หญ้าพันงูขาว สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าพันงูขาว 55 ข้อ !

หญ้าพันงูขาว

หญ้าพันงูขาว ชื่อสามัญ Rough-chaffed flower, Washerman’s plant, Prickly chaff-flower[4],[9]

หญ้าพันงูขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Achyranthes aspera L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Achyranthes aspera var. rubrofusca (Wight) Hook.f.[9]) จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)[1],[3]

สมุนไพรหญ้าพันงูขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าตีนงูขาว (กรุงเทพฯ), นอเงือเกะ (เชียงใหม่), ควยงูหลวง (น่าน), หญ้าโคยงู (ภาคเหนือ), ควยงู พันงู พันงูขาว พันงูเล็ก หญ้าท้อง (ภาคกลาง), พันธุ์งู (ไทย), หญ้าพันงู หญ้าพันงูเขา หญ้าไกงู (อื่น ๆ), โกยฉัวผี ต้อคาเช่า (จีนแต้จิ๋ว), เต่าโค่วเฉ่า ถู่หนิวชี หนิวเสอต้าหวง (จีนกลาง), โชวม้องู่ติ้ง, ต๋อค้อเช่า (จีน) เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[6],[8]

เมื่อพูดถึงหญ้าพันงู แต่เดิมแล้วคนโบราณจะเรียกหญ้าชนิดว่า “หญ้าควยงู” สาเหตุที่เรียกเช่นนั้นคงเป็นเพราะลักษณะของดอกที่คล้ายกับอวัยวะสืบพันธุ์ของงูเพศผู้ แต่ต่อมาสุภาพชนเห็นว่าการเรียกเช่นนี้นั้นไม่สุภาพ จึงเลี่ยงมาใช้ชื่อใหม่ว่า “หญ้าพันธุ์งู” แล้วจึงเขียนเพี้ยนไปเป็น “หญ้าพันงู” ส่วนจะเรียกว่าหญ้าพันงูขาว หญ้าพันงูแดง หญ้าพันงูน้อย ก็แล้วแต่สายพันธุ์ครับ

หมายเหตุ : หญ้าพันงู ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Achyranthes bidentata Blume (หญ้าพันงูน้อย หรือหญ้าพันงูเล็ก) เป็นอีกพันธุ์หนึ่งที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน แต่พันธุ์นี้จะไม่มีขน สามารถนำมาใช้แทนกันได้[3]

ลักษณะของหญ้าพันงูขาว

  • ต้นหญ้าพันงูขาว จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่มีอายุประมาณ 1-2 ปี ลำต้นกลมตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 25-125 เซนติเมตร ลำต้นจะแตกกิ่งก้านสาขามากจากบริเวณโคนของลำต้น ลำต้นเป็นสัน ข้อโป่งพองออก มีหนามแน่น กิ่งก้านเป็นสี่เหลี่ยม สีเขียว มีขนนุ่มสีขาวขึ้นอยู่ทั่วไป ขยายพันธุ์วิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี เป็นพรรณไม้ที่มักขึ้นเป็นวัชพืชในบริเวณที่รกร้าง ที่โล่ง และในที่ที่มีความชุ่มชื้น พบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และประเทศในเขตร้อนทั่วไปรวมถึงออสเตรเลีย[1],[2],[3],[7]

พันงูขาว

  • ใบหญ้าพันงูขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี รูปวงรีแกมขอบขนาน รูปขอบขนานแกมไข่กลับ รูปไข่กลับ รูปไข่รียาว หรือรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือกลม โคนใบแหลมหรือป้านหรือเรียวสอบ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก แต่มีคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-10 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนปกคลุมอยู่ทั้งสองด้านหรือเกือบเกลี้ยง ก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ใบหญ้าพันงูขาว

  • ดอกหญ้าพันงูขาว ออกดอกเป็นช่อตั้งตรงที่บริเวณปลายกิ่ง อาจยาวได้ถึง 50 เซนติเมตร แกนกลางของช่อเป็นเหลี่ยมเล็กน้อยและมีขนอยู่ทั่วไป ดอกออกเดี่ยว ๆ บนแกนของช่อ ใบประดับแห้งบางและติดทน ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายเรียวแหลม ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ใบประดับย่อยมี 2 อัน แนบติดกลีบรวม เรียวยาวคล้ายหนาม ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โคนมีเยื่อบาง ๆ ขนาดประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร กลีบรวมมี 4-5 อัน ขนาดเท่ากัน ลักษณะเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร เกลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 2-5 อัน แผ่นคล้ายเกสรเพศผู้ที่เป็นมันมี 5 อัน ด้านหลังเป็นแผ่นเกล็ดขอบชายเป็นครุย ยาวกว่าแผ่นคล้ายเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ส่วนรังไข่เป็นรูปไข่กลับ เกลี้ยง และสั้นกว่าก้านเกสรเพศเมีย มีออวุล 1 เม็ด ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะเป็นรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 2-3.5 มิลลิเมตร[1],[2],[3]

ดอกพันงูขาว

ดอกหญ้าพันงูขาว

  • ผลหญ้าพันงูขาว ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ผลมีขนาดเล็ก เป็นผลแบบกระเปาะ ปลายตัด เกลี้ยง เปลือกบาง ยาวได้ประมาณ 2.5-4 มิลลิเมตร ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาวและเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเมล็ดเป็นรูปทรงกระบอกเรียบ[1],[3]

ผลหญ้าพันงูขาว

สรรพคุณของหญ้าพันงูขาว

  1. ลำต้นสดนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงธาตุไฟ (ลำต้น,ทั้งต้น)[1],[2]
  2. ช่วยฟอกโลหิต (ทั้งต้น)[3]
  3. ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น (ราก[4], ทั้งต้น[6],[9])
  4. ช่วยทำให้นอนหลับ (ราก)[9]
  5. ช่วยลดความดันโลหิต (ทั้งต้น)[6],[9]
  6. ทั้งต้นมีรสขม เผ็ดเล็กน้อย เป็นยาเย็นจัด ออกฤทธิ์ต่อปอดและไต ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้อาการร้อนใน ช่วยขับเหงื่อ (ทั้งต้น)[3]
  7. ทั้งต้นนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ตรีโทษ (ทั้งต้น)[2]
  8. ตำรับยาแก้ไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย ให้ใช้หญ้าพันงูขาวประมาณ 30-45 กรัม นำมาต้มกับเนื้อสันในของหมูรับประทาน (ทั้งต้น)[3] ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้จับสั่นเช่นกัน (ราก)[4]
  9. ใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ลดไข้ ตัวร้อน แก้เจ็บคอ ให้ใช้หญ้าพันงูขาวนำมาต้มกับน้ำกินหรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น (ทั้งต้น)[3],[7],[9]
  10. ดอกใช้เป็นยาแก้และขับเสมหะ ช่วยแก้เสมหะที่คั่งค้างในทรวงอก แก้เสมหะในท้อง (ดอก)[1],[4],[9] ส่วนอีกตำรับให้ใช้รากพันงูขาว รากขัดน้อย พริก เหง้าขิง นำมาบดให้เป็นผงกินเป็นยาขับเสมหะ (ราก)[2]
  1. ตำรายาไทยจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มเอาน้ำกินแก้โรคในลำคอ (ทั้งต้น)[2] ใบมีสรรพคุณช่วยแก้โรคในลำคอ แก้คออักเสบเป็นเม็ดยอดในคอ โรคในลำคอเป็นเม็ดเป็นตุ่ม (ใบ)[4],[9]
  2. ผลมีสรรพคุณทำให้อาเจียน (ผล)[4] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าส่วนของใบมีสรรพคุณทำให้อาเจียน (ใบ)[9]
  3. ช่วยแก้สะอึก (ดอก)[4],[9]
  4. ใช้รักษาหูน้ำหนวก หรือหูชั้นกลางอักเสบ ด้วยการใช้รากสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำแล้วนำมาใช้หยอดหู (ราก)[6]
  5. ใช้รักษาคางทูม (ทั้งต้น)[3]
  6. ช่วยแก้คอตีบ ด้วยการใช้รากสด รากบ่วงหนี่แช นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำตาลทรายพอสมควร ใช้ชงกับน้ำอุ่นกิน (ราก[6],ทั้งต้น[3])
  7. ช่วยรักษาต่อมต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการใช้รากแห้ง รากจ้ำเครือแห้ง และพิมเสน นำมาบดให้เป็นผงละเอียดใช้เป่าคอ (ราก)[6]
  8. ในอินเดียจะใช้รักษาหญ้าพันงูขาวเป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หอบ หืด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  9. ช่วยรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ด้วยการใช้รากสด รากบ่วงหนี่แช นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำตาลทรายพอสมควร ใช้ชงกับน้ำอุ่นกิน (ราก)[6]
  10. ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับปอด ด้วยการใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำกิน (ลำต้น)[1] แก้ปอดบวม (ทั้งต้น)[7],[9]
  11. ช่วยแก้อาการท้องร่วง ด้วยการใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำกิน (ลำต้น)[1]
  12. ใช้เป็นยาแก้บิด ด้วยการใช้หญ้าพันงูขาว 50-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำชงกับน้ำผึ้งกิน (ทั้งต้น)[3] ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้บิดเช่นกัน ตำรับยาก็คือ ให้ใช้รากสด รากขี้ครอก ผักกาดน้ำ และแชกัว นำมาต้มน้ำผสมกับน้ำผึ้งกิน (ราก)[4],[6]
  13. ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง เจ็บท้องน้อย (ราก)[2] ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดท้อง (ทั้งต้น)[9]
  14. รากนำมาต้มกับน้ำกินแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นหน้าอก (ราก)[2]
  15. ช่วยในการย่อยอาหาร (ทั้งต้น)[4],[9]
  16. ใช้เป็นยาระบาย ด้วยการใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำกิน (ลำต้น,ทั้งต้น)[1],[9]
  17. ในบางตำราจะใช้หญ้าพันงูขาวนำมาตากแห้งต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้มะเร็งลำไส้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  18. ลำต้นสดนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา และแก้นิ่ว (ลำต้น,ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4] ดอกมีสรรพคุณช่วยละลายก้อนนิ่ว (ดอก)[4] ส่วนรากนำมาต้มเอาแต่น้ำกินจะเป็นยาแก้นิ่ว ขับปัสสาวะได้เช่นกัน (ราก)[1],[9]
  19. แก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ราก)[4],[6]
  20. ช่วยแก้โรคริดสีดวงทวาร (ลำต้น,ทั้งต้น)[1],[4]
  21. ช่วยรักษาโรคซิฟิลิส (ลำต้น)[1] รักษาหนองใน (ทั้งต้น)[7]
  22. ชาวเขาจะใช้ใบหรือทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำให้หญิงหลังคลอดกิน และยังช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนได้อีกด้วย (ใบ,ทั้งต้น)[2],[4]
  23. ต้นมีสรรพคุณช่วยขับประจำเดือน (ต้น)[4],[9] ช่วยแก้ประจำเดือนไม่มาตามปกติของสตรี (ราก)[4],[6]
  24. ในอินเดียจะใช้หญ้าพันงูเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของสตรี และใช้เป็นยาคุมกำเนิด รวมไปถึงใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
  25. ช่วยแก้ไตอักเสบ บวมน้ำ (ทั้งต้น)[3],[6],[7],[9] ช่วยแก้ท้องมาน บวมน้ำ (ราก)[4],[6],[8]
  26. รากมีสรรพคุณช่วยแก้โรคไตพิการ (ราก)[5]
  27. ช่วยรักษาโรคไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย (ราก)[6]
  28. ใบนำมาขยี้ใช้ทารักษาแผลสด และช่วยห้ามเลือด (ใบ)[8]
  29. ใบใช้พอกแก้อาการอักเสบ ทาแก้โรคผิวหนัง ถูกตะขาบกัด (ใบ)[8]
  30. ใช้รักษาแผลหนองบวมอักเสบ และฝี ด้วยการใช้ทั้งต้นสดนำมากับเหล้า เอาแต่น้ำมากิน ส่วนกากที่เหลือใช้เป็นยาบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[6]
  31. รากใช้ฝนกับน้ำทารักษาฝี (ราก)[2] หรือจะใช้ทั้งต้นนำมาตำพอกรักษาฝีก็ได้เช่นกัน (ทั้งต้น)[2]
  32. ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยแก้พิษฝี (ทั้งต้น)[2]
  33. ช่วยรักษาโรคเรื้อน (ทั้งต้น)[6]
  34. ช่วยแก้แมลงสัตว์กัดต่อย (ดอก)[4]
  35. ช่วยแก้อาการฟกช้ำอันเกิดจากการกระทบกระแทกหรือหกล้ม ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มผสมกับเหล้ากิน หรือจะใช้ทั้งต้นสด และผมคน 1 กระจุก นำมาต้มน้ำใช้ชะล้างบ่อย ๆ (ราก,ทั้งต้น)[3],[6]
  36. รากใช้ฝนกับน้ำทาแก้เล็บเป็นห้อเลือด (ราก)[2]
  37. น้ำคั้นจากทั้งต้นนำมาดื่มหรือใช้ตำพอกแก้อาการปวดกระดูกได้ (ทั้งต้น)[2]
  38. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย ไขข้ออักเสบ ปวดเมื่อยจากโรคไขข้ออักเสบ ปวดเอว ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกินหรืออาจต้มรวมกับสมุนไพรชนิดอื่นเพื่อเสริมฤทธิ์กันก็ได้ (ทั้งต้น)[3],[4],[8]
  39. รากมีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดข้อ โดยใช้รากสดหรือรากแห้ง นำมาต้มกับขาหมูกินกับเหล้าแดงและน้ำอย่างละเท่ากัน (ราก)[4],[6]
  40. ใช้ผสมเข้าตำรับยาแก้ปวดหลัง ด้วยการใช้รากพันงูขาวหรือรากพันงูน้อย รากพันงูแดง และรากเดือยหิน นำมาต้มกับน้ำกิน จะช่วยแก้อาการปวดหลังได้ (ราก)[2]
  41. หมอยาพื้นบ้านที่ปราจีนบุรีจะใช้หญ้าพันงูนำมาต้มเป็นยาบำรุงกำลังร่างกายของหญิงวัยหมดประจำเดือน (ทั้งต้น)[8]

หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [3],[6] ในส่วนของทั้งต้น หากใช้ภายในให้ใช้ต้นสดครั้งละ 35-60 กรัม ส่วนต้นแห้งให้ใช้เพียง 10-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ส่วนการใช้ภายนอกให้นำมาตำพอกหรือต้มเอาน้ำมาชะล้างบริเวณที่เป็น โดยกะปริมาณได้ตามความเหมาะสม[3],[6] การใช้รากเป็นยาตาม [6] หากไม่ได้ระบุวิธีใช้ไว้ให้ใช้รากสดประมาณ 30-60 กรัม ถ้าแห้งใช้เพียง 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน[6] ส่วนการใช้ตาม [9] ให้ใช้ต้นใบ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว ประมาณ 15 นาที ใช้ดื่มเช้าและเย็น[9] หญ้าพันงูขาวมักถูกนำมาใช้ร่วมกับหญ้าพันงูแดง หรือที่เรียกว่า “หญ้าพันงูทั้งสอง[2]

ข้อห้ามในการใช้สมุนไพรหญ้าพันงูขาว

  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าพันงูขาว

  • สารที่พบคือสารจำพวก Flavone เช่นสาร Oleanolic acid, Ecdysterone ส่วนในเมล็ดพบสาร Alkaloid 1%[3] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าสารสำคัญที่พบ ได้แก่ Saponin, Saponin C, D arginine, Betaine, Histidine, Lysine, Sitostrol, Steric acid, Stimasterol, Tryptophan[9]
  • สารสกัดจากทั้งต้นของหญ้าพันงูขาวสามารถลดไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดได้ และยังไม่พบพิษเฉียบพลัน[2]
  • สารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากทั้งต้นของหญ้าพันงูขาวมีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูใหญ่สีขาวทดลองได้[6]
  • น้ำสกัดและสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากรากหญ้าพันงูขาวมีผลในการลดความดันเลือดได้อย่างรวดเร็ว แต่ออกฤทธิ์สั้น และไม่มีผลต่อการหายใจ หากใช้ยานี้มากจะมีฤทธิ์ไปกดการหายใจเล็กน้อย และในรากจะมีสารอัลคาลอยด์ Achy rantine ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต กดหัวใจ และขายหลอดเลือด ช่วยเพิ่มจังหวะและความแรงของการหายใจของสุนัขที่ทำให้สลบ[6]
  • เมื่อปี ค.ศ.1992 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองโดยให้หนูกินหญ้าพันงูขาวเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ภายหลังการทดลองพบว่า หนูดังกล่าวมีน้ำหนักลดลงและมีค่าคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลดลง[9]
  • รากหญ้าพันงูขาวมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อที่ทำให้เกิดโรคคอตีบได้[3]
  • เมื่อนำสารสกัดที่ได้จากหญ้าพันงูขาว มาฉีดข้ากล้ามเนื้อของกระต่ายทดลอง พบว่าสามารถกระตุ้นหัวใจของกระต่ายให้เต้นแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะตอนที่หัวใจกำลังเต้นอ่อนลง จะเห็นผลได้อย่างชัดเจน[3]
  • เมื่อนำหญ้าพันงูขาวทั้งต้นมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์ พบว่ามีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กและมดลูกที่มีการหดเกร็งได้ด้วย[3]
  • ในเมล็ดหญ้าพันงูขาวมีสารจำพวก Saponins ที่มีฤทธิ์ทำให้หัวใจที่แยกออกจากตัวของหนูตะเภา กระต่าย และกบ บีบแรงขึ้น และยังมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อที่หัวนมหดตัวแรงขึ้น นอกจากนี้สารดังกล่าวยังมีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ และสามารถรักษาฤทธิ์ในการลดการขับปัสสาวะของ Adrenaline ในหนูใหญ่สีขาวได้ ส่วนผลในการขับปัสสาวะจะมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มการขับโซเดียมและโพแทสเซียมในการปัสสาวะ เช่นเดียวกับ Acetazolamide[6]
  • น้ำที่สกัดมีฤทธิ์ทำให้ลำไส้เล็กที่แยกจากตัวของกระต่ายเกิดการบีบตัวมากขึ้นและแงขึ้น น้ำที่สกัดในนาด 5 มิลลิลิตร เมื่อนำไปให้กระต่ายกิน จะเพิ่มการขับปัสสาวะมากขึ้น ส่วนเถ้าจากทั้งต้นหญ้าพันงูขาว จะมีปริมาณของโพแทสเซียมสูง และมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ[6]
  • นอกจากนี้หญ้าพันงูยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิตสูง ยับยั้งคอเลสเตอรอลสูงในเลือด ต้านมาลาเรีย ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อรา ต้านแบคทีเรีย  ต้านโรคเรื้อน ทำให้แท้ง มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ยับยั้งปริมาณของ Oxalate ในปัสสาวะสูงที่กว่าปกติ และยังมีรายการศึกษาในคนที่พบว่าหญ้าพันงูมีแนวโน้มที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหอบหืด[8],[9]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อให้หนูถีบจักร กับสารสกัดจากทั้งต้นหญ้าพันงูขาวด้วยเอทานอลและน้ำ (50%) พบว่าขนาดที่หนูทนได้สูงสุดก่อนการเกิดอาการพิษคือ 1.0 กรัมต่อกิโลกรัม[9]

ประโยชน์ของหญ้าพันงูขาว

  • ต้นหญ้าพันงูขาวสามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยได้ดี เนื่องจากมีธาตุโพแทสเซียมค่อนข้างสูง[5]
  • มีความเชื่อว่าหญ้าชนิดนี้สามารถรักษางูกัดได้ และหากเราพกรากติดตัวเอาไว้ก็จะช่วยป้องกันงูกัดได้[8]
  • หญ้าพันงูขาวเป็นสมุนไพรที่คนภาคเหนือของไทยนำมาใช้เป็นยาสีฟัน โดยเอารากพันงูขาวนำมาเผาให้เป็นด่าง (เป็นเถ้าสีดำ) แล้วนำยานั้นมาสีฟัน เชื่อว่าจะทำให้ฟันคงทน แต่หมอยาบางท่านว่าไม่ต้องเผาก็ได้ แต่ให้นำกิ่งหรือรากสีฟันได้เลย[8]
  • หมอเมืองขาวล้านนาโบราณมีความเชื่อว่าเมื่อเอาใบหรือรากของหญ้าพันงูขาวมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำนมวัวสด ใช้ทาสะดือของหญิงที่มีบุตรยาก เชื่อว่าจะทำให้มีบุตรง่ายขึ้น[8]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หญ้าพันงูขาว”.  หน้า 807-808.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “พันธุ์งูขาว”.  หน้า 30.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หญ้าพันงูขาว”.  หน้า 594.
  4. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “หญ้าพันงูขาว”.  (ไพร มัทธวรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [09 ก.ค. 2014].
  5. ไทยเกษตรศาสตร์.  “หญ้าพันงู”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com.  [09 ก.ค. 2014].
  6. สมุนไพรดอทคอม.  “พันงู”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com.  [09 ก.ค. 2014].
  7. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “พันงู”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [09 ก.ค. 2014].
  8. จำรัส เซ็นนิล.  “หญ้าโคยงู-พันงูขาว ราชาของยาขับปัสสาวะ”., “นิ่ว หญ้าพันงู ราชายาขับปัสสาวะ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net.  [09 ก.ค. 2014].
  9. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “หญ้าพันงูขาว”  หน้า 190.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Ayurvedam Today, Forest and Kim Starr, tamkw525, Bob Upcavage, naturgucker.de / enjoynature.net)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด