หญ้าคา สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าคา 48 ข้อ !

หญ้าคา สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าคา 48 ข้อ !

หญ้าคา

หญ้าคา ชื่อสามัญ Alang-alang, Blady grass (หญ้าใบมีด), Cogongrass, Japanese bloodgrass, Kunai grass, Lalang, Thatch grass

หญ้าคา ชื่อวิทยาศาสตร์ Imperata cylindrica (L.) Raeusch. จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)[1],[3],[4],[5],[7]

สมุนไพรหญ้าคา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าหลวง หญ้าคา (ทั่วไป), สาแล (มลายู-ยะลา-ตานี), กะหี่ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), บร่อง (ปะหล่อง), ทรูล (ลั้วะ), ลาลาง ลาแล (มะลายู), แปะเม่ากึง เตี่ยมเซากึง (จีน-แต้จิ๋ว), คา แฝกคา ลาแล เก้อฮี เป็นต้น[1],[3],[4]

หมายเหตุ : หญ้าคาเป็นพืชคนละชนิดกันกับหญ้าแฝก (Chrysopogon zizanioides (L.) Roberty)

ลักษณะของหญ้าคา

  • ต้นหญ้าคา จัดเป็นพืชจำพวกหญ้า มีลำต้นอยู่ใต้ดินเป็นเส้นกลมสีขาวทอดยาว มีข้อชัดเจน ผิวเรียบ หรืออาจมีขนอยู่บ้างเล็กน้อย สามารถแตกกิ่งก้านสาขา เลื้อยแผ่และงอกไปเป็นกอใหม่ ๆ ได้มากมายหลายกอ โดยหญ้าคาจัดเป็นวัชพืชที่ชอบแสงแดดและมีความทนทานสูงมาก เผากำจัดหรือทำลายได้ยาก ยิ่งเผาทำลายก็เหมือนไปช่วยกระตุ้นให้มันงอกมากขึ้น ทำให้ออกดอกแพร่พันธุ์มากยิ่งขึ้นไปอีก จึงกลายเป็นวัชพืชที่ลุกลามไปตามท้องไร่หรือพื้นที่ต่าง ๆ และกำจัดได้ยากชนิดหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นวัชพืชที่แก่งแย่งธาตุอาหารและน้ำกับพืชที่ปลูก และยังปลดปล่อยสารธรรมชาติบางชนิดที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชชนิดอื่น ๆ ซึ่งสามารถพบได้ตามท้องทุ่งทั่วไป ตามพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ตามหุบเขา และตามริมทางทั่วไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพืชชนิดนี้จะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด แต่ก็ยังสามารถขยายพันธุ์ด้วยลำต้นใต้ดินได้ด้วยเช่นกัน[1],[5]

ภาพหญ้าคา

รูปหญ้าคา

ต้นหญ้าคา

รากหญ้าคา

  • ใบหญ้าคา ใบแตกออกมาจากลำต้นที่อยู่ใต้ดิน ลักษณะของใบแบนเรียวยาว ใบมีความยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 5-9 มิลลิเมตร ตอนแตกใบอ่อนใหม่ ๆ จะมีปลอกหุ้มแหลมแข็งที่ยอดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตรงอกแทงขึ้นมาจากดิน[1]

ใบหญ้าคา

  • ดอกหญ้าคา ออกดอกเป็นช่อรูปทรงกระบอก มีความยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีดอกย่อยอยู่ติดกันแน่น เมื่อแก่จะเป็นขนฟูสีขาว และเมล็ดจะหลุดร่วงและปลิวไปตามสายลม และแพร่กระจายพันธุ์ไปได้ไกล ๆ โดยหญ้าคาที่ขึ้นอยู่ตามทุ่งหญ้าจะออกดอกในช่วงฤดูร้อน ส่วนหญ้าคาที่ขึ้นตามที่ชื้นแฉะจะออกดอกในช่วงปลายฤดูร้อนหรือฤดูหนาว[1]

ดอกหญ้าคา

  • ผลหญ้าคา หรือ เมล็ดหญ้าคา เมล็ดเป็นผลแห้ง ไม่แตก มีลักษณะเป็นรูปรี เมล็ดมีสีเหลือง เมล็ดแก่จะหลุดปลิวไปตามลม สามารถแพร่ขยายพันธุ์ไปได้ไกล และในหนึ่งต้นสามารถผลิตเมล็ดได้มากถึง 3,000 เมล็ด[2],[3],[4],[5]

เมล็ดหญ้าคา

การเก็บมาใช้และวิธีการใช้สมุนไพรหญ้าคา

  • ช่อดอกหญ้าคา ให้เด็ดมาทั้งก้านตอนดอกบานในช่วงฤดูร้อนหรือหนาว จะใช้สด ๆ หรือตากแห้งเก็บไว้ใช้ก็ได้ ใช้ช่อดอกแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หากใช้เป็นยาภายนอกให้นำมาตำแล้วพอกหรืออุดที่รูจมูก[1]
  • ขน (ดอกแก่) ให้เก็บเมื่อช่อดอกแก่เต็มที่แล้ว โดยจะมีลักษณะเป็นสีขาวฟู เก็บมาได้ก็ให้นำมาตากแห้งเก็บไว้ใช้ ใช้ภายใน ให้ใช้ขนแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หากใช้เป็นยาภายนอกให้นำมาตำแล้วพอกหรืออุดที่รูจมุก[1]
  • ใบหญ้าคา ตัดแล้วนำมาผึ่งให้แห้ง เก็บไว้ใช้ได้ หากใช้ภายนอกให้นำมาแช่หรือต้มกับน้ำอาบ[1]
  • รากหญ้าคา ให้เก็บในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาว ให้ตัดส่วนที่อยู่เหนือดินทิ้ง แล้วขุดเอาแต่รากหรือลำต้นที่อยู่ใต้ดินนำมาล้างให้สะอาด และขูดเอารากที่เป็นฝอย ๆ ออก จะใช้สดหรือนำมาตากแห้งเก็บไว้ใช้ก็ได้ ใช้ภายใน ให้นำรากแห้งใช้ประมาณ 10-15 กรัม ถ้าเป็นรากสดให้ใช้ประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือคั้นเอาน้ำกิน หากใช้ภายนอกให้นำมาบดเป็นผง[1]

สรรพคุณของหญ้าคา

  1. ในประเทศจีนใช้หญ้าคาเป็นยาบำรุงกำลังหลังจากการฟื้นไข้ และยังใช้เป็นยาห้ามเลือดและลดอาการไข้อีกด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
  2. สรรพคุณหญ้าคา ช่วยรักษาความดันโลหิตสูง (ราก)[1]
  3. ผลใช้กินเป็นยาสงบประสาท (ผล)[1]
  4. รากใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาโรคตานขโมย (ราก)[4]
  5. รากช่วยแก้ไข้ แก้อาการไอ (ราก)[1] ส่วนดอกช่วยแก้อาการไอ (ดอก)[7]
  6. ชาวซูลูใช้หญ้าคาเพื่อช่วยแก้อาการสะอึก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
  7. ช่วยแก้โรคมะเร็งคอ (ต้น)[7]
  8. ช่วยแก้หอบ ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1 กำมือและเปลือกของต้นหม่อนอย่างละเท่ากัน ใส่ในน้ำ 2 ชามแล้วต้มจนเหลือ 1 ชาม แล้วเอาน้ำที่ได้มากิน (ราก)[1]
  9. รากหญ้าคาช่วยแก้เลือดกำเดาไหล เลือดกำเดาออกง่ายหรือออกมาไม่ค่อยหยุด ด้วยการใช้ช่อดอกแห้งประมาณ 15 กรัม และจมูกหมู 1 อัน นำมาต้มให้เดือดประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้รับประทานหลังอาหารหลายครั้ง อาจทำให้หายขาดได้ หรือจะใช้ขน (ดอกแก่) นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้รากแห้งบดเป็นผงประมาณ 2.6 กรัม นำมาผสมกับน้ำซาวข้าวใช้กิน หรือจะใช้รากสดประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มในขณะที่เลือดกำเดาไหล หรือจะใช้น้ำคั้นสดดื่มกินประมาณ 1 ถ้วยชา (15 มิลลิกรัม) ก็ได้ และถ้าจะใช้เป็นยาห้ามเลือดกำเดาก็ให้ใช้ช่อดอกหรือขนนำมาตำแล้วอุดที่รูจมูก (ดอก, ขน (ดอกแก่), ราก)[1],[6]
  10. ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (ช่อดอก, ราก)[1],[7]
  1. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มเอาแต่น้ำดื่มเป็นประจำ (ราก)[1],[6],[7]
  2. สรรพคุณของรากหญ้าคา ช่วยแก้ปัสสาวะขัด ด้วยการใช้รากสดประมาณ 500 กรัม นำมาลอกเปลือกที่อยู่ระหว่างข้อออก แล้วหั่นเป็นฝอยใส่น้ำ 4 ถ้วยใหญ่ และต้มให้เดือดประมาณ 10 นาทีจนให้รากจมน้ำหมด หลังจากนั้นให้แยกเอากากออก ใช้รินกินขณะยังอุ่น ๆ ประมาณครั้งละครึ่งถ้วย วันละ 5-6 ครั้ง และกลางคืนอีก 2-3 ครั้ง กินต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง แล้วปัสสาวะจะถูกขับออกมามากขึ้น (ราก)[1]
  3. ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัมแล้วนำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะผสมกับรากบัว (ประมาณ 15 กรัม) ร่วมด้วย แล้วนำมาต้มกับน้ำกินก็ได้เช่นกัน (ราก)[1]
  4. ช่วยแก้พิษอักเสบในกระเพาะอาหาร (ราก)[6]
  5. ช่วยแก้โรคมะเร็งในลำไส้ (ดอก)[7]
  6. ช่วยแก้บิด (น้ำต้มจากรากสด)[1]
  7. ช่วยแก้อุจจาระเป็นเลือด (ดอก[6], ขน (ดอกแก่)[1])
  8. ช่วยแก้ริดสีดวงทวารต่าง ๆ (ดอก)[7] ส่วนในประเทศกัมพูชา ใช้หญ้าคาเป็นยาสำหรับรมแก้ริดสีดวงทวาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
  9. รากและเหง้าหญ้าคาใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด (ราก)[1],[2]
  10. ช่วยแก้อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แก้พิษอักเสบในกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะแดง (ราก[2],[7], ดอก[7])
  11. ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการใช้รากหญ้าคาประมาณ 1 กำมือ ใส่ในน้ำ 1 ถ้วยใหญ่ แล้วต้มจนเหลือ 1 ถ้วยชา (ประมาณ 15 มิลลิเมตร) ใช้รินกินขณะยังอุ่น ๆ หรือจะใช้รากแห้ง เมล็ดผักกาดน้ำอย่างละ 30 กรัม และน้ำตาลทราย 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินก็ได้ แต่หากนำมาใช้กับสัตว์ เช่น วัว ม้า ก็ให้ใช้รากสดประมาณ 120 กรัม ผสมคนล้างน้ำด่าง แล้วล้างให้หมดด่าง นำมาตากแห้งเผาเป็นถ่านให้ได้ประมาณ 30 กรัม และใช้ใบหญ้าขุยไม้ไผ่สดประมาณ 120 กรัม นำมาต้มให้สัตว์เลี้ยงกิน (ราก, ขน (ดอกแก่))[1]
  12. ช่วยแก้อาการปัสสาวะขุ่นเหมือนน้ำนม ด้วยการใช้รากสดประมาณ 250 กรัม ใส่ในน้ำ 2,000 มิลลิเมตร แล้วต้มจนเหลือ 1,200 มิลลิเมตร และใส่น้ำตาลพอสมควร ใช้แบ่งกินประมาณ 3 ครั้งให้หมดภายใน 1 วัน หรือจะใช้กินแทนชาติดต่อกันประมาณ 5-15 วันก็ได้ โดยนับเป็น 1 รอบของการรักษา (ราก)[1]
  13. ช่วยรักษาปัสสาวะเป็นหนอง ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 15 กรัม ใส่ในน้ำ 250 มิลลิลิตร แล้วต้มจนเหลือ 50 มิลลิลิตร ใช้รินกินขณะยังอุ่นหรือเย็นก็ได้ วันละ 3 ครั้ง (ราก)[1]
  14. ในฟิลิปปินส์ใช้น้ำต้มจากรากสด ใช้รักษาโรคหนองใน (ราก)[1]
  15. ช่วยขับระดูขาวของสตรี (ราก)[2]
  16. ช่วยแก้ประจำเดือนของสตรีมามากเกินไป (ราก)[1]
  17. สรรพคุณทางยาของหญ้าคา ช่วยบำรุงไต แก้ไตอักเสบ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม ผสมกับเปลือกลูกน้ำเต้า 15 กรัม ดอกเจ๊กกี่อึ้ง 30 กรัม และเหล้าขาวอีก 3 กรัม นำมาต้มเป็นยา ใช้แบ่งกิน 2 ครั้ง วันละ 1 ชุด หรือจะใช้รากสดประมาณ 60-120 กรัม นำมาต้มเป็นยา ใช้แบ่งกิน 2-3 ครั้ง ให้หมดภายใน 1 วัน แต่ถ้าหากนำมาใช้กับสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ เช่น ม้า วัว ก็ให้ใช้รากสด เปลือกแตงโมสดอย่างละ 250-500 กรัม นำมาต้มกับน้ำให้สัตว์เลี้ยงกิน (ราก)[1],[2]
  18. ช่วยแก้อาการตัวบวมน้ำ ด้วยการใช้รากสดประมาณ 500 กรัม นำมาลอกเปลือกที่อยู่ระหว่างข้อออก แล้วหั่นเป็นฝอยใส่น้ำ 4 ถ้วยใหญ่ และต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที จนให้รากจมน้ำหมด หลังจากนั้นให้แยกเอากากออก ใช้รินกินขณะยังอุ่น ๆ ประมาณครั้งละครึ่งถ้วย วันละ 5-6 ครั้ง และกลางคืนอีก 2-3 ครั้ง กินต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง แต่ถ้าหากนำมาใช้สัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ เช่น ม้า วัว ก็ให้ใช้รากสด เปลือกแตงโมสด อย่างละประมาณ 250-500 กรัม นำมาต้มกับน้ำให้สัตว์เลี้ยงกิน (ราก)[1]
  19. หญ้าคาช่วยแก้ดีซ่าน ตัวเหลืองจากพิษสุรา ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1 กำมือ นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาต้มกับเนื้อหมู 500 กรัม และใช้กินแก้อาการ (ราก)[1],[7]
  20. ช่วยแก้อาการตาเหลือง ตัวเหลือง มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)[1],[7]
  21. ใช้เป็นยาห้ามเลือด บาดแผลจากของมีคม (ช่อดอก, ผล, ราก)[1],[6]
  22. ขน (ดอกแก่) ใช้สดเป็นยาแก้แผลบวมอักเสบ แก้ฝีมีหนอง (ดอก[6], ขน (ดอกแก่)[1])
  23. ช่วยแก้ฝีประคำร้อย (ต้น)[1]
  24. ช่วยแก้ออกหัด ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม ต้มเอาแต่น้ำดื่มบ่อย ๆ (ราก)[1]
  25. ใบนำมาต้มกับน้ำอาบ ช่วยแก้ลมพิษและผดผื่นคัน (ใบ)[1],[6]
  26. ใช้แก้พิษจากต้นลำโพง ด้วยการใช้รากสดประมาณ 30 กรัมและต้นอ้อยอีก 500 กรัม นำมาตำและคั้นเอาแต่น้ำมาผสมกับน้ำมะพร้าว 1 ลูก แล้วนำมาต้มกิน (ราก)[1]
  27. ช่วยแก้ตรากตรำทำงานหนัก มีอาการช้ำใน ด้วยการใช้รากสดและขิงสดอย่างละ 60 กรัม ใส่น้ำผึ้ง 1 ช้อนชาและน้ำ 2 ถ้วย นำมาต้มให้เหลือ 1 ถ้วย แล้วใช้กินวันละครั้ง (ราก)[1]
  28. ช่วยแก้อาการปวด (ช่อดอก)[1],[6] ในแอฟริกาใช้หญ้าคาเป็นยาแก้อาการปวดบวมในเด็ก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
  29. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยหลังการคลอดบุตรของสตรี ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำอาบ (ใบ)[1],[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าคา

  • หญ้าคามีฤทธิ์ในการแก้ไข้ แต่ยังพิสูจน์ไม่เห็นผลที่มีนัยสำคัญ[1]
  • หญ้าคามีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ โดยจากการทดลองให้กระต่ายกินน้ำต้มจากราก และพบว่ากลุ่มที่ให้กินประมาณ 5-10 วัน ได้ผลดี และกลุ่มที่ให้กินติดต่อกัน 20 วันไม่เห็นผลเด่นชัดนัก (การทดลองนี้ไม่ได้มีการควบคุมการให้น้ำเข้า จึงเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มไม่ได้ ต้องทำการทดลองใหม่อีก) ซึ่งในรากหญ้าคามีธาตุโพแทสเซียมมาก จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะได้[1]
  • หญ้าคามีฤทธิ์ในการห้ามเลือด โดยจากการทดลองให้กระต่ายกินดอกแห้งวันละครั้ง ครั้งละ 0.5 กรัม ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 วัน ผลการทดลองพบว่า ในวันที่ 5 หลังจากเริ่มให้ยา กระต่ายมีอาการเลือดออกลดลงและมีอาการดีขึ้น โดยฤทธิ์ดังกล่าวนี้ยังมีผลต่อไปได้อีกหลายวัน และยังสามารถช่วยลดอาการเส้นเลือดแตกง่ายได้อีกด้วย[1]
  • มีฤทธิ์แก้โรคตับอักเสบเฉียบพลัน โดยใช้รากแห้งประมาณ 60 กรัม ต้มกับน้ำกินวันละ 2 ครั้ง ผลจากการศึกษาพบว่า คนไข้จำนวน 28 ราย มีสภาพร่างกายดีขึ้นภายใน 45 วัน ตับกลับคืนสู่สภาวะปกติจำนวน 21 ราย ส่วนอีก 7 รายพบว่า ภายใน 45 วันมีการทำงานของตับดีขึ้นเกินกว่าครึ่ง และในอีก 15 วันต่อมาตับก็กลับคืนสู่สภาวะปกติ และโดยส่วนใหญ่อาการของโรคที่สำคัญจะหายไปหลังจากรักษามาแล้ว 10 วัน อาการของตับและม้ามบวมโตจะหายไปในเวลาประมาณ 20 วัน ส่วนอาการตัวเหลืองจะหายเป็นปกติในเวลาเฉลี่ยประมาณ 20.15 วัน โดยไม่พบอาการหรือผลข้างเคียงแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังสามารถใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วย หากใช้ร่วมกับเซียมเหาะเช่าก็จะช่วยแก้ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือดได้[1]
  • มีฤทธิ์แก้อาการไตอักเสบเฉียบพลัน โดยใช้รากแห้งประมาณ 250 กรัมที่ล้างสะอาดแล้วนำมาหั่นเป็นฝอย ใช้ต้มกับน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1-2 อาทิตย์ หรือจนกว่าจะหายดี (เปลี่ยนรากหญ้าคาทุกวัน) หรืออาจผสมกับไต่โซว เซียวโซว โกฏขี้แมว มั่วอึ้ง ร่วมกันเป็นตำรับยาในการต้มกินก็ได้ ซึ่งในระหว่างนี้ต้องพักผ่อนให้มาก ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ควบคุมน้ำและเกลือ และถ้าจำเป็นก็อาจใช้ยาอื่นช่วยด้วย เพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน โดยจากการรักษาพบว่าได้ผลดี สามารถช่วยย่นระยะเวลาการรักษาได้ จากคนไข้ไตอักเสบเฉียบพลันจำนวน 10 ราย หลังจากกินยานี้ภายใน 1-5 วัน ปัสสาวะจะออกมากขึ้น ผู้ที่มีอาการปัสสาวะขัด รับประทานยานี้ประมาณ 11-26.4 วันก็จะหายเป็นปกติ อาการบวมน้ำจะลดลงและหายไปภายใน 4-5 วันถึง 1 อาทิตย์ ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เมื่อกินยานี้แล้วความดันโลหิตจะค่อย ๆ ลดเป็นปกติภายใน 5-20 วัน (เฉลี่ยแล้วประมาณ 7-9 วัน) ซึ่งในระหว่างที่กินยานี้อาจทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ อึดอัดไม่สบายใจได้ และยังไม่พบอาการเป็นพิษอื่นใดอีก โดยสรุปก็คือ ยานี้สามารถใช้แก้อาการไตอักเสบเฉียบพลันได้ดีมาก แก้อาการไตอักเสบเรื้อรังได้ผลน้อยกว่า และใช้แก้อาการบวมน้ำอันเนื่องมาจากโรคตับหรือหัวใจเกือบจะไม่ได้ผล[1]
  • น้ำต้มจากรากมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อบิด (แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อบิดอะมีบาได้)[1]
  • การทดสอบความเป็นพิษ ด้วยการให้กระต่ายกินน้ำต้มจากรากในขนาด 25 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และอีก 16 ชั่วโมงต่อมา กระต่ายเริ่มมีการเคลื่อนไหวช้าลง มีการหายใจที่เร็วขึ้น แต่จะกลับคืนสู่สภาวะปกติในอีกไม่นานนัก นอกจากนี้ยังได้ทดสอบด้วยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 10-15 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่ามีการหายใจที่เร็วขึ้น ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง ก็จะกลับคืนสู่สภาวะปกติ แต่ถ้าฉีดในขนาด 25 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม กลับพบว่าหลังจากฉีดประมาณ 6 ชั่วโมง กระต่ายก็ตาย[1]

ประโยชน์หญ้าคา

  1. หญ้าคาเป็นพืชที่มีธาตุไนโตรเจน ธาตุฟอสฟอรัส และธาตุโพแทสเซียมสูงมาก ช่วยทำให้ดินร่วนซุย ทำให้ออกซิเจนลงไปในดินได้สะดวกขึ้น ทำให้ดินไม่แน่น และเป็นหญ้าที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่วคือ เมื่อเน่าเป็นปุ๋ยแล้วจะช่วยป้องกันเพลี้ยและแมลงต่าง ๆ ได้[7]
  2. ต้นแห้งสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ส่วนในยูกันดามีการนำมาใช้เผาเครื่องปั้นดินเผา[1]
  3. ต้นใช้มัดต้นแผ่นเป็นแผ่นแบน ๆ แล้วทุบให้แตก ตัดใบทิ้ง ใช้เป็นแปรงฉาบน้ำปูนตามผนังตึกหรือกำแพงได้[1]
  4. ใบนำมาไพเป็นตับ (ไพหญ้าคา) หรือนำมามัดรวมกันเป็นตับ ตากให้แห้งแล้วนำมาใช้มุงหลังคากระท่อม เล้าไก่ เล้าเป็ด คอกเลี้ยงหมู ฯลฯ[4],[6]
  5. สามารถนำมาอัดทำเป็นแผ่น ๆ คล้ายกับไม้อัดทั่วไป สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้ทำตู้เก็บหนังสือ ตู้เก็บพระคัมภีร์ ทำกรอบรูป ของที่ระลึกต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลมาจาก นศ.ศรีราวรรณ วงษ์โท นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตโชติเวช คณะคหกรรมศาสตร์[6]
  6. รากหญ้าคา สามารถนำมาใช้ทำเชือก ใช้สานตะกร้า เสื่อ หรือทำแปรงด้วย[1]
  7. ประโยชน์รากหญ้าคา ใช้ทำเป็นน้ำตาลได้ โดยในช่วงฤดูหนาวให้ขุดดินใต้กอหญ้าคาให้เป็นโพรงชอนเข้าไปลึก ๆ และให้ตัดหญ้าคายาว ๆ ออกบ้าง แล้วให้เอาแกลบมาใส่ให้เต็มโพรงที่ขุด และให้หมั่นรดน้ำที่โคนต้นทุกวัน จนเมื่อรากงอกยาวสีขาวงามดีแล้ว ให้เอาแกลบออก จับรากมัดรวมกัน แล้วใช้มีดคม ๆ ปาดเหมือนปาดจั่นมะพร้าวหรือตาลโตนด ทิ้งไว้ 3 วัน เมื่อครบวันก็ให้เอาภาชนะไปรองรับที่มัดรากที่ปาดแล้วนั้น วันรุ่งขึ้นก็ให้มาเก็บน้ำตาล แล้วปากลึกเข้าไปอีกให้ได้ทุกวันจนหมด[1]
  8. น้ำร้อนชงสกัดน้ำตาลจากรากนำมาใช้หมักเบียร์[1]

วิธีกำจัดหญ้าคา

  • ใช้วิธีการเขตกรรมทั่วไป เช่น วิธีการถาก ถาง ตัดให้สั้นเพื่อไม่ให้ออกดอก หรือขุดทิ้ง[3],[5]
  • ใช้วัสดุคลุม เช่น เศษซากวัชพืช หรือปลูกพืชคลุม เช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ[5]
  • ใช้ยาฆ่าหญ้าหรือสารเคมีต่าง ๆ เช่น ดาร์ไฟท์ (ไกลโฟเซต, ไอโซโพฟิลามีน ซอลต์), ดามาร์ค (ไกลโฟเลท), ทัชดาวน์ (ไกลโฟเซต ไตรมีเซียมซอลต์), มาร์เก็ต (ไกลโฟเซต)[3],[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 18 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้.  “หญ้าคา“. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ).  อ้างอิงใน: หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรจีน.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [5 ม.ค. 2014].
  2. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. พืชสมุนไพร.  “หญ้าคา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [5 ม.ค. 2014].
  3. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “หญ้าคา“. (ไพร มัทธวรัตน์ หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [5 ม.ค. 2014].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Lalang“.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.  (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [5 ม.ค. 2014].
  5. สื่อการสอนครู โรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม.  “หญ้าคา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: tc.mengrai.ac.th.  [5 ม.ค. 2014].
  6. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.  (พระมหาสุรศักดิ์ สุรเมธี).  “หญ้าคา“. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.stou.ac.th.  [5 ม.ค. 2014].
  7. ข่าวสดรายวัน ฉบับที่ 8212 วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556, คอลัมน์: รูปไปโม้ด.  (น้าชาติประชา ชื่น).  “หญ้าคา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.khaosod.co.th.  [5 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by John Tann, Tony Rodd, Russell Cumming, mingiweng)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด