หญ้ายาง
หญ้ายาง ชื่อสามัญ Painted spurge[2],[4], Mexican fire plant[4]
หญ้ายาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia heterophylla L.[2],[6] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Euphorbia geniculata Ortega, Euphorbia heterophylla var. geniculata (Ortega) M.Gómez, Euphorbia prunifolia Jacq., Poinsettia geniculata (Ortega) Klotzsch & Garcke) จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]
สมุนไพรหญ้ายาง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ใบต่างดอก ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ (กรุงเทพ), หญ้าน้ำหมึก (ภาคเหนือ), หญ้าหลังอึ่ง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ลูกเขยตายแม่ยายชักปรก, หญ้าสองพันห้าร้อย (คนเมือง), ผักบุ้งป่า (ปะหล่อง), จ๊าผักบุ้ง (ไทลื้อ) เป็นต้น[2],[3],[4]
หญ้ายาง จัดเป็นวัชพืชล้มลุกมีอายุปีเดียว มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบอเมริกากลาง และสามารถพบได้ทั่วไปในแอฟริกาเขตร้อน พบได้ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400-1,400 เมตร[6] และในสมัยก่อนมีการใช้หญ้ายางในงานศพ เป็นหญ้าที่ไม่เป็นมงคล เพราะมีตำนานว่าลูกเขยตายแล้วแม่ยายเอาหญ้าชนิดนี้มาคลุมศพ จึงอาจเป็นที่มาของชื่อ “ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ” ก็ได้[5]
ข้อสังเกต ! : จากแหล่งข้อมูลในประเทศไทยหลาย ๆ แห่งได้ระบุไปในแนวทางเดียวกันว่า หญ้ายาง (Euphorbia heterophylla L.) กับใบต่างดอกหรือลูกเขยตายแม่ยายทำศพ (Euphorbia cyathophora Murray) เป็นพืชชนิดเดียวกัน แต่ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นพืชคนละชนิดกันเพราะมีลักษณะของใบและสีของใบที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะจัดอยู่ในวงศ์เดียวกันก็ตาม (ภาพประกอบด้านล่าง)
ลักษณะของหญ้ายาง
- ต้นหญ้ายาง (ต้นลูกเขยตายแม่ยายทำศพ) จัดเป็นไม้ล้มลุกทรงเรือนยอดทรงกระบอก ความสูงของต้นประมาณ 50 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกของลำต้นมีสีเขียว ผิวเรียบ เมื่อหักแล้วจะมียางสีขาวขุ่น[5]
- ใบหญ้ายาง (ใบลูกเขยตายแม่ยายทำศพ) ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบเรียวแหลม ส่วนโคนใบเรียวสอบ ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 6.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10 เซนติเมตร การเรียงตัวของใบบนกิ่งตรงข้ามและสลับตั้งฉาก[5]
- ดอกหญ้ายาง (ดอกลูกเขยตายแม่ยายทำศพ) ออกดอกเป็นช่อกระจุกบริเวณปลายยอด กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก สีเขียวและไม่มีกลีบดอก ส่วนเกสรตัวผู้มีสีเหลืองจำนวน 4 ก้าน ปลายเกสรเป็นกระเปาะ ส่วนเกสรตัวเมียมีสีเหลืองจำนวน 1 ก้าน ปลายเกสรแยกออกเป็น 4 แฉก ส่วนรังไข่เหนือวงกลีบไม่มีกลิ่น[5]
- ผลหญ้ายาง (ผลลูกเขยตายแม่ยายทำศพ) ผลออกเป็นกลุ่ม ผลสดจะมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด โดยผลอ่อนจะเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่เป็นสีน้ำตาล ลักษณะของผลกลมแป้น มีเมล็ด 3 เมล็ดสีเขียว ลักษณะกลมแป้น[5]
ข้อควรระวัง ! : ต้นหญ้ายางจะมียางสีขาวขุ่นอยู่ทั้งลำต้น หากสัมผัสผิวหนัง พิษของยางจะทำให้ผิวหนังอักเสบได้ และบริเวณก้านใบจะมีขนที่ทำให้เกิดอาการคัน จึงไม่ควรสัมผัสโดยตรง[5]
ลักษณะของใบต่างดอก
- ต้นใบต่างดอก ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia cyathophora Murray (ดอกบานบา (ลาว)[1]) จัดเป็นพืชล้มลุก มีความสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร ลำต้นเกลี้ยงและกลวงข้างใน[1]
- ใบต่างดอก หูใบคล้ายเกล็ดมีขนาดเล็ก ส่วนใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือเรียวยาวเว้าลึกเป็นพู 1-2 พู ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือสอบเรียว ใบมีความยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร ส่วนขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ตื้น ๆ ห่าง ๆ ส่วนผิวใบด้านล่างมีขน และมีเส้นแขนงใบประมาณ 12-15 คู่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1]
- ดอกใบต่างดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก โดยจะออกตามปลายกิ่ง แตกแขนงเป็น 3-6 แขนง มีวงใบประดับเรียงกันเป็นชั้นห่าง ๆ มีใบประดับด้านล่างคล้ายกับใบและขนาดเท่ากับใบ มีสีแดงที่โคน โดยใบประดับด้านบนจะมีขนาดเล็กกว่าด้านล่าง มักไม่หยักเป็นพู เกือบไร้ก้าน มีสีแดงที่โคนหรือทั้งใบ ส่วนช่อดอกย่อยเป็นแบบ Cyathium ติดกันเป็นช่อกระจุก โดยก้านช่อจะยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร และในแต่ละ Cyathium จะติดบนวงใบประดับรูปถ้วย มีความสูงประมาณ 0.3 เซนติเมตร หยักเป็นพู 5 พูตื้น ๆ มีต่อมขนาดใหญ่อยู่ต่อมเดียว สีเหลือง แบน เปิดออก เป็นรูปรี ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร ไม่มีรยางค์ ดอกที่ติดภายใน Cyathium จะไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง โดยดอกตัวผู้จะอยู่ด้านข้างและมีอยู่หลายดอก เกสรตัวผู้จะเป็นแบบลดรูปเหลือ 1 อัน มีความยาวประมาณ 0.4 เซนติเมตร ติดอยู่บนก้านดอก ส่วนดอกตัวเมียมี 1 ดอกติดอยู่ด้านบน ส่วนรังไข่เกลี้ยง มีก้านสั้น ก้านเกสรมี 3 ก้าน ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร และยอดเกสรเป็นแฉกลึก[1]
- ผลใบต่างดอก ผลมีร่องตามยาว 2-3 พู เมื่อแห้งแล้วแยก ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ประมาณ 0.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลมีความยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร ในผลมีเมล็ดขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม ผิวเมล็ดขรุขระ เป็นสีน้ำตาลปนเทาหรือสีแดง และมีขนาดประมาณ 0.3 เซนติเมตร[1]
สรรพคุณของหญ้ายาง
- ยอดอ่อนใช้รับประทานสดประมาณ 3 ใบ มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยแก้อาการท้องผูก (ยอดอ่อน)[2],[5]
- รากช่วยกระทุ้งพิษ ช่วยแก้พิษฝีภายใน (ราก)[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าใช้เปลือกลำต้นในการรักษาฝีภายนอกและฝีภายใน (เปลือกต้น)[7]
- ช่วยรักษาพิษนาคราช (เปลือกต้น)[7]
- ช่วยขับน้ำนมของสตรี (เปลือกต้น)[7]
ประโยชน์ของหญ้ายาง
- เนื่องจากมีสีสันที่โดดเด่น จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับริมทางให้เป็นทิวแถว[8]
- ยอดอ่อนนำไปต้มเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกรับประทาน[2],[5]
- มีรายงานว่ามีการใช้ใบหญ้ายางทำเป็นยาเสพติดเช่นใบกระท่อมและกัญชาได้ด้วย[8]
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ใบต่างดอก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/. [17 ธ.ค. 2013].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Painted spurge“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [17 ธ.ค. 2013].
- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
- ฐานข้อมูลสมุนไพร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. “หญ้ายาง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: thaiherb.most.go.th. [17 ธ.ค. 2013].
- โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก. “หญ้ายาง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.lrp.ac.th. [17 ธ.ค. 2013].
- สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L.“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: chm-thai.onep.go.th. [17 ธ.ค. 2013].
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ“. อ้างอิงใน: Rob’s plants. “Euphorbia cyathophora“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ. [17 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Ahmad Fuad Morad, Vietnam Plants & The USA. plants)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)