หญ้าขมใบย่น
หญ้าขมใบย่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Teucrium viscidum Blume จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
สมุนไพรหญ้าขมใบย่น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ซานฮั่วเซียง โจ้วเมี่ยนขู่เฉ่า (จีนกลาง), ซัวคักเฮียง (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[1]
ลักษณะของหญ้าขมใบย่น
- ต้นหญ้าขมใบย่น จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี ต้นมีความสูงได้ประมาณ 30-70 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยมตั้งตรง แตกกิ่งก้านที่ปลายกิ่ง ลำต้นและใบมีขนสั้นขึ้นปกคลุม[1]
- ใบหญ้าขมใบย่น ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ใบมีน้ำเมือกเหนียว หลังใบย่นเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน เส้นใบชัดและมีขนสั้น ก้านใบยาวประมาณ 1.7-3 เซนติเมตร[1]
- ดอกหญ้าขมใบย่น ออกดอกเป็นช่อและเรียงกันเป็นคู่ตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวได้ประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีแดงอ่อนหรือม่วงอ่อน กลีบดอกเป็นรูประฆังซ้อนทับกัน มีกลีบ 5 กลีบ หยัก ด้านบนมี 2 กลีบ ส่วนด้านล่างมี 3 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน มีขนมาก[1]
- ผลหญ้าขมใบย่น ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ขนาดเล็ก มีสีเหลืองน้ำตาล และมีผิวย่น ลูกกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร[1]
สรรพคุณของหญ้าขมใบย่น
- ทั้งต้นมีรสเฝื่อน ขมเผ็ดเล็กน้อย เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และกระเพาะ ใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น ช่วยกระจายเลือด ช่วยขับพิษร้อนถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้อาการร้อนใน (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้เลือดกำเดา อาเจียนเป็นเลือด (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ไอ หวัด ตัวร้อน ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-50 กรัม นำมาต้มกับน้ำผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้อาการเจ็บเต้านม ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 35 กรัม นำมาตำผสมกับเหล้าแล้วนำไปพอก (ทั้งต้น)[1]
- หากถ่ายเป็นเลือด ให้ใช้ต้นสดประมาณ 30-40 กรัม นำมาต้มกับน้ำผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน (ทั้งต้น)[1]
- ใช้รักษาริดสีดวงในลำไส้ (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาห้ามเลือด (ทั้งต้น)[1]
- ใช้รักษาฝีหนองปวดบวมอักเสบ (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้พิษสุนัขหรืองูกัด (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้อาการบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว และปวดข้อเข่า (ทั้งต้น)[1]
วิธีใช้ : ให้ใช้ต้นสดครั้งละ 30-60 กรัม ส่วนต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 20-35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าขมใบย่น
- พบสารจำพวก Amino acid, Glucolin, Phenols, Carboxylic acid เป็นต้น[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หญ้าขมใบย่น”. หน้า 578.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 阿橋), www.hkwildlife.net
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)