หญ้าขัด
หญ้าขัด มีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด ได้แก่ หญ้าขัดใบยาว (Sida acuta Burm.f.), หญ้าขัดใบป้อม (Sida cordifolia L.), หญ้าขัดหลวง (Sida subcordata Span.) และอีกชนิดก็คือ “หญ้าขัด” ที่บ้างก็เรียกว่า ขัดมอน, หญ้าขัดมอนใบรี, หญ้าขัดใบมน (Sida rhombifolia L.) ซึ่งเป็นชนิดที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้[7]
หญ้าขัด ชื่อสามัญ Paddy’s lucerne, Queensland hemp, Arrowleaf sida, Common sida, Cuba juite
หญ้าขัด ชื่อวิทยาศาสตร์ Sida rhombifolia L. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1],[3],[5]
สมุนไพรหญ้าขัด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าขัด (เชียงใหม่), ยุงปัดแม่ม่าย (กรุงเทพฯ), ขัดมอน คัดมอน (ภาคกลาง), หญ้าขัดมอนใบรี, หญ้าขัดใบมน เป็นต้น[1],[3],[6]
ลักษณะของหญ้าขัด
- ต้นหญ้าขัด จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของลำต้นได้ถึง 1 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลมสีเขียวหรืออมเทา และมีขนเป็นรูปดาว โดยต้นหญ้าขัดสามารถพบได้ทั่วทุกภาคตามป่าเบญจพรรณ[1],[3]
- ใบหญ้าขัด ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนแบห่าง ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปรีถึงรูปสามเหลี่ยมข้าวหลามตัด โคนใบกลมถึงตัด ส่วนขอบใบเป็นจักแบบฟันเลื่อย ยกเว้นบริเวณโคนใบจะเรียบ ใบมีขนาดความกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนค่อนข้างเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีขนสั้นรูปดาวขึ้นอยู่หนาแน่น มีก้านใบยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร และมีขนขึ้นหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีหูใบยาวได้ถึง 5 มิลลิเมตร มีเส้นตามยาว 1 เส้น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแกมรูปแถบและตามขอบมีขน[1]
- ดอกหญ้าขัด ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือเป็นสีเนื้อค่อนข้างขาว ดอกจะออกตามง่ามใบ ใบที่ยอดมักจะเป็นแบบลดรูปลง ทำให้ดูคล้ายเป็นช่อแบบกระจะ ส่วนก้านของดอกมียาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีข้อต่ออยู่เหนือกึ่งกลางก้าน ส่วนกลีบเลี้ยงจะติดกันและมีลักษณะเป็นรูประฆัง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 มิลลิเมตร โคนใบมีสันประมาณ 10 สัน ส่วนปลายแยกออกเป็น 5 แฉก แต่ละแฉกเป็นรูปสามเหลี่ยม มีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ปลายแฉกแหลมหรือเรียวแหลม ส่วนด้านนอกมีขนสั้น ๆ รูปดาวคละกับขนธรรมดา แต่ด้านในเกลี้ยง ส่วนวงกลีบดอกเมื่อบานจะกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบของดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเหลืองอ่อน ตรงกลางสีแดง เป็นรูปไข่กลับและเบี้ยว มีความกว้างประมาณ 6-7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 9-10 มิลลิเมตร ปลายกลีบตัดหรือแหลม ส่วนโคนกลีบลักษณะสอบและอาจมีขนหรือเกลี้ยง ดอกมีเกสรตัวผู้ติดกันเป็นหลอด มีความยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีอับเรณูอยู่ที่ปลาย ส่วนเกสรตัวเมียจะอยู่ภายในหลอดเกสรตัวผู้ และมีรังไข่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปกรวย มีความกว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตรและเกลี้ยง ก้านเกสรตัวเมีย ปลายแยกออกเป็น 8-10 แขนง ยอดเกสรตัวเมียจะเป็นตุ่มสีเหลืองหรือสีชมพูอ่อน[1]
- ผลหญ้าขัด ผลเป็นแบบแห้งแยกแล้วแตก ลักษณะของผลเป็นรูปครึ่งทรงกลม มีกลีบเลี้ยงห่อหุ้มอยู่ โดยในผลจะประกอบไปด้วยซีกผลประมาณ 8-10 ซีก ในแต่ละซีกจะมีลักษณะเป็นรูป 3 มุม มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ด้านนอกและด้านข้างเป็นรอยย่น ส่วนปลายมีรยางค์แข็ง ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ยาวเสมอกลีบเลี้ยงหรืออาจสั้นกว่าเล็กน้อย โดยในแต่ละซีกจะมีเมล็ดสีดำ 1 เมล็ด มีขนาดยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร และมีขนสั้น ๆ อยู่ที่ขั้วเมล็ด[1]
สรรพคุณของหญ้าขัด
- รากนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยทำให้เจริญอาหาร หรือจะใช้รากหญ้าขัดร่วมกับรากมะกอกและรากหญ้าปากควาย นำมาแช่กับน้ำดื่มเป็นยาช่วยให้เจริญอาหารก็ได้ (ราก)[1],[4]
- ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน (ราก)[1],[5]
- ต้นและใบนำมาต้มใส่เกลือเป็นยาบ้วนปาก (ต้น,ใบ)[1],[4]
- ใบใช้เป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[1]
- ช่วยดับพิษไข้ แก้พิษกาฬ พิษโลหิต (ราก)[5]
- ช่วยแก้อาการร้อนใน (ราก)[5]
- ช่วยขับเสมหะ (ราก)[1],[5]
- ช่วยแก้อาการสะอึก (ราก)[5]
- ช่วยแก้โรคปอด (ราก)[1]
- ต้นและใบใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการท้องเสียได้ (ต้น, ใบ)[4]
- ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหาร (ราก)[1]
- ใบและต้นอ่อนนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้งกินเป็นยาแก้บิด (ใบ, ต้นอ่อน)[1]
- ใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ)[1]
- ช่วยขับโลหิตและรก (ราก)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดมดลูก (ราก)[1]
- ช่วยแก้ดีพิการ (ราก)[1],[5]
- รากใช้แก้พิษงู (ราก)[5]
- แก้พิษหัด เหือด สุกใส หลบเข้าข้างใน (ราก)[5]
- ช่วยแก้ช่วยโรคไขข้อ (ราก)[1]
- ใบใช้ตำพอกแก้บวม (ใบ)[1]
- ช่วยบำรุงกำหนัด แก้กามตายด้าน ด้วยการใช้ขัดมอญทั้งต้นรวมราก หัวกระชาย นำมาต้มกินต่างน้ำชาทุกวัน หรืออีกสูตรให้ใช้ต้นขัดมอญทั้งต้น หัวกระชายแก่ หญ้าปากควาย และข้าวเปลือกอย่างละเท่ากัน นำมาใส่หม้อและใส่น้ำพอท่วมยาโดยใช้น้ำสี่ส่วน ให้ต้มและเคี่ยวจนเหลือ 1 ส่วน แล้วนำมารับประทานติดต่อกันให้ได้ 3 หม้อ หรือมากกว่าอาการจะดีขึ้น (ทั้งต้น)[2],[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าขัด
- สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ช่วยต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งของคนในหลอดทดลอง[1]
- รากและลำต้นมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก[1]
ประโยชน์ต้นหญ้าขัด
- ลำต้นใช้ทำเป็นไม้กวาด โดยใช้ต้นที่โตเต็มที่แล้วนำมาตัดแล้วตากให้แห้ง (ใช้ประมาณ 2-3 ต้น) แล้วนำมามัดรวมกัน ใช้เป็นไม้กวาดลานบ้านได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความเหนียวทนทานอีกด้วย[1],[6]
- ใช้เป็นอาหารสัตว์ (ไม่ได้ระบุว่าส่วนไหน สัตว์อะไร)[6]
- ลำต้นให้สารเมือก ใช้สำหรับทำให้นิ่ม โดยสามารถนำมาใช้ได้ทั้งภายนอกและภายใน (ไม่เข้าใจว่าคืออะไร)[1]
เอกสารอ้างอิง
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Paddy’s lucerne“. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7. (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [22 ธ.ค. 2013].
- สันยาสี. “อายุวัฒนะ ตำรับยาแก้โรค“. (หมอเมือง สันยาสี). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sanyasi.org. [21 ธ.ค. 2013].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “หญ้าขัด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [22 ธ.ค. 2013].
- พันธุ์ไม้พื้นล่าง เครือข่ายกาญจนาภิเษก โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ . “หญ้าขัด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.kanchanapisek.or.th. [22 ธ.ค. 2013].
- ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “Sida rhombifolia L. ssp. RHOMBIFOLIA“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [22 ธ.ค. 2013].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “หญ้าขัด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [22 ธ.ค. 2013].
- รายชื่อพรรณไม้ (ป่า) ในประเทศไทย เครือข่ายการวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ (ประเทศไทย) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “Family : MALVACEAE“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.frcdb.forest.ku.ac.th/Forest/. [22 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dinesh_valke, Scamperdale, Anita363, CANTIQ UNIQUE, This Is My Father’s World, Nieminski, C.Tak., VBHerblady)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)