หนูท้องขาว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนูท้องขาว 10 ข้อ !

หนูท้องขาว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนูท้องขาว 10 ข้อ !

หนูท้องขาว

หนูท้องขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmodium styracifolium (Osbeck) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Desmodium capitatum (Burm.f.) DC., Desmodium retroflexum (L.) DC.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2]

สมุนไพรหนูท้องขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผีเสื้อน้ำ (ลำปาง), อีเหนียว ก้วงกัวฮี (อุบลราชธานี), หนูท้องขาว (ตราด), รุกกุนิงตาหน่อ (ยะลา), กิมกี่เช่า (จีนแต้จิ๋ว), กว่างตงจินเฉียนเฉ่า จินเฉียนเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของหนูท้องขาว

  • ต้นหนูท้องขาว จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ยาวได้ประมาณ 50-150 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-12.0 มิลลิเมตร ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นสีเขียวอ่อนถึงเขียวปนน้ำตาล ลำต้นส่วนที่ถูกแสงมักเป็นสีม่วงแดงหรือสีน้ำตาล ส่วนด้านล่างที่ไม่ถูกแสงจะเป็นสีเขียว และมีขนสีเหลืองขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น พบขึ้นทั่วไปในดินนา ดินทราย และในสวนป่าเต็งรังที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 35-475 เมตร เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา พิษณุโลก สงขลา แม่ฮ่องสอน เป็นต้น[1],[2]

ต้นหนูท้องขาว

  • ใบหนูท้องขาว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ และมีใบเดี่ยวขึ้นปะปน ลักษณะของใบมีหลายรูปร่าง เช่น แบบกลม กลมแต่ปลายใบมีรอยเว้าตื้น วงรีกว้าง รูปไข่กลับมียอดกว้างกว่าโคน แต่โดยทั่วไปแล้วใบจะมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ โคนใบเว้าคล้ายรูปหัวใจหรือเรียบ ขอบใบเรียบ ใบยอดมีขนาดใหญ่กว่าใบล่างทั้งสอง ใบยอดมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-3.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.4-4.5 เซนติเมตร ส่วนใบด้านข้างมีขนยาวประมาณ 0.6-3.5 เซนติเมตร หน้าใบเรียบไม่มีขน ส่วนหลังใบมีขนสีขาวขึ้นปกคลุมเป็นจำนวนมาก แผ่นใบเป็นสีเขียวถึงเขียวเข้ม มีเส้นใบเรียงแบบขนนกประมาณ 10 คู่ นูนขึ้นอยู่หน้าใบ ก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร หูใบเป็นสีน้ำตาลเข้ม[1],[2]

ใบหนูท้องขาว

  • ดอกหนูท้องขาว ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบและปลายกิ่ง การออกดอกจะเป็นแบบ Indeterminate (ดอกบานและเจริญเป็นฝักที่โคนช่อดอกจนถึงปลายช่อดอก) ดอกช่อกระจะเหมือนรูปกรวย ช่อดอกยาวประมาณ 3.5-7.5 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมากและอัดกันแน่น ประมาณ 16-42 ดอก ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวอ่อน กลีบดอกกลางเป็นสีบานเย็น ปลายกลีบเป็นสีม่วงอ่อน ส่วนกลีบดอกคู่ด้านข้างจะเป็นสีบานเย็นสด อับเรณูเป็นสีเหลืองมี 4 อัน ก้านเกสรเพศผู้เป็นสีม่วงแดงเข้ม ส่วนเกสรเพศเมียเป็นสีเขียวอ่อนออกเหลือง ออกดอกติดเมล็ดมากในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม[1],[2]

ดอกหนูท้องขาว

  • ผลหนูท้องขาว ออกผลเป็นฝัก เป็นข้อ ๆ ฝักหนึ่งมีประมาณ 3-6 ข้อ ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.8-3.0 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.5-1.8 เซนติเมตร ส่วนที่เว้าคอดของฝักสามารถหักออกเป็นข้อได้ เมื่อสุกแล้วจะแตกออกตามตะเข็บล่าง ภายในมีเมล็ดลักษณะคล้ายไตคน แต่ละฝักจะมีเมล็ดประมาณ 1-5 เมล็ด[1],[2]

ผีเสื้อน้ำ

สรรพคุณของหนูท้องขาว

  1. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากหรือลำต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย และลดความดันโลหิต (ราก, ลำต้น)[2]
  2. รากหรือลำต้นมีรสจืด ชุ่ม เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาแก้อาการร้อนใน (ราก, ลำต้น)[1]
  3. รากหรือลำต้นใช้เป็นยารักษาทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ ตำรับยารักษาระบบทางเดินปัสสาวะติดเชื้อจะใช้หนูท้องขาว 25 กรัม, ต้นผักกาดน้ำ 15 กรัม, ห่ายจินซา, ดอกสายน้ำผึ้ง 15 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (รากหรือลำต้น)[1]
  1. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ขับนิ่วในถุงน้ำดี ตำรับยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะจะใช้หนูท้องขาว 15 กรัม, สือหวุ่ย 15 กรัม, ชวนพั่วสือ 15 กรัม, ตงขุยจื่อ 15 กรัม, เปียนซวี 12 กรัม, ห่ายจินซา 12 กรัม, จวี้ม่าย 10 กรัม, เจ๋อเซ่อ 10 กรัม, ฝูลิ่ง 10 กรัม และมู่ทง 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก, ลำต้น)[1]
  2. ใช้รักษาตับอักเสบเฉียบพลันแบบดีซ่าน (ราก, ลำต้น)[1]
  3. ใช้เป็นยาแก้ไตอักเสบ (ราก, ลำต้น)[1]
  4. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (ราก, ลำต้น)[1]
  5. รากหรือลำต้นมีสรรพคุณช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย (ราก, ลำต้น)[1]

ขนาดที่ใช้ : การใช้ตาม [1] ต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ส่วนต้นสดให้ใช้ครั้งละ 20-60 กรัม[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหนูท้องขาว

  • สารที่พบ ได้แก่ สารจำพวก Alkaloid, Flavonoid, Glucoside และ Phenols และยังพบสารแทนนินอีกด้วย[1]
  • เมื่อนำสารสกัดจากหนูท้องขาวมาฉีดเข้าเส้นเลือดดำของสุนัขทดลองในอัตราส่วน 1.6 ซีซี ต่อ 1 กิโลกรัม หรือยาสด 8 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่ามีผลทำให้เลือดในหลอดเลือดของหัวใจมีการไหลเวียนเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเต้นของหัวใจลดน้อยลง อีกทั้งยังพบว่าส่งผลให้หัวใจมีกำลังในการบีบตัวมากขึ้นอีกด้วย[1]
  • สารสกัดจากหนูท้องขาวมีฤทธิ์กระตุ้นน้ำดีของสุนัขทดลองให้มีการไหลออกจากถุงน้ำดีมากขึ้น[1]
  • สารสกัดจากหนูท้องขาวมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบที่ลำไส้เล็กของหนูตะเภา และลดความดันโลหิตในหนูขาว[1]
  • สารที่สกัดจากต้นแห้งหนูท้องขาวทั้งด้วยน้ำไม่เป็นพิษต่อเซลล์ของสัตว์[1]

ประโยชน์ของต้นหนูท้องขาว

  • ใช้เป็นอาหารของสัตว์จำพวกโค กระบือ โดยตัดหรือปล่อยให้สัตว์แทะเล็ม โดยคุณค่าทางอาหารของต้นหนูท้องขาวที่มีอายุ 45 วัน จะประกอบไปด้วย โปรตีน 11.9-14.4%, แคลเซียม 1.04-1.14%, ฟอสฟอรัส 0.16-0.2%, โพแทสเซียม 1.09-1.20%, ADF 38.4-40.2%, NDF 43.1-47.9%, DMD 36.0-45.9% (โดยวิธี Nylon bag) ส่วนต้นที่มีอายุประมาณ 45-90 วัน จะมีโปรตีน 11.8-12.4%, ไนเตรท 2.96 ppm, ออกซิลิกแอซิด 29.6-363.8 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, แทนนิน 1.15-2.03%, มิโมซีน 0.77-0.85% และไม่พบไนไตรท์[2]
  • เกษตรกรทางภาคอีสานจะตัดมาเลี้ยงโคนมทำให้มีน้ำนม[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ผีเสื้อน้ำ”.  หน้า 356.
  2. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์.  “หนูท้องขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th.  [14 พ.ย. 2014].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด