ส้มลม สรรพคุณและประโยชน์ของเครือส้มลม 11 ข้อ !

ส้มลม สรรพคุณและประโยชน์ของเครือส้มลม 11 ข้อ !

ส้มลม

ส้มลม ชื่อวิทยาศาสตร์ Aganonerion polymorphum Spire จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1]

สมุนไพรส้มลม มีชื่อเรียกอื่นว่า เครือส้มลม (อุบลราชธานี)[3]

ลักษณะของส้มลม

  • ต้นส้มลม จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น แต่ไม่มีมือสำหรับใช้ยึดเกาะ ลำต้นหรือเถามีลักษณะกลมเรียบ มีขนาดเล็กสีเขียว และมีน้ำยางสีขาว ตามกิ่งอ่อนมีขนละเอียด ส่วนกิ่งแก่มีช่องอากาศกระจายอยู่ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบเฉพาะทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคกลาง โดยมักขึ้นกระจายทั่วไปในป่าเต็งรัง ป่าละเมาะ และป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 700 เมตร จากระดับน้ำทะเล ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม[1],[3],[4]

ต้นส้มลม

  • ใบส้มลม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปวงรี หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม แหลมเป็นติ่ง หรือกลม โคนใบมน กลม ป้าน หรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างบางเรียบและเป็นมันมันวาว สีเขียวเข้ม และมักมีปื้นหรือจุดสีแดงกระจาย หลังใบและท้องใบเรียบ หรือหลังใบด้านบน ส่วนท้องใบด้านล่างมีขน มีขนสั้นนุ่มตามซอกเส้นแขนงใบด้านท้องใบ เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 3-6 เส้น ก้านใบยาวได้ประมาณ 0.5-3.2 เซนติเมตร ใบอ่อนมีรสเปรี้ยว[1],[2],[3]

ใบส้มลม

  • ดอกส้มลม ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงหรือช่อเชิงหลั่น โดยจะออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวได้ประมาณ 3-9 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ซึ่งดอกย่อยเป็นสีชมพูอ่อน สีชมพูเข้ม หรือสีบานเย็น ทรงกลม ปลายแหลม มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีประมาณ 20-30 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบมีลักษณะบิดเวียนขวาเล็กน้อย รูปค่อนข้างกลม กลีบดอกส่วนมากเป็นสีชมพูอมแดง ปากหลอดมีสีอ่อน หลอดกลีบยาวได้ประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ปากหลอดมีขนสีขาวสั้นนุ่มประปราย โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ เป็นสีขาวอมชมพูหรือสีเขียวแกมขาว ปลายแยกกัน ก้านดอกยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ สีแดงหรือสีเขียวเข้มปนแดง ยาวได้ประมาณ 3.5 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแหลม รูปไข่ ขอบกลีบมีขนครุยสั้น ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้ยาว 3-4 มิลลิเมตร มีอับเรณูคล้ายหัวลูกศร เกสรเพศเมีย มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 2 ห้อง แยกจากกัน มีขน รังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร รวมยอดเกสร ส่วนฐานรองดอกมี 5 พู ใบประดับมีขนาดเล็กรูปไข่แคบ ร่วงได้ง่าย[1],[2],[3]

รูปดอกส้มลม

ดอกส้มลม

  • ผลส้มลม ออกผลเป็นฝักคู่ โคนฝักติดกัน ฝักมีลักษณะกลม ปลายฝักแหลม ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร ผิวฝักเกลี้ยง ฝักสดเป็นสีเขียว เมื่อแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแตกออกตามยาวเป็นตะเข็บเดียว ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาล ลักษณะเรียวยาว ยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร ขนกระจุกยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร มีปุยหรือขนสีขาวติดอยู่ สามารถลอยไปตามลมได้[1],[3]

ฝักส้มลม

เมล็ดส้มลม

สรรพคุณของส้มลม

  1. ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้ลมวิงเวียน (ลำต้น)[3] หรือจะใช้ใบสด ๆ นำมาเคี้ยวกินเป็นยาแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย และช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ใบ) (โอภาส ถิรศิลาเวท)
  2. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำอาบแก้อาการคัน (ทั้งต้น)[3]
  3. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยขับลม (ราก)[3]
  4. ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคกระเพาะ (ราก)[3]
  5. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง (ราก)[1],[2]
  6. รากใช้ผสมกับยาสมุนไพรอื่น ๆ เป็นยารักษาอาการปัสสาวะขัด (ราก)[5]
  7. รากใช้เข้ายาแก้อาการตกขาวของสตรี (ราก)[3]
  8. รากส้มลมใช้ผสมกับรากต้างไก่ใหญ่ นำมาต้มดื่มเป็นยารักษาโรคม้ามโต (ราก)[5]
  9. รากส้มลมใช้ผสมกับกำจาย ต้นกะเจียน ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้นเล็บแมว ต้นมะดูก ต้นเปล้าใหญ่หรือเปล้าร้อน ต้นมะเดื่ออุทุมพร ตับเต่าโคก นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (ราก)[1],[2]

ประโยชน์ของส้มลม

  • ใบ ดอก และผลมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้[3] ยอดอ่อน ใบอ่อน ใบแก่ มีรสเปรี้ยวพอประมาณ (ไม่เปรี้ยวเท่ากับใบมะขามอ่อน) ใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก เกลือ ลาบ ปลาร้าบอง ป่นกบ ป่นปลา ก้อย กะปอม เป็นต้น บางครั้งใช้แทนใบมะขาม ทำต้มส้มต่าง ๆ เช่น ต้มอึ่ง ต้มยำปลา เป็นต้น
  • ใช้เป็นอาหารสัตว์จำพวกโค กระบือ[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ส้มลม (Som Lom)”.  หน้า 284.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “ส้มลม”.  หน้า 173.
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ส้มลม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [19 ต.ค. 2014].
  4. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ส้มลม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bedo.or.th.  [19 ต.ค. 2014].
  5. นายวันดี ยิ้มกระจ่าง : ยาพื้นบ้านอีสาน.

ภาพประกอบ : biodiversity.forest.go.th, www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด