หญ้าขัดใบยาว สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าขัดใบยาว 39 ข้อ !

หญ้าขัดใบยาว

หญ้าขัด มีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด ได้แก่ หญ้าขัดใบมน (Sida rhombifolia L.), หญ้าขัดใบป้อม (Sida cordifolia L.), หญ้าขัดหลวง (Sida subcordata Span.) และ “หญ้าขัดใบยาว” (Sida acuta Burm.f.) ซึ่งเป็นชนิดที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้[8]

หญ้าขัดใบยาว ชื่อสามัญ Broom weed, Two-beaked, Snake’s tongue

หญ้าขัดใบยาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Sida acuta Burm.f. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1],[2],[5]

สมุนไพรหญ้าขัดใบยาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าขัด หญ้าขัดใบยาว (คนเมือง), คัดมอน ขัดมอญ หญ้าขัดมอน หญ้าขัดมอญ หญ้าข้อ (ภาคเหนือ), ลำมะเท็ง (ศรีราชา), ยุงกวาด ยุงปัด (ภาคกลาง), หนานช่าง (ม้ง), ถ้อม ทอมทัก แญ็นทอมถัก (ลั้วะ), นาคุ้ยหมี่ เน่าะคุ้ยเหม่ เน่าะเค้ะ หน่อคี้ยแหม่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), อึ่งฮวยอิ๋ว อวกตักซั่ว (จีน), หญ้าขัดตัวเมีย เป็นต้น[1],[2],[6]

ลักษณะของหญ้าขัดใบยาว

  • ต้นหญ้าขัดใบยาว จัดเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรงแข็งแรง มีความสูงประมาณ 0.3-1 เมตร เปลือกต้นมีใบเหนียวมาก ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก ตามกิ่งมีขนนุ่มหรือค่อนข้างเกลี้ยง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด สามารถพบขึ้นได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยตามพื้นที่รกร้างต่าง ๆ ตามข้างถนนหนทาง และตามชายป่า มักขึ้นในที่ชุ่มชื้น และทนทานต่อน้ำท่วมขัง[1],[2],[4]

ต้นหญ้าขัดใบยาว

หญ้าขัดมอญ

ต้นหญ้าขัดมอญ

  • ใบหญ้าขัดใบยาว ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนห่าง ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก มีความกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม ส่วนโคนใบกลมหรือมน และขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ที่ผิวของใบมีขนเป็นรูปดาวประปรายหรืออาจเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตรและมีขนนุ่ม และยังมีหูใบติดทนเป็นรูปเส้นด้ายที่ยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร[1],[2]

ใบหญ้าขัดมอญ

หญ้าขัด

ขัดมอญ

  • ดอกหญ้าขัดใบยาว ดอกเป็นสีเหลือง ออกดอกแบบเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นคู่บริเวณง่ามใบ มีก้านดอกยาวประมาณ 4-12 มิลลิเมตร มีขนและมีข้อต่ออยู่กลางก้าน กลีบเลี้ยงที่โคนติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ปลายเป็นแฉกเรียวแหลม ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ปลายกลีบกลม โคนกลีบสอบแคบ ยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร และมีขน เมื่อดอกบานจะกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรตัวผู้ติดกันเป็นหลอด ๆ ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร และมีขนแข็งอยู่ประปราย ส่วนก้านชูอับเรณูเรียวเล็ก และอับเรณูเป็นสีเหลือง[1]

ดอกหญ้าขัดดอกหญ้าขัดมอญ

ดอกหญ้าขัดใบยาว

  • ผลหญ้าขัดใบยาว ผลเมื่อแก่จะมีลักษณะเป็นรูปทรงจานกลมแบนและมีรอยแยก ผลเป็นแบบแห้งแตก ลักษณะของผลค่อนข้างกลม ประกอบด้วยซีกประมาณ 4-9 ซีก แต่โดยมากแล้วจะมีประมาณ 5-6 ซีก มีความยาวประมาณ 3.5 มิลลิเมตร ในแต่ละซีกที่ปลายจะมีหนามแหลมสั้นอยู่ 2 อัน และผิวเป็นลาย[1],[2]

ผลหญ้าขัดใบยาว

เมล็ดหญ้าขัดมอญ

สรรพคุณของหญ้าขัดใบยาว

  1. รากใช้เป็นยาขมช่วยให้เจริญอาหาร (ราก)[2]
  2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)[2]
  3. ช่วยบำรุงกำลัง (ราก)[6]
  4. ช่วยบำรุงปอด (ราก)[6]
  5. ช่วยแก้โรคประสาท (ราก)[1],[2]
  6. ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย โดยใช้รากนำมาแช่กับน้ำดื่มรวมกับหญ้าปากควาย เปลือกมะกอก และตะไคร้ ส่วนอีกวิธีให้ใช้รากผสมกับขิง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง จะช่วยแก้อาการอ่อนเพลียได้เช่นกัน (ราก)[1],[2]
  7. ลำต้นนำมาต้มในน้ำ แล้วเอาน้ำที่ได้มาอมจะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ (ลำต้น)[1]
  8. ทั้งต้นเอามาต้มหรือแช่น้ำดื่มเป็นยาแก้เบื่อ (ทั้งต้น)[1]
  9. ทั้งต้นมีรสเย็นและฉุนเล็กน้อย ช่วยดับร้อน ช่วยแก้พิษ (ทั้งต้น)[2]
  10. รากช่วยแก้อาการตัวร้อน ขับพิษร้อนภายในร่างกาย และช่วยขับพิษไข้หัว แก้พิษหลบใน (ราก)[6]
  1. รากใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้อาการไข้ผิดปกติต่าง ๆ หรือจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มหรือนำมาแช่น้ำดื่มแก้ไข้ก็ได้เช่นกัน (ราก, ทั้งต้น)[1],[2],[3]
  2. ช่วยแก้ไข้มาลาเรีย (ราก, ทั้งต้น)[3]
  3. ช่วยแก้อาการหวัด (ทั้งต้น)[2],[4]
  4. ช่วยขับเหงื่อ (ราก)[1],[2]
  5. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ แก้เสียงแหบ (ราก, ทั้งต้น[3])
  6. ช่วยขับเสมหะ (ราก)[6]
  7. ช่วยแก้อาเจียน (ราก)[6]
  8. ช่วยรักษาเต้านมอักเสบ โดยใช้ต้นแห้งผสมร่วมกับ โพกงเอ็ง นำมาต้มกับน้ำกิน ส่วนการใช้ภายนอกให้ใช้ต้นแห้งร่วมกับหัวผักกาดขาวสดและน้ำตาลแดง นำมาตำแล้วพอก (ทั้งต้น)[2],[4]
  9. ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (ทั้งต้น)[3]
  10. ช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โดยใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มหรือนำมาเคี้ยวกิน (ทั้งต้น)[3]
  11. ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหาร (ราก[1], ทั้งต้น[3])
  12. ช่วยแก้บิด (ทั้งต้น)[2],[4]
  13. ช่วยแก้ลำไส้อักเสบ (ทั้งต้น)[2],[4] รักษาลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคเรื้อรังเกี่ยวกับท้อง (ราก)[1],[2]
  14. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการท้องผูก (ราก)[5]
  15. ใบน้ำมาคั้นเอาแต่น้ำรับประทานเป็นยาขับพยาธิ (ใบ)[4]
  16. ช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (ราก)[1],[2],[5]
  17. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปัสสาวะไม่ออก (ราก)[1]
  18. รากช่วยแก้น้ำดีพิการ (ราก)[6]
  19. รากใช้เข้ายาฆ่าเชื้อและช่วยลดอาการอักเสบ (ราก)[1]
  20. ใบใช้เป็นยาทำให้แท้งบุตร (ใบ)[1],[2]
  21. รากใช้เป็นยาสมาน (ราก)[1],[2] ช่วยสมานเนื้อ (ทั้งต้น)[2]
  22. ใบนำมาอังไฟพอสุกแล้วทาด้วยน้ำมันงา ใช้แปะบริเวณที่เป็นฝีหรือหนอง จะช่วยทำให้ฝีหัวแก่เร็วขึ้น หรือช่วยกลัดหนองเร็วขึ้น (ใบ)[1]
  23. ใบนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้พอกหรือทาเป็นยาห้ามเลือด รักษาแผลสด แผลถลอก และแผลเรื้อรัง (ใบ)[3]
  24. ใบนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำ ใช้ทาหรือพอกรักษาสิว ฝี และตุ่มหนองได้ (ใบ)[1],[5]
  25. แก้หกล้มกระดูกหัก แผลบวม เป็นพิษ มีเลือดออก (ทั้งต้น)[2],[4]
  26. ช่วยแก้อาการปวด แก้บวม (ทั้งต้น)[2],[4]
  27. รากหรือทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำอาบ ช่วยฆ่าเชื้อโรค และช่วยแก้พิษ (ราก, ทั้งต้น)[3]

วิธีใช้ : การนำมาใช้เป็นยาภายใน ให้ใช้ทั้งต้นแห้ง (รวมราก) ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เป็นขนาดที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ หากนำไปใช้ควรดัดแปลงน้ำหนักของยาให้เหมาะสมกับอายุ สุขภาพ และน้ำหนักตัวของผู้ใช้ด้วย) หากใช้เป็นยาภายนอกก็ให้ใช้ต้นสดนำมาตำแล้วพอก หรือจะใช้ต้นแห้งนำมาบดให้เป็นผงแล้วใช้โรยก็ได้[2]

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของหญ้าขัดใบยาว

  1. น้ำสกัดจากต้นมีฤทธิ์ทำให้ชีพจรเต้นช้าลง ลดการเต้นของหัวใจของกบที่แยกออกจากตัวและที่อยู่ในลำไส้[2]
  2. น้ำสกัดจากต้นมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิตของกระต่ายที่ถูกทำให้สลบแล้วก่อนลดลง[2]
  3. น้ำสกัดจากต้นมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้เล็กของกระต่ายให้บีบตัวเพิ่มขึ้น เมื่อฉีดสารสกัดเข้าหลอดเลือดดำ หากฉีดเข้าช่องท้องของหนูเล็ก ภายใน 24 ชั่วโมงหนูจะยังไม่ตาย แต่ถ้าให้มากกว่านี้หนูเล็ก 5 ตัวที่ฉีดจะตาย 1 ตัว[2]
  4. หญ้าขัดใบยาวมีสาร Scopadulcic acid และสารในกลุ่ม Flavone ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง และสาร Scopadulin ยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเริมอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่ามีสาร Glutinol ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์แก้อาการปวดและช่วยลดการอักเสบ ส่วนสารสกัดแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการยับยั้งการบีบตัวของลำไส้ ต้านการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด[3]

ประโยชน์ต้นหญ้าขัดใบยาว

  • กิ่งและลำต้นนำไปตากแห้งแล้วเอามามัดรวมกันใช้ทำเป็นไม้กวาดได้ ในชนบทจะใช้ต้นขัดมอญที่โตเต็มที่แล้ว (สูงประมาณหนึ่งเมตรกว่า ๆ) นำมาตัดแล้วตากแห้ง ใบจะหลุดร่วงหมด แล้วใช้ต้นประมาณ 2-3 ต้น นำมามัดรวมกัน ใช้เป็นไม้กวาดลานบ้านได้ดี อีกทั้งยังเหนียวทนและแข็งแรงอีกด้วย[1],[2],[5]
  • ใช้เป็นส่วนผสมสำหรับทำผงขัดหน้าและผิวกาย ทำให้ผิวพรรณผุดผ่องดูมีน้ำมีนวล โดยใช้หญ้าขัดมอญ 40 กรัม, ขมิ้นชัน 120 กรัม, ไพล 100 กรัม, เหงือกปลาหมอ 60 กรัม และดินสอพอง 80 กรัม นำมาทั้งบดมาบดให้เป็นผงแล้วผสมให้เข้ากัน แล้วนำผงที่ได้ใส่น้ำลงไปด้วยไม่ให้เหลวหรือแห้งจนเกินไป แล้วนำมาขัดผิวหน้าเบา ๆ เสร็จแล้วทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออก และให้ทาน้ำผึ้งหรือโลชั่นตามทันที หากนำมาขัดตัวก็ให้ทาผงขัดที่ผสมน้ำขัดให้ทั่วตัว ทิ้งไว้พอหมาดแล้วจึงขัดออก และอาบน้ำด้วยน้ำอุ่น เสร็จแล้วก็เช็ดตัวให้แห้งแล้วทาผิวด้วยโลชั่นหรือน้ำมันงาตามทันที[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Broom weed“.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7.  (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [21 ธ.ค. 2013].
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 12 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้.  “หญ้าขัด“.  (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ).  อ้างอิงใน: หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรจีน.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [21 ธ.ค. 2013].
  3. CHM กรมวิชาการเกษตร.  “หญ้าขัดใบยาว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: chm.doa.go.th.  [21 ธ.ค. 2013].
  4. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนวารินชำราบ.  “หญ้าขัดใบยาว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ict2.warin.ac.th/botany/.  [21 ธ.ค. 2013].
  5. พันธุ์ไม้พื้นล่าง เครือข่ายกาญจนาภิเษก โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ .  “หญ้าขัดใบยาว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.kanchanapisek.or.th.  [21 ธ.ค. 2013].
  6. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “ขัดมอญ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [21 ธ.ค. 2013].
  7. มูลนิธิสุขภาพไทย.  “ผงขัดหน้าและผิวกาย“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.  [22 ธ.ค. 2013].
  8. รายชื่อพรรณไม้ (ป่า) ในประเทศไทย เครือข่ายการวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ (ประเทศไทย) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “Family : MALVACEAE“. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.frcdb.forest.ku.ac.th/Forest/.  [22 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, mingiweng, dinesh_valke, naturgucker.de, playa_diana)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด