หญ้าแฝก
หญ้าแฝก ชื่อสามัญ Vetiver grass, Khuskhus, Cuscus, Sevendara grass[1]
หญ้าแฝก ชื่อวิทยาศาสตร์ Chrysopogon zizanioides (L.) Roberty (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vetiveria zizanioides (L.) Nash) จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)[1]
สมุนไพรหญ้าแฝก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าแฝกหอม (นครราชสีมา, ภาคกลาง), แกงหอม แคมหอม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น[1]
หญ้าแฝกมีอยู่ในโลกประมาณ 11-12 ชนิด แต่ในประเทศไทยพบว่ามีอยู่เพียง 2 ชนิด คือ หญ้าแฝกหอมหรือหญ้าแฝกลุ่ม (Chrysopogon zizanioides (L.) Roberty) และหญ้าแฝกดอน (ชื่อวิทยาศาสตร์ Chrysopogon nemoralis (Balansa) Holttum (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vetiveria nemoralis (Balansa) A.Camus)) ในธรรมชาติเราจะพบหญ้าแฝกทั้งสองชนิดนี้ได้ทั่วไป เพราะขึ้นได้ดีในสภาพพื้นที่ทั้งที่ลุ่มและที่ดอน ในดินสภาพต่าง ๆ จากความสูงใกล้กับระดับน้ำทะเลไปจนถึงระดับประมาณ 800 เมตร และถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของพืชชนิดนี้สันนิษฐานว่าอยู่ในประเทศอินเดีย[3]
ความแตกต่างระหว่างหญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอน
หญ้าแฝกทั้งสองชนิดจะมีลักษณะภายนอกของใบที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยสามารถจำแนกได้ดังนี้
- หญ้าแฝกหอม ใบมีความกว้างประมาณ 0-6-1.2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 45-100 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบโค้งปลายแบน เนื้อใบค่อนข้างเนียน มีไขเคลือบทำให้ดูมัน ส่วนท้องใบจะออกเป็นสีขาวซีดกว่าหลังใบ[3]
- หญ้าแฝกดอน ใบมีความกว้างประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 35-80 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวซีด หลังใบพับเป็นสันสามเหลี่ยม เนื้อใบหยาบสากมือ มีไขเคลือบน้อยทำให้ดูกร้าน ส่วนท้องใบจะเป็นสีเดียวกับหลังใบ แต่จะมีสีซีดกว่า[3]
- สำหรับลักษณะโครงสร้างภายนอกเมื่อทำการเปรียบเทียบจะพบว่า ใบหญ้าแฝกหอมจะมีเนื้อใบหนากว่า และขนาดของช่องอากาศก็มีขนาดใหญ่กว่าหญ้าแฝกดอนด้วย[3]
- ส่วนความแตกต่างของลักษณะภายในรากที่เห็นได้ชัดเจน คือ รากหญ้าแฝกหอมจะมีโพรงอากาศในบริเวณคอร์เทกซ์ และมีขนาดที่ใหญ่กว่าหญ้าแฝกดอน[3]
ลักษณะของหญ้าแฝก
- ต้นหญ้าแฝก จัดเป็นไม้จำพวกหญ้า มีอายุหลายปี เป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอแน่น ใบยาวตั้งตรงขึ้นได้สูงประมาณ 1-2 เมตร กอแฝกจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ โคนกอเบียดแน่นไม่มีไหล ส่วนโคนของลำต้นจะแบน โดยเกิดจากส่วนของโคนใบที่แบนเรียงซ้อนกัน และลำต้นแท้จะมีขนาดเล็กซ่อนอยู่ในกาบใบบริเวณคอดิน มีรากเหง้าเป็นฝอยอยู่ใต้ดินและมีกลิ่นหอม มักพบขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ หรือขึ้นกระจายกันแต่ไม่ไกลกันมากนัก ส่วนการเจริญและแตกกอพบว่าจะมีการแตกหน่อใหม่ทดแทนต้นเก่าอยู่เสมอ โดยจะแตกหน่อออกทางด้านข้างรอบ ๆ กอ ในบ้านเราจะพบหญ้าแฝกได้มากที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีความชื้นสูง หรือใกล้น้ำ และในป่าเต็งรัง[1],[3]
- รากหญ้าแฝก รากมีลักษณะเป็นรากฝอยที่แตกจากส่วนของลำต้นใต้ดิน โดยจะกระจายแผ่กว้างออกเพื่อยึดพื้นดินไปตามแนวนอน การเจริญของระบบรากจะเป็นไปในแนวดิ่ง แต่จะเจาะไม่ลึกมาก และจะแตกต่างจากรากหญ้าทั่วไป คือมีรากที่เจริญโตเร็ว สานกันแน่น หยั่งลึกในแนวดิ่งลงใต้ดินไม่แผ่ขนาน และมีรากฝอยขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อหญ้าแฝกมีอายุได้ประมาณหนึ่งปีครึ่ง รากจะเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ รากแกนส่วนโคนกอจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และเปลือกรากจะมีลักษณะอวบน้ำคล้ายกับนวม ช่วยทำหน้าที่เพิ่มความหนา เพิ่มความแข็งแรง ช่วยดูดน้ำและความชื้น และช่วยป้องกันส่วนลำเลียงน้ำและสารอาหารที่อยู่ภายใน[3]
- ใบหญ้าแฝก ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ โดยใบจะแทงออกมาจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ลักษณะของใบเรียวยาวหรือแคบยาว ขอบใบขนาดปลายใบสอบแหลม ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 120 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ ท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ เนื้อใบกร้านสากและคายมือ โดยเฉพาะใบแก่ ขอบใบและเส้นกลางใบจะมีหนามละเอียด หนามบนใบที่ส่วนโคนและกลางแผ่นใบจะมีน้อย โดยหนามจะมีลักษณะตั้งทแยงชี้ขึ้นไปทางปลายใบ ส่วนกระจังหรือเยื่อกันน้ำฝนที่โคนใบจะลดรูปเหลือเพียงแผ่นโค้งของขนสั้นละเอียด แต่จะมีมากตรงปลาย ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น[1],[3]
- ดอกหญ้าแฝก ออกดอกเป็นช่อตั้งลักษณะเป็นรวง โดยจะออกบริเวณปลายยอด ก้านช่อดอกยาวกลมยื่นพ้นจากลำต้น ก้านช่อดอกและรวงจะมีความสูงประมาณ 100-150 เซนติเมตร (หรืออาจถึง 200 เซนติเมตรในต้นที่มีความสมบูรณ์) และเฉพาะในช่วงของช่อดอกหรือรวงจะสูงประมาณ 20-40 เซนติเมตร แผ่กว้างเต็มที่ได้ประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก มีขนาดเล็กและเป็นสีม่วงอมเขียว หญ้าแฝกจะมีดอกหญ้าเรียงตัวกันอยู่ด้วยเป็นคู่ ๆ โดยจะมีลักษณะและขนาดที่ใกล้เคียงกัน ในแต่ละคู่จะประกอบไปด้วยดอกที่ไม่มีก้านและดอกที่มีก้าน ยกเว้นตรงส่วนปลายของก้านช่อย่อยที่มักจะเรียงเป็น 3 ดอกอยู่ด้วยกัน โดยดอกที่มีก้านจะชูอยู่ด้านบนและเป็นดอกเพศผู้ที่มีแต่เกสรอยู่ด้านใน ส่วนดอกที่ไม่มีก้านจะอยู่ด้านล่างและเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ และในแต่ละดอกจะประกอบไปด้วยดอกย่อยอีก 2 ดอก ซึ่งส่วนมากจะมีการลดรูปหรือเจริญไม่สมบูรณ์จนเหลือแต่ดอกย่อยเพียงดอกเดียวกับดอกย่อยเปล่า ๆ ที่มีแต่กาบคลุมอยู่ ดอกหญ้าแฝกจะมีลักษณะเป็นรูปกระสวย ปลายสอบ ดอกมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร ด้านหลังดอกมีผิวขรุขระ มีหนามแหลมขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่บริเวณขอบ[1],[3]
- ผลหญ้าแฝก ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก[1] ผลหญ้าแฝกจะเป็นแบบ Caryopsis เมื่อดอกได้รับการผสมแล้ว ดอกที่ไม่มีก้านดอกที่เป็นดอกสมบูรณ์ก็จะติดเมล็ด เมล็ดจะมีลักษณะเป็นรูปกระสวย หัวท้ายมน ผิวเรียบ เปลือกบาง เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร โดยดอกหญ้าแฝกจะสามารถติดเมล็ดได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น เนื่องจากในแต่ละช่อดอกจะมีดอกสมบูรณ์เพศประมาณครึ่งหนึ่ง ประกอบกับการสุกของเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียที่อยู่ในดอกเดียวกันหรือต่างดอกกันมักจะไม่สัมพันธ์กัน ทำให้โอกาสที่จะผสมพันธุ์กันนั้นมีน้อย[3]
สรรพคุณของหญ้าแฝก
- รากมีรสหอม ช่วยทำให้ดวงจิตชุ่มชื่น (ราก)[1]
- รากช่วยแก้โรคประสาท ส่วนกลิ่นของรากช่วยกล่อมประสาท (ราก)[4]
- น้ำมันหอมระเหยช่วยทำให้นอนหลับ ทำให้สงบ (น้ำมันหอมระเหย)[4]
- ช่วยบำรุงโลหิต (ราก)[4]
- ช่วยแก้โลหิตและดี (ราก)[4]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้พิษ แก้ไข้อันเกิดแต่ซาง แก้ไข้อภิญญาณ (ราก)[1],[2],[4] ส่วนหัวมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้หวัด (หัว)[4]
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ราก)[1],[2],[4]
- ช่วยแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ราก, หัว)[4]
- รากใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้อาการท้องอืด จุกเสียด ทำให้หาวเรอ (ราก, หัว)[1],[2],[4]
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก, หัว)[1],[2],[4]
- ช่วยแก้คุดทะราด (ราก)[4]
- ช่วยแก้ร้อน (ราก, หัว)[4]
- ใช้ต้มอาบทำให้กระชุ่มกระชวย (ราก)[4]
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (หัว)[4]
- รากหญ้าแฝกจัดเป็นส่วนประกอบของตำรับยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือตำรับยาแก้ลม เช่น ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” (ตำรับยาแก้ลมกองละเอียด เช่น อาการหน้ามืดตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น) และในตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” (ตำรับยาแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมปลายไข้)[4]
- หญ้าแฝกเป็นส่วนประกอบของตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ตำรับ “ยาประสะกานพลู” (ตำรับยาแก้อาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อยเนื่องจากธาตุไม่ปกติ) และใน “ตำรับยาเขียวหอม” (ตำรับยาบรรเทาอาการไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส)[4]
- นอกจากนี้ยังมีปรากฏอยู่ในตำรับ “ยามโหสถธิจันทน์” (ใช้เข้าเครื่องยาแฝกหอมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นอีก 15 ชนิด แล้วนำมาบดให้ละเอียดทำเป็นแท่ง ใช้น้ำดอกไม้เป็นกระสาย ใช้ชโลมตัวหรือกินเป็นยาแก้ไข้) และยังปรากฏอยู่ในตำรับยาอายุรเวทของอินเดีย ที่นำมาใช้เป็นยาลดไข้ แก้กระหาย และแก้อาการปวดศีรษะ ส่วนในประเทศศรีลังกาจะเป็นที่รู้จักว่าเป็นน้ำมันที่ช่วยให้ระงับสงบ หรือ “Oil of tranquility”[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าแฝก
- องค์ประกอบทางเคมีที่พบ ได้แก่ น้ำมันหอมระเหย (Vetiver oil) ประมาณ 0.3-1% โดยประกอบไปด้วยสาร vetiverol ประมาณ 50-75%, alpha-vetivone 4.36%, beta-vetivenene, beta-vetivone, khusimol[4]
- น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ทำให้ผิวหนังร้อนแดงอย่างอ่อน ทำให้นอนหลับ ทำให้สงบ[4]
- หญ้าแฝกมีฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชัน ต้านมาลาเรีย ต้านยีสต์ ยับยั้งเชื้อรา ไล่แมลง ฆ่าเห็บโค[4]
- จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากรากหญ้าแฝกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 7,143 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาในคน และให้โดยวิธีการฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังของหนูทดลองในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่พบว่ามีความเป็นพิษ[4]
ประโยชน์ของหญ้าแฝก
- หญ้าแฝกหอมเป็นพืชที่สะสมน้ำมันหอมไว้ในส่วนของราก คนไทยสมัยก่อนจึงใช้รากของหญ้าแฝกเป็นเครื่องหอมสำหรับอบเสื้อผ้า แก้กลิ่นอับในตู้เสื้อผ้า ใช้ขับไล่แมลง ด้วยการใช้รากแห้งนำมาแขวนในตู้เสื้อผ้า และยังใช้ผสมกับน้ำมันให้เกิดกลิ่นหอม หรือนำไปผลิตเป็นเครื่องสำอางต่อไป[3]
- คุณสมบัติของหญ้าแฝก เนื่องจากภายในของรากหญ้าแฝกมีลักษณะเหมือนกับรากของพืชน้ำ มันจึงสามารถทนต่อน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี จึงนำมาใช้ปลูกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์เพื่อช่วยแก้ปัญหาและป้องกันการพังทลายของดิน เพื่อป้องกันความเสียหายของชั้นบันไดดินหรือคันคูคลองรับน้ำรอบเขา เพื่อป้องกันรักษาการกัดเซาะของน้ำจากแม่น้ำบริเวณคอสะพาน เพื่อป้องกันตะกอนดินลงสู่ทางน้ำ ปลูกเพื่อแก้ปัญหาดินดาน ฟื้นฟูดิน เพื่อควบคุมมลพิษ รักษาสภาพแวดล้อม หรือใช้ปลูกเป็นแถวตามแนวระดับ ขวางความลาดเท เป็นต้น[3]
- ส่วนประโยชน์ของหญ้าแฝกหอมอื่น ๆ เช่น การนำมาเย็บเป็นตับเพื่อใช้มุงหลังคา ใช้ในคอกสัตว์ รองนอนให้เล้าสัตว์เลี้ยง ใบใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ใช้เพาะเห็ด ทำเป็นปุ๋ยหมักและพืชคลุมดิน หรือใช้รากนำมาทำพัด สำหรับพัดให้ความเย็นและให้กลิ่นหอมเย็น และใช้ในงานหัตถกรรมต่าง ๆ ทำเชือก หมวก ตะกร้า เครื่องประดับ เครื่องตกแต่งบ้าน ของใช้สำนักงาน ไม้อัด งานประดิษฐ์ งานจักสาร ฯลฯ[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “แฝก (Faek)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 188.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “แฝกหอม”. หน้า 206.
- นิตยสารเกษตรศาสตร์. “หญ้าแฝกหอม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/e-magazine/november45/. [01 พ.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “แฝกหอม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [01 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 阿, stefanottomanski, Ayala Moriel), www.kasetporpeang.com (by thidajan), www.haii.or.th, www.rdpb.go.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)