หญ้าเหลี่ยม
หญ้าเหลี่ยม ชื่อวิทยาศาสตร์ Exacum tetragonum Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Exacum bicolor Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์ดอกหรีดเขา (GENTIANACEAE)[1],[2]
สมุนไพรหญ้าเหลี่ยม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าหูกระต่าย (เลย), แมลงหวี่ (เพชรบูรณ์), นางอั้วโคก (นครราชสีมา), ไส้ปลาไหล (นครพนม), เทียนป่า (ปราจีนบุรี) ส่วนชาวสุราษฎร์ธานีเรียก “หญ้าเหลี่ยม” เป็นต้น[1]
ลักษณะของหญ้าเหลี่ยม
- ต้นหญ้าเหลี่ยม จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุฤดูเดียว ต้นมีความสูงได้ประมาณ 40-100 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง เป็นสันสี่เหลี่ยม เห็นได้ชัดเจน[1] มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศไทยพบกระจายห่าง ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นตามทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง ป่าสน และชายป่า จนถึงระดับความสูงประมาณ 900 เมตร จากระดับน้ำทะเล[2]
- ใบหญ้าเหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปใบหอก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร ก้านใบสั้นเกือบไร้ก้าน หรือยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร[1],[2]
- ดอกหญ้าเหลี่ยม ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงชัดเจน โดยจะออกตามซอกและปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก ก้านดอกยาวได้ถึง 1 เซนติเมตร ใบประดับคล้ายใบ ลักษณะเป็นรูปใบหอกหรือรูปแถบ มีความยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร ใบประดับย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปแถบ บางครั้งมีความยาวได้เกือบ 1 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกและกลีบดอกจะมีอย่างละ 4 กลีบ โดยกลีบเลี้ยงจะมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ยาวได้ประมาณ 6 มิลลิเมตร ปลายเรียวแหลม มีครีบเป็นปีกกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร หลอดกลีบดอกยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 1.3 เซนติเมตร ปลายกลีบแหลมหรือเรียวแหลม กลีบดอกเป็นสีขาวอมชมพูหรือเป็นสีม่วงแกมน้ำเงิน มีสีเข้มช่วงปลายกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ก้านชูอับเรณูยาวได้ประมาณ 1.5 มิลลิเมตร อับเรณูโค้ง ยาวได้ประมาณ 6-7 มิลลิเมตร รังไข่มีลักษณะเป็นรูปกลมขนาดเล็ก ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ยอดเกสรเป็นตุ่ม[1],[2] โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
- ผลหญ้าเหลี่ยม ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่แกมกระสวยหรือเป็นรูปรีเกือบกลม ยาวประมาณ 3.5 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่[1]
สรรพคุณของหญ้าเหลี่ยม
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบหญ้าเหลี่ยม นำมาขยี้อุดหูประมาณครึ่งชั่วโมงเพื่อช่วยแก้หูน้ำหนวกในเด็ก (ใบ)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หญ้าเหลี่ยม”. หน้า 110.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “หญ้าเหลี่ยม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [02 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Srikanth Parthasarathy, Naseer Ommer)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)