อ มีไข้ ร่วมกับไข้หวัด เจ็บคอ) การตรวจร่างกาย และการใช้เครื่องส่องหู (Otoscope) ส่องดู ซึ่งจะพบเยื่อแก้วหูมีลักษณะผิดปกติ (บวมแดงหรือมีรุทะลุ) นอกจากนี้อาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น การตรวจการได้ยิน ภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ การส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หู เป็นต้น
- สำหรับหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ในระยะแรกแพทย์อาจตรวจพบว่าผู้ป่วยมีไข้ การตรวจดูหูโดยใช้เครื่องส่องหูจะเห็นเยื่อแก้วหูโป่งออกและเป็นสีแดงเรื่อ ๆ ในระยะต่อมาจะมีการทะลุของเยื่อแก้วหู ทำให้ตรวจพบเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูและมีหนองไหล ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยจะหายปวดหูและไม่มีไข้
- สำหรับหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง เมื่อใช้เครื่องส่องหูตรวจดูจะพบเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูกว้าง ถ้าทะลุเป็นรูใหญ่ถึงขอบแก้วหูมักจะเป็นชนิดที่มีอันตรายร้ายแรง
การรักษาหูชั้นกลางอักเสบ
การรักษาหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
- แพทย์จะให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) เท่าที่จำเป็น และให้รับประทานยาปฏิชีวนะถ้าพบว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin), โคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ ซึ่งมักจะให้รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 10-14 วัน (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และแพทย์อาจให้ยาหยอดหูร่วมด้วยในรายที่มีหนองไหลออกจากหูหรือมีหูชั้นนอกอักเสบร่วมด้วย)
- นอกจากนี้แพทย์อาจให้รับประทานยาแก้แพ้ (Antihistamine), ยาลดบวม, ยาหดหลอดเลือด (Oral decongestant) และพ่นจมูกด้วยยาหดหลอดเลือด (Topical decongestant) เพื่อทำให้เยื่อบุบริเวณรูเปิดของท่อยูสเตเชียนยุบบวมและท่อยูสเตเชียนเปิดได้กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สารจากการอักเสบหรือหนองที่อยู่ในหูชั้นกลางสามารถระบายออกจากท่อนี้ได้สะดวกขึ้น
- ถ้าอาการดีขึ้นใน 2-3 วันหลังจากรับประทานยาปฏิชีวนะ ให้รับประทานยาปฏิชีวนะต่อไปจนครบตามที่แพทย์สั่ง แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรกลับไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์อาจต้องใช้เข็มเจาะเพื่อระบายเอาหนองออกจากเยื่อแก้วหู ซึ่งเรียกว่า “การเจาะเยื่อแก้วหู” (Myringotomy) และหลังการรักษาด้วยวิธีนี้เยื่อแก้วหูจะปิดได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
- การเจาะเยื่อแก้วหู (Myringotomy) มักทำในรายที่ให้ยาเต็มที่แล้วอาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น (เช่น ผู้ป่วยยังคงมีอาการปวดหูมาก มีไข้สูง) หรือต้องการเอาหนองไปย้อมเชื้อหรือเพาะเชื้อเพื่อหาชนิดของเชื้อก่อโรค, เป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ป่วยหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันที่มีภาวะแทรกซ้อน (เช่น โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อน), ฝีหลังหู, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ฝีในสมอง, ใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก
- การเจาะเยื่อแก้วหู (Myringotomy) มักทำในรายที่ให้ยาเต็มที่แล้วอาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น (เช่น ผู้ป่วยยังคงมีอาการปวดหูมาก มีไข้สูง) หรือต้องการเอาหนองไปย้อมเชื้อหรือเพาะเชื้อเพื่อหาชนิดของเชื้อก่อโรค, เป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ป่วยหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันที่มีภาวะแทรกซ้อน (เช่น โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อน), ฝีหลังหู, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ฝีในสมอง, ใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก
- ผลการรักษาส่วนใหญ่มักหายขาดได้ ส่วนในรายที่ได้รับยาไม่เพียงพอหรือไม่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาภายหลังได้
การรักษาภาวะนํ้าคั่งในหูชั้นกลาง สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะในระยะสั้น ๆ แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นแพทย์จะพิจารณาทำการเจาะเยื่อแก้วหูพร้อมกับใส่ท่อระบาย (Myringotomy)
การรักษาหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง
- หมั่นใช้ไม้พันสำลีเช็ดทำความสะอาดหูให้แห้งอยู่เสมอ แล้วใช้ยาหยอดหูปฏิชีวนะ (Antibiotic ear drops) ที่แพทย์สั่งให้ ใช้หยอดหูวันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าหนองจะแห้ง (ก่อนหยอดยาทุกครั้งควรเช็ดหนองให้แห้งก่อน) ถ้ามีอาการอักเสบกำเริบเฉียบพลัน เช่น ปวดหู มีไข้ ให้รับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วยเป็นเวลา 10-14 วัน
- ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการหูหนวกหูตึงมาก เยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูปใหญ่ถึงขอบแก้วหู มีฝีขึ้นที่หลังหู หรือมีอาการใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก ควรรีบไปโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์อาจต้องทำการเอกซเรย์หูและตรวจพิเศษอื่น ๆ แล้วแก้ไขไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น การรักษาไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ ผนังกั้นช่องจมูกคด ริดสีดวงจมูก เป็นต้น แต่ถ้ายังไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกนำเสียงและทำเยื่อแก้วหูเทียม (Tympanoplasty) ซึ่งจะช่วยให้การได้ยินของผู้ป่วยดีขึ้น
- ในรายที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง หรือคอแข็ง หรือสงสัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือฝีในสมองแทรกซ้อน ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วน
การผ่าตัดโพรงกระดูกมาสตอยด์ (Mastoidectomy) มักทำในรายที่มีการอักเสบของโพรงกระดูกมาสตอยด์ มีหนองขังอยู่ภายในโพรงกระดูกมาสตอยด์และไม่มีทางออก โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดบริเวณหลังหูเข้าสู่โพรงกระดูกมาสตอยด์และนำหนองที่อยู่ภายในออกมา
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- เมื่อมีอาการปวดหู หูอื้อ และมีไข้ ให้รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว แล้วจึงรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง
- ในขณะที่มีหูน้ำหนวกไหลหรือเป็นโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้องและต่อเนื่อง หมั่นใช้ไม้พันสำลีเช็ดทำความสะอาดหูให้แห้งและระวังอย่าให้น้ำเข้าหู โดยการหลีกเลี่ยงการดำน้ำหรือเล่นน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง
- ป้องกันตนเองไม่ให้เป็นหวัดหรือโรคของทางเดินหายใจส่วนต้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการไอแบบปิดปากแน่นหรือสั่งน้ำมูกแรง ๆ
- ไม่ซื้อยาหยอดหูใด ๆ มาใช้เอง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง แม้ว่าอาการจะทุเลาลงแล้วก็ตาม เพราะอาจทำให้การรักษาได้ผลไม่เต็มที่ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
วิธีป้องกันหูชั้นกลางอักเสบ
การป้องกันที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงหรือลดปัจจัยเสี่ยงที่พอทำได้ เช่น
- ควรให้ทารกกินนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการใช้จุกนมปลอม เพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหูชั้นกลางอักเสบประมาณ 1.6-3 เท่า
- หลีกเลี่ยงการส่งเด็กไปเลี้ยงที่ศูนย์เลี้ยงเด็ก เพราะพบว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดหูชั้นกลางอักเสบเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่พ่อแม่เลี้ยงเอง เนื่องจากเด็กจะติดเชื้อมาจากเพื่อน
- ระมัดระวังอย่าให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน เช่น โรคหวัด ไซนัสอักเสบ ฯลฯ โดยการหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลง (เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ) หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศที่เย็นมาก ๆ (เช่น การนอนเปิดแอร์เย็นเกินไป หรือนอนเป่าพัดลมโดยไม่ได้ใส่เสื้อผ้าหรือห่มผ้าห่ม หรือไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอย่างเพียงพอ), การดื่มน้ำหรืออาบน้ำเย็น ๆ, การตากลม, การสัมผัสอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (เช่น จากร้อนเป็นเย็น เย็นเป็นร้อน), การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทั้งที่ในบ้านและในที่ทำงาน, การไปยังสถานที่ที่มีคนมาก ซึ่งจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้น เป็นต้น (แต่ถ้าเป็นแล้วก็ควรรีบรักษาให้หายโดยเร็ว และถ้าเป็นหวัดก็ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงเกินไป ในเด็กโตและผู้ใหญ่ การป้องกันตนเองจากโรคดังกล่าวก็เป็นการป้องกันโรคนี้ไปในตัวด้วย)
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่ และให้งดการสูบบุหรี่ในครอบครัว โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ เพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหูชั้นกลางอักเสบแก่บุตรของท่าน
- ระมัดระวังอย่าให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุกับหู หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหูและบริเวณใกล้เคียง เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุและฉีกขาดได้
- การให้วัคซีนบางชนิดสามารถลดการเกิดหูชั้นกลางอักเสบได้ โดยวัคซีนที่นิยมให้ คือ วัคซีนป้องกันเชื้อปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine), วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) และการให้ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส RSV-IGIV ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เป็นต้น
- สำหรับการป้องกันมิให้เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (หูน้ำหนวกเรื้อรัง) อาจกระทำได้โดยการรีบรักษาหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันอย่างถูกต้อง
- ผู้ที่เป็นหูน้ำหนวกบ่อยมากกว่า 4 ครั้งต่อปี อาจป้องกันได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะในขนาดครึ่งหนึ่งของที่ใช้รักษา วันละ 1 ครั้งก่อนนอน ในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น
- ทำให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ และหมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิก (เช่น การวิ่ง เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ขี่จักรยานแบบปรับน้ำหนักความฝืดได้ เป็นต้น) อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
- ถ้าเจ็บป่วยเป็นโรคนี้ ควรดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
ในปัจจุบัน แม้ว่าโรคหูน้ำหนวกเรื้อรังจะพบได้น้อยลงแล้ว แต่ก็ยังอาจพบได้บ้างประปรายในเด็กนักเรียนที่ขาดสุขนิสัยที่ดี ซึ่งบางรายก็อาจเป็นชนิดอันตรายที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ ดังนั้น ครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบงานอนามัยโรงเรียน ควรพยายามค้นหาผู้ป่วยโรคหูน้ำหนวกเรื้อรังและส่งไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันมิให้เด็กเกิดอันตรายในภายหลัง
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 914-916.
- MutualSelfcare. “โรคหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : mutualselfcare.org. [26 ธ.ค. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 371 คอลัมน์ : สารานุกรมทันโรค. “หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [26 ธ.ค. 2016]
- หาหมอดอทคอม. “หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หูน้ำหนวก (Chronic otitis media)”. (นพ.ศวยส เหรียญมณี). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [27 ธ.ค. 2016].
- Siamhealth. “โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [27 ธ.ค. 2016].
- ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute Otitis Media)”. (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [27 ธ.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)