8 สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าตองกง ! (ต้นก๋ง, หญ้าไม้กวาด)

8 สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าตองกง ! (ต้นก๋ง, หญ้าไม้กวาด)

ตองกง

ตองกง หรือ หญ้าตองกง ชื่อสามัญ Bamboo grass, Tiger grass

ตองกง ชื่อวิทยาศาสตร์ Thysanolaena latifolia (Roxb. ex Hornem.) Honda (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Agrostis maxima Roxb., Thysanolaena maxima (Roxb.) Kuntze, Melica latifolia Roxb. ex Hornem.) จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)[1],[2],[3],[4]

สมุนไพรตองกง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าไม้กวาด หญ้ายูง (ยะลา), หญ้ากาบไผ่ใหญ่ (เลย), เลาแล้ง (สุโขทัย), ก๋ง ต้นก๋ง (คนเมือง, ภาคเหนือ), ตองกง (ไทใหญ่), เค่ยแม (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), เควยะหล่า (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), มิ้วฮูเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ต้าวฉึเจ๋ (ม้ง), น่ำหยาว (เมี่ยน), ลำก๋ง ลำกร่อล (ลั้วะ), ตาร์ล (ขมุ), บ่งบิ๊ (ปะหล่อง) เป็นต้น[1],[2],[3],[4]

ลักษณะของตองกง

  • ต้นตองกง จัดเป็นไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า มีอายุหลายปี ลำต้นกลม มีลักษณะคล้ายต้นไผ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 7.6-17.6 มิลลิเมตร ลำต้นตั้งมีกอที่แข็งแรงมาก มีความสูงของต้นประมาณ 3-4 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและส่วนของลำต้นหรือเหง้าที่อยู่ใต้ดิน[1],[2],[3] มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง โดยสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศอินเดีย จีน หม่า รวมไปถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยขึ้นเป็นวัชพืชตามที่โล่งสองข้างทาง ตามไหล่เขา และตามชายป่า ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 1,800 เมตร[2],[4]

ต้นก๋ง

ต้นตองกง

หญ้าตองกง

  • ใบตองกง ใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ขนาดใหญ่ ค่อนข้างกว้าง โดยมีความกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-55 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบป้าน ส่วนขอบใบเป็นจักละเอียด เนื้อใบค่อนข้างหนา ส่วนกาบใบเกลี้ยง ยกเว้นบริเวณขอบตอนบนจะมีขนสั้น ๆ ส่วนกาบใบตอนปลายจะเป็นก้านสั้น ๆ ซึ่งเป็นสีแดงเข้ม มีลิ้นใบที่ระหว่างรอยต่อด้านในของกาบใบและแผ่นใบเป็นเยื่อบาง ๆ มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร และปลายตัด[1],[2],[3]

ใบตองกง

  • ดอกตองกง ออกดอกเป็นช่อแบบกระจายและมีขนาดใหญ่ ปลายช่อดอกโค้งลง มีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยมีก้านและมักอยู่เป็นคู่ ๆ ส่วนกาบช่อย่อยมี 2 อันลักษณะคล้ายกัน เป็นรูปไข่ โดยอันบนจะยาวและบางกว่าอันล่าง และในแต่ละช่อย่อยจะมีดอกย่อยอยู่ 2 ดอก และอาจมีถึง 3 ดอก แต่จะพบได้น้อยมาก ดอกล่างเป็นแบบไม่มีเพศ มีแต่กาบล่างและมีขนใกล้ ๆ ขอบ ส่วนดอกบนเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กาบล่างมีสันตามยาว 3 สัน ขอบทั้ง 2 ด้านบางใสและมีขนค่อนข้างแข็ง ส่วนกาบบนมีเส้นสันตามยาว 2 เส้น เนื้อบางและใส เกสรตัวผู้มี 2 อัน ส่วนเกสรตัวเมียปลายจะแยกเป็น 2 แฉก และเป็นขุย สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2],[3]

ดอกตองกง

หญ้าไม้กวาด

  • ผลตองกง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผลเป็นสีน้ำตาลแดง มีความยาวประมาณ 0.6 มิลลิเมตร[1],[2]

สรรพคุณของตองกง

  • รากตองกงนำมาต้ม ใช้อมกลั้วคอเมื่อมีไข้ (ราก)[1],[2]
  • ใบตองกงนำมาใช้กวาดแก้อาการไอของเด็กและผู้ใหญ่ (ใบ)[5]

ประโยชน์ของตองกง

  1. นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องจักสารและเครื่องมือใช้สอยต่าง ๆ ได้ (เข้าใจว่าคือก้านช่อดอก)[2]
  2. ใช้ทำเป็น “ไม้กวาดตองกง” โดยใช้ก้านช่อดอกนำมาตากแห้งนำมามัดกับด้ามไม้ไผ่ใช้ทำเป็นไม้กวาด ส่วนดอกนำมาถักยึดกับด้ามไม้ใช้ทำเป็นไม้กวาด[1],[2],[3],[4]
  3. ใบสามารถนำมาใช้ห่อขนม ห่อข้าวต้ม ห่อข้าวเหนียวนึ่งได้[1],[4]
  4. ใบนอกจากจะใช้ห่อขนมแล้ว ยังนำมาใช้ในงานพิธีสำคัญต่าง ๆ อีกด้วย เช่น พิธีการผูกข้อมือ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)[1],[2]
  5. ในต่างประเทศอย่างอเมริกา แอฟริกา และทางยุโรป พบปลูกเป็นหญ้าประดับและนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ[2],[4]
  6. ใบและยอดอ่อนใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์ตามธรรมชาติ โดยการแทะเล็มของโค กระบือ ช้าง และสัตว์ป่าอื่น ๆ โดยใบและยอดอ่อนนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้ เส้นใย 15.9%, ไขมัน 2.7%, เถ้า 5.6%, โปรตีน 10.9%, ธาตุแคลเซียม 0.1%, ธาตุฟอสฟอรัส 0.38% และแทนนิน 1.01%[3],[4]

ไม้กวาดตองกง

เอกสารอ้างอิง
  1. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “Bamboo grass“.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต), หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [31 ธ.ค. 2013].
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ตองกง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th.  [31 ธ.ค. 2013].
  3. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์.  “หญ้าตองกง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dld.go.th/nutrition/.  [31 ธ.ค. 2013].
  4. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “ตองกง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th.  [31 ธ.ค. 2013].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “Thysanolaena maxima Kuntze“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [31 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, Kunga Gyatso Bhutia, Subho – History & Heritage, Life & Landscape, Tony Rodd, mingiweng, kasajusaroj), www.gardenandfruituttaradit.blogspot.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด