หางไหล สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหางไหลแดง 8 ข้อ !

หางไหลแดง

หางไหลแดง ชื่อสามัญ Tuba Root, Derris[2]

หางไหลแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Derris elliptica (Wall.) Benth. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1]

สมุนไพรหางไหลแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะลำเพาะ (เพชรบุรี), อวดน้ำ (สุราษฎร์ธานี), ไหลน้ำ ไกล เครือไกลน้ำ (ภาคเหนือ), โพตะโกส้า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), โล่ติ๊น เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของหางไหลแดง

  • ต้นหางไหลแดง มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน จัดเป็นไม้เถา มีเนื้อไม้แข็ง มีรูอากาศสีขาวกระจายตามกิ่งและเถา เถาหรือลำต้นส่วนที่แก่เป็นสีน้ำตาลปนแดง แต่จะเริ่มมีสีเขียวเห็นได้ชัดตรงปล้องที่อยู่ก่อนถึงยอดประมาณ 2-3 ปล้อง ลำต้นโดยทั่วไปจะมีลักษณะกลม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง แต่นิยมปักชำส่วนของลำต้นมากกว่า ขึ้นได้ดีในสภาพดินหลายชนิดตั้งแต่ดินทรายหยาบไปจนถึงดินเหนียวจัด แต่ไม่เหมาะนำมาปลูกในสภาพดินที่มีน้ำท่วมขัง พืชชนิดนี้สามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ติดต่อกันนานถึง 4 เดือน โดยมากจะพบขึ้นตามบริเวณแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนทางภาคกลางจะพบได้มากแถวจังหวัดปราจีนบุรี จันทบุรี ชลบุรี และในท้องที่ใกล้เคียง[1],[4]

ต้นหางไหล

ต้นหางไหลแดง

รากหางไหลแดง

  • ใบหางไหลแดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน มีใบย่อยประมาณ 9-13 ใบ ใบคู่แรกที่นับจากโคนจะมีขนาดเล็กสุดและจะเริ่มใหญ่ขึ้นตามลำดับจนถึงใบสุดท้ายที่อยู่ตรงยอดซึ่งเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่กลับแกมรูปใบหอก หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบเล็กเรียวขึ้นไป ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร (อาจจะเล็กหรือใหญ่กว่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม) ใบแก่เป็นสีเขียว ลักษณะมัน แผ่นใบเรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน หรือหลังใบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขน เส้นใบเป็นสีเขียวปนน้ำตาล มองเห็นเส้นแขนงลักษณะคล้ายก้างปลาได้ชัดแต่ยาวจนชิดขอบใบ ด้านท้องใบเป็นสีเขียวและจะเห็นเส้นใบได้ชัดกว่าด้านบน ยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นสีแดง มีขนสีน้ำตาลแดง[1],[2],[3],[4]

หางไหล

  • ดอกหางไหลแดง ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ช่อดอกแต่ละช่อมีความยาวประมาณ 22.5-30 เซนติเมตร มีขนสั้นหนานุ่ม ดอกเป็นสีชมพูหรือสีชมพูแกมม่วง เมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีชมพูอ่อนและจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปดอกถั่ว ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร กลีบล่างเป็นรูปโล่ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยหรือรูประฆังมีขน กลีบเลี้ยงยาวได้ประมาณ 6 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นมัดเดียว รังไข่มีขนอุย[1],[2],[3],[4]

ดอกหางไหลแดง

  • ผลหางไหลแดง ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ฝักเป็นรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ปลายและโคนฝักแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-8.5 เซนติเมตร คอดตามแนวของเมล็ด ฝักอ่อนเป็นสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนแดงเมื่อแก่ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 1-4 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมและแบนเล็กน้อย มีสีน้ำตาลปนแดง เมื่อฝักแก่ฝักจะแยกออกจากกัน และเมล็ดจะร่วงหล่นลงพื้นดิน ถ้ามีความชื้นเหมาะสม เมล็ดก็จะงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นต่อไป[1],[3],[4]

หมายเหตุ : ในเมืองไทยพืชในสกุลนี้จะมีอยู่ประมาณ 21 ชนิด แต่จะมีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่มีสารโรตีโนนปริมาณมากและนิยมปลูกเป็นการค้า ได้แก่ หางไหลแดง (Derris elliptica Benth.) และหางไหลขาว (Derris malaccensis Prain.) โดยพบว่ามีสารพิษโรตีโนนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 4-5% ซึ่งในบ้านเรานั้นจะพบหางไหลแดงมากกว่าหางไหลขาว

สรรพคุณของหางไหลแดง

  1. ตำรับยาพื้นบ้านจังหวัดสุโขทัย จะใช้เถาหางไหลแดงนำมาตากให้แห้ง หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้ดองกับเหล้ากินเป็นยาขับโลหิตและบำรุงโลหิตของสตรี (เถา)[3]
  2. เถาผสมกับยาอื่นปรุงเป็นยาแก้ประจำเดือนเป็นลิ่มหรือเป็นก้อน และเป็นยาขับประจำเดือน (เถา)[4]
  3. เถาตากแห้ง นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้ดองกับเหล้ากินเป็นยาถ่ายลม ถ่ายเสมหะ ถ่ายโลหิต และถ่ายเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นหย่อน (เถา)[3]
  4. ใช้รักษาหิด เหา และเรือด ด้วยการใช้เถาสดยาวประมาณ 2-3 นิ้วฟุต นำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมันพืช ใช้ชโลมบนเส้นผมทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วสระออกให้สะอาด โดยให้สระติดต่อกัน 2-3 วัน (เถา)[3]

ข้อควรระวัง : การใช้สมุนไพรทุกชนิดนี้อาจมีผลข้างเคียงได้ ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยก่อนนำมาใช้เป็นยาควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหางไหลแดง

  • รากและลำต้นหางไหลแดงมีสาร rotenone และสารในกลุ่ม rateniods ต่าง ๆ จากการศึกษาความเป็นพิษของสาร rotenone พบว่า มีสารพิษเฉียบพลันทางปากหนูต่อหนู (rats) LD50 132-1,500 มก./กก. ความเป็นพิษทางปากต่อหนูตะเภา (guinea pig) LD50 60-1,500 มก./กก.[4]
  • การศึกษาความเป็นพิษเรื้อรังโดยใช้เวลาการศึกษานาน 90 วัน ทางปากของหนูทดลองพบว่า จะทำให้หนูทดลองโตช้ากว่าปกติ มีอาการเบื่ออาหาร อาเจียนบ่อย เนื้อเยื่อภายในกระเพาะ ลำไส้ ตับ และไตมีความผิดปกติ[4]
  • จากการทดสอบเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ พบว่า หนู หนูตะภา และกระต่าย ที่ได้รับสาร rotenone หนูตัวเมียจะลดการตั้งครรภ์ ส่วนหนูที่ตั้งครรภ์แล้ว ลูกหนูจะตายในครรภ์แม่ ส่วนลูกหนูที่รอดตาย พบว่า จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ จึงแสดงให้เห็นว่า สารชนิดนี้มีความเป็นพิษต่อตับอ่อนเมื่อเริ่มปฏิสนธิ[4]
  • จากการศึกษาทางพันธุกรรม พบว่า rotenone ทำให้เกิด mutate ในบาง culture ของเซลล์หนู และยังพบว่ามีการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งในหนูเผือก (albino rats)[4]
  • หากร่างกายได้รับสาร rotenone จะทำให้เกิดอาการเป็นพิษเฉียบพลัน โดยจะทำให้เยื่อตาขาวอักเสบเป็นผื่น อาเจียน เจ็บคอ เลือดคั่งในตา[4]

ประโยชน์ของหางไหลแดง

  1. ใช้เป็นยาฆ่าแมลง หรือไล่แมลง โดยนำรากหรือเถาแก่สด (จำนวนที่ใช้ขึ้นอยู่กับพื้นที่และแมลง) มาทุบให้แตกมาก ๆ (โดยทั่วไปถ้าเป็นรากสดให้ใช้ 1/2-1 กิโลกรัม ส่วนรากแห้งให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง) แล้วแช่ลงในน้ำ 1 ปี๊บ ทิ้งไว้อย่างน้อย 12-24 ชั่วโมง เพื่อให้สารที่มีความเป็นพิษละลายออกมา ซึ่งน้ำที่ได้จะขาวเหมือนน้ำซาวข้าว จากนั้นให้กรองเอารากออก แล้วเอาน้ำที่ได้มาใช้เป็นยาฆ่าแมลงฉีดพ่นในแปลงพืชผักหรือสวนผลไม้ โดยให้ฉีดพ่นทุก ๆ 7 วัน และควรฉีดในช่วงเย็น เพราะสารโรตีโนนจะสลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกแสงแดด (มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้) ส่วนการนำมาใช้กำจัดหนอนในนาข้าว ให้นำรากมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทุบให้ละเอียดก่อนแล้วนำไปหว่านให้ทั่วนาข้าวและทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง (เหมาะกับนาข้าวที่ไม่มีปลา) หรือจะใช้ในรูปของสารละลายนำมาฉีดพ่นเลยก็ได้ โดยสารพิษที่อยู่ในหางไหลแดง เรียกว่า “โรตีโนน” (rotenone) จะไม่เป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่นอย่างมนุษย์ จึงสามารถนำมาใช้ได้ดี อีกทั้งสารพิษชนิดนี้ยังสลายตัวได้ง่าย ไม่ติดค้างอยู่บนพืชผักเหมือนยาฆ่าแมลงทั่วไป[1],[2],[3],[4]
  2. ใช้เป็นยาเบื่อปลา ด้วยการนำรากมาตัดเป็นชิ้นขนาดเล็กยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร บดให้ละเอียด แล้วจึงนำไปร่อนเพื่อแยกเอาส่วนที่บดละเอียดไปใช้ในการเบื่อปลา หรือนำลำต้นมาทุบแล้วนำไปแช่ไว้ในลำห้วย จะทำให้ปลาเมา สามารถจับมากินได้ง่าย ส่วนในหมู่เกาะโซโลมอนจะใช้ใบของหางไหลแดงนำไปใส่ในรูร่วมกับทรายในปริมาณเท่ากันและบดให้เข้ากันจะได้เม็ดสีเขียว แล้วนำไปหว่านในน้ำ ปลาที่ถูกสารพิษจะมีอาการมึนเมาและลอยขึ้นเหนือน้ำ แล้วจึงแทงด้วยฉมวก นำมาบริโภคเป็นอาหารได้ต่อไป[1],[2],[3],[4]
  3. พืชชนิดนี้มีใบดกร่มทึบ สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ร่มหรือไม้ดอกได้[4]
  4. เนื่องจากหางไหลแดงเป็นพืชในตระกูลถั่ว การปลูกพืชชนิดนี้นอกจากจะสามารถปลูกเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินแล้ว ยังใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้นจากดินและป้องกันการชะล้างหน้าดินได้อีกด้วย ส่วนในแง่การนำมาปลูกเป็นพืชฆ่าแมลงหรือปลูกเพื่อผลิตสารฆ่าแมลง โดยทั่วไปแล้วจะปลูกกันเป็นแปลงใหญ่[4]

การเก็บหางไหลแดงมาใช้ประโยชน์

  • การเก็บรากมาใช้ประโยชน์ ในกรณีที่ปลูกด้วยกิ่งชำ จะเก็บได้ตั้งแต่เมื่อมีอายุ 22-27 เดือน เพราะช่วงนี้จะมีสารโรตีโนนมากที่สูง (ประมาณ 4-5%) ซึ่งโดยทั่วไปจะแนะนำให้เก็บในช่วงอายุ 24 เดือน การขุดรากควรขุดในช่วงฤดูแล้ง เพราะช่วงนี้ต้นหางไหลแดงจะผลัดใบ ทำให้สารสำคัญถูกเก็บไว้ในราก โดยจะใช้คนขุดหรือรถแทรกเตอร์ขุดก็ได้ เมื่อขุดมาแล้วควรนำมาล้างดินออก แล้วนำไปแขวนหรือผึ่งบนตะแกรงให้แห้งในที่ร่ม (ห้ามผึ่งกลางแดด เพราะสารโรตีโนนจะถูกทำลายได้ด้วยความร้อน) ส่วนการผลิตนำมาผลิตเป็นยาฆ่าแมลง มีคำแนะนำว่าควรจัดให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี ใส่หน้ากากและถุงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันสารพิษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผิวหนังอักเสบและอาการระคายเคืองของเนื้อเยื่อ[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “หางไหลแดง”.  หน้า 192.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โล่ติ๊น Tuba Root/Derris”.  หน้า 100.
  3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “หางไหลแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [28 ก.ย. 2014].
  4. e-book การเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ผลงานของกรมวิชาการเกษตร, กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  “หางไหลแดง-โล่ติ๊น”.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Forest and Kim Starr, 翁明毅), www.biogang.net (by Charity)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด