หญ้าไข่เหา
หญ้าไข่เหา ชื่อสามัญ Itch flower
หญ้าไข่เหา ชื่อวิทยาศาสตร์ Mollugo pentaphylla L. จัดอยู่ในวงศ์สะเดาดิน (MOLLUGINACEAE)[1]
สมุนไพรหญ้าไข่เหา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าตีนนก (ตราด), หญ้านกเขา (ชัยนาท), สร้อยนกเขา (ชลบุรี) ส่วนทางภาคเหนือเรียก “หญ้าไข่เหา” เป็นต้น[1]
หมายเหตุ : หญ้าไข่เหาที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับหญ้าไข่เหา ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panicum incomtum Trin. และหญ้าไข่เหา ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panicum sarmentosum Roxb. ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ GRAMINEAE
ลักษณะของหญ้าไข่เหา
- ต้นหญ้าไข่เหา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงได้ประมาณ 10-30 เซนติเมตร[1] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ[2],[3]
- ใบหญ้าไข่เหา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกรอบ ๆ ข้อ เป็นกระจุก ๆ ละ 2-4 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวเรียวหรือรูปรีขนาดเล็ก ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.2-0.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ก้านใบสั้น[1]
- ดอกหญ้าไข่เหา ออกดอกเป็นช่อห่าง ๆ โดยจะออกตามปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเหลืองอ่อนเป็นตุ่มกลมเล็ก ๆ ขนาดยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ ก้านชูช่อดอกยาว[1],[2]
- ผลหญ้าไข่เหา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม มีขนาดประมาณ 0.2 เซนติเมตร เมื่อแก่แล้วจะแตกออกเป็น 3 เสี่ยง ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีน้ำตาล[1]
สรรพคุณของหญ้าไข่เหา
- ทั้งต้นมีรสขมเย็น มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
- ลำต้นหรือทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ ส่วนใบใช้เป็นยาไข้จับสั่น (ลำต้น, ใบ, ทั้งต้น)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
- ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้หญ้าไข่เหาทั้งต้น นำมาขยี้ผสมกับเกลือใช้อุดฟัน แก้รำมะนาด (ทั้งต้น)[4]
- ใช้เป็นยาระบายท้อง (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
- ใช้เป็นยาแก้ดีพิการ (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
ประโยชน์ของหญ้าไข่เหา
- ยอดอ่อน ใบ และดอกอ่อน สามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ เช่น แกงป่า แกงใส่ปลาร้า เป็นต้น[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หญ้าไข่เหา (Ya Khai Hao)”. หน้า 314.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หญ้าไข่เหา”. หน้า 801-802.
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “หญ้าไข่เหา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [03 ก.ย. 2014].
- สวนสวรส. “หญ้าไข่เหา” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.suansavarose.com. [03 ก.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Srikanth Parthasarathy, Dinesh Valke)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)