หัวลิง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหัวลิง ! (เถาหัวลิง)

หัวลิง

หัวลิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarcolobus globosus Wall. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1]

สมุนไพรหัวลิง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เถาหัวลิง (กรุงเทพฯ), หงอนไก่ใหญ่ (ตราด), เถรอดเพล ตองจิง หัวลิง อ้ายแหวน (ประจวบคีรีขันธ์), หัวกา (สุราษฎร์ธานี), มะปิน ตูดอีโหวด (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), บาตูบือแลกาเม็ง (มาลายู-นราธิวาส) เป็นต้น[1]

ลักษณะของหัวลิง

  • ต้นหัวลิง หรือ เถาหัวลิง จัดเป็นพรรณไม้เถา ลำต้นอยู่เหนือดิน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวขรุขระ ไม่มียาง อาศัยอยู่บนบก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบอากาศค่อนข้างชุ่มชื้น[1],[2] อีกข้อมูลระบุว่า เป็นไม้พุ่ม เรือนยอดเป็นรูปไข่ มีความสูงได้ประมาณ 3 เมตร และกว้างประมาณ 2 เมตร ลำต้นตั้งตรงเองได้[2]

เถาหัวลิง

  • ใบหัวลิง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงกันเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนานหรือรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ใต้ท้องใบมีเส้นใบประมาณ 5-7 คู่ มองเห็นได้ชัดเจน[1],[2]

ใบหัวลิง

  • ดอกหัวลิง ออกดอกเป็นช่อกระจะบริเวณตามง่าม ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 6-13 มิลลิเมตร ลักษณะของดอกมีกลีบดอกและกลีบรองกลีบดอก อย่างละ 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน มีสีม่วงภายในกลีบ ดอกมีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียเชื่อมติดอยู่ มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดโตประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกไม่มีกลิ่น[1],[2]

ดอกหัวลิง

  • ผลหัวลิง ผลเป็นผลเดี่ยว ลักษณะของผลเป็นฝักรูปกลมมน เปลือกฝักเป็นสีน้ำตาล มีขนาดกว้างยาวประมาณ 4 นิ้ว ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และจะแตกกลางพู ภายในฝักมีเมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่แบน ยาวได้ประมาณ 18 มิลลิเมตร มีขอบหนาเป็นสีน้ำตาลแก่[1],[2]

ผลหัวลิง

ต้นหัวลิง

เมล็ดหัวลิง

สรรพคุณของหัวลิง

  • ใบสดนำมาตำผสมกับผลมะเยาให้ละเอียด แล้วนำมาใช้เป็นยาแก้โรคปวดข้อหรือแก้ไข้ส่า (ใบสด)[1]

ประโยชน์ของหัวลิง

  • เมล็ดเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชาวพื้นเมืองในทวีปเอเชียนิยมนำมาใช้เป็นยาเบื่อหมา แมว และสัตว์ป่า (โดยมีฤทธิ์ยับยั้งกล้ามเนื้อระบบประสาท อาการเป็นพิษที่แสดง คือ ปัสสาวะเป็นเลือด ไตเสื่อม)[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หัวลิง”.  หน้า 825-826.
  2. โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก.  “เถาหัวลิง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.lrp.ac.th.  [28 ก.ย. 2014].
  3. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “Sarcolobus globosus”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : en.wikipedia.org. [28 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Phuong Tran, Hai Le)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด