หญ้างวงช้าง
หญ้างวงช้าง ชื่อสามัญ Alacransillo, Eye bright, Indian Heliotrope, Indian Turnsole, Turnsole[6]
หญ้างวงช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Heliotropium indicum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Heliophytum indicum (L.) DC., Tiaridium indicum (L.) Lehm.) จัดอยู่ในวงศ์หญ้างวงช้าง (BORAGINACEAE)[1],[2],[3]
สมุนไพรหญ้างวงช้าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักแพวขาว (กาญจนบุรี), หวายงวงช้าง (ศรีราชา), หญ้างวงช้างน้อย (ภาคเหนือ), หญ้างวงช้าง (ไทย), กุนอกาโม (มลายู-ปัตตานี), ชื้อเจาะ(ม้ง), ไต่บ๋วยเอี้ยว เฉี่ยผี่เช่า (จีนแต้จิ๋ว), เงียวบ๋วยเช่า ต้าเหว่ยเอี๋ยว เซี่ยงปี๊่เฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5]
ลักษณะของหญ้างวงช้าง
- ต้นหญ้างวงช้าง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุเพียงฤดูกาลเดียว เกิดในช่วงฤดูฝน ถึงหน้าแล้งก็ตาย มีความสูงของต้นประมาณ 15-60 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก มีขนหยาบปกคลุมตลอดทั้งต้น ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มักได้ทั่วไปในที่ที่มีความชื้น เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท มักพบได้ตามพื้นที่ชื้นแฉะ เช่น ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง ทางน้ำ ท้องนา แหล่งน้ำต่าง ๆ หรือตามที่รกร้างตามวัดวาอารามทั่วไป และมีบ้างที่ปลูกไว้เก็บมาขายเป็นยาสดตามสวนยาจีนต่าง ๆ[1],[3],[4]
- ใบหญ้างวงช้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหรือออกเกือบตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปกลมรี หรือป้อม ปลายใบแหลมสั้น กลางใบกว้างออก โคนใบมนรีหรือเรียวต่อลงมาถึงก้านใบ ส่วนขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อยหรือเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบหยาบ มีรอยย่น และขรุขระ หลังใบและท้องใบมีขนเล็กน้อย มีก้านใบยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร[1],[2],[4]
- ดอกหญ้างวงช้าง ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่บริเวณปลายยอด ปลายช่อมักม้วนลงดูเหมือนงวงช้างหรือหางแมงป่อง ช่อดอกยาวประมาณ 3-20 เซนติเมตร ดอกจะออกดอกทางด้านบนด้านเดียวและเรียงกันเป็นแถว ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีฟ้าอ่อนหรือสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบแยกออกจากกัน ด้านนอกมีขนนุ่ม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน มีขนสีขาว ภายในหลอดดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน ติดอยู่กับฐานดอก รังไข่เป็นรูปจานแบน ๆ[1],[2],[3]
- ผลหญ้างวงช้าง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผลเป็นคู่ มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ผลเกิดจากการที่รังไข่ 2 อันรวมตัวติดกัน เปลือกผลแข็ง ข้างในแบ่งออกเป็นช่อง 2 ช่อง มีเมล็ดอยู่ตามช่อง ช่องละ 1 เมล็ด[1],[2],[4]
สรรพคุณของหญ้างวงช้าง
- น้ำจากใบหญ้างวงช้างมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (น้ำจากใบ)[1]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้โรคชักในเด็ก (ทั้งต้น)[1],[3]
- ช่วยแก้เด็กตกใจในเวลากลางคืนบ่อย ๆ (ทั้งต้น)[4]
- ใบสดนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาหยอดหู (ใบ)[1],[3]
- น้ำจากใบใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาฟาง ส่วนทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ตาฟางเช่นกัน (น้ำจากใบ,ทั้งต้น)[1],[3],[4]
- รากสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้หยอดตาแก้ตาอักเสบ ตาเจ็บ ตาฟาง ตามัว (ราก)[1],[3]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยแก้โรคลักปิดลักเปิด หรือโรคเลือดออกตามไรฟัน (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้อาการปากเปื่อย ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำใช้บ้วนปากและกลั้วคอวันละ 4-6 ครั้ง (ทั้งต้น)[1],[2],[4]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกินเป็นยา (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาเย็น ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ดับร้อนใน (น้ำจากใบ,ทั้งต้น)[1],[4]
- ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาแก้อาการไอ ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกิน (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
- น้ำจากใบใช้ทำเป็นยาอมกลั้วคอจะช่วยแก้อาการเจ็บคอได้ (น้ำจากใบ)[1],[2],[3]
- ช่วยแก้หอบหืด ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกิน (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
- ช่วยแก้ปอดอักเสบ แก้ฝีในปอด มีฝีมีหนองในช่องหุ้มปอด ด้วยการใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาต้มผสมกับน้ำผึ้งรับกิน หรือจะใช้ทั้งต้นสดประมาณ 60-120 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้งกินก็ได้ (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4]
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ต้น)[4]
- ใช้แก้อาการปวดท้องอันเกิดจากอาหารเป็นพิษ ด้วยการใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มผสมกับหญ้าปันยอด (ชั้วจ้างหม่อ) และต้นว่านน้ำ (แป๊ะอะ) (ต้น)[5]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด (ทั้งต้น)[2]
- ในประเทศอินจะใช้หญ้างวงช้างเป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) และเฉพาะส่วนของเมล็ดจะใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บปวดของกระเพาะอาหาร (เมล็ด)[9]
- ช่วยขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกินเป็นยา (ทั้งต้น)[1],[2],[4]
- ดอกและรากใช้น้อยมีสรรพคุณเป็นยาขับระดู แต่หากใช้มากอาจทำให้แท้งบุตรได้ ด้วยการใช้ดอกสดนำมาต้มกิน (ราก,ดอก)[1],[3]
- ใช้แก้หนองในช่องคลอด (ทั้งต้น)[1]
- ใบใช้เป็นยาพอกรักษาแผล (ใบ)[1],[3]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาลดบวม ช่วยแก้แผลบวมมีหนอง ช่วยลดอาการปวดบวมฝีหนอง (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4]
- ใบใช้เป็นยาพอกฝี รักษาโรคผิวหนัง (ใบ)[1],[3] ส่วนในประเทศอินเดียนอกจากจะใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังแล้วยังใช้แก้กลากเกลื้อน ไฟลามทุ่ง และแมลงสัตว์กัดต่อยด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9] ช่วยแก้แผลฝีเม็ดเล็ก ๆ มีหนอง ด้วยการใช้รากสดประมาณ 60 กรัม ผสมกับเกลือเล็กน้อย นำมาต้มกับน้ำกิน และให้นำใบสดมาตำกับข้าวเย็น (ไม่ได้ระบุว่าข้าวเย็นเหนือหรือข้าวเย็นใต้) ใช้พอกแผลด้วย (ราก,ใบ)[4]
- ใช้รักษาอาการฟกช้ำ (ประเทศอินเดีย-ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
- ในบางตำราจะใช้ทั้งต้นหญ้างวงช้าง ผสมกับใบและดอกชุมเห็ดไทย และใบและดอกผักเสี้ยนผี ใช้เป็นยาพอกแก้ปวดตามข้อ เช่น ข้อเข่า หัวใหญ่ โดยในขณะที่พอกให้พันด้วยผ้าไว้จนรู้สึกร้อนบริเวณที่พอก จากนั้นให้เปิดผ้าออกและเปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง แล้วจึงทาด้วยน้ำมันมะพร้าวตาม (ทั้งต้น)[9] ส่วนในประเทศอินเดียจะใช้เป็นยารักษาไขข้ออักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
- นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ระบุถึงสรรพคุณของหญ้างวงช้างไว้อีกหลายอย่าง เพียงแต่ข้อมูลดังกล่าวนั้นไม่มีแหล่งที่ที่น่าเชื่อถือได้ จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าหญ้างวงช้างมีสรรพคุณตามที่นั้นหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลได้ระบุสรรพคุณนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วว่า ต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษตานซาง แก้หนองใน และที่ไม่ระบุส่วนที่ใช้ก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย รักษาเริม งูสวัด ขยุ้มตีนหมา เป็นต้น ส่วนฤทธิ์ทางเภสัชระบุไว้ว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านเชื้อรา ไล่แมลง คุมกำเนิด เร่งการสมานแผล ฯลฯ เป็นต้น (docs.google.com)
หมายเหตุ : การเก็บสมุนไพรชนิดนี้มาใช้ ให้เก็บทั้งต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่และมีดอก นำมาล้างให้สะอาด จะใช้เป็นยาสดหรือนำมาตากแห้งเก็บเอาไว้ใช้ก็ได้[4] ส่วนวิธีใช้ตาม [2] และ [4] ให้ใช้ต้นสดครั้งละ 30-60 กรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน (แต่ถ้าเป็นต้นแห้งให้ใช้เพียงครั้งละ 10-20 กรัม) ถ้าใช้ภายนอกให้นำมาต้มเอาน้ำชะล้าง หรือคั้นเอาแต่น้ำใช้อมบ้วนปาก[2],[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้างวงช้าง
- ทั้งต้นพบว่ามีสาร Acetyl indicine, Indicine, Indicinine เป็นต้น[2] และยังพบสารสำคัญอีกหลายชนิด เช่น Alkaloid, Tumorigenic, Pyrrolizidine ซึ่งสารเหล่านี้มีความเป็นพิษต่อร่างกาย หากนำมาใช้ควรใช้อย่างระมัดระวัง[9]
- เมื่อนำรากของหญ้างวงช้างมาต้มให้เข้มข้น แล้วนำมาฉีดเข้าเส้นเลือดของแมวที่สลบ พบว่าความดันโลหิตของแมวลดลง และกระตุ้นการหายใจได้แรงขึ้น แต่มีผลลดการเต้นของหัวใจของคางคกที่แยกออกจากตัว ซึ่งส่วนที่สกัดจากแอลกอฮอล์ไม่มีผลอันนี้ และส่วนที่สกัดด้วยน้ำจะไม่มีผลเด่นชัดต่อกล้ามเนื้อลำไส้เล็กของหนูที่แยกออกจากตัว แต่ต่อลำไส้เล็กของกระต่ายทดลองที่แยกจากตัว มีผลทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัวลงได้มาก ส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์นั้นมีผลลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่ลำไส้เล็กของกระต่ายเท่านั้น ส่วนที่สกัดทั้งสองไม่มีผลต่อกล้ามเนื้อเรียบที่ท้องของคางคก แต่จะมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูใหญ่ที่แยกออกจากตัว ทั้งส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์และน้ำมีสารที่ทำให้มดลูกบีบตัวได้ ส่วนที่สกัดจากใบหญ้างวงช้างจะมีผลต่อโรคของเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งของหนูเล็ก และสามารถต่อต้านเนื้องอกได้ในระยะหนึ่ง โดยยืดอายุของหนูออกไปได้ ส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ไม่เห็นพิษเด่นชัดนัก (ใช้ยาฉีดในขนาดเข้มข้น 1:1 เข้าทางช่องท้องของหนูเล็กในขนาด 0.8 มิลลิกรัม ก็ไม่ทำให้หนูทดลองตาย) ส่วนที่สกัดด้วยน้ำที่มีมีพิษต่อหนูเล็กเล็กน้อย[2],[4]
- สารจากหญ้างวงช้างที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูทดลอง ทำให้มีกาบิดตัวของมดลูกแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต่อต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Schwartz) ได้ในระยะหนึ่ง โดยทำให้คนไข้ยืดต่อเวลาของชีวิตไปได้อีกระยะหนึ่ง[2]
- จากการทดลองกับหนูขาวพบว่า สารสกัดจากรากหญ้างวงช้างด้วยแอลกอฮอล์ 95% และสารกลุ่มอัลคาลอยด์จากเมล็ด มีฤทธิ์ต้านการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์เนื้องอกบางชนิด และมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตอย่างอ่อน แต่ก็พบว่าทั้งต้นมีสารพิษซึ่งเป็นพิษต่อตับ จึงต้องศึกษากันอย่างละเอียดต่อไป[9]
- จากการทดลองใช้หญ้างวงช้างเป็นยารักษาแผลมีหนอง ฝีเม็ดเล็ก ๆ ด้วยการใช้ต้นหญ้างวงช้างทั้งต้นแห้งหนัก 50 กรัม นำมาหั่นเป็นฝอยผสมกับน้ำ 1 ลิตร แล้วต้มด้วยไฟอ่อนจนเหลือครึ่งลิตร ใช้แบ่งกินหลังอาหารครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ส่วนเด็กก็ลดปริมาณลงตามสัดส่วน จากการรักษาด้วยวิธีนี้พบว่าคนไข้จำนวน 213 ราย ที่กินยา 1-3 วัน หาย 73 ราย, กินยา 4-5 วัน หาย 96 ราย, กินยา 6-10 วัน หาย 52 ราย, และกินยา 10 วันขึ้นไป หายจำนวน 28 ราย ซึ่งจากการทดสอบเบื้องต้นพบว่ายานี้จะมีผลต่อฝีเล็ก ๆ ที่เริ่มเป็นหนองและระยะเริ่มเป็นหนองแล้ว (มีเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว) แต่ใช้ในระยะเริ่มเป็นจะได้ผลการรักษาที่ดีกว่า[4]
- มีการทดลองในคนด้วยการให้กินสารสกัดน้ำจากทั้งต้นแห้งของหญ้างวงช้าง และพบว่าสามารถลดอาการอักเสบและเร่งการเจริญของเนื้อเยื่อที่แผลได้[9]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อให้สัตว์ทดลองกินหญ้างวงช้าง liver microsome จะออกซิไดซ์ ได้สาร dehydroheliotrine อย่างรวดเร็ว pyrrolic dehydroalkaloid นี้เป็น reactive alkylating agent จะทำให้เกิดแผลในตับ (แม้จำนวนเล็กน้อยก็ทำให้เกิดแผลได้) แผลที่เกิดขึ้นนี้กว่าจะแสดงอาการให้รู้ก็นับเวลาเป็นปี ๆ ส่วนในขนาดสูงจะทำให้เกิด liver necrosis อาการที่จะสังเกตเห็นได้ในสัตว์ คือ ความอยากอาหารลดลง ซึมตัวเหลือง เนื้อเยื่ออ่อน มีสีซีด[7]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรหญ้างวงช้าง
- สตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้้[4] ถ้าใช้มากเกินขนาด อาจทำให้แท้งบุตรได้[3]
- ทั้งต้นหญ้างวงช้างมีสารพิษ Pyrrolizidine alkaloid เป็นสารพิษที่ออกฤทธิ์ต่อตับ หากได้รับในครั้งแรกจะทำให้อาเจียน หลังจากนั้นประมาณ 8-10 ชั่วโมง จะมีอาการชักกระตุกควบคู่ไปกับอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง และหมดสติ ส่วนวิธีการรักษาเบื้องต้นให้รีบทำให้อาเจียน ด้วยการรับประทาน Syrup of ipecac 2 ช้อนโต๊ะ สำหรับผู้ใหญ่ ส่วนเด็กที่อายุตั้งแต่ 1-12 ปี ให้รับประทานเพียง 1 ช้อนโต๊ะ[6] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าสารที่เป็นพิษคือสาร Lasiocarpine มีฤทธิ์ทำให้ตับอักเสบ (cirrhoesis) เป็นพิษต่อตับ[7] (มีข้อมูลอื่นระบุว่า แม้ได้รับเพียงครั้งเดียวก็สามารถก่อให้เกิดการทำลายเซลล์ตับแบบเรื้อรังได้)
ประโยชน์ของหญ้างวงช้าง
- ใบใช้รักษาสิว (ข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้ แต่เข้าใจว่านำใบมาตำแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นสิว)[3]
- สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานย้อมสีได้ จากการสกัดน้ำสีจากใบหญ้างวงช้าง เมื่อนำมาย้อมเส้นไหมก็พบว่าได้เส้นไหมที่มีคุณภาพดี มีความคงทนต่อการซักในระดับดีและดีมาก และมีความคงทนต่อแสงในระดับดี โดยสีที่ได้คือสีน้ำตาลอ่อน[8]
- คนอีสานมีภูมิปัญญาการใช้หญ้างวงช้าง เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านการเป็นเครื่องมือตรวจวัดอากาศและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เมื่อต้องการวัดคุณภาพของอากาศ ถ้าช่อดอกเหยียดตรงแสดงว่าปีนั้นฝนจะแล้งจัด แต่ถ้าช่อดอกม้วนงอแสดงว่าปีนั้นจะมีน้ำมาก และถ้าแปลงนามีต้นหญ้างวงช้างขึ้นเป็นจำนวนมากก็แสดงว่าแปลงนานั้นมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยก็ได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งจากการทดลองพบว่าแปลงที่มีหญ้างวงช้างเจริญงอกงามดี จะสามารถให้ผลผลิตมากกว่าแปลที่ไม่มีหญ้างวงเกิดประมาณ 60% (จากการทดลองไม่มีการใส่ปุ๋ยทั้งสองแปลงเพื่อทำการเปรียบเทียบ)[9]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หญ้างวงช้าง (Ya Nguang Chang)”. หน้า 316.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หญ้างวงช้าง”. หน้า 582.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หญ้างวงช้าง”. หน้า 803-805.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 12 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). “หญ้างวงช้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [07 ก.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หญ้างวงช้าง”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม), หนังสือสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [07 ก.ค. 2014].
- ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “หญ้างวงช้าง” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [07 ก.ค. 2014].
- กองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2530. (วันทนา งามวัฒน์). “สารพิษในพืชและอาการพิษในสัตว์ทดลอง”. หน้า 3.
- พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “หญ้างวงช้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [07 ก.ค. 2014].
- แผ่นดินทอง. “หญ้างวงช้างภูมิปัญญาตรวจวัดอากาศ”. อ้างอิงใน: มติชนสุดสัปดาห์, 4 พ.ย. 2554. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: glamdring.baac.or.th. [07 ก.ค. 2014].
ภาพประกอบ : (by Russell Cumming, xerantheum, Phuong Tran, Xylopia, Rob Nykvist, Somjit2012)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)