หิรัญญิการ์
หิรัญญิการ์ ชื่อสามัญ Easter Lily Vine, Herald trumpet, Nepal Trumpet[1]
หิรัญญิการ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Beaumontia grandiflora Wall. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1]
สมุนไพรหิรัญญิการ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เถาตุ้มยำช้าง (ภาคเหนือ), หิรัญญิการ์ (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของหิรัญญิการ์
- ต้นหิรัญญิการ์ เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเนปาล (บางข้อมูลระบุว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย) โดยจัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็งแตกเป็นพุ่มเป็นกอ ลำเถาเลื้อยยาวและมักจะพาดพันกับต้นไม้อื่น แตกกิ่งก้านสาขามากและทั่วลำเถามีขนขึ้นเป็นสีน้ำตาลแดง ตามกิ่งอ่อนมียางสีขาวข้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชอบขึ้นตามชายป่าดิบ หรือป่าเบญจพรรณใกล้ลำธาร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ (หิรัญญิการ์ในประเทศไทยจะมีอยู่ด้วยกัน 3-4 ชนิด แต่ละชนิดจะแตกต่างกันตรงที่รูปร่างของกลีบดอกและใบ เช่น หิรัญญิการ์ดอกใหญ่ (Beaumontia grandiflora Wall.), หิรัญญิการ์ดอกเล็ก (Beaumontia murtonii Craib), หิรัญญิการ์แดง)[1],[2],[3]
- ใบหิรัญญิการ์ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ใบแต่ละคู่ทำมุมฉากซึ่งกันและกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบมนหรือแหลม ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 นิ้ว และยาวประมาณ 5-7 นิ้ว หลังใบเรียบเป็นมัน ใต้ท้องใบเห็นเส้นใบได้ชัดเจน มีประมาณ 10-14 คู่ ไม่มีขนปกคลุม ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร[1],[2],[3]
- ดอกหิรัญญิการ์ ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่บริเวณปลายกิ่งหรือตามง่ามใบ ใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 5-10 ดอก ดอกจะบานไม่พร้อมกัน แต่จะทยอยบาน ในครั้งหนึ่งจะมีดอกบานเพียง 1-4 ดอก ดอกจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ก้านช่อดอกและก้านดอกมีขนละเอียดสีน้ำตาลปนแดงปกคลุมอยู่ทั่วไป ก้านดอกยาวประมาณ 2-3.2 เซนติเมตร ดอกตูมเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอมเขียว ดอกมีขนาดใหญ่สีขาว มีกลีบรองดอก 5 กลีบ กลีบแยกออกจากกัน แต่ละกลีบแผ่กว้างซ้อนทับกัน กลีบเป็นรูปขอบขนาน รูปมน รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 0.5-1 นิ้ว และยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว ปลายแหลม ขอบเรียบ แผ่นกลีบมีลายเส้นร่างแหปรากฏอยู่ชัดเจน และมีขนบาง ๆ ปกคลุมอยู่ประปรายที่บริเวณกลางกลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย รูปถ้วย หรือรูปปากแตร คอดเข้าหากันที่ฐานเป็นหลอดสั้น ๆ ยาวประมาณ 4 นิ้ว ปลายกลีบดอกมนหยักเป็นคลื่น ๆ กลีบดอกเป็นสีขาวสะอาด มีแต้มด้วยจุดสีเขียวเรื่อ ๆ ที่ใจกลางกลีบดอก กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และมีเกสรเพศเมียประมาณ 2 อัน เชื่อมติดกันอยู่กับกลีบดอก ก้านเกสรแต่ละอันจะแยกออกจากกันเป็นอิสระ แล้วโค้งอับเรณูมาประกบติดกัน อับเรณูจะค่อนข้าวยาว ลักษณะคล้ายหัวลูกศร ตุ่มเกสรเพศเมียอยู่ภายในบริเวณของอับเรณูทั้ง 5 อัน รังไข่ตั้งอยู่ที่ฐานกลีบดอกซึ่งเป็นหลอดแคบ ๆ มีน้ำหวานขังอยู่รอบนอก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 12-16 เซนติเมตร และจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน[1],[2],[3]
- ผลหิรัญญิการ์ ออกผลเป็นฝัก ยาวประมาณ 12-30 เซนติเมตร ผนังหนาและแข็งมาก ฝักเมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ดแบน ๆ สีน้ำตาลอยู่เป็นจำนวนมาก ยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ส่วนปลายของเมล็ดมีขนยาวอ่อนนุ่มติดอยู่เป็นกระจุก ยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร[1],[2]
สรรพคุณของหิรัญญิการ์
- เมล็ดมีรสเมา สรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (เมล็ด)[1],[2]
- เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ เนื่องจากมีสารจำพวกคาร์ดีโนไลด์ (Cardinolide) (เมล็ด)[1],[2]
ข้อควรระวัง : เมล็ดหากนำมารับประทานมากอาจทำให้ถึงตายได้[3]
ประโยชน์ของหิรัญญิการ์
- ในประเทศไทยนิยมปลูกต้นหิรัญญิการ์เป็นไม้ประดับกันมาก สามารถปลูกเพื่อประดับเป็นซุ้มกลางแจ้งได้ดี โดยนิยมนำมาปลูกประดับอาคารสถานที่ สวน และสนามต่าง ๆ (บริเวณที่ปลูกควรได้รับแสงแดดแบบเต็มวัน เพราะการปลูกในที่มีแสงแดดน้อยจะทำให้ต้นไม่แข็งแรง ส่วนซุ้มที่ให้ยึดเกาะก็ต้องมีขนาดใหญ่และแข็งแรง)[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หิรัญญิการ์ (Hirun-Yika)”. หน้า 334.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หิรัญญิการ์”. หน้า 826-827.
- พรรณไม้บริเวณพระตำหนักเรือนต้น, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หิรัญญิการ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/palace/chitralada/cld6-2.htm. [18 ก.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Plant.Hunter, Dinesh Valke, douneika, Alan Gregg), toptropicals.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)