หอมไกลดง
หอมไกลดง ชื่อสามัญ Black Tulip wood, Cooktown Tulipwood, Dolls Eyes, Mogum-mogum, Tulipwood, Tulip Lance wood[4],[5]
หอมไกลดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Harpullia arborea (Blanco) Radlk. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Harpullia mellea Lauterb.) จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)[1]
สมุนไพรหอมไกลดง มีชื่ออื่น ๆ ว่า ค้างคาว (เชียงใหม่), กระโปกลิง (สระบุรี), กระโปกหมาแดง หมังขะอุย ฮางแกน (สุโขทัย), ตาเสือ (ชัยภูมิ), มะแฟน (ภาคกลาง), หางแก่น กระโปกหมา (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[2],[6]
ลักษณะของหอมไกลดง
- ต้นหอมไกลดง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นเปลาตรง มีความสูงได้ประมาณ 10-15 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีครีมอมเทา ผิวเปลือกเรียบ แตกเป็นสะเก็ดสีน้ำตาลดำ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาล[1],[2],[4] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ทุกสภาพดิน ต้องการความชื้นและแสงแดดปานกลาง มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนามตอนใต้ ภูมิภาคมาเลเซีย ไปจนถึงออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยจะขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ที่โล่งตามริมลำธาร หรือตามชายฝั่งทะเล ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,200 เมตร[4]
- ใบหอมไกลดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 4-10 ใบ ยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปรีแกมใบหอก หรือรูปไข่ ใบคู่ล่างมีขนาดเล็กกว่าใบคู่บน ปลายแหลม มน กลม หรือมีหางสั้น ๆ โคนใบมนไม่เท่ากัน แหลมกลม หรือเป็นรูปหัวใจตื้น ๆ และเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร หลังใบเรียบ ส่วนท้องใบมีขน เส้นแขนงใบข้างละ 6-12 เส้น ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3-6 มิลลิเมตร[1],[2],[4]
- ดอกหอมไกลดง ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกแยกแขนง โดยจะออกตามซอกใบ กิ่งก้าน หรือปลายกิ่ง ยาวประมาณ 4-35 เซนติเมตร หรืออาจยาวกว่า 50 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยเป็นสีเขียวแกมเหลือง มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะแหลมหรือเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกแคบมีขนที่ขอบกลีบ กลีบค่อนข้างบาง ก้านกลีบยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลีบ ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ติดทนและมีขน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5-7 อัน สั้นกว่ากลีบดอกเล็กน้อย และมีเกสรเพศเมีย 2-4 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1-1.7 มิลลิเมตร อับเรณูเป็นสีส้มอ่อน ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร รังไข่มีขน ก้านดอกยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร และอาจยาวได้เกือบ 5 เซนติเมตร[1],[2],[4]
- ผลหอมไกลดง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปรีแนวนอน ผลมีร่องแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คล้ายผลแฝด (แบ่งออกเป็นพู 2 พู) ขนาดประมาณ 2 x 4 เซนติเมตร ผิวผลเนียน ผลเป็นสีเขียวอมน้ำตาล เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้มหรือเป็นสีแดง ก้านผลยาว ผลฝั่งหนึ่งมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดมีสีดำและมีเยื่อหุ้มสีน้ำตาลหรือสีส้ม เป็นวงเล็ก ๆ ขนาดกว้างประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ผิวเมล็ดเป็นมัน เมล็ดเป็นรูปทรงรี มีขนาดยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร[1],[2],[4] สามารถออกดอกและผลได้ตลอดทั้งปี[6]
สรรพคุณของหอมไกลดง
- แก่นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ได้แก่ แก่นหอมไกลดง เปลือกต้นหรือแก่นฉนวน และเปลือกต้นตาปู นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคคอพอก (แก่น)[1],[2],[3]
- รากใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ได้แก่ รากหอมไกลดง รากสัสดี รากเปล้าน้อย รากเปล้าใหญ่ รากเจตมูลเพลิงแดง เทียนทั้งห้า และทั้งต้นพิศนาด นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำมะนาวกินเป็นยาแก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ปวดไข่ดัน (ราก)[1],[2],[3]
- น้ำเลี้ยงจากเปลือกและผลใช้ดื่มเพื่อระงับความเจ็บปวด (เปลือกและผล)[6]
- น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดหอมไกลดง สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคปวดตามข้อได้ (เมล็ด)[6]
ประโยชน์ของหอมไกลดง
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[5]
- น้ำเลี้ยงจากเปลือกและผล สามารถนำมาใช้ซักผ้าได้[6]
- เปลือกใช้เป็นยาเบื่อปลา[6]
- น้ำเลี้ยงจากเปลือกและผลสามารถนำมาใช้ไล่ทากและปลิงได้[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หอมไกลดง (Hom Klai Dong)”. หน้า 332.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “หอมไกลดง”. หน้า 148.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หอมไกลดง”. หน้า 124.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “หอมไกลดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [27 ก.ย. 2014].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “หอมไกลดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [27 ก.ย. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “หอมไกลดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [27 ก.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Malcolm Manners, Girish Mohan P K, S. glenum, biisced)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)