ส้มป่อย สรรพคุณและประโยชน์ของส้มป่อย 46 ข้อ !

ส้มป่อย สรรพคุณและประโยชน์ของส้มป่อย 46 ข้อ !

ส้มป่อย

ส้มป่อย ชื่อสามัญ Soap Pod

ส้มป่อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia concinna (Willd.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acacia rugata (Lam.) Merr., Mimosa concinna Willd.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1],[3],[4],[9]

สมุนไพรส้มป่อย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มพอดี (ภาคอีสาน), ส้มคอน (ไทใหญ่), ส้มขอน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), พิจือสะ พิฉี่สะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ผ่อชิละ ผ่อชิบูทู (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แผละป่อย เมี่ยงโกร๊ะ ไม้ส้มป่อย (ลั้วะ), เบล่หม่าฮั้น (ปะหล่อง) เป็นต้น[1],[4],[6]

ลักษณะของส้มป่อย

  • ต้นส้มป่อย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่มรอเลื้อยทอดลำต้นเกาะเกี่ยวขึ้นไป สูงได้ประมาณ 3-6 เมตร แต่ไม่มีมือสำหรับเกาะเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น เถามีเนื้อแข็ง ขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล เถาอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง มีขนกำมะหยี่หรือขนสั้นหนานุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมสั้นอยู่ทั่วไปและมีขนหูใบรูปหัวใจ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภทที่ระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นปานกลางถึงน้อย และชอบแสงแดดมาก ขึ้นทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เป็นไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี มักพบขึ้นตามป่าคืนสภาพ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ที่ราบเชิงเขา และที่รกร้างทั่วไป[1],[3],[4],[6],[7],[8]

ต้นส้มป่อย

  • ใบส้มป่อย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ช่อใบย่อยมีประมาณ 5-10 คู่ ส่วนช่อย่อยมีประมาณ 10-35 คู่ ต่อช่อ ใบย่อยเรียงตรงข้าม ไม่มีก้านใบย่อย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานขนาดเล็ก ปลายใบมนหรือแหลม ที่ปลายเป็นติ่งหนามแหลมอ่อนโค้ง โคนใบมนหรือตัด ส่วนขอบใบหนาเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-11.5 มิลลิเมตร แผ่นใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 3.6-5 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มและหนาแน่น พบก้อนนูนสีน้ำตาลคล้ายต่อม 1 อัน อยู่ที่โคนของก้านใบ แกนกลางยาวประมาณ 6.6-8.5 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยสั้นมาก ยาวได้ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่านั้น เกลี้ยงและมีขนนุ่มหนาแน่น[1],[2],[3],[4]

ใบส้มป่อย

  • ดอกส้มป่อย ออกดอกเป็นช่อกระจุกรูปทรงกลม โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรืออกตามซอกใบข้างลำต้นประมาณ 1-3 ช่อดอกต่อข้อ มีขนาดประมาณ 0.7-1.3 เซนติเมตร มีดอกประมาณ 35-45 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2.5-3.2 มิลลิเมตร มีขนนุ่มหนาแน่น มีใบประดับดอก 1 อัน ลักษณะเป็นรูปแถบ ความยาวไม่เกิน 1 มิลลิเมตร โคนสอบเรียว สีแดง มีขนกระจายอยู่ทั่วไป ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่นอยู่เป็นแกนดอก กลีบดอกเป็นหลอดสีขาวนวล กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ หลอดกลีบกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ปลายแหลมเป็นสีแดง หรืออาจมีสีขาวปนบ้างเล็กน้อย ส่วนกลีบดอก หลอดกลีบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร มีขนบ้างเล็กน้อยที่ปลายกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 200-250 อัน โดยยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมีย รังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีออวุลประมาณ 10-12 ออวุล ก้านรังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านและยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร เป็นสีขาวอมเหลืองหรือสีเขียวอมเหลือง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[4]

ดอกส้มป่อย

  • ผลส้มป่อย ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน แบนยาว ผิวฝักเป็นลอนคลื่นเป็นข้อ ๆ ตามเมล็ด ปลายฝักมีหางแหลม สันฝักหนา ผิวฝักขรุขระหรือย่นมากเมื่อแห้ง ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.3-1.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-9.3 เซนติเมตร ฝักอ่อนเปลือกเป็นสีเขียวอมแดง เมื่อแก่แล้วฝักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลดำ ก้านฝักยาวประมาณ 2.8-3 เซนติเมตร ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดประมาณ 5-12 เมล็ด เมล็ดส้มป่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงแบนรี สีดำผิวมัน มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ฝักมีสารในกลุ่มซาโปนินสูงถึง 20% เมื่อนำมาตีกับน้ำจะเกิดฟอง[1],[2],[4]

ผลส้มป่อย

ฝักส้มป่อย

สรรพคุณของส้มป่อย

  1. ใบมีรสเปรี้ยว ฝาดเล็กน้อย ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาฟอกโลหิต (ใบ)[4]
  2. ดอกมีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก)[3]
  3. เปลือกฝักมีรสเปรี้ยวเผ็ดปร่า มีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกฝัก)[1],[4]
  4. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัย (เปลือกต้น)[3]
  5. ช่วยแก้ซางเด็ก (เปลือกฝัก)[1],[4]
  6. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาลดไขมัน ช่วยลดความอ้วนหรือลดน้ำหนัก โดยใช้ดอกประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่ม เช้าและเย็น (ดอก)[3]
  7. ใบใช้เป็นยาแก้โรคตา (ใบ)[1],[3],[4] ส่วนต้นใช้เป็นยาแก้โรคตาแดง (ต้น)[4]
  8. ต้นมีรสเปรี้ยวฝาด มีสรรพคุณเป็นยาแก้น้ำตาพิการ (ต้น)[1],[3],[4]
  1. รากมีรสขม ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ราก)[1],[3],[4] หรือจะใช้ยอดส้มป่อยนำมาต้มกินข้าวต้มก็เป็นยาแก้ไข้ได้เช่นกัน (ยอดอ่อน)[12]
  2. ฝักนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย (ฝัก)[1],[4]
  3. ต้นและรากส้มป่อยนำมาต้มกับแก่นขนุน คนทา ชิงช้าชาลี น้ำนอง เปลือกมะเดื่อ เท้ายายม่อม หัวย่านนาง และหญ้าเข็ดมอน เป็นยาแก้ไข้ เจ็บยอกในอก หรือที่โบราณเรียกว่าไข้ยมบน (ต้น,ราก)[11]
  4. ฝักและเปลือกฝักมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้ฝักนำมาปิ้งให้เหลืองแล้วชงกับน้ำจิบกินเป็นยา หรือจะใช้เปลือกนำมาแช่กับน้ำดื่มทำให้ชุ่มคอแก้ไอได้เช่นกัน (ฝัก,เปลือกฝัก)[1],[3],[4],[12]
  5. ใบมีรสเปรี้ยวฝาดเล็กน้อย ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับเสมหะ ส่วนฝักก็มีสรรพคุณช่วยขับเสมหะเช่นกัน (ใบ,ฝัก)[1],[2]
  6. ฝักมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะ ด้วยการนำฝักมาปิ้งให้เหลือง ใช้ชงกับน้ำจิบกินเป็นยา (ฝัก)[3],[4] เปลือกฝักมีสรรพคุณกัดเสมหะ (เปลือกฝัก)[1],[4] เปลือกต้นและใบมีสรรพคุณช่วยถ่ายเสมหะ โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกต้น,ใบ)[3],[4]
  7. เมล็ดนำมาคั่วให้เกรียมแล้วบดให้ละเอียด ใช้เป่าจมูก ทำให้คันจมูกและทำให้จามได้ดี (เมล็ดคั่ว)[1],[4]
  8. ฝักมีสรรพคุณช่วยแก้ริดสีดวงจมูก (ฝัก) (ไม่ระบุวิธีใช้)[11]
  9. ช่วยทำให้อาเจียน (ฝัก)[1],[3]
  10. ช่วยแก้น้ำลายเหนียว (ใบ,ฝัก)[1],[4]
  11. รากมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ (ราก)[3]
  12. ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด (ใบ)[1],[3],[4]
  13. รากส้มป่อยนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องร่วง (ราก)[8],[10],[12]
  14. ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มจะช่วยชำระเมือกมันในลำไส้ (ใบ)[4]
  15. ช่วยแก้อาการท้องอืด ด้วยการใช้ยอดอ่อนส้มป่อยนำมาต้มกินกับข้าวต้ม (ยอดอ่อน)[12]
  16. ต้นและเปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ต้น,เปลือกต้น)[3],[4]
  17. ฝักมีรสเปรี้ยว ใช้ต้มหรือหรือบดกินเป็นยาถ่าย (ฝัก)[1],[3],[4]
  18. ช่วยขับพยาธิในลำไส้ (ใบ)[3]
  19. ยอดอ่อนหรือใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำ และผสมกับน้ำผึ้งใช้ดื่มกินเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ (ยอดอ่อน)[4],[5]
  20. ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับระดูขาวของสตรี ช่วยฟอกล้างโลหิตระดู (ใบ)[1],[4],[5]
  21. เปลือกนำมาต้มกินเป็นยาแก้โรคตับ (เปลือก)[12]
  22. ฝักใช้ตำพอกหรือชุบสำลีปิดแผล แก้โรคผิวหนัง ใช้ทำขี้ผึ้งปิดแผลแก้โรคผิวหนัง (ฝัก)[1],[2],[4]
  23. ยอดอ่อนนำมาตำผสมกับขมิ้นอ้อย แล้วใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย หมกไฟพออุ่น แล้วนำไปพอกจะช่วยแก้ฝี แก้พิษฝี ทำให้ฝีแตกเร็วหรือยุบไป ส่วนอีกวิธีใช้รากส้มป่อยนำมาฝนใส่น้ำปูนใสทาบริเวณที่เป็นฝี (ราก,ยอดอ่อน)[4],[8],[10],[12]
  24. ใบใช้ตำประคบหรือตำห่อผ้าประคบเส้นช่วยทำให้เส้นเอ็นอ่อน แก้เส้นเอ็นพิการ ขัดยอก ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณทำให้เส้นเอ็นหย่อนเช่นกัน (เปลือกต้น,ใบ)[1],[3],[4],[5]
  25. ดอกมีรสเปรี้ยวฝาดมัน มีสรรพคุณเป็นยาแก้เส้นเอ็นที่พิการให้สมบูรณ์ (ดอก)[1],[3],[4]
  26. ช่วยทำให้สตรีมีครรภ์คลอดได้ง่าย ด้วยการใช้ฝักส้มป่อยประมาณ 3-7 ข้อ นำมาต้มกับน้ำอาบตอนเย็น โดยให้อาบก่อนกำหนดคลอด 2-3 วัน แต่ห้ามอาบมากเพราะจะทำให้รู้สึกร้อน (ฝัก)[8],[10]
  27. นอกจากนี้ใบและฝักส้มป่อยยังปรากฏอยู่ในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งได้แก่ ตำรับ “ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง” โดยเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรชนิดหลายชนิด ได้แก่ ใบส้มป่อย ฝักส้มป่อย ใบมะกา ใบมะขาม ใบไผ่ป่า ฝักคูน ขี้เหล็ก เถาวัลย์เปรียง รากขี้กาขาว รากขี้กาแดง รากตองแตก สมอไทย สมอดีงู หัวหอม และหญ้าไทร ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณแก้อาการท้องผูก มักนำมาใช้ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของส้มป่อย

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ acaiaside, acacinin A, B, C, D, azepin, concinnamide, lupeol, machaerinic acid menthiafolic, sonuside, sitosterol, spinasterol[3]
  • ฝักมีสารออกฤทธิ์ในกลุ่มซาโปนินสูงถึง 20.8% ได้แก่ acacinin A, B, C, D, E ถ้านำฝักมาตีกับน้ำจะเกิดฟองที่คงทนมาก[2],[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าฝักส้มป่อยมีสารแทนนินประมาณ 11%, malic aicd ประมาณ 13%, น้ำตาลกลูโคสประมาณ 14%, และมียางเมือกประมาณ 20%[10]
  • ส้มป่อยมีฤทธิ์ต้านการบีบตัวของลำไส้ ลดความดันโลหิต ช่วยขับปัสสาวะ ต้านเชื้อรา ฆ่าพยาธิไส้เดือน[3]
  • เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองสารสกัดจากดอกส้มป่อยกับหนูเพศผู้ โดยการให้สารสกัดในขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยใช้ระยะเวลาการทดลองนาน 3 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า ค่าคอเลสเตอรอลในเลือดของหนูทดลองลดลง ไตรกลีเซอไรด์ลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสารสกัดจากส้มป่อยยังมีผลลดอสุจิและ endometrial glands ในมดลูก มีการเปลี่ยนแปลงในชั้นเซลล์ในมดลูก สรุปว่าสมุนไพรส้มป่อยสามารถใช้เป็นยาคุมกำเนิดได้ด้วย[3]
  • สารสกัด acacic acid จากเปลือกส้มป่อย มีฤทธิ์ฆ่าสเปิร์ม ส่วนสารสกัดซาโปนินจากเปลือกที่ความเข้มข้น 0.004% มีฤทธิ์ฆ่าสเปิร์มในคนเพศชาย[9]
  • สารสกัดซาโปนินจากเปลือกส้มปอยและสารสกัดเอทานอลและน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 มีฤทธิ์ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก โดยค่าดัชนีการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงเท่ากับ 1,350[9]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเมื่อฉีดสารสกัดจากใบและก้านหรือลำต้นส้มป่อย ด้วยแอลกอฮอล์และน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เมื่อให้หนูถีบจักรกินหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบพิษ[3],[5] และเมื่อฉีดสารสกัดเอทานอลและน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 จากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นส้มป่อย เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่ามีค่า LD50 เท่ากับ 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[9]
  • สารสกัดเอทานอลและน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 จากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นส้มป่อย ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ CA-9KB ในขนาดของสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ครึ่งหนึ่งมีค่ามากกว่า 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม[9]
  • สารสกัดเมทานอล 75% จากฝักส้มป่อยเป็นพิษต่อเซลล์ Fibrosarcoma HT-1080 ความเข้มข้นของสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ครึ่งหนึ่งเท่ากับ 2.1 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม โดยมีสารที่ออกฤทธิ์คือสาร Kinmoonosides A, B, C ส่วนสารสกัดเมทานอล ส่วนสกัดที่ละลายน้ำ สารสกัดเมทานอลและเอทานอล ในอัตราส่วน 1:1 จากฝักส้มป่อย เป็นพิษต่อเซลล์ Fibrosarcoma HT-1080 อย่างอ่อน โดยความเข้มข้นของสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ครึ่งหนึ่งมีค่าเท่ากับ 10, 17.9, 21.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ส่วนสารสกัดคลอโรฟอร์ม สารสกัดอะซีโตน ส่วนสกัดที่ละลายน้ำ สารสกัดเมทานอล และสารสกัดเมทานอลและเอทานอล ในอัตราส่วน 1:1 จากฝักส้มป่อย มีความเป็นพิษต่อเซลล์ CA-Colon-26-L5 อย่างอ่อน[9]

ประโยชน์ของส้มป่อย

  1. ยอดอ่อนและใบอ่อนมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ แจ่ว หรือนำมาปรุงรส เช่น ต้มปลา เนื้อเปื่อย หรือนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ทำแกงส้ม ต้มส้มไก่ ต้มข่าไก่ ต้มส้มป่อย ข้าวผัดดอกส้มป่อยหรือข้าวผัดปลาส้มแม่ม่าย แกงเขียดน้อยใส่ยอดส้มป่อย ยอดส้มป่อยอ่อง ใช้ใส่แกงปลาหรือเนื้อ ใส่แกงอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว เป็นต้น ส่วนชาวปะหล่องจะใช้ยอดอ่อนนำไปผสมกับน้ำพริกห่อใบตองแล้วนำไปหมกรับประทานหรือนำไปทำแกง ส่วนชาวกะเหรี่ยงจะใช้ทั้งยอดอ่อนและดอก เพื่อนำมาประกอบอาหาร เช่น ทำแกง[4],[6],[12]
  2. ใบของส้มป่อยถือเป็นผักที่มีวิตามินเอและเบต้าแคโรทีนสูงมากเป็นอันดับต้น ๆ ผลจากการทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของยอดส้มป่อยพบว่ามีสูงมาก และยังมีสารซาโปนินในฝักส้มป่อยที่ทำให้ทีเซลล์ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้นด้วย[12]
  3. ยอดอ่อนและใบอ่อนสามารถใช้เพื่อดับกลิ่นคาวปลาได้[4]
  4. ฝักแก่แห้งนำมาต้มเอาน้ำใช้สระผมแก้รังแค แก้อาการคันศีรษะ บำรุงเส้นผม ทำให้ผมชุ่มชื้นเป็นเงางาม เป็นยาปลูกผม และป้องกันผมหงอกก่อนวัย หรือใช้ต้มกับน้ำอาบหลังคลอด[1],[2],[4],[5],[12] ส่วนตำรับยาแก้รังแค อาการคันหนังศีรษะ และรักษาผมหงอกก่อนวัยนั้น ระบุว่าให้ใช้ฝักส้มป่อยที่ปิ้งไฟประมาณ 10 นาที นำมาต้มรวมกับลูกมะกรูดที่หมกไฟดีแล้ว 2 ลูก ในน้ำ 5 ลิตร แล้วต้มจนเดือดจนแตกฟองดี แล้วนำมาใช้หมักและสระผม หากสระผมด้วยส้มป่อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะช่วยทำให้อาการคันบนหนังศีรษะและรังแคหายไปได้[12]
  5. ชาวลั้วะจะใช้เปลือกต้นนำมาทุบใช้ขัดตัวเวลาอาบน้ำหรือนำไปใช้สระผม ส่วนชาวไทใหญ่จะใช้ฝักแห้งนำมาต้มกับน้ำอาบและใช้ขัดตัว หรือนำมาแช่น้ำใช้สระผม[6]
  6. ใบส้มป่อยถูกนำมาใช้ในสูตรยาอบสมุนไพร โดยจะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ที่ช่วยชำละล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ ช่วยบำรุงผิวพรรณ เพิ่มความต้านทานโรคให้กับผิวหนัง แก้ปวดเมื่อย และช่วยแก้หวัดได้ และยังถูกนำมาใช้ในสูตรยาลูกประคบสมุนไพรเพื่อเป็นยาแก้โรคผิวหนัง บำรุงผิว ลดความดัน[5]
  7. ใบและฝักนำมาต้มกับน้ำอาบ ใช้ทำความสะอาด และบำรุงผิว[4]
  8. ใบส้มป่อยสามารถนำมาสกัดทำเป็นสีย้อมเส้นไหมได้ โดยสีที่ได้คือสีเขียวอ่อน สีเหลืองอ่อน สีน้ำตาลอ่อน หรือสีครีม[7] นอกจากนี้เปลือกต้นส้มป่อยยังให้สีน้ำตาลและสีเขียว ที่สามารถนำมาใช้ในการย้อมผ้า ย้อมแห และย้อมอวนได้[8]
  9. น้ำของฝักส้มป่อยสามารถนำมาใช้ขัดเครื่องเงิน เครื่องทอง และเครื่องโลหะอื่น ๆ ได้[8]
  10. ในด้านของความเชื่อส้มป่อยถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวล้านนา โดยชาวบ้านจะใช้ฝักในพิธีกรรมทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ ใช้ในงานมงคล ทำน้ำมนต์รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (เชื่อว่าเป็นการแสดงออกถึงความเคารพบูชาและเป็นการขอขมาลาโทษต่อผู้ใหญ่) หรือใช้สรงน้ำพระพุทธรูป ใช้อาบน้ำผู้ป่วยเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย ไล่ผี ใช้ล้างหน้าลูกหลังและล้างมือหลังไปงานศพ (เชื่อว่าจะช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์โศกและไม่ให้สิ่งเลวร้ายมารบกวน) หรือจะใช้ใบส้มป่อยใส่ลงไปในน้ำเพื่อใช้สระผมก่อนพิธีโกนผมนาคเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนชาวเหนือจะใช้ฝักส้มป่อยเป็นของขลัง ที่ช่วยป้องกันตนจากสิ่งเลวร้ายในยามจะออกนอกบ้าน โดยจะใช้ฝักส้มป่อย 3 ข้อ และข้าวสุก 3 ก้อนขว้างไปข้างหน้า ข้างหลัง และข้างบน พร้อมกับกล่าวคำว่า “เคราะห์ตังหลัง อย่าไปอยู่ท่า เคราะห์ตังหน้า อย่าไปมาจน เคราะห์ตังบน อย่าไปมาต้อง” หรือในยามที่ไปงานศพ ชาวเหนือจะเอาฝักส้มป่อยใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือเหน็บไว้ที่ผม ด้วยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันผีสางมิให้มารบกวนได้ หรือในยามที่มีลมพายุชาวเหนือก็จะนำฝักส้มป่อยไปเผาไฟ เชื่อว่าจะทำให้ลมพายุอ่อนแรงลงได้ ฯลฯ (แต่ในช่วงฤดูกาลที่ไม่มีฝักจะใช้ใบแทนก็ได้ในบางกรณี) และชาวบ้านยังเชื่อว่าต้องเก็บฝักในช่วงก่อนฝนตกฟ้าร้อง เชื่อว่าจะมีความขลังมากยิ่งขึ้น ส่วนคนเมืองจะใช้ฝักนำไปทำน้ำส้มป่อย ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ หรือนำฝักแห้งมาใช้ใส่น้ำมนต์ในงานมงคลต่าง ๆ ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ฝักแก่แห้ง นำมาทำน้ำส้มป่อยหรือนำมาผูกกับตาแหลว (เครื่องรางอย่างหนึ่ง) เป็นต้น[6],[8],[10],[11]
  11. ส้มป่อยจัดเป็นไม้มงคลของชาวไทย โดยเชื่อว่าการปลูกส้มป่อยจะช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งเลวร้ายไม่ให้มารบกวน ช่วยเสริมหรือคืนอำนาจให้ผู้มีถาคาอาคม โดยกำหนดให้ปลูกไว้ทางทิศเหนือ[10]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ส้มป่อย (Som Poi)”.  หน้า 282.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ส้มป่อย”.  หน้า 33.
  3. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ส้มป่อย”  หน้า 178.
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ส้มป่อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [28 ก.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ส้มป่อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [28 ก.ค. 2014].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ส้มป่อย, ส้มป่อยป่า”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสารานุกรมสมุนไพร : รวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช)., หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [28 ก.ค. 2014].
  7. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  “ส้มป่อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th.  [28 ก.ค. 2014].
  8. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม .  “ส้มป่อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก:www.dnp.go.th. [28 ก.ค. 2014].
  9. ฐานข้อมูลความปลอดภัยของสมุนไพรที่มีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ส้มป่อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/poisonpr/.  [28 ก.ค. 2014].
  10. สถาบันการแพทย์แผนไทย.  “ส้มป่อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th.  [28 ก.ค. 2014].
  11. เทศบาลเมืองทุ่งสง.  “ส้มป่อย”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tungsong.com.  [28 ก.ค. 2014].
  12. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 365 คอลัมน์: เรื่องเด่นจากปก.  (ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร).  “ส้มป่อย สุดยอดผักเพิ่มภูมิคุ้มกัน กำจัดพิษกาย พิษใจ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [28 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Jayesh Patil, Shubhada Nikharge, btc_flower, Indianature SI, Dinesh Valke), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด