หนามแน่ขาว
หนามแน่ขาว ชื่อสามัญ Sweet clock vine[4]
หนามแน่ขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia fragrans Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Meyenia longiflora Benth., Roxburghia rostrata Russell ex Nees, Thunbergia volubilis Pers.) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1],[2]
สมุนไพรหนามแน่ขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จิงจ้อ จิงจ้อเขาตาแป้น (สระบุรี), ช่องหูปากกา หูปากกา (ประจวบคีรีขันธ์), ทองหูปากกา (สุราษฎร์ธานี), หนามแน่ขาว (ภาคเหนือ), รางจืดดอกขาว เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของหนามแน่ขาว
- ต้นหนามแน่ขาว จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกเลื้อยพันขนาดเล็ก มักทอดเลื้อยหรือเลื้อยพันต้นไม้ชนิดอื่น ยาวได้ประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นเป็นเหลี่ยม ทุกส่วนของต้นมีขนสีขาวแกมเทา พบขึ้นทั่วไปในป่าที่ค่อนข้างโปร่ง ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 700-1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2]
- ใบหนามแน่ขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแคบหรือรูปรี ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร แผ่นใบคล้ายกระดาษ มีขนละเอียดทั้งสองด้าน ก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.8 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกหนามแน่ขาว ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก 2-3 ดอกตามซอกใบ ดอกเป็นสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ที่โคนดอกมีกลีบเลี้ยงแผ่เป็นประกับสีเขียวอ่อน กลีบดอกบาง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน อยู่เป็นคู่ ๆ มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ[1]
- ผลหนามแน่ขาว ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่หรือรูปทรงกลม ปลายผลเป็นจะงอยแข็ง 1 คู่ ผลเป็นผลเกลี้ยงสีดำ ภายในผลมีเมล็ด 4 เมล็ด โดยจะออกดอกและติดผลในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม[1],[2]
สรรพคุณของหนามแน่ขาว
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากหนามแน่ขาว ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น เช่น รากพญาดง (Persicaria chinensis) นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการปวดท้องน้อยของผู้ป่วยกามโรค (ราก)[1]
- ทั้งต้นใช้ผสมกับต้นจันตาปะขาว นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อัมพฤกษ์ อัมพาต (ทั้งต้น)[3],[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหนามแน่ขาว
- สารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นหนามแน่ขาวด้วยแอลกอฮอล์ไม่มีฤทธิ์แก้ปวด ลดอาการชัก หรือลดการบีบตัวของลำไส้[4]
ประโยชน์ของหนามแน่ขาว
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปได้ ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หนามแน่ขาว”. หน้า 211.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “หูปากกา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [29 ก.ย. 2014].
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “หูปากกา”. หน้า 193.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หูปากกา”. หน้า 210.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Mauricio Mercadante, Russell Cumming, Dr. Arup Kumar Banerjee, Tony Rodd, Dinesh Valke)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)