หางไหลขาว
หางไหลขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Derris malaccensis Prain (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Derris cuneifolia var. malaccensis Benth.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
สมุนไพรหางไหลขาว มีชื่อเรียกอื่นว่า ยานาเละ (มลายู-นราธิวาส)[1]
ลักษณะของหางไหลขาว
- ต้นหางไหลขาว จัดเป็นไม้เถาขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบขึ้นตามริมน้ำลำธาร ในเขตวนอุทยานถ้ำเพชร ป่าดงดิบเขา และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป[1]
- ใบหางไหลขาว ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อยประมาณ 5-7 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก ปลายใบกว้างแหลม โคนใบสอบแคบ ใบอ่อนเป็นสีเหลืองอ่อนออกเขียว ส่วนใบแก่เป็นสีเขียว[1]
- ดอกหางไหลขาว ออกดอกเป็นช่อ ดอกมีขนาดเล็กสีชมพู[1]
- ผลหางไหลขาว ผลมีลักษณะเป็นรูปฝักแบนไม่ยาวมากนัก มียาวสีขาวข้น[1]
สรรพคุณของหางไหลขาว
- รากมีรสเอียนเล็กน้อย ใช้เป็นยาถ่ายเส้นเอ็น ทำให้เส้นอ่อน (ราก)[1]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายลม ถ่ายเสมหะและโลหิต (ราก)[1]
- ใช้ปรุงเป็นยาขับระดู แก้ระดูเป็นลิ่มหรือเป็นก้อนเน่าเหม็นของสตรี (ราก)[1]
ประโยชน์ของหางไหลขาว
- รากใช้เป็นยาฆ่าแมลงตัวหนอนที่เกาะกินผัก ด้วยการนำรากมาทุบ ๆ ผสมกับน้ำ พอให้ขุ่นขาว แล้วนำมารดพืชผักในสวนผัก จะช่วยฆ่าแมลงและตัวหนอนได้ และใช้เป็นยาเบื่อปลาได้อีกด้วย[1]
- รากใช้ผสมกับสบู่และน้ำสำหรับใช้ฆ่าสัตว์ เช่น หิดและเหาได้เป็นอย่างดี[1]
เอกสารอ้างอิง
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หางไหลขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [28 ก.ย. 2014].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)