หญ้าปักกิ่ง สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าปักกิ่ง 30 ข้อ !

หญ้าปักกิ่ง สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าปักกิ่ง 30 ข้อ !

หญ้าปักกิ่ง

หญ้าปักกิ่ง ชื่อสามัญ Angel Grass[7]

หญ้าปักกิ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Murdannia loriformis (Hassk.) R.S.Rao & Kammathy[1], ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Murdannia bracteata (C.B.Clarke) J.K.Morton ex D.Y.Hong (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aneilema bracteatum (C.B.Clarke) Kuntze, Aneilema kuntzei C.B.Clarke ex Kuntze, Aneilema nudiflorum var. bracteatum C.B.Clarke, Murdannia bracteata (C.B. Clarke) Kuntze ex J.K. Morton)[5],[8] โดยจัดอยู่ในวงศ์ผักปลาบ (COMMELINACEAE)[1]

สมุนไพรหญ้าปักกิ่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าเทวดา (ทั่วไป), ต้นอายุยืน (คนเมือง), เล่งจือเช่า (จีน), งู้แอะเช่า หนิวเอ้อเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[2],[8]

ลักษณะของหญ้าปักกิ่ง

  • ต้นหญ้าปักกิ่ง มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ แถบสิบสองปันนา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก จำพวกหญ้าที่มีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีเหง้า แต่ไม่มีลำต้นหลักหรือมีแต่สั้นมาก รากหนา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขนอยู่หนาแน่น ลำต้นที่มีช่อดอกจะยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร เกิดจากใบกระจุก เลื้อยเกาะ ปล้องยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร และมีขนสั้นนุ่ม พืชชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินปนทรายและต้องการแสงแดดแบบรำไร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและการใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ลาว และเวียดนาม โดยมักขึ้นตามดินทรายริมลำธาร ส่วนในประเทศไทยสามารถพบหญ้าปักกิ่งได้ทางภาคเหนือ และพื้นที่อื่น ๆ บ้างประปราย[1],[2],[5]

หญ้าปักกิ่ง

ต้นหญ้าปักกิ่ง

  • ใบหญ้าปักกิ่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับเป็นชั้น และออกเป็นกระจุกใกล้ราก ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานคล้ายใบไผ่เขียว ขอบใบและกาบใบเป็นขนครุย แผ่นใบหนาเป็นสีเขียวอมเหลือง ผิวใบเรียบเกลี้ยงหรือมีขนละเอียดด้านล่าง ใบที่โคนต้นจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ส่วนใบส่วนบนจะสั้นกว่าใบที่โคนต้น[1],[2],[3],[5]

ใบหญ้าปักกิ่ง

  • ดอกหญ้าปักกิ่ง ออกดอกรวมกันเป็นช่อเล็ก ๆ โดยจะออกที่ปลายยอด มีประมาณ 1-5 ช่อ ออกรวมกันเป็นกระจุกแน่น (เป็นช่อแยกแขนงแน่น) ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีวงใบประดับคล้ายใบ แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ลักษณะของใบประดับค่อนข้างกลมซ้อนกัน เป็นสีเขียวอ่อนบางใสหรือโปร่งแสง มีขนาดประมาณ 4-7 มิลลิเมตร ติดทน เมื่อแห้งจะร่วง ก้านดอกสั้นโค้งเล็กน้อย ยาวได้ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมี 3 กลีบ เป็นสีน้ำเงิน สีฟ้า สีม่วงอ่อน สีม่วงน้ำเงิน หรือสีบานเย็น หลุดร่วงได้ง่าย ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับเกือบกลม ดอกมีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 2 อัน มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3-4 อัน ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมียยาวได้ประมาณ 3 มิลลิเมตร[1],[2],[3],[5]

ดอกหญ้าปักกิ่ง

ดอกหญ้าเทวดา

  • ผลหญ้าปักกิ่ง ที่ปลายต้นมีผล ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ผลเป็นแคปซูลรูปสามเหลี่ยมรี ๆ กว้าง ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร แตกออกเป็นช่อง 3 ช่อง ในแต่ละช่อจะมีเมล็ด 2 เมล็ด ผิวสีน้ำตาลอมเหลืองมีริ้วเป็นร่างแห[1],[2],[3],[5]

สรรพคุณของหญ้าปักกิ่ง

  1. ในประเทศไทยมีผู้นำหญ้าปักกิ่งมาใช้เพื่อรักษาอาการของโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งในลำคอ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia – ลูคีเมีย) เป็นต้น ด้วยการนำหญ้าปักกิ่ง 6 ต้น ที่ล้างน้ำสะอาดแล้ว นำมาปั่นหรือตำให้แหลก เติมน้ำ 4 ช้อนโต๊ะ แล้วคั้นเอาแต่น้ำแบ่งครึ่ง ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วโมงและช่วงก่อนนอนรวมเป็น 2 ครั้ง (ทั้งต้น)[1],[4],[9]
  2. ช่วยปรับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ด้วยการรับประทานยา (น้ำคั้นหญ้าปักกิ่ง) นี้ไม่เกิน 4-6 สัปดาห์ และควรมีช่วงหยุดยา โดยให้รับประทานยาติดต่อกัน 5-6 วัน แล้วให้หยุดยา 4-5 วัน ทำเช่นนี้จนครบกำหนด (ทั้งต้น)[6]
  3. ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น บำรุงพลัง และช่วยปรับสมดุลในร่างกาย ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ทั้งต้น)[9]
  4. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการนำหญ้าปักกิ่งที่ถอนสด ๆ รวมราก มาล้างให้สะอาด นำมาต้มกับน้ำ หลังเดือดแล้วให้เติมน้ำผึ้งพอประมาณ ใช้ดื่มวันละ 3 เวลา จะช่วยทำให้มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ (ทั้งต้น)[11]
  5. ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลด เมื่อใช้สมุนไพรหญ้าปักกิ่ง จะพบว่าเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (ทั้งต้น)[6]
  6. หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาเบาหวาน (ทั้งต้น)[5],[7]
  7. ช่วยป้องกันและบำบัดโรคความดันโลหิตสูงและต่ำ (ทั้งต้น)[9]
  8. ช่วยป้องกันและบำบัดโรคไทรอยด์ (ทั้งต้น)[9]
  9. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (ดอก)[12]
  10. หญ้าปักกิ่งทั้งต้นมีรสจืดชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด มีสรรพคุณช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้เด็กตัวร้อน เป็นไข้ แก้ร้อนในปอด (ทั้งต้น)[2]
  1. ตำรายาจีนจะใช้หญ้าปักกิ่งเป็นยารักษาและบรรเทาอาการของโรคในระบบทางเดินหายใจ (ทั้งต้น)[3],[5]
  2. ใช้เป็นยาแก้ไอ (ทั้งต้น)[2]
  3. หญ้าปักกิ่งมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการเจ็บคอ (ทั้งต้น)[1],[2]
  4. ใช้เป็นยาแก้ร้อนในปอด (ทั้งต้น)[2]
  5. ต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ (ต้น)[12]
  6. ใช้เป็นยาแก้บิด (ทั้งต้น)[2]
  7. ใช้รักษาโรคโกโนเรีย (หนองในแท้) ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกินกับน้ำผึ้ง (ทั้งต้น)[4]
  8. ใช้เป็นยาแก้ฝีภายในหรือภายนอกที่มีหนองบวมอักเสบ (ทั้งต้น)[2]
  9. ช่วยแก้ไตอักเสบ (ดอก)[12]
  10. สำหรับผู้ที่เป็นแผลเรื้อรัง การใช้สมุนไพรชนิดนี้ พบว่าจะทำให้ให้แผลแห้ง ไม่มีหนองและน้ำเหลือง (ทั้งต้น)[6]
  11. ใช้เป็นยาแก้อักเสบ ปวดบวม ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[4]
  12. ยาจีนจะใช้หญ้าปักกิ่งเป็นยาขับพิษ กำจัดพิษ ล้างพิษที่ตกค้างออกจากร่างกาย (ทั้งต้น)[3],[5],[9]
  13. ใช้ป้องกันสารพัดโรค ด้วยการรับประทานหญ้าปักกิ่งสด ๆ (ที่ล้างสะอาดแล้ว) หรือปรุงเป็นอาหารจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้ โดยให้รับประทานวันละ 14 วัน (ใบ)[11]
  14. มีการใช้หญ้าปักกิ่งเป็นส่วนประกอบในยาแผนโบราณของจีนมานานกว่า 1,000 ปีแล้ว โดยนำมาใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยเพิ่มความสมดุลของระบบในร่างกาย เพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวในร่างกาย (ทั้งต้น)[7]
  15. หญ้าปักกิ่งมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตและการพัฒนาของเซลล์เม็ดเลือดขาว ช่วยซ่อมแซมเซลล์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตับและม้าม (ทั้งต้น)[7]
  16. นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ระบุถึงสรรพคุณของหญ้าปักกิ่งไว้อีกหลายอย่าง เพียงแต่ข้อมูลดังกล่าวนั้นไม่มีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือได้ จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าหญ้าปักกิ่งจะมีสรรพคุณตามนั้นหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลได้ระบุสรรพคุณนอกจากที่ผมกล่าวมาแล้วว่า หญ้าปักกิ่งสามารถช่วยบำรุงหัวใจ รักษาโรคโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ แก้ไมเกรน ภูมิแพ้ ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น ทำให้น้ำเหลืองแห้ง และยังสามารถนำหญ้าปักกิ่งมาตำพอกรักษาแผลต่าง ๆ ได้อีกด้วย เช่น เริม งูสวัด แผลเบาหวาน เป็นต้น (ข้อมูลส่วนนี้ผมอ่านเจอจากเว็บไซต์ที่จำหน่ายสมุนไพรหญ้าปักกิ่งนะครับ)

หมายเหตุ : การเก็บมาใช้ให้ใช้ทั้งต้น (เฉพาะส่วนที่อยู่เหนือดิน คือ ลำต้นและใบ) ที่มีอายุประมาณ 3-4 เดือนขึ้นไป หรือตั้งแต่เริ่มออกดอก[6] ส่วนวิธีการใช้หญ้าปักกิ่งตาม [2] ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้เพียงครั้งละ 10-15 กรัม แต่ถ้าเป็นต้นสดให้ใช้ครั้งละ 20-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำรับประทาน[2]

วิธีใช้หญ้าปักกิ่ง

  • สูตรดั้งเดิม แต่เดิมการใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งตามตำรายาพื้นบ้าน การเตรียมน้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่ง จะใช้ใบหรือทั้งต้นหญ้าปักกิ่ง (เฉพาะส่วนที่อยู่เหนือดิน) ประมาณ 100-120 กรัม นำไปแช่กับน้ำด่างทับทิมประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดเพื่อทำความสะอาด หลังจากนั้นให้นำหญ้าปักกิ่งมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปคั้นเอาน้ำด้วยเครื่องปั่นแยกกาก นำน้ำคั้นที่ได้เทผ่านผ้าขาวบางและบีบคั้นเอาน้ำออกจากกาก ก็จะได้น้ำคั้นประมาณ 60 มิลลิเมตร ใช้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (ครั้งละ 30 มิลลิลิตร และเป็นขนาดที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 60 กิโลกรัม แต่หากเป็นเด็กให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง) โดยให้ดื่มติดต่อกัน 7 วัน และหยุด 4 วัน (เพื่อป้องกันการรับประทานเกินขนาด) ซึ่งการเตรียมน้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่งนี้สามารถเตรียมไว้ใช้ได้ประมาณ 2-3 วัน โดยการเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น แต่หลายท่านคงพบกับปัญหาว่าน้ำหญ้าปักกิ่งนั้นเหม็นเขียวและดื่มยาวเหลือเกิน เราก็สามารถแก้ไขด้วยการผสมน้ำผึ้งลงไป โดยใช้น้ำผึ้งนำมาละลายกับน้ำอุ่นเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ ผสมน้ำหญ้าปักกิ่งลงไปในแก้ว กะปริมาณความหวานให้พอเหมาะ ก็จะช่วยทำให้รับประทานได้ง่ายขึ้น[3]
  • สูตรตำคั้น ให้นำหญ้าปักกิ่งที่ล้างสะอาดแล้ว 3 ต้น นำมาตำให้ละเอียดในครกดินเผาหรือครกไม้ แล้วเติมน้ำต้มสุก 2 ช้อนโต๊ะ กรองผ่านด้วยผ้าขาวบาง ให้ผู้ใหญ่กินครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วโมงและก่อนเข้านอน ส่วนเด็กให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่งหรือกะตามความเหมาะสมการ[10]
  • สูตรการปั่น ให้ใช้หญ้าปักกิ่งสดทั้งต้นและรากที่ล้างสะอาดแล้ว ประมาณ 6-7 ต้น ใส่ลงในโถปั่นและใส่น้ำลงไปครึ่งแก้ว แล้วปั่นด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้ เสร็จแล้วกรองเอากากออกด้วยตะแกรง นำมาแบ่งดื่มวันละ 2 ครั้งตามที่กล่าวมา[10]
  • สูตรการทำเป็นยาลูกกลอน ให้ใช้หญ้าปักกิ่งสดทั้งต้นและรากที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาตากแดดให้แห้งสนิท (โดยหญ้าปักกิ่งสด 10 กิโลกรัม เมื่อนำมาตากแห้งจะเหลือน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม) แล้วนำหญ้าปักกิ่งแห้งไปบดให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1:1 และปั้นเป็นเม็ดลูกกลอน ใช้กินครั้งละ 6 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและช่วงก่อนเข้านอน[10]
  • สูตรการตุ๋น ให้ใช้หญ้าปักกิ่งสดทั้งต้นและรากที่ล้างสะอาดแล้ว 10 ต้น ใส่หม้อต้มเติมน้ำให้พอท่วมยา แล้วตุ๋นจนเปื่อยโดยใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง แล้วนำน้ำยาที่ได้มาดื่มต่างน้ำทุกวัน และควรตุ๋นวันต่อวัน (ไม่แน่ใจว่าการใช้วิธีนี้ สรรพคุณทางยาจะลดลงหรือไม่ แต่แนะนำให้ใช้วิธีแรกดีกว่าครับ)[10]
  • สูตรมยุรี ให้ใช้หญ้าปักกิ่งทั้งต้นรวมรากที่ล้างสะอาดแล้ว 1 กิโลกรัม และใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 3 ขวดแม่โขงกลม ใส่ลงในโถปั่น ปั่นด้วยเครื่องปั่น (Blender) จากนั้นคั้นเอาแต่น้ำโดยกรองเศษออกด้วยผ้าขาวบาสะอาด ก็จะได้น้ำที่มีสีเขียวเข้มและฟอง ให้นำมากรอกใส่ขวด ปิดฝาให้แน่น เก็บเข้าตู้เย็นใต้ช่องแช่แข็ง ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วโมงและช่วงก่อนนอน ถ้าผสมน้ำผึ้งด้วยก็จะทำให้ดื่มได้ง่ายขึ้น ส่วนกากที่เหลือจะนำมาต้มแล้วคั้นดื่มแทนน้ำได้ครับ[11]

ข้อควรระวังในการใช้หญ้าปักกิ่ง

  • หญ้าปักกิ่งมีฤทธิ์เป็นยาเย็น ไม่ควรนำมาใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป[2] หากรับประทานต่อเนื่องกันหลายปีโดยไม่หยุด อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ แขนขาชา กล้ามเนื้อลีบจนไม่อาจเดินได้ แต่เมื่อหยุดรับประทานอาการเหล่านี้จะหายไป[6]
  • หากใช้เกินขนาดที่กำหนดจะมีผลกดระบบภูมิคุ้มกัน[6]
  • ผลข้างเคียงของการรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ คือ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นประมาณ 0.5-1 องศาเซลเซียส[6]
  • ปฏิกิริยาหรือผลข้างเคียงในระยะ 7-10 วันแรก หลังจากการรับประทาน อาจทำให้มีอาการหงุดหงิด โมโหง่าย นอนไม่หลับ หรือเป็นไข้ อาจมีน้ำเลือดปนหนองออกทางอุจจาระ น้ำปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็นเหมือนน้ำล้างปลา เป็นต้น แต่ไม่ได้ความว่าจะเป็นแบบนี้ทุกคนหรือทุกอาหาร และเมื่อเป็น อาการทั้งหลายจะหายไปเอง ไม่ต้องตกใจ เพราะยากำลังออกฤทธิ์[6]
  • ใบของหญ้าปักกิ่งเมื่อสัมผัสผิวหนังจะทำให้เกิดอาการแพ้ มีอาการคันได้ เนื่องจากภายในใบมีผลึกของแคลเซียมออกซาเลตรูปเข้มจำนวนมากและมีเกลืออนินทรีย์ของโซเดียมและโพแทสเซียมอยู่ประมาณ 0.1%[7]

คำแนะในการใช้หญ้าปักกิ่ง

  • หญ้าปักกิ่งจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีอายุที่เหมาะสม หมายความว่า หากเป็นหญ้าที่ปลูกด้วยวิธีการชำกิ่ง จะต้องมีอายุ 3 เดือนขึ้นไป แต่ถ้าปลูกด้วยวิธีการเพาะเมล็ดต้นหญ้าปักกิ่งจะต้องมีอายุมากกว่า 5 เดือนขึ้นไป จึงจะเก็บมาใช้เป็นยาได้ เพราะหญ้าปักกิ่งที่มีอายุไม่ครบเวลาดังกล่าว สาร G1b จะยังไม่มีการสร้างในต้นที่มีอายุยังไม่ครบ ดังนั้นการเก็บมาใช้หรือการซื้อมาจากแหล่งอื่น คุณจะต้องมั่นใจว่าหญ้าปักกิ่งต้นนั้น ๆ มีอายุครบตามเกณฑ์กำหนดแล้ว มิฉะนั้นจะได้หญ้าที่ไม่มีคุณสมบัติรักษาโรคตามต้องการ[6]
  • เนื่องจากหญ้าปักกิ่งจะมีลักษณะรูปร่างคล้ายกับหญ้าหลายชนิด (เช่น หญ้ามาเลเซีย) ซึ่งหญ้าเหล่านั้นจะไม่มีสรรพคุณเหมือนหญ้าปักกิ่ง เพราะเคยมีผู้บริโภคไปซื้อตามท้องตลาดมาแล้ว แต่เมื่อนำไปตรวจสอบกลับไม่ใช่หญ้าปักกิ่ง ดังนั้นก่อนซื้อมาบริโภค คุณต้องมั่นใจก่อนว่าเป็นหญ้าปักกิ่งของจริง[6]
  • สาเหตุที่ต้องนำหญ้าปักกิ่งมาล้างให้สะอาดก่อนนำไปทำยา ก็เพราะว่าหญ้าปักกิ่งเป็นสมุนไพรคลุมดิน ต้นหญ้าจึงมีเชื้อจุลินทรีย์ในดินปนเปื้อนมา การนำมาใช้จึงต้องมั่นใจว่าล้างสะอาดแล้ว (อ่าน 16 วิธีการล้างผักผลไม้ให้สะอาดปลอดภัย) จนปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ ถ้าหากล้างไม่สะอาด การนำมาดื่มคั้นสด ก็จะเป็นการดื่มเชื้อจุลินทรีย์ในดินเข้าไปด้วย ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่มีภูมิต้านทานต่อยู่แล้ว อาจเป็นอันตรายมากกว่าคนปกติ[6]
  • การนำมาใช้เป็นยาไม่ควรนำมาต้มหรือเคี่ยว เพราะจะทำลายสรรพคุณทางยาลงมาก จึงแนะนำให้ใช้วิธีการคั้นสดแทนจะดีที่สุด
  • ในขณะรับประทานยานี้ ควรงดของแสลงต่าง ๆ เช่น ฟัก แตงกวา ผักกาดขาว ผักบุ้ง หน่อไม้ หัวไชเท้า รวมถึงอาหารที่ถือว่าเป็นของเย็น เพราะจะมีผลทำให้ฤทธิ์การรักษาโรคของหญ้าปักกิ่งลดลง[9],[11]
  • เนื่องจากหญ้าปักกิ่งเป็นยาเย็น บางคนรับประทานเข้าไปแล้วอาจเกิดอาการมือเท้าเย็นได้ ก็แนะนำให้กินคู่กับขิงที่มีร้อนเพื่อช่วยปรับสมดุล[10]
  • แต่อย่างไรก็ตาม การใช้หญ้าปักกิ่งในผู้ป่วยมะเร็งควรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยและความมีประสิทธิภาพในการรักษาอย่างสูงสุด[10]

หญ้าเทวดา

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าปักกิ่ง

  • น้ำคั้นสดจากหญ้าปักกิ่ง มีสาร Glycosphingolipid (G1b) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า 1B-O-D-glucopyranosy1-2-(2′-hydroy-6′-ene-cosamide)-sphingosine (G1b)[6]
  • หญ้าปักกิ่งเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา (หนังสืออ้างอิงเล่มนี้พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2535)[1]
  • ข้อมูลของ In vitro อ้างว่า พบสาร Cytoxic ซึ่งเป็นสารรักษามะเร็ง แต่ยังไม่มีการยืนยันอย่างชัดเจน (หนังสืออ้างอิงเล่มนี้พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2554)[2]
  • ในประเทศไทยผู้ป่วยมะเร็งจะดื่มน้ำคั้นจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นหญ้าปักกิ่งรักษาตนเอง เพื่อช่วยยืดชีวิตและลดผลข้างเคียงของการใช้ยาแผนปัจจุบันมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยพบว่าสารที่แสดงฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในหญ้าปักกิ่ง คือ ไกลโคสฟิงโกไลพิดส์ (Glycosphingolipid) ที่มีชื่อว่า G1b ซึ่งเป็นกลุ่มไขมันที่มีขั้วเป็นองค์ประกอบของเซลล์ผิว เป็นสารที่มีหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน จึงคาดว่า นอกจากจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งโดยตรงต่อเซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับ ในระดับปานกลางในหลอดทดลองแล้ว สารชนิดนี้อาจมีฤทธิ์ปรับระบบภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย ซึ่งจากการทดลองเบื้องต้นพบว่าสาร G1b สามารถเพิ่มอัตราส่วนของ CD3, CD4 และ CD3, CD8 ที่ผิวของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพาะเลี้ยงในวันที่ 3-7 (ข้อมูลนี้ถูกเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2556)[3]
  • สารสกัดจากหญ้าปักกิ่งมีผลลดความรุนแรงของการแพร่ของมะเร็งในหนูทดลอง จึงคาดว่าหญ้าปักกิ่งอาจใช้ป้องกันการเกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้หญ้าปักกิ่งยังมีฤทธิ์ต้านการกลายพันธุ์ของยีนที่เกิดจากสารก่อกลายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น AFB1 และสารสกัดหญ้าปักกิ่งยังมีฤทธิ์เหนี่ยวนำเอนไซม์ DT-diaphorase ซึ่งมีบทบาททำลายสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็ง[6]
  • หญ้าปักกิ่งไม่แสดงความเป็นพิษเฉียบพลันละพิษกึ่งเรื้อรังในหนูขาวทดลอง[1] และจากการทดลองโดยให้รับประทานเป็นเวลานาน 3 เดือน ก็ไม่พบผลผิดปกติต่อการเจริญเติบโตและผลต่ออวัยวะต่าง ๆ แต่อย่างใด[2] น้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่งไม่ทำให้เกิดความผิดปกติในด้านการเจริญเติบโตเคมีเลือดและพยาธิสภาพของอวัยวะสำคัญของหนูขาวทดลอง โดยมีค่า LD50 เมื่อให้โดยการป้อนให้หนูขาวมากกว่า 120 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ซึ่งเทียบเท่ากับ 300 เท่าของขนาดที่ใช้รักษาในคน จึงจัดว่าเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก[6]

ประโยชน์ของหญ้าปักกิ่ง

  • คนเมืองจะใช้ใบของหญ้าปักกิ่งนำมารับประทานร่วมกับลาบเพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและต้านอนุมูลอิสระ (ใบ)[8],[10]
  • ในด้านประโยชน์ทางการแพทย์ จะใช้เป็นยาร่วมในการรักษามะเร็ง ยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งและการกลับมาเป็นอีก รวมทั้งใช้ปรับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และสามารถช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาแผนปัจจุบันได้ เช่น ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี เคมีบำบัด ที่ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปากแห้ง เป็นแผลในปาก ผมร่วง อ่อนเพลีย ท้องเสีย ท้องผูก ปวดข้อและกล้ามเนื้อ เป็นต้น ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะช่วยลดความทุกข์ทรมาน ส่วนบางรายมีอายุยืนยาวมากขึ้น[6],[7],[10]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดยอาจปลูกเป็นพืชคลุมดินใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือปลูกในกระบะหรือกระถางก็ได้ หญ้าปักกิ่งเป็นพืชที่ปลูกง่ายและไม่จำเป็นต้องมีเนื้อที่มาก[5],[7]
  • ปัจจุบันสถาบันวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรมได้นำหญ้าปักกิ่งมาพัฒนาเป็นยาเม็ด (ส่วนประกอบทุกอย่างเป็นสารที่มาจากธรรมชาติ) ออกจำหน่าย ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยได้หาซื้อมารับประทานได้โดยง่าย และได้รับคุณค่าจากหญ้าปักกิ่งตามต้องการอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากยาเม็ดที่ได้จะผ่านกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อประกันคุณภาพของยา (ยา 2 เม็ด มีคุณค่าเทียบเท่ากับต้นหญ้าปักกิ่ง 3 ต้น) โดยให้รับประทานก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วและก่อนเข้านอนครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ป่วย หมายความว่าถ้าผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 40 กิโลกรัมขึ้นไปให้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง แต่ถ้าเป็นเด็กอายุ 6-12 ขวบ หรือผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 40 กิโลกรัม ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 20 กิโลกรัม การนำไปใช้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ครับ ส่วนรับประทานเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น ให้รับประทานยานี้เป็นรอบโดยรับประทาน 7 วัน แล้วหยุด 4 วันสลับกันไป นับเป็น 1 รอบ แล้วเริ่มประทานรอบใหม่ต่อไป ส่วนระยะเวลาการรับประทานก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการรักษา ถ้าใช้ลดผลข้างเคียงจากรังสีบำบัดหรือเคมีบำบัดของผู้ป่วยมะเร็ง ก็ให้รับประทานควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบันครับ ถ้าใช้ป้องกันการแพร่กระจายและการกลับมาเป็นซ้ำของผู้ป่วยมะเร็งหลังจากได้รับการรักษาแล้ว ก็ให้รับประทานติดต่อกันประมาณ 1 ปี และตรวจมะเร็งปีละ 2 ครั้ง แต่ถ้าใช้ในกรณีเพิ่มเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายกับผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ติดเชื้อไวรัส) ก็ให้รับประทานติดต่อกันไม่เกิน 6-8 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ใดก็ต้องใช้สูตรเดิมครับ คือ รับประทาน 7 วัน หยุด 4 วันสลับกันไปเรื่อย ๆ ตามกำหนด[6]

หญ้าปักกิ่งหาซื้อได้ที่ไหน

ปัจจุบันหญ้าปักกิ่งมีจะหน่ายทั้งในรูปแบบ หญ้าปักกิ่งแคปซูล หญ้าปักกิ่งอัดเม็ด หญ้าปักกิ่งผงสำหรับชงกับน้ำดื่ม แบบเป็นหญ้าสด หรือแบบเป็นน้ำหญ้าสด หรือแบบแบ่งขายเป็นกิโล ๆ ก็มีครับ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ที่ตามห้างทั่วไป เดอะมอลล์ บิ๊กซี โลตัส ท๊อปส์ ฟู๊ดแลนด์ แม็กซ์แวลู ฯลฯ หรือตามร้านขายยาสมุนไพร หรือร้านขายยาทั่วไป (แบบสำเร็จรูป) ส่วนที่อื่น ๆ ก็เช่น เยาวราช วัดมังกร จตุจักร โรงพยาบาลภูเบศร ฯลฯ หรือตามเว็บไซต์ก็มีจำหน่ายเยอะแยะเลยครับ เลือกร้านที่ไว้ใจได้หน่อยนะครับ ถ้าไม่สะดวกออกไปหาซื้อ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หญ้าปักกิ่ง”.  หน้า 146.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หญ้าปักกิ่ง”.  หน้า 590.
  3. ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  (รองศาสตราจารย์ ดร. วีณา จิรัจฉริยากูล).  “หญ้าปักกิ่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [08 ก.ค. 2014].
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “หญ้าปักกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [08 ก.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “หญ้าปักกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [08 ก.ค. 2014].
  6. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “หญ้าเทวดา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: drug.pharmacy.psu.ac.th.  [08 ก.ค. 2014].
  7. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  (ภญ.ดร.จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล).  “หญ้าปักกิ่งเป็นหญ้าเทวดาดั่งชื่อจริงหรือ?”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: pcog.pharmacy.psu.ac.th.  [08 ก.ค. 2014].
  8. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “หญ้าปักกิ่ง”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [08 ก.ค. 2014].
  9. มุมสมุนไพร, ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดลำพูน.  “หญ้าปักกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.haec05.doae.go.th.  [08 ก.ค. 2014].
  10. กระปุกดอทคอม.  “ฟ้าทะลายโจร ยอ หญ้าปักกิ่ง สมุนไพรต้านอนุมูลอิสระ”.  อ้างอิงใน: เว็บไซต์หมอชาวบ้าน.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: health.kapook.com.  [08 ก.ค. 2014].
  11. สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย.  “หญ้าปักกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: tgcsthai.com.  [08 ก.ค. 2014].
  12. ฐานข้อมูลสมุนไพร จ.อุตรดิตถ์.  “หญ้าปักกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: industrial.uru.ac.th.  [08 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, Tony Rodd (ต้น), 10000hrs, Ahmad Fuad Morad, Hai Le, 阿橋)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด