หอมหัวใหญ่
หอมใหญ่ ชื่อสามัญ Onion
หอมหัวใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium cepa L. จัดอยู่ในวงศ์พลับพลึง (AMARYLLIDACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย ALLIOIDEAE (ALLIACEAE)[1]
สมุนไพรหอมใหญ่ มีชื่อเรียกอื่นว่า หัวหอม หอมหัวใหญ่ หัวหอมใหญ่ หอมฝรั่ง หอมหัว เป็นต้น[3]
ลักษณะหอมหัวใหญ่
- ต้นหอมใหญ่ มีถิ่นกำเนิดและมีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียกลาง[3] บ้างก็บอกว่ามีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันตกเฉียงใต้[8] และสำหรับแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศอินเดีย[3] โดยจัดเป็นพืชล้มลุก มีความสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร มีหัวอยู่ใต้ดินคล้ายหัวหอม ลักษณะกลมป้อม มีเปลือกนอกบาง ๆ สีม่วงแดงหุ้มอยู่ แต่เมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล[2],[4] ลำต้นใต้ดินหรือที่เรียกว่าหัวนั้น ภายในจะมีกลีบสีขาวอวบหุ้มซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ ทำให้มีลักษณะเป็นหัวเช่นเดียวกับกระเทียมและหอมแดง[3] สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิดที่มีการระบายน้ำและมีอากาศดี เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีค่าความเป็นกรดเบสในช่วง 6.0-6.8 มีความเค็มของดินปานกลาง และในอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ 15-24 องศาเซลเซียส[1]
- ใบหอมใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุก 3-4 ใบ ลักษณะเป็นรูปดาบ มีความกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร เส้นใบจีบตามยาวลักษณะคล้ายพัด[2]
- ดอกหอมใหญ่ ออกดอกเป็นช่อ แทงขึ้นมาจากลำต้นใต้ดิน กลีบดอกมีสีขาว[2]
หัวหอม ไม่ใช่เป็นแค่ผักธรรมดาทั่วไปที่นำมาใช้ในการประกอบอาหารหรือเพื่อเพิ่มรสชาติให้อาหาร และก็ไม่ได้ใหญ่แต่ชื่อและขนาด เนื่องจากมีสรรพคุณที่ใหญ่มากเพราะช่วยป้องกันและรักษาโรคสำคัญต่าง ๆ ได้หลายชนิด โดยพบว่าหัวหอมใหญ่นั้นอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารประกอบที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเรามากกว่า 300 ชนิด[6]
สรรพคุณหอมหัวใหญ่
- หัวหอมใหญ่มีวิตามินซีสูง และยังมีสารอื่น ๆ เช่น สารเคอร์ซีทิน ที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกายและช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี[2],[4],[5]
- ช่วยป้องกันและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่าง ๆ ได้ เนื่องจากหอมใหญ่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก[5]
- หัวหอมมีคุณสมบัติช่วยทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ทำให้รู้สึกง่วง ช่วยในการนอนหลับได้สบาย[5]
- การรับประทานหัวหอมสดเป็นประจำจะช่วยทำให้มีความจำที่ดีขึ้น หรือจะรับประทานร่วมกับอาหารชนิดอื่น ๆ ก็ได้[6]
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร[4],[5]
- ช่วยทำให้พลังลงสู่ด้านล่าง ช่วยให้พลังการไหลเวียนในอวัยวะภายในร่างกายคล่องตัว[8]
- ช่วยแก้ธาตุในร่างกายไม่เป็นปกติ[4],[5]
- ช่วยกำจัดสารตะกั่วและโลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับอาหารและสะสมในร่างกาย[5],[8]
- ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ[4],[5]
- ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของอัมพาตได้เป็นอย่างดี[5]
- หัวหอมมีฤทธิ์ช่วยรักษาโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด โดยช่วยลดปริมาณของไขมันในเส้นเลือดและช่วยในการขยายหลอดเลือด ช่วยทำให้เลือดไม่แข็งตัวไปแล้วไปอุดตันในหลอดเลือดได้ง่าย[5]
- สารไซโคลอัลลิอินในหัวหอมใหญ่ช่วยในการสลายลิ่มเลือด ป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดอุดตันหรือยับยั้งการรวมตัวกันของเกล็ดเลือด ปกป้องหลอดเลือดเลี้ยงสมองเกิดการอุดตันและช่วยกระจายเลือดลม[4],[5],[6] การรับประทานเป็นประจำในระยะยาวจะช่วยทำให้หลอดเลือดสะอาด และลดการแข็งตัวของหลอดเลือด[8]
- หอมหัวใหญ่ลดความอ้วน โดยน้ำคั้นจากหัวหอมมีสรรพคุณช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดไขมันในเส้นเลือด[2],[4],[5]
- ช่วยลดการเป็นพิษต่อเซลล์ไขมันในเลือดชนิดเลว ช่วยลดระดับไขมันเลว (LDL) และช่วยเพิ่มไขมันดี (HDL) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยหัวหอมสดแค่เพียงครึ่งหัวก็สามารถช่วยเพิ่มระดับไขมันดีได้ถึงร้อยละ 30 ในผู้ป่วยโรคหัวใจหรือผู้มีปัญหาเรื่องคอเลสเตอรอล (ข้อมูลจาก : ดร.วิคเตอร์ เกอร์วิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจในอเมริกา)[5],[6]
- ช่วยลดความดันโลหิต แก้ความดันโลหิตสูง[2],[4]
- สารอัลลิลโพรพิลไดซัลไฟด์ (Allyl propy disuldhide หรือ APDS) ในหอมใหญ่ มีคุณสมบัติช่วยลดน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน[2],[4],[5],[6]
- หัวหอมใหญ่มีสารฟลาโวนอยด์ ไกลโคไซด์ (Flavonoid glycosides) ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันไขมันไม่ให้มาเกาะตามผนังหลอดเลือด ถ้าหากเกาะมาก ๆ จะเกิดภาวะเส้นโลหิตอุดตัน หรือทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้[6]
- แคลเซียมในหอมใหญ่จะช่วยในการสังเคราะห์เอนไซม์ที่เป็นตัวช่วยต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตแปลกปลอม และช่วยเม็ดเลือดขาวในการทำลายและย่อยสลายไวรัส[6]
- หอมหัวใหญ่สามารถช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ดีกว่ายารักษาโรคกระดูกพรุนอย่างแคลซิโทนิน (Calcitonin) แต่นักวิจัยระบุว่าอาจจะต้องกินหอมใหญ่วันละ 200-300 กรัมจึงจะได้ผล (ผลการวิจัยจากวารสารวิชาการ “Nature”)[6] จึงเหมาะอย่างมากสำหรับใช้กับสตรีในช่วงวัยหมดประจำเดือน[8]
- ช่วยรักษาไข้หวัด แก้หวัดคัดจมูก และช่วยลดน้ำมูก ด้วยการนำหัวหอมขนาดพอดีที่ปอกเปลือกแล้วมาทุบให้แหลก แล้วใส่ลงไปในแก้วที่ใส่น้ำร้อนรอไว้ จากนั้นให้ใช้ผ้าขาวบางมาปิดหุ้มปากแก้วไว้ แล้ววางไว้ใกล้ ๆ ตัวในตำแหน่งที่ไอของความร้อนจะลอยเข้าสู่จมูกได้ ซึ่งในช่วงที่น้ำกำลังร้อนจะมีไอน้ำที่ผสมกับกลิ่นหัวหอมลอยขึ้นมา ก็ให้พยายามสูดไอนั้นเข้าไป จะช่วยแก้อาการดังกล่าวได้[4],[5]
- ช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ หอบหืด[4],[5]
- สารอัลลิลิกไดซัลไฟด์ในหอมใหญ่ช่วยขับเสมหะได้[6]
- ธาตุแมกนีเซียมในหอมใหญ่มีคุณสมบัติช่วยทำลายเซลล์มะเร็งและช่วยกำจัดไวรัส[6]
- ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้[4],[5]
- ช่วยป้องกันมะเร็งตับ[4],[5]
- ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ[4],[5]
- ช่วยแก้ท้องร่วง[4],[5]
- ช่วยขับพยาธิ[4],[5]
- ช่วยในการขับปัสสาวะ (สารอัลลิลิกไดซัลไฟด์)[4],[5],[6]
- ช่วยแก้ลมพิษ[4]
- ลดอาการปวดอักเสบ[4]
- หอมหัวใหญ่มีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อโรค[4],[5]
- น้ำมันหอมหัวใหญ่มีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางประเภทได้[5]
- น้ำคั้นจากหัวหอมช่วยรักษาผิวหนังที่ถูกน้ำร้อนลวกได้[6]
- ช่วยแก้บวม แก้ปวด[4] อาการบวมจากพิษ โดยใช้เป็นยาทาภายนอก[8]
- หัวหอมใช้นำมาตำพอกแก้แผลช้ำบวม แก้ฝีได้[7]
- หัวหอมนำมาตำให้แหลกใช้ผสมกับเหล้าโรง แล้วนำมาพอกหรือทาบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย จะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้เป็นอย่างดี[5]
- น้ำคั้นจากหัวหอมสามารถนำมาใช้ทาภายนอกเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อได้[6]
ประโยชน์ของหอมหัวใหญ่
- หัวใช้รับประทานเป็นผัก หรือนำมาใช้ปรุงอาหาร หรือใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อช่วยดับกลิ่นคาวในอาหารได้เป็นอย่างดี[3]
- ช่วยทำให้กระดูกอ่อนนุ่ม เมื่อนำมาใช้ต้มกับกระดูกสัตว์[8]
- น้ำมันหอมระเหยจากหัวหอมสามารถนำมาใช้ทาสิวอักเสบเพื่อช่วยลดการอักเสบได้[5]
- ช่วยรักษาฝ้า ตามตำราฝรั่งใช้หอมหัวใหญ่นำมาดองกับไวน์แล้วแช่ทิ้งไว้สักเดือน แล้วใช้น้ำที่แช่มาทาเพื่อรักษาฝ้า เห็นว่าได้ผล[5]
- ประโยชน์ของหัวหอมกับการนำมาสกัดทำเป็นเครื่องสำอางบางชนิด เช่น ยาสระผม ยาบำรุงเส้นผม เนื่องจากมีสารเพกติน กลูโดคินิน และไกลโคไซด์ ที่จะช่วยขจัดรังแคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราต่าง ๆ ได้[5]
- เมนูหอมใหญ่ เช่น ผัดหัวหอมใหญ่ ไข่เจียวหอมใหญ่ หัวหอมใหญ่ทอด เนื้อผัดหอมหัวใหญ่ หมูผัดพริกสดใส่หอมใหญ่ ข้าวไก่อบหอมใหญ่ ซุปหอมหัวใหญ่ ยำเห็ดหอมใหญ่ เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการของหอมหัวใหญ่ ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 40 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 9.34 กรัม
- น้ำตาล 4.24 กรัม
- เส้นใย 1.7 กรัม
- ไขมัน 0.1 กรัม
- โปรตีน 1.1 กรัม
- น้ำ 89.11 กรัม
- วิตามินบี 1 0.046 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินบี 2 0.027 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 3 0.116 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 5 0.123 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 6 0.12 มิลลิกรัม 9%
- วิตามินบี 9 19 ไมโครกรัม 5%
- วิตามินซี 7.4 มิลลิกรัม 9%
- ธาตุแคลเซียม 23 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุเหล็ก 0.21 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุแมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุแมงกานีส 0.129 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุฟอสฟอรัส 29 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุโพแทสเซียม 146 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุสังกะสี 0.17 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุฟลูออไรด์ 1.1 ไมโครกรัม
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
คำแนะนำและข้อควรรู้เกี่ยวกับหอมหัวใหญ่
- หอมหัวใหญ่มีฤทธิ์อุ่น ให้รสเผ็ดร้อน ไม่มีพิษ เข้าเส้นลมปราณ ปอด และกระเพาะอาหาร โดยหอมใหญ่ดิบจะมีฤทธิ์สุขุม ส่วนหอมใหญ่สุกจะมีฤทธิ์อุ่น[8]
- แม้หัวหอมใหญ่จะเป็นผักที่มีกลิ่นฉุนมาก จนทำให้คนส่วนใหญ่ไม่อยากรับประทาน หรือหันไปรับประทานแบบชุบแป้งทอด การเจียว หรือการใช้ในการปรุงแต่งอาหารอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตามถ้าอยากจะรับประทานแบบให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพจริง ๆ แนะนำว่าให้รับประทานแบบสด ๆ จะดีที่สุด[5] ตอนเด็ก ๆ ผู้เขียนก็ไม่ชอบเช่นกันครับ แต่ปัจจุบันถ้ามีโอกาสก็กินหมดเลยครับ
- การรับประทานหัวหอมใหญ่แบบสด (หรือรับประทานร่วมกับอาหารอื่น ๆ) เพียงวันละครึ่งหัวถึงหนึ่งหัวเป็นเวลา 2 เดือน ก็จะเห็นผลต่อสุขภาพโดยภาพรวมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง[6]
- วิธีการเลือกซื้อหัวหอมใหญ่ ให้มีคุณภาพดีต้องสังเกตดังนี้ มีผิวแห้งและเรียบ หัวมีน้ำหนักมาก เนื้อแน่น ไม่มีส่วนที่นิ่มหรือมีรอยช้ำ ซึ่งจะช่วยทำให้เก็บหอมใหญ่ไว้ได้นานขึ้นนั่นเอง[5]
- วิธีซอยหอมไม่ให้แสบตา มีหลายวิธี เช่น เมื่อปอกเปลือกเสร็จแล้วให้ใช้มีดจิ้มให้รอบหัว แล้วนำลงแช่ในน้ำเปล่าไว้สักครู่ หลังจากนั้นค่อยนำไปหั่น หรืออีกวิธีก็ให้นำหัวหอมใหญ่ไปแช่เย็นประมาณ 15 นาที ก่อนที่จะนำมาหั่น ทั้งสองวิธีดังกล่าวนี้สามารถช่วยลดอณูซึ่งประกอบไปด้วยซัลเฟอร์หรือกำมะถันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจาย ทำให้ปฏิกิริยาต่าง ๆ ช้าลงได้ จึงช่วยป้องกันและลดการระคายเคืองและอาการแสบร้อนในตาได้[3],[5]
- วิธีการเก็บรักษาหอมหัวใหญ่ วิธีการยืดอายุและการเก็บหอมหัวใหญ่ ก็มีหลายวิธี เช่น การนำหอมใหญ่มาใส่ในถุงกระดาษสีน้ำตาลแล้วพับปิดปากถุง หรืออีกวิธีให้ใช้กระดาษนำมาห่อหัวหอมใหญ่เป็นลูก ๆ และใส่ถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง หรืออีกวิธีก็คือให้ใช้กระดาษฟอยล์ในการห่อหัวหอมใหญ่ ก่อนการนำมาแช่ในตู้เย็น ก็จะช่วยทำให้คงความสดความกรอบ และทำให้ผิวหัวหอมไม่ช้ำอีกด้วย[5]
ข้อควรระวังในการรับประทานหอมหัวใหญ่
- สมุนไพรหอมใหญ่ แม้ว่าสรรพคุณหัวหอมใหญ่จะมีอยู่มากมาย แต่เนื่องจากหอมใหญ่เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์อุ่นและมีรสเผ็ด การนำมาใช้ในแต่ละบุคคล ควรคำนึงถึงสภาพร่างกายและโรคของผู้ป่วยด้วย ซึ่งฤทธิ์ดังกล่าวสามารถช่วยขับความเย็น ทำให้หยางทะลุทะลวงไปยังส่วนต่าง ๆ ช่วยกำจัดพิษและปัจจัยที่กระทบจากภายนอกเนื่องจากความเย็นได้ดี แต่ไม่มีฤทธิ์ในการบำรุงหยางในร่างกาย เมื่อใช้ไปนาน ๆ อาจจะทำให้ร่างกายเสียพลังได้ง่าย เช่น ในกรณีผู้ป่วยหอบหืดที่มีพลังอ่อนแออยู่แล้ว แทนที่จะมีอาการหอบดีขึ้น แต่กลับจะทำให้อาการหอบหืดกำเริบมากขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น ดังนั้นจึงควรรู้ถึงข้อดีและข้อเสียเพื่อนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมด้วย จึงจะเกิดประโยชน์ต่อร่างกายอย่างสูงสุด[8]
- การรับประทานหัวหอมใหญ่ในปริมาณมากหรือรับประทานติดต่อกันนานเกินไป อาจจะทำลายจิตประสาท ทำให้จิตฟุ้งซ่าน ลืมง่าย ความจำเสื่อม มีอาการตามัว พลังและเลือดถูกทำลาย ทำให้เส้นเลือดไหลเวียนได้ไม่ดี ทำให้โรคต่าง ๆ ที่เป็นอยู่หายช้าและเรื้อรัง และยังไปทำลายสมรรถภาพทางเพศ[8]
- เมื่อคุณมีอาการปวดศีรษะเนื่องจากความเครียดหรือจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ มีคำแนะนำว่าไม่ควรจะรับประทานหัวหอมใหญ่ (ข้อมูลจาก : คุณหมอบุชฮอล์ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์)[5]
- อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานหัวหอมใหญ่สดในขณะที่ท้องว่าง เพราะอาจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง ทำให้เยื่อบุในกระเพาะเกิดการอักเสบได้[6]
- สำหรับผู้ที่ถูกสัตว์มีพิษมีเขี้ยวกัด ไม่ควรรับประทานหอมใหญ่ เพราะการรับประทานหัวหอมใหญ่จะทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น ทำให้พิษแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว[8]
- สิ่งที่คุณควรรู้อีกเรื่องนั้นก็คือ หอมใหญ่เป็นหนึ่งในอาหารที่มีกลิ่นแรงและทำให้เกิดกลิ่นปาก (กินแล้วอย่าลืมบ้วนปากแปรงฟันด้วยนะครับ)[5]
- สำหรับผู้ที่มีกลิ่นตัวแรงอยู่แล้ว การรับประทานหัวหอมใหญ่มากเกินไปอาจจะทำให้มีกลิ่นตัวแรงยิ่งขึ้น[6]
- ว่ากันว่าในช่วงเดือนสี่ (ฤดูใบไม้ผลิ) ไม่ควรรับประทานหอมหัวใหญ่ เพราะจะทำให้อาการหอบหืดรุนแรงมากขึ้น[8]
เอกสารอ้างอิง
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. [9 ต.ค. 2013].
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ . “พืชเครื่องเทศ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [9 ต.ค. 2013].
- คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th. [9 ต.ค. 2013].
- ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. “สมุนไพรพื้นบ้านหัวหอมใหญ่“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th. [9 ต.ค. 2013].
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th. [9 ต.ค. 2013].
- ผู้จัดการออนไลน์. “หอมใหญ่ ยาครอบจักรวาลประจำบ้าน“. อ้างอิงใน: หนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 117. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [9 ต.ค. 2013].
- สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (ACFS). “หอมใหญ่ดีป้องกันมะเร็งได้“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.acfs.go.th. [9 ต.ค. 2013].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน คอลัมน์: แพทย์แผนจีน เล่มที่ 321. “หอมหัวใหญ่“. (นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th [9 ต.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by manu_penas, AlexGaldeev, Nikon Nutter 2009, MShades, Kenny Hindgren), www.uma-culinaryworld.com, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)