หวดหม่อน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหวดหม่อน 36 ข้อ !

หวดหม่อน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหวดหม่อน 36 ข้อ !

หวดหม่อน

หวดหม่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Clausena excavata Burm.f. จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1]

สมุนไพรหวดหม่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สมัดใหญ่ สมัดใบใหญ่ หัสคุณโคก (เพชรบูรณ์), ยม รุ้ย (กาญจนบุรี), สามโสก (จันทบุรี), หัสคุณ อ้อยช้าง (สระบุรี), ขี้ผึ้ง แสนโศก (นครราชสีมา), ชะมัด (อุบลราชธานี), สามเสือ (ชลบุรี), สำรุย (ยะลา), เพี้ยฟาน หญ้าสาบฮิ้น หมี่ (ภาคเหนือ), หัสคุณเทศ สมัดน้อย สมัดขาว (ภาคอีสาน), สีสม หมอน้อย หวดหม่อน (ภาคกลาง), มะหลุย (ภาคใต้), กันโทร๊ก (เขมร), เต็งละ (ม้ง), ระยอลร์ (ขมุ), เส่เนอซี (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ขี้ฮอก เพี้ยฟาน เหมือดหม่น เฮือดหม่อน (คนเมือง), มุ่น, ไม้หมี, สามโซก, หมุยขาว, หมุยหอม, หอมพาน เป็นต้น[1],[2],[5],[6]

ลักษณะของหวดหม่อน

  • ต้นหวดหม่อน จัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก มีความสูงของต้นได้ประมาณ 1.5-4 เมตร ลำต้นโตมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาไม่เป็นระเบียบ ตามกิ่งก้านมีขนสั้น ๆ ที่บริเวณปลายกิ่ง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวเรียบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง ขึ้นได้ในทุกสภาพดิน ที่มีความชื้นปานกลาง อากาศค่อนข้างเย็น และมีแสงแดดแบบเต็มวัน พบได้ตามป่าดงดิบและตามป่าละเมาะ[1],[2],[6]

ต้นหวดหม่อน

สมัดใหญ่

  • ใบหวดหม่อน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ช่อใบยาวประมาณ 15-50 เซนติเมตร โคนช่อใบอาจมีช่อใบย่อยหลายช่อ โดยจะมีใบย่อยประมาณ 15-30 ใบ ปลายช่อเป็นใบเดี่ยว ก้านใบย่อยเป็นสีเขียว ก้านใบปลายจะยาวกว่าก้านใบข้างมาก ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน รูปเคียว รูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอก เห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบเบี้ยวด้านหนึ่งสอบเป็นรูปลิ่ม อีกด้านโค้งมน ส่วนขอบใบเรียบหรืออาจมีซี่จักเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบไม่หนา สีเขียวอ่อน ใบมีขนนุ่มสีน้ำตาล ท้องใบมีขนบาง ๆ[1],[2],[6]

ใบหวดหม่อน

  • ดอกหวดหม่อน ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.5-2 มิลลิเมตร วงกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมาก กลีบดอกมี 4-5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ยาวประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลือง หรือสีขาวปนเขียว ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.5-3.5 มิลิเมตร โคนโต ส่วนก้านชูเกสรเพศเมีย มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ปลายกว้าง ยาวได้ถึง 1.8 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่เป็นรูปไข่ มีขนละเอียดขึ้นปกคลุม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[6]

สักโสก

ดอกหวดหม่อน

  • ผลหวดหม่อน ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย เป็นรูปกลม รูปรี หรือรูปไข่ยาว ขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผิวผลใสฉ่ำน้ำ ผิวเกลี้ยงหรืออาจมีขนละเอียดบาง ๆ ผลอ่อนเป็นสีเขียวปนเหลือง ส่วนผลแก่เป็นสีส้มอมชมพูหรือสีแดง ภายในผลมีเมล็ดมาก[1],[2],[6]

สันโศก

ผลหวดหม่อน

สรรพคุณของหวดหม่อน

  1. ชาวไทใหญ่จะใช้รากหวดหม่อนนำมาต้มกินเป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)[6]
  2. ตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดมุกดาหารจะใช้รากหวดหม่อนเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[2] ส่วนใบก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน (ใบ)[2]
  3. ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว มูเซอ และลีซอ จะใช้ใบหรือทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาไข้มาลาเรีย วัณโรค และเป็นยาแก้พิษ (ใบหรือทั้งต้น)[1]
  4. ชาวม้งจะใช้ใบนำมาตำและอาจผสมกับใบของสมุนไพรอื่น เช่น ส้มโอ เครือเขาดำ ท้อ โดยจะนำมาตำร่วมกัน ห่อผ้ารัดที่ข้อมือด้านหนึ่งและข้อเท้าอีกด้านหนึ่ง แก้ไข้มาลาเรีย (ใบ)[6]
  5. ลำต้นและใบ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้สรรพพิษ (ลำต้นและใบ)[6]
  6. ชาวกะเหรี่ยงจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มอาบแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ทั้งต้น)[6]
  7. ตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกลั้วปาก แก้อาการปวดฟัน (ทั้งต้น)[2]
  8. เปลือกต้นหรือใบนำมาใช้รมแก้ริดสีดวงจมูก (เปลือกต้น,ใบ)[2]
  9. ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน จะใช้กิ่งและใบหวดหม่อนนำมาต้มกับน้ำอาบหรือใช้อบตัวแก้ไข้ยามไม่สบาย หลังจากคลอดลูก โดยจะใช้ต้มรวมกับเมโกล่บละ กล้วยตานี และกล้วยป่า (กิ่งและใบ)[6]
  10. ต้นมีรสหอมร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ต้น)[2]
  1. ช่วยแก้หืดไอ (ใบ)[2]
  2. ดอกมีรสร้อน มีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะให้ตก (ดอก)[2]
  3. เปลือกต้นมีกลิ่นหอม รสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้โลหิตในลำคอและลำไส้ให้กระจาย (เปลือกต้น)[2]
  4. กระพี้และแก่นมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้โลหิตในลำไส้ (กระพี้และแก่น)[2]
  5. ใช้เป็นยาช่วยขับลมภายใน (ต้น, กระพี้และแก่น)[2] ใบมีกลิ่นหอม รสเผ็ดซ่า มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมอันผูกเป็นก้อนให้กระจาย (ใบ)[2] ส่วนรากมีสรรพคุณช่วยกระจายเลือดลม แก้แน่น (ราก)[2]
  6. ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นยาแก้อาการท้องผูก (ยอดอ่อน)[6]
  7. ผลมีรสเปรี้ยวร้อน มีสรรพคุณเป็นยาฆ่าพยาธิอันบังเกิดแต่ไส้ด้วน ไส้ลาม และใช้เป็นยาถ่าย (ผล)[2]
  8. รากมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ (ราก)[2] ต้น กระพี้ และแก่นใช้เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน (ต้น, กระพี้และแก่น)[2]
  9. ใช้รักษาริดสีดวง (ราก)[2]
  10. ใบใช้ตำพอกแผลสด แผลถลอก ช่วยห้ามเลือด (ใบ)[1]
  11. รากมีกลิ่นหอม รสร้อน มีสรรพคุณช่วยขับเลือดและหนองให้ตก และใช้เป็นยาพอกแผล (ราก)[2]
  12. ใบนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยแก้แผลเปื่อย แผลอันเกิดจากอาการคันและเกา (ใบ)[6]
  13. ชาวเขาทั่วไปจะใช้ใบหวดหม่อนนำมาตำพอกแก้อาการอักเสบบวมอันเกิดจากไฟ เช่น น้ำร้อนลวก หรือสาเหตุอื่น ๆ (ใบ)[6]
  14. รากมีสรรพคุณแก้โรคผิวหนัง คุดทะราด (ราก)[2]
  15. ใบหรือทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำอาบหรืออบกับไอน้ำ จะช่วยแก้โรคผิวหนัง อาการคัน และช่วยฆ่าเชื้อโรค (ใบหรือทั้งต้น)[1]
  16. ใบใช้ตำพอกประคบแก้ผื่นคัน (ใบ)[2] ส่วนคนเมืองจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำอาบแก้ผื่นคัน หรืออาจใส่ร่วมกับแพพันชั้นก็ได้ (ทั้งต้น)[6]
  17. ใบใช้ตำพอก ฆ่าหิด เหา (ใบ)[1]
  18. ตำรับยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากนำมาฝนกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคงูสวัด (ราก)[2]
  19. ชาวบ้านจะนำส่วนของรากและเหง้ามาบดผสมกับแอลกอฮอล์เล็กน้อยใช้ปิดตรงบริเวณที่ถูกงูกัด เพื่อแก้พิษงู (ราก)[8]
  20. หมอยาเชียงใหม่จะใช้ใบหวดหม่อนนำมาตำพอกแก้ข้อเคล็ด (ใบ)[3]
  21. ใบมีสรรพคุณช่วยกระจายเลือดลมให้เดินสะดวก ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต แก้ขัดยอก เสียดแทง (ใบ)[2]
  22. ในตำรายาไทย เมื่อนำมาใช้ร่วมกันในพิกัด “สหัสคุณทั้ง 2” โดยใช้หวดหม่อนร่วมกับหัสคุณ (Micromelum minutum Wight & Arn.) โบราณว่ามีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ผอมแห้ง แก้หืดไอ ขับลมในท้อง แก้ริดสีดวง ช่วยขับเลือดและหนองให้ตก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหวดหม่อน

  • เปลือกต้นหวดหม่อนมีสาร clausine-D ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด wedelolactone และอนุพันธ์ของ coumentan ที่มีฤทธิ์ต้านสารพิษที่ทำลายตับ และต้านอาการปวดและอักเสบ[1]
  • สารสกัดด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเรีย ในขณะที่สารสกัดคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค ส่วนสารบริสุทธิ์ที่แยกออกมาได้จากการสกัดหยาบคลอโรฟอร์มและเอทานอลจากเหง้าและรากออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค เชื้อรา และเชื้อเอชไอวี-1[8]
  • จากการศึกษาฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของน้ำสกัดและสารสกัดแอลกอฮอล์ของหวดหม่อน พบว่าสารสกัดดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ เมื่อนำมาทดสอบกับ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100[4]
  • จากการศึกษาความเป็นพิษ โดยทำการศึกษาผลของน้ำสกัดหวดหม่อน 38.5% w/v โดยให้ในหนูขาวทดลอง 2 กลุ่ม ในปริมาณ 0.5 และ 1 มล./วัน ตามลำดับ ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน จากผลการทดสอบพบว่าได้สมรรถภาพของตับ ไต และค่าทางโลหิตวิทยาไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และเมื่อทดลองให้น้ำสกัดหวดหม่อนกับผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายจำนวน 8 ราย พบว่า ผู้ป่วยไม่มีการเปลี่ยนแปลงของ complete blood count, platelet count และ performance status และจากการตรวจสอบหาค่า LD50 ของน้ำสกัดจากเนื้อไม้หวดหม่อนในหนูขาว โดยฉีดสารสกัดเข้าทางช่องท้อง พบว่าค่า LD50 เท่ากับ 1.6 ก./กก. แต่เมื่อป้อนสารสกัดนี้ให้กับหนูขาว ค่า LD50 มากกว่า 10 ก./กก. ซึ่งในกรณีนี้จะจัดสารสกัดหวดหม่อนให้อยู่ในระดับไม่เป็นพิษเชิงปฏิบัติ[4]
  • จากการศึกษาพิษต่อระบบสืบพันธุ์ โดยทำการทดลองให้น้ำสกัดหวดหม่อน ความเข้มข้น 0.4 มก./มล. ทุกวัน วันละ 2 มล. เป็นระยะเวลา 2 เดือน พบว่าสารสกัดนี้ไม่มีความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ของหนูขาวเพศผู้[4]

ประโยชน์ของหวดหม่อน

  • ยอดอ่อนและใบอ่อน ใช้รับประทานร่วมกับขนมจีน น้ำพริก ลาบ แกงหน่อไม้[5],[6]
  • ลำต้นและใบหวดหม่อน สามารถนำมาเผารมควันตามเล้าไก่เพื่อกำจัดไรไก่[2] หรือเอาใบไปใส่ไว้ในรังไข่จะช่วยไล่ไรไก่ได้ เพราะใบมีกลิ่นเหม็นรุนแรง[6] ชาวเขาเผ่าลีซอจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำอาบให้ไก่เพื่อกำจัดไรไก่ หรือให้คนอาบเพื่อกำจัดเหาและไร[6]
  • รศ.ดร.จีรเดช มโนสร้อย อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงสมุนไพร “สันโศก” (หวดหม่อน) ว่า สมุนไพรชนิดนี้สามารถพบได้ในแถบเอเชียตอนใต้รวมทั้งประเทศไทย โดยมีการนำไปใช้รักษาโรคเอดส์และโรคมะเร็ง เนื่องจากเชื่อว่าสามารถรักษาโรคเอดส์และโรคมะเร็งได้[7]
  • งานวิจัยของ รศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ และคณะ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) พบว่าส่วนของรากกับเหง้าต้นหวดหม่อน เมื่อนำแช่กับเหล้าขาวเพื่อทำเป็นยาดองเหล้า เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยเอดส์ในระยะแรก โดยพบว่าผลเลือดเป็นลบ จากนั้นจึงได้ทำการศึกษาอย่างจริงจังจนพบสารบริสุทธิ์ถึง 5 ชนิด ที่สามารถยับยั้งเชื้อเอดส์ได้[8]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หวดหม่อน”.  หน้า 71.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “สมัดใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [26 ก.ย. 2014].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “Clausena excavata Burm.f.”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [26 ก.ย. 2014].
  4. ฐานข้อมูลความปลอดภัยของสมุนไพรที่มีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “สันโศก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/poisonpr/.  [26 ก.ย. 2014].
  5. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “มุ่น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/.  [26 ก.ย. 2014].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “สันโสก, เพี้ยฟาน”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [26 ก.ย. 2014].
  7. มูลนิธิชีววิถี.  “วิจัยสมุนไพรสันโศก ห่วงสิทธิบัตร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.biothai.net.  [26 ก.ย. 2014].
  8. รองศาสตราจารย์ ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ และคณะ หน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Cerlin Ng, 翁明毅, AluiZio DeriZans da Silva, judymonkey17, Foggy Forest, Yeoh Yi Shuen)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด