หอมไกลดง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหอมไกลดง 8 ข้อ !

หอมไกลดง

หอมไกลดง ชื่อสามัญ Black Tulip wood, Cooktown Tulipwood, Dolls Eyes, Mogum-mogum, Tulipwood, Tulip Lance wood[4],[5]

หอมไกลดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Harpullia arborea (Blanco) Radlk. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Harpullia mellea Lauterb.) จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)[1]

สมุนไพรหอมไกลดง มีชื่ออื่น ๆ ว่า ค้างคาว (เชียงใหม่), กระโปกลิง (สระบุรี), กระโปกหมาแดง หมังขะอุย ฮางแกน (สุโขทัย), ตาเสือ (ชัยภูมิ), มะแฟน (ภาคกลาง), หางแก่น กระโปกหมา (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[2],[6]

ลักษณะของหอมไกลดง

  • ต้นหอมไกลดง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นเปลาตรง มีความสูงได้ประมาณ 10-15 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีครีมอมเทา ผิวเปลือกเรียบ แตกเป็นสะเก็ดสีน้ำตาลดำ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาล[1],[2],[4] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ทุกสภาพดิน ต้องการความชื้นและแสงแดดปานกลาง มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนามตอนใต้ ภูมิภาคมาเลเซีย ไปจนถึงออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยจะขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ที่โล่งตามริมลำธาร หรือตามชายฝั่งทะเล ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,200 เมตร[4]

ต้นหอมไกลดง

รูปต้นหอมไกลดง

  • ใบหอมไกลดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 4-10 ใบ ยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปรีแกมใบหอก หรือรูปไข่ ใบคู่ล่างมีขนาดเล็กกว่าใบคู่บน ปลายแหลม มน กลม หรือมีหางสั้น ๆ โคนใบมนไม่เท่ากัน แหลมกลม หรือเป็นรูปหัวใจตื้น ๆ และเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร หลังใบเรียบ ส่วนท้องใบมีขน เส้นแขนงใบข้างละ 6-12 เส้น ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3-6 มิลลิเมตร[1],[2],[4]

ใบหอมไกลดง

  • ดอกหอมไกลดง ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกแยกแขนง โดยจะออกตามซอกใบ กิ่งก้าน หรือปลายกิ่ง ยาวประมาณ 4-35 เซนติเมตร หรืออาจยาวกว่า 50 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยเป็นสีเขียวแกมเหลือง มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะแหลมหรือเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกแคบมีขนที่ขอบกลีบ กลีบค่อนข้างบาง ก้านกลีบยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลีบ ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ติดทนและมีขน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5-7 อัน สั้นกว่ากลีบดอกเล็กน้อย และมีเกสรเพศเมีย 2-4 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1-1.7 มิลลิเมตร อับเรณูเป็นสีส้มอ่อน ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร รังไข่มีขน ก้านดอกยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร และอาจยาวได้เกือบ 5 เซนติเมตร[1],[2],[4]

รูปหอมไกลดง

ดอกหอมไกลดง

  • ผลหอมไกลดง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปรีแนวนอน ผลมีร่องแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คล้ายผลแฝด (แบ่งออกเป็นพู 2 พู) ขนาดประมาณ 2 x 4 เซนติเมตร ผิวผลเนียน ผลเป็นสีเขียวอมน้ำตาล เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้มหรือเป็นสีแดง ก้านผลยาว ผลฝั่งหนึ่งมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดมีสีดำและมีเยื่อหุ้มสีน้ำตาลหรือสีส้ม เป็นวงเล็ก ๆ ขนาดกว้างประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ผิวเมล็ดเป็นมัน เมล็ดเป็นรูปทรงรี มีขนาดยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร[1],[2],[4] สามารถออกดอกและผลได้ตลอดทั้งปี[6]

ผลหอมไกลดง

เมล็ดหอมไกลดง

สรรพคุณของหอมไกลดง

  • แก่นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ได้แก่ แก่นหอมไกลดง เปลือกต้นหรือแก่นฉนวน และเปลือกต้นตาปู นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคคอพอก (แก่น)[1],[2],[3]
  • รากใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ได้แก่ รากหอมไกลดง รากสัสดี รากเปล้าน้อย รากเปล้าใหญ่ รากเจตมูลเพลิงแดง เทียนทั้งห้า และทั้งต้นพิศนาด นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำมะนาวกินเป็นยาแก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ปวดไข่ดัน (ราก)[1],[2],[3]
  • น้ำเลี้ยงจากเปลือกและผลใช้ดื่มเพื่อระงับความเจ็บปวด (เปลือกและผล)[6]
  • น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดหอมไกลดง สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคปวดตามข้อได้ (เมล็ด)[6]

ประโยชน์ของหอมไกลดง

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[5]
  • น้ำเลี้ยงจากเปลือกและผล สามารถนำมาใช้ซักผ้าได้[6]
  • เปลือกใช้เป็นยาเบื่อปลา[6]
  • น้ำเลี้ยงจากเปลือกและผลสามารถนำมาใช้ไล่ทากและปลิงได้[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “หอมไกลดง (Hom Klai Dong)”.  หน้า 332.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “หอมไกลดง”.  หน้า 148.
  3. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หอมไกลดง”.  หน้า 124.
  4. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “หอมไกลดง”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [27 ก.ย. 2014].
  5. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “หอมไกลดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [27 ก.ย. 2014].
  6. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “หอมไกลดง”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/.  [27 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Malcolm Manners, Girish Mohan P K, S. glenum, biisced)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด