หงอนไก่ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหงอนไก่ไทย-เทศ 42 ข้อ !

หงอนไก่ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหงอนไก่ไทย-เทศ 42 ข้อ !

หงอนไก่

สมุนไพรหงอนไก่ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดที่ต้นตั้งตรงช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก (หงอนไก่ไทย) และชนิดที่ดอกมีรูปทรงคล้ายหงอนไก่ (หงอนไก่ฝรั่ง) ซึ่งทั้งสองชนิดเป็นพืชชนิดเดียวกันและอยู่ในวงศ์เดียวกัน (แต่ต่างสายพันธุ์) อีกทั้งยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นที่คล้ายกันอีกด้วย ส่วนสรรพคุณทางยาโดยรวมของทั้งสองก็คล้ายคลึงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ครับ

หงอนไก่ไทย

หงอนไก่ไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Celosia argentea L. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หงอนไก่ดง (นครสวรรค์), ดอกด้าย, ด้ายสร้อย, สร้อยไก่, หงอนไก่ (ภาคเหนือ), หงอนไก่ดอกกลม หงอนไก่ฟ้า หงอนไก่ฝรั่ง (ภาคกลาง), แซเซียง ชิงเซียงจื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น และมีชื่อสามัญว่า Cockscomb, Chainese Wool flower, Wool flower[2],[3],[4],[7]

  • ต้นหงอนไก่ไทย มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาเขตร้อน ภายหลังได้กระจายพันธุ์ปลูกไปทั่วโลก โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกฤดูเดียว มีอายุเพียง 1 ปี มีลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 40-150 เซนติเมตร มักแตกกิ่งก้านเป็นสีเขียวแกมแดง ลำต้นมีลักษณะฉ่ำน้ำและมีร่องตามยาว เปลือกลำต้นมีทั้งสีแดงและสีเขียว แบ่งออกไปตามสายพันธุ์[2],[3],[4],[7]

ต้นหงอนไก่

  • ใบหงอนไก่ไทย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน รูปหอกยาว หรือรูปเส้นแกมใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-18 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวและมักมีสีแดงแต้ม หรือเป็นสีแดงอมม่วง ใบตอนล่างจะมีขนาดใหญ่ ส่วนใบที่อยู่ส่วนยอดจะมีขนาดเล็กกว่า มีก้านใบยาวประมาณ 0.3-1.7 เซนติเมตร[2],[3]

ใบหงอนไก่

  • ดอกหงอนไก่ไทย ออกดอกเป็นช่อเป็นแท่งยาว โดยจะตามซอกใบและปลายกิ่งหรือปลายยอด ปลายช่อดอกแหลม ช่อดอกยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร อัดแน่นอยู่ในช่อเดียว ช่อดอกมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกย่อยมีกลีบดอกเป็นสีม่วงแกมสีชมพู หรือเป็นสีขาวปลายแต้มด้วยสีชมพู อยู่ติดกันเป็นกระจุก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ เกสรเพศผู้ 5 อัน และไม่มีก้านดอก[2],[3],[4]

ใบหงอนไก่

  • ผลหงอนไก่ไทย ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ผลมีกลีบเลี้ยงบางหุ้มเมล็ดอยู่ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่กลับ เมล็ดกลมแบนสีดำเป็นมันเงาและแข็ง มีจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมรี[2],[3],[4]

ผลหงอนไก่

ผลหงอนไก่ไทย

เมล็ดหงอนไก่

หงอนไก่ฝรั่ง

หงอนไก่ฝรั่ง (หงอนไก่เทศ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Celosia argentea var. cristata (L.) Kuntze, Celosia cristata L. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หงอนไก่ดง (นครสวรรค์), ดอกด้าย ด้ายสร้อย สร้อยไก่ หงอนไก่ (ภาคเหนือ), หงอนไก่ดอกกลม หงอนไก่ฟ้า หงอนไก่ฝรั่ง หงอนไก่เทศ หงอนไก่ไทย (ภาคกลาง), พอคอที (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ชองพุ ซองพุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), กระลารอน (เขมร-ปราจีนบุรี), แชเสี่ยง โกยกวงฮวย (จีนแต้จิ๋ว), จีกวนฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น และมีชื่อสามัญว่า Wild Cockcomb, Cockcomb, Common cockscomb, Crested celosin[1],[5],[8]

  • ต้นหงอนไก่ฝรั่ง จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 20 นิ้ว ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาไม่มากนัก และไม่มีแก่นด้วย เป็นพรรณไม้ที่กลายพันธุ์ได้ง่าย ทำให้บางต้นจึงมักไม่เป็นสีเขียวเสมอไป โดยอาจจะเป็นสีเขียวอ่อน สีขาว หรือสีแดง เป็นต้น ซึ่งก็แล้วแต่พันธุ์ของต้นนั้น ๆ สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดดจัด และเจริญเติบโตได้ง่ายและงอกงามเร็ว[1]

ต้นหงอนไก่ฝรั่ง

  • ใบหงอนไก่ฝรั่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกรวมกันเป็นกลุ่มตามข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปทรงมนรี รูปรี หรือรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก แผ่นใบเป็นสีเขียว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 10-15 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวหรือสีม่วงแดง ย่นเล็กน้อย ส่วนเส้นกลางใบเป็นสีชมพู[1],[5],[8]

ใบหงอนไก่ฝรั่ง

  • ดอกหงอนไก่ฝรั่ง ดอกจริง ๆ ของหงอนไก่ฝรั่งนั้นจะมีขนาดเล็กเป็นละอองแต่จะออกติดกันแน่นเป็นช่อเดียวกันคล้ายกับหงอนไก่ มีขนาดประมาณ 2-4 นิ้ว ลักษณะของช่อดอกจะบิดจีบม้วนไปมาอยู่ในช่อดูคล้ายหงอนไก่ แต่ละดอกจะมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ รูปปลายแหลม ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน ส่วนปลายมีรอยแยกเป็น 2 รอยตื้น ๆ โดยสีของดอกก็จะแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ เช่น สีแดง สีชมพู สีเหลือง สีขาว สีผสม เป็นต้น ช่อดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร[1],[5],[8]

ดอกหงอนไก่ฝรั่ง

  • ผลหงอนไก่ฝรั่ง ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ภายในผลมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมแบน เปลือกนอกเมล็ดเป็นสีดำแข็งและเป็นมัน[1],[5]

เมล็ดหงอนไก่ฝรั่ง

สรรพคุณของหงอนไก่

  1. รากมีรสขมเฝื่อน สรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)[2],[3],[5]
  2. ดอกใช้รวมกับพืชชนิดอื่นเป็นยาบำรุงกำลัง (ดอก)[9]
  3. ใช้เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้เมล็ดหงอนไก่แห้งประมาณ 4.5-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินหรือใช้ทำเป็นยาเม็ดกิน (เมล็ดแห้ง)[1],[4],[5]
  4. ตำรายาไทยจะใช้รากหงอนไก่เป็นยาแก้โลหิตเป็นพิษ (ราก)[2],[3]
  5. เมล็ดมีรสขมเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ใช้เป็นยาแก้ร้อนในตับ ช่วยขับลมร้อนในตับ (เมล็ด)[4]
  6. ช่วยแก้เลือดลมไม่ปกติ (ดอก)[7]
  7. ดอก ก้าน และใบหงอนไก่เทศ มีรสชุ่มเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับและไต มีสรรพคุณทำให้เลือดเย็น (ก้านและใบ,ดอกหงอนไก่เทศ)[8]
  8. ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (ราก)[6]
  9. ใช้เป็นยาแก้ไข้ที่มีอาการในทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ไข้ท้องอืดเฟ้อ ไข้พิษ ไข้อาหารเป็นพิษ และช่วยแก้ไข้เพื่อลม (มีอาการท้องอืดเฟ้อ) (ราก)[2],[3],[5],[6]
  10. ใช้แก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ดอกสด (ดอกมีรสฝาดเฝื่อน) ประมาณ 30-60 กรัม (ถ้าเป็นดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)[1],[3],[4]
  1. ใช้เป็นยารักษาโรคตาแดง ตาปวด เยื่อตาอักเสบ ช่วยทำให้ตาสว่าง ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)[1],[3],[4]
  2. ช่วยแก้ตาฟางในเวลากลางคืน ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 4.5-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินหรือทำเป็นยาเม็ดกิน (เมล็ดแห้ง)[1]
  3. ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้ก้านและใบสด (กิ่ง ก้าน และใบมีรสฝาดเฝื่อน) ประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกินก็ได้เช่นกัน ส่วนดอกสดมีสรรพคุณแก้อาเจียนเป็นเลือด วิธีใช้ให้นำดอกสด 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ถ้าเป็นดอกแห้งให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง (ลำต้น,ก้านและใบ,ดอก)[1],[3],[5],[8]
  4. ช่วยแก้อาการไอ ไอเป็นเลือด ด้วยการใช้ดอกหงอนไก่เทศสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ถ้าเป็นดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม (ดอก)[1],[8]
  5. ใช้เป็นยาแก้เสมหะ (ราก)[2],[3],[5]
  6. ใช้เป็นยาแก้หืด (ราก)[2],[3],[5]
  7. เมล็ดนำมาต้มกับน้ำใช้กลั้วรักษาแผลในช่องปากได้ (เมล็ด)[7]
  8. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ถ้าเป็นดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม หรือจะใช้เมล็ดแห้งประมาณ 4.5-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือใช้ทำเป็นยาเม็ดกินก็ได้ (ดอก,เมล็ด)[1],[4]
  9. ช่วยแก้อาการท้องอืด (ราก)[5]
  10. ใช้เป็นยาแก้โรคท้องเสีย ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มกับน้ำกิน (ลำต้น)[1]
  11. ตำรายาแผนไทยจะใช้เมล็ดเป็นยาแก้ท้องร่วง (เมล็ด)[7]
  12. ช่วยแก้โรคบิด ด้วยการใช้ก้านและใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน หรือจะใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (ถ้าแห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้บิดก็ได้ (ก้านและใบ,ดอก)[1],[3],[5]
  13. ใช้เป็นยาแก้ถ่ายเป็นมูกเลือด ด้วยการใช้ดอกหงอนไก่เทศสดประมาณ 30-60 กรัม (ดอกแห้งใช้ประมาณ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน ส่วนเมล็ดหงอนไก่เทศจะใช้เป็นยาแก้อุจจาระเป็นเลือด บิดถ่ายเป็นมูกเลือด ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 4.5-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือใช้ทำเป็นยาเม็ดกิน (ดอก,เมล็ด)[1],[5],[8]
  14. ใช้เป็นยาระบาย ด้วยการใช้ก้านและใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน (ก้านและใบ)[1]
  15. ดอกใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้ (ดอก)[7]
  16. ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ดอกหงอนไก่เทศ)[8]
  17. ใช้แก้ริดสีดวงทวาร (ดอก,เมล็ด)[3],[5]
  18. ใช้แก้ริดสีดวงทวารมีเลือดออก ด้วยการใช้ลำต้นสดของหงอนไก่เทศนำมาต้มกับน้ำกิน หรือใช้ก้านและใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน หรือจะใช้ดอกหงอนไก่เทศกับห่วงโฮง อย่างละเท่ากัน นำมาบดให้เป็นผง แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าลูกมะเขือพวง ใช้รับประทานครั้งละ 7-10 เม็ด (ลำต้น,ก้านและใบ)[1],[8]
  19. ใช้แก้สตรีตกเลือด ด้วยการใช้ก้านและใบสดของหงอนไก่ฝรั่งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน หรือใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกินหรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น ส่วนอีกวิธีให้ใช้ลำต้นสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ตกเลือด (ลำต้น,ก้านและใบ,ดอกหงอนไก่ฝรั่ง)[1]
  20. ใช้แก้ประจำเดือนมามากผิดปกติ ประจำเดือนไม่ปกติ ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)[1],[5]
  21. ช่วยแก้มุตกิดตกขาวของสตรี ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะนำมาดอกหงอนไก่เทศมาต้มกับเหล้าขาวรับประทานก็ได้ (ใช้ได้ทั้งดอกหงอนไก่ไทยและหงอนไก่เทศ)[1],[3],[8]
  22. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้ดี แต่ในตำราไม่ได้ระบุวิธีใช้และวิธีกิน (เมล็ด)[7]
  23. ก้านและใบนำมาตำพอกรักษาบาดแผลที่มีเลือดออกได้ (ก้านและใบ)[1]
  24. ใช้เป็นยาห้ามเลือด แก้เลือดไหลไม่หยุด (ก้านและใบ,ดอก,เมล็ดแห้ง)[1],[3],[4],[5],[8]
  25. ลำต้นอ่อนนำมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกแก้ตะขาบกัด (ลำต้น)[1]
  26. ใช้รักษาผิวหนังเป็นผดผื่นคัน ด้วยการใช้ก้านและใบนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น ส่วนดอกก็มีสรรพคุณช่วยแก้ผดผื่นคันได้เช่นกัน แต่เข้าใจว่านำมาต้มกับน้ำดื่ม ส่วนเมล็ดแห้งมีสรรพคุณช่วยรักษาผิวนหนังเป็นผดผื่นคัน อักเสบร้อนแดง (ก้านและใบ,ดอก,เมล็ดแห้ง)[1],[3]
  27. ใบมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการคันจากยางต้นรัก (ใบ)[9]
  28. ดอกใช้เข้าตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นเป็นยารักษาโรคมะเร็งคุด (อาการปวดตัวลงข้อ ปวดศีรษะ เจ็บเอว ปวดข้อ) ด้วยการใช้ดอกหงอนไก่ไทย รากสามสิบ รากผักหวานบ้าน รากถั่วพู รากรางเย็น รากมังคะอุ้ย ไม้มะแฟน หอยกาบ และงาช้าง นำมาฝนกับน้ำผสมกับข้าวสุดกินเป็นยารักษาโรคมะเร็งคุด (ดอก)[2]
  29. หากสัตว์มีอาการปวดท้องหลังคลอดลูก ให้ใช้ดอกหงอนไก่สีขาวแห้งประมาณ 60 กรัม, กัญชาเทศประมาณ 60-120 กรัม และใบสนหางสิงห์ (สนแผง) 120 กรัม นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับเหล้าให้สัตว์กิน (ดอก)[1]
  30. หากวัวหรือม้ามีเลือดกำเดาออก ให้ใช้ดอกหงอนไก่สดประมาณ 3-4 ช่อ ดอกทานตะวันประมาณ 2-3 ดอก และรากหญ้าคาประมาณ 60-100 กรัม นำมาต้มผสมกับน้ำทรายประมาณ 120 กรัม แล้วเอาน้ำต้มที่ได้มาให้สัตว์กิน (ดอก)[1]
  31. หากวัวหรือม้าถ่ายเป็นเลือด ให้ใช้ดอกหงอนไก่สีขาวแห้งประมาณ 120 กรัม, เหล่งแหง่เช่าประมาณ 30-60 กรัม, และดินสุกเป็นก้อนที่อยู่ตามก้นเตาถ่านประมาณ 60 กรัม นำมาบดผสมรวมกันให้ละเอียด แล้วใส่น้ำตาลทรายขาวลงไปประมาณ 120 กรัม ผสมให้สัตว์กิน (ดอก)[1]
  32. ส่วนข้อมูลอื่น ๆ ได้ระบุว่าหงอนไก่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อบิดมีตัว ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย รักษาผิวหนังอักเสบ ส่วนรากใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ข้อมูลส่วนไม่มีแหล่งอ้างอิงครับ)

หมายเหตุ : เมล็ดหงอนไก่ฝรั่ง สามารถใช้แทนกับเมล็ดหงอนไก่ไทยได้ เนื่องจากมีสรรพคุณทางยาที่เหมือนกัน[4],[8]

ข้อห้ามในการใช้สมุนไพรหงอนไก่

  • หญิงที่อยู่ในระหว่างการมีประจำเดือน ไม่ควรนำหงอนไก่มารับประทาน[1]
  • ผู้ที่เป็นโรคตาบอดใส ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหงอนไก่

  • เมล็ดพบสาร Oxalic acid, กรดไขมัน, โพแทสเซียมไนเตรด, Celosiaol, Nicotinic acid และยังพบน้ำมันระเหยอีกหลายชนิดด้วยกัน[4]
  • สารที่สกัดจาเมล็ดและดอกหงอนไก่ เมื่อนำมาทดลองก็พบว่ามีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Trichomonas vaginalis ได้ดี โดยเชื้อชนิดนี้เมื่อนำมาต้มด้วยคามร้อนสูงนาน 5-10 นาทีก็จะตายไป[1]
  • จากการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่อยู่ในช่วง 160-220 / 100-135 มม. ปรอท โดยทำการรักษาด้วยการใช้เมล็ดหงอนไก่แห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มสกัดเอาน้ำ 2 ครั้ง แล้วแบ่งกิน 3 ครั้งต่อวัน ผลการทดลองพบว่า หลังจากที่ได้รับไปแล้ว 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยมีความดันลดลงเหลืออยู่ในช่วง 125-146 / 70-90 มม. ปรอท[1] และจากการนำมาทดลองกับสัตว์ก็พบว่าเมล็ดหงอนไก่สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้[4]
  • น้ำมันระเหยจากเมล็ดหงอนไก้ มีฤทธิ์สามารถทำให้ม่านตาดำขยายตัวได้[4]

ประโยชน์ของหงอนไก่

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับแปลงทั่วไป ปลูกตามขอบแปลง ริมทางเดิน หรือจะปลูกเป็นไม้กระถางก็ได้ เพราะดอกมีความสวยงาม สีสันโดดเด่น เพาะปลูกได้ง่าย มีความแข็งแรงทนทนทาน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี เมื่อดอกบานแล้วจะมีอายุยืนยาว เช่นเดียวกับดอกบานไม่รู้โรย เพราะอยู่ในวงศ์เดียวกัน แต่เมื่อดอกแล้วโรยแล้วจะต้องเปลี่ยนต้นใหม่[5]
  • หรือจะปลูกเป็นไม้ตัดดอกทำดอกไม้แห้งก็ได้ เพราะสามารถเก็บไว้ได้นานและไม่เปลี่ยน[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หงอนไก่”.  หน้า 794-796.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หงอนไก่ไทย”.  หน้า 65.
  3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “หงอนไก่ไทย (Ngonkai Thai)”.  หน้า 312.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หงอนไก่ไทย”.  หน้า 570.
  5. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “หงอนไก่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm.  [06 ก.ค. 2014].
  6. หนังสือประมวลสรรพคุณยาไทย.  (สมาคม ร.ร.แพทย์แผนโบราณ).  “หงอนไก่”.
  7. ไทยรัฐออนไลน์.  (นายเกษตร).  “หงอนไก่ เมล็ดกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www. thairath.co.th.  [06 ก.ค. 2014].
  8. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หงอนไก่เทศ (หงอนไก่ฝรั่ง)”.  หน้า 572.
  9. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “หงอนไก่ไทย”.  อ้างอิงใน: หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [06 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : (by Scamperdale, Phuong Tran, naturgucker.de / enjoynature.net, Ahmad Fuad Morad, judymonkey17, Edward Lyon, chobo)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด