หัน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหันลัด 5 ข้อ ! (เลือดแรด)

หัน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหันลัด 5 ข้อ ! (เลือดแรด)

หันลัด

หัน ชื่อสามัญ Wild Mutmeg[1]

หัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Knema globularia (Lam.) Warb. จัดอยู่ในวงศ์จันทน์เทศ (MYRISTICACEAE)[1],[2]

สมุนไพรหัน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระเบาเลือด สมิงคำราม เหมือดคน (ภาคเหนือ), ตีนตัง มะเลือด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), สีซวง (ภาคกลาง), กาฮั้น กระฮั้น ลาหัน เลือดม้า เลือดแรด หัน หันลัด (ภาคใต้), ชิงชอง (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), ตูโมะยอ (มลายู-นราธิวาส), ฮ้วงจือ เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของต้นหันลัด

  • ต้นหัน จัดเป็นไม้ยืนต้น ที่มีความสูงของต้นประมาณ 10-25 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงสูงถึงค่อนข้างกลม เปลือกลำต้นแตกเป็นสะเก็ด เปลือกด้านนอกเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทาเข้ม ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีชมพู ที่ยอดอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีสะเก็ดเป็นขุยสีน้ำตาล มีเขตการกระจายพันธุ์บริเวณลำธารในป่าดิบชื้น ป่าพรุ ป่าชายหาก และที่ลุ่มน้ำขังทั่วทุกภาคของประเทศไทย ส่วนในต่างประเทศจะพบได้ที่ประเทศจีนทางตอนใต้ มาเลเซีย พม่าตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน สุมาตรา[1],[2]

เลือดแรด

หันลัด

  • ใบหัน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกถึงรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม บางครั้งอาจเรียวยาว โคนใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-16 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนด้านล่างเป็นสีขาวนวล (ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ) เนื้อใบบาง มีเส้นแขนงใบประมาณ 13-20 คู่ ลักษณะค่อนข้างตรงและขนานกัน และมีขนสีน้ำตาลโดยเฉพาะตามใบอ่อนและตามกิ่ง ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร[1],[2]

ใบหัดลัด

  • ดอกหัน ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ โดยจะออกเป็นกระจุกตามซอกใบหรือตามกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่กันคนละต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีเหลืองนวลหรือสีเหลืองแกมสีน้ำตาล ด้านในดอกเป็นสีม่วงแดง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม[1],[2] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าดอกเพศผู้เป็นรูปหลอดยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร[3]

ดอกหันลัด

  • ผลหัน ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมถึงกลมรี ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีสันนูนตามความยาวของผล ผิวเปลือกมีขนสั้นสีน้ำตาล ผลเป็นสีเขียว ผลเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม และแตกออกเป็นซีก 2 ซีก เนื้อในผลชั้นในเป็นสีขาวและมียางใส ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำเกลี้ยงปกคลุมไปด้วยเยื่อสีแดงหุ้มอยู่ โดยผลจะแก้ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3]

ผลหันลัด

สรรพคุณของหันลัด

  • เปลือกใช้ดองกับเหล้าเป็นยาชูกำลัง (เปลือก)[3]
  • ตำรายาไทยจะใช้น้ำมันที่บีบได้จากเมล็ดเป็นยารักษาโรคผิวหนังและหิด โดยสารที่ออกฤทธิ์คือสาร benzyl benzoate[1],[2]

ข้อควรระวัง : เมล็ดมีสารทำให้เบื่อเมา ห้ามนำมารับประทาน[2]

ประโยชน์ของหันลัด

  • น้ำมันจากเมล็ดใช้ทำเป็นสบู่ยา[2]
  • เนื้อไม้ของต้นหันสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างภายในอาคารของบ้านเรือนได้[2]
  • ผลใช้เป็นอาหารของสัตว์ป่า (สารานุกรมความหลากหลายทางชีวภาพตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง (มัณฑนา นวลเจริญ))
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หัน Wild Nutmeg”.  หน้า 130.
  2. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “หันลัด”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/pattani_botany/.  [17 ก.ค. 2014].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เลือดแรด”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าเข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [17 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ria Tan, budak, Yeoh Yi Shuen)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด