หงอนไก่
หงอนไก่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cnestis palala (Lour.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cnestis ramiflora Griff., Thysanus palala Lour.) จัดอยู่ในวงศ์ถอบแถบ (CONNARACEAE)[1],[2],[4]
สมุนไพรหงอนไก่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะตายวาย มะสักหลาด (ลำปาง), กระพากลาก (ตราด), กะดอลิง (หนองคาย), กะลิงปริงป่า (ราชบุรี), มะตายทากลาก หมาตายไม่ต้องลาก (ชลบุรี), หงอนไก่ป่า (ภาคกลาง), หงอนไก่หนวย หมาแดง (ภาคใต้), เก๊าหงอนไก่ (คนเมือง), พลู้นมันปึ้ง (ขมุ), ก๊อดไลวึ่ (ม้ง), หมาตายซาก เป็นต้น[1],[2],[3],[4]
ลักษณะของหงอนไก่
- ต้นหงอนไก่ จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็งเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้อื่น มีความยาวได้ถึง 10 เมตร เปลือกต้นเป็นสีเทาปนเขียว ตามกิ่งก้านและใบมีขนนุ่มสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น พบขึ้นในป่าชุมชน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนอุดมสมบูรณ์ ชอบที่ร่มรำไร[1],[2]
- ใบหงอนไก่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ ยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 15-31 ใบ ลักษณะของใบย่อยส่วนปลายเป็นรูปวงรี ปลายและโคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยด้านข้างมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร หลังใบเรียบหรือมีขนสั้น ๆ ที่เส้นใบ ส่วนท้องใบมีขนสั้น ๆ ขึ้นหนาแน่น ยอดอ่อนเป็นสีแดง ก้านใบย่อยสั้นมาก[1],[2],[3]
- ดอกหงอนไก่ ออกดอกเป็นช่อกระจะ ช่อแยกแขนง หรือออกเป็นกระจุกตามซอกใบหรือกิ่งก้าน ยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร แกนช่อดอกมีขนนุ่ม ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกรูปขอบขนาน มีขนนุ่ม กลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อน ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ และมีขน[1],[3]
- ผลหงอนไก่ ผลแห้งแตกตามตะเข็บด้านเดียว ผลเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลแดง ลักษณะของผลเป็นรูปรีแกมรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผลมีขนสีน้ำตาลอ่อน ภายในผลมีเมล็ดสีดำ ลักษณะเป็นรูปวงรี ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร มีเนื้อหุ้มเมล็ดอยู่[1],[3]
สรรพคุณของหงอนไก่
- รากใช้เป็นยาบำรุงหลังคลอดบุตร (ราก)[3]
- รากหงอนไก่ มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก)[3]
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากหงอนไก่ ผสมกับรากมหาก่าน และเปลือกต้นตาเสือ นำมาต้มกับน้ำดื่ม จะช่วยทำให้อาเจียน ใช้รักษาอาการติดยาเสพติด (ราก)[1],[3]
- รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการปวดท้อง โดยใช้ร่วมกับข้าวเม่านก ขี้อ้น มะแฟนข้าว และดูลอย (ราก)[2]
- รากใช้เป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (ราก)[3]
- ชาวม้งจะใช้ลำต้นหรือใบ นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยารักษาโรคนิ่ว (ลำต้น, ใบ)[2]
- ลำต้นหรือใบ นำมาต้มกับน้ำอาบรักษาผื่นคัน (ใช้ได้เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น) (ลำต้น, ใบ)[2]
ประโยชน์ของหงอนไก่
- เมล็ดหงอนไก่ป่า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เมล็ดเบื่อหมา” นำมาตำให้ละเอียดคลุกกับข้าวใช้เป็นยาเบื่อสุนัข ทำให้สุนัขอาเจียน ชัก หายใจผิดปกติ และตายภายใน 24 ชั่วโมง[1],[4]
พิษของหงอนไก่
- ส่วนที่มีพิษ : ลำต้น ราก และเมล็ดมีพิษห้ามนำมารับประทาน[2],[3],[4]
- สารพิษที่พบ : ในเมล็ดพบสารพิษ ได้แก่ สารในกลุ่ม Proteids ได้แก่ แอล-เมทิโอนีน ซัลโฟซิมีน (L-methionine sulfoximine) นอกจากนี้ยังพบสารชนิดนี้ในลำต้นและราก[4]
- อาการเป็นพิษ : ความรุนแรงของพิษขึ้นอยู่กับขนาดที่รับประทาน โดยขนาดที่รับประทาน 20 เมล็ด จะมีอาการรุนแรงมาก ได้แก่ อาการชักเกร็ง กระตุก ตาค้าง ปัสสาวะราดหลังจากการชักจะไม่รู้ตัว ส่วนในขนาด 7-10 เมล็ด จะมีอาการตาลาย วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และในขนาด 1/2-3 เมล็ด จะมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ แต่ไม่อาเจียน ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดท้องและบางรายไม่มีอาการ[4]
- ตัวอย่างผู้ป่วย : เด็กอายุ 9-14 ปี จำนวน 13 ราย ได้รับประทานเมล็ดหงอนไก่เข้าไป หลังจากนั้นประมาณ 10 กว่าชั่วโมง เด็กส่วนใหญ่มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และในจำนวนนี้ 4 ราย ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล[4]
- การรักษาพิษ : ให้สังเกตอาการและวัดอัตราการเต้นของหัวใจ จำนวนครั้งของการหายใจ เจาะเลือดเพื่อตรวจค่าอิเลกโตรไลท์ ให้น้ำเกลือและฉีดยาไดอะซีแพม (diazepam) เข้าทางหลอดเลือดดำ ในรายที่มีอาการชักร่วมด้วย และนอนรักษาที่โรงพยาบาล กรณีที่รับประทานเมล็ดจำนวนน้อย ควรสังเกตอาการก่อน ถ้าหากไม่พบอาการผิดปกติ จึงให้กลับบ้านได้[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หงอนไก่”. หน้า 75.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หงอนไก่, หมาตายไม่ต้องลาก”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [05 ต.ค. 2014].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “หงอนไก่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [05 ต.ค. 2014].
- ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “หมาตายซาก หรือ หงอนไก่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [05 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by loupok, Apurba Kumar, Cerlin Ng)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)