หญ้าหนวดแมว
หญ้าหนวดแมว ชื่อสามัญ Java tea, Kidney tea plant, Cat’s whiskers
หญ้าหนวดแมว ชื่อวิทยาศาสตร์ Orthosiphon aristatus (Blume) Miq. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendranthus spicatus (Thunb.) C.Y.Wu, Orthosiphon grandiflorus Bold., Orthosiphon stamineus Benth.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
สมุนไพรหญ้าหนวดแมว ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น อีตู่ดง (เพชรบูรณ์), บางรักป่า (ประจวบคีรีขันธ์), พยับเมฆ (กรุงเทพฯ) เป็นต้น
ลักษณะของหญ้าหนวดแมว
- ต้นหญ้าหนวดแมว จัดเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีลำต้นและกิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีสีน้ำตาลหรือสีม่วงแดง ต้นมีความสูงประมาณ 0.3-0.8 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและการเพาะเมล็ด
- ใบหญ้าหนวดแมว มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปข้าวหลามตัด มีขอบใบหยักเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย แผ่นใบบางเป็นสีเขียวเข้ม ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้างประมาณ 2-4.5 เซนิเมตร ยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร และก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร
- ดอกหญ้าหนวดแมว ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุก ปลายยอดดอกลักษณะคล้ายฉัตร มีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีริ้วประดับรูปไข่ ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ไม่มีก้าน ส่วนกลีบของดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังงอเล็กน้อย มีความยาวประมาณ 2.5-4.5 มิลลิเมตร ออกดอกบริเวณปลายยอดและปลายกิ่ง มีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์ที่มีดอกสีขาวอมม่วงอ่อนและพันธุ์ที่มีดอกสีฟ้า ดอกหญ้าหนวดแมวจะบานจากล่างขึ้นบน ดอกมีเกสรตัวผู้ประมาณ 3-4 เส้น เป็นเส้นยาวยื่นออกมานอกกลีบดอก มีลักษณะคล้ายหนวดแมว และที่ปลายเกสรจะมีติ่งสีน้ำเงินอมม่วงอยู่ โดยหญ้าหนวดแมวนี้สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
- ผลหญ้าหนวดแมว ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน กว้าง และแบน มีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ตามผิวมีรอยย่น เป็นผลแห้งไม่แตก
สมุนไพรหญ้าหนวดแมว เป็นสมุนไพรที่ขึ้นชื่อและมีการนำมาใช้รักษานิ่วและโรคทางเดินปัสสาวะมานานแล้ว โดยมีผลงานวิจัยต่าง ๆ มากมายที่ต่างก็ยืนยันสรรพคุณของหญ้าหนวดแมวว่ามันสามารถช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้จริง แถมยังไม่มีผลข้างเคียงร้ายแรงเหมือนยาจากต่างประเทศ ที่ทำให้ร่างกายมีอาการอ่อนเพลียและมีอาการเบื่ออาหาร แต่อาจจะมีประสิทธิภาพในการรักษาไม่ดีเท่ากับยาจากต่างประเทศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ใบ ผล เปลือกฝัก ราก และทั้งต้น
สรรพคุณของหญ้าหนวดแมว
- ทั้งต้นมีรสจืด สรรพคุณช่วยรักษาโรคกระษัย (ทั้งต้น)
- ช่วยลดความดันโลหิต (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคเยื่อจมูกอักเสบ (ทั้งต้น)
- ผลมีรสฝาด ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (ผล)
- เปลือกฝักช่วยแก้ลำไส้พิการ (เปลือกฝัก)
- ช่วยแก้บิด แก้อาการท้องร่วง (ผล)
- ช่วยรักษาโรคในทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับปัสสาวะ รักษาโรคนิ่ว สลายนิ่ว หรือช่วยลดขนาดก้อนนิ่ว ด้วยการใช้ต้นกับใบประมาณ 1 กอบมือ (หากใช้ใบสดให้ใช้ประมาณ 90-120 กรัม แต่ถ้าเป็นใบแห้งให้ใช้ประมาณ 40-50 กรัม) นำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา หรือประมาณ 75 cc. วันละ 3 ครั้ง หรืออีกสูตรให้ใช้กิ่งกับใบขนาดกลาง (ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป) นำมาล้างให้สะอาดแล้วผึ่งในที่ร่มให้แห้ง ให้ใช้ประมาณ 4 หยิบมือ (ประมาณ 4 กรัม) นำมาชงกับน้ำเดือดประมาณ 750 cc. เหมือนชงชา แล้วนำมาดื่มต่างน้ำตลอดทั้งวัน นานประมาณ 1-6 เดือน จะช่วยทำให้ปัสสาวะใสและคล่องขึ้น ช่วยทำให้อาการปวดของนิ่วลดลงและทำให้นิ่วมีขนาดเล็กลงและหลุดออกมาเอง (ใบ, ราก, ทั้งต้น)
- ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศออสเตรเลีย มีการใช้หญ้าหนวดแมวเพื่อรักษาอาการอักเสบของไตและนิ่วในไต (ใบ, ทั้งต้น)
- ในอินโดนีเซียมีการใช้ใบนำมาชงเป็นชาดื่ม ช่วยแก้โรคไตและกระเพาะปัสสาวะ (ใบ, ทั้งต้น)
- ช่วยแก้โรคไตพิการ (ผล, เปลือกฝัก)
- ช่วยลดน้ำขับกรดยูริกจากไต ช่วยป้องกันไม่ให้แคลเซียมตกค้างในไต ช่วยขยายท่อไตให้กว้างขึ้น และช่วยบรรเทาอาการปวด (ใบ)
- ช่วยขับล้างสารพิษในระบบทางเดินปัสสาวะ ไต และตับ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้หนองใน (ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาโรคปวดตามสันหลังและบั้นเอว (ใบ, ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาโรคปวดข้อ อาการปวดเมื่อย และไข้ข้ออักเสบ (ใบ)
คำแนะนำในการใช้สมุนไพรหญ้าหนวดแมว
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตหรือโรคหัวใจ ไม่ควรใช้สมุนไพรหญ้าหนวดแมว เพราะสมุนไพรชนิดนี้มีสารโพแทสเซียมสูงมาก ถ้าหากไตไม่ปกติก็จะไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกมาได้ ทำให้เกิดโทษต่อร่างกายอย่างร้ายแรง และยังมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะให้ออกมามากกว่าปกติ และเกรงว่าขนาดของโพแทสเซียมที่สูงมากนั้น อาจจะไปกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วผิดปกติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อโรคหัวใจได้
- ผลข้างเคียงของหญ้าหนวดแมว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับคนปกติที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน โดยอาการที่อาจพบได้คือ ใจสั่น หายใจลำบาก ดังนั้นการใช้สมุนไพรชนิดนี้ครั้งแรก หากใช้วิธีการชงดื่มให้ใช้วิธีจิบ ๆ ดูก่อน หากมีอาการผิดปกติก็ควรหยุด แล้วดื่มน้ำตามให้มาก ๆ สักพักอาการก็จะหายไปเอง
- การใช้สมุนไพรหญ้าหนวดแมวเพื่อรักษานิ่วจะได้ผลดีก็เมื่อใช้กับนิ่วก้อนเล็ก ๆ แต่จะไม่ได้ผลกับก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่
- การเลือกต้นนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ควรเลือกต้นที่ดูแข็งแรง แข็งและหนา ไม่อ่อนห้อยลงมา ลำต้นดูอวบเป็นเหลี่ยม ต้นมีสีม่วงแดงเข้ม และดูได้จากใบที่มีสีเขียวเข้มเป็นมันและใหญ่
- วิธีการเก็บต้น เมื่อเลือกต้นได้ตามที่ต้องการแล้ว ให้เด็ดในส่วนของยอดลำต้น ยาวประมาณ 1 คืบ คือส่วนที่มีใบอ่อนจนถึงใบแก่ หรือดอกด้วย
- ควรเลือกใช้ใบอ่อนในการปรุงเป็นยา เนื่องจากใบแก่จะมีความเข้มข้นมาก อาจทำให้มีฤทธิ์ไปกดหัวใจได้
- การนำสมุนไพรหญ้าหนวดแมวมาปรุงเป็นยา ไม่ควรใช้วิธีการต้ม แต่ให้ใช้วิธีการชง
- ควรใช้ใบตากแห้งในการปรุงเป็นยา เพราะใบสดอาจจะทำให้มีอาการคลื่นไส้และมีอาการหัวใจสั่นได้
- สมุนไพรหญ้าหนวดแมว ไม่ควรใช้ร่วมกับยาแอสไพริน เนื่องจากหญ้าหนวดแมวจะทำให้ยาแอสไพรินไปจับกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น
งานวิจัยสมุนไพรหญ้าหนวดแมว
- มีการศึกษาผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่วในโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ได้รับประทานยาชงหญ้าหนวดแมวทุกวัน วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2-6 เดือน การศึกษาพบว่ามีอาการดีขึ้น โดยสามารถลดขนาดของก้อนนิ่ว 23 ราย มีนิ่วหลุด 40% และมีอาการดีขึ้น 20%
- หญ้าหนวดแมว สามารถช่วยลดขนาดของนิ่วได้ และผู้ป่วยนิ่วที่มีอาการเรื้อรังอื่น ๆ อันได้แก่ อาการแน่นท้อง ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดขา ปวดเอว เมื่อยเพลีบ แสบร้อนสีข้าง พบว่ามีอาการลดลง และทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น และสามารถทำงานได้มากยิ่งขึ้น (รศ.นพ.อมร เปรมกมล)
- การศึกษาผลของการลดนิ่วไตของผู้ป่วยที่มีก้อนนิ่วไตขนาดตั้งแต่ 10 มิลลิเมตรขึ้นไปอย่างน้อย 1 ก้อน ด้วยหญ้าหนวดแมวเปรียบเทียบกับยาโซเดียม โพแทสเซียม ซิเทรต (Na K Citrate หรือ Sodium Potassium Citrate (SPC)) ในระยะเวลา 18 เดือน ผลการทดลองพบว่าหญ้าหนวดแมวสามารถลดขนาดก้อนนิ่วได้ 28.6% ส่วนยา Na-K-Citrate สามารถลดขนาดก้อนนิ่วได้ 33.8% ในระยะเวลา 1 ปี หรือโดยสรุปคือสามารถลดขนาดนิ่วลงได้ถึงปีละประมาณ 1 ใน 3 ของขนาดต้น (นพ.อมร เปรมกมล, นพ.วัฒนะ ดิฐสถาพรเจริญ, รศ.ศรีน้อย มาศเกษม, รศ. นฤมล สินสุพรรณ, รศ.พจน์ ศรีบุญลือ, พญ.ชลิดา อภินิเวศ)
ประโยชน์ของหญ้าหนวดแมว
- ใช้ปลูกเป็นพืชประดับสวนหรือริมรั้วกำแพงบ้านเพื่อความสวย เนื่องจากมีช่อดอกที่สวยงามและดูแปลกตา และสามารถออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปี
- สมุนไพรหญ้าหนวดแมวสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้ เช่น หญ้าหนวดแมวแคปซูล หญ้าหนวดแมวผง ชาหญ้าหนวดแมว เป็นต้น
- เมนูอาหารสมุนไพรจากหญ้าหนวดแมว เช่น หญ้าหนวดแมวกรุบกรอบ อ่อมแซ่บปูนาใส่หญ้าหนวดแมว เป็นต้น
- การนำสมุนไพรหญ้าหนวดแมวมาใช้ในการรักษาโรคนิ่วแทนยาแผนปัจจุบันหรือการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถช่วยลดค่ารักษาพยาบาลได้อย่างมาก
แหล่งอ้างอิง : สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร, สถาบันการแพทย์แผนไทย
ภาพประกอบ : Medthai.com, เว็บไซต์ fotopedia.com, เว็บไซต์ edwardsblock.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)