ส้มจี๊ด สรรพคุณและประโยชน์ของส้มจี๊ด 13 ข้อ !

ส้มจี๊ด สรรพคุณและประโยชน์ของส้มจี๊ด 13 ข้อ !

ส้มจี๊ด

ส้มจี๊ด ชื่อสามัญ Kumquats, Cumquats (คัมควอท)[1]

ส้มจี๊ด ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus japonica Thunb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Citrus madurensis Lour., Citrus microcarpa Bunge) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1]

ส้มจี๊ด หรือ ส้มกิมจ๊อ เป็นพืชท้องถิ่นในประเทศจีน แล้วจึงแพร่กระจายพันธุ์ไปญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี ในภาษาจีนกวางตุ้งจะเรียกว่า “ก่ำควิด” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “kumquat” (คัมควอท มาจากภาษาจีนที่หมายถึง “ส้มสีทอง“)[2]

ลักษณะของส้มจี๊ด

  • ต้นส้มจี๊ด จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 1.5-3 เมตร ตามกิ่งมีหนามแหลมคม ยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ขึ้นได้ทั่วไป มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันตก[1]

ต้นส้มจี๊ด

  • ใบส้มจี๊ด ใบเป็นใบประกอบชนิดแบบลดรูปที่มีใบย่อยใบเดียว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเนียน ผิวใบเป็นมันสีเขียว มีหูใบขนาดเล็ก[1]

ใบส้มจี๊ด

  • ดอกส้มจี๊ด ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว แต่มักออกรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ดอกเป็นสีขาวมีกลิ่นหอมแรง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ ร่วงได้ง่าย เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก[1]

ดอกส้มจี๊ด

  • ผลส้มจี๊ด ผลมีลักษณะเหมือนผลส้มทั่วไป แต่จะมีขนาดเล็ก ส้มชนิดนี้เป็นส้มที่กินเปลือกผล ผลมีขนาดเล็กมีทั้งกลมและรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ผิวผลบางเป็นสีเขียวและมีกลิ่นหอม เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม เนื้อในผลมีรสเปรี้ยวจัด ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด[1]

ผลส้มจี๊ด

รูปส้มจี๊ด

เมล็ดส้มจี๊ด

สรรพคุณของส้มจี๊ด

  1. ผลส้มจี๊ดมีวิตามินสูง น้ำส้มคั้นใช้ผสมกับเกลือเล็กน้อยใช้จิบกินแก้อาการไอ (ผล)[1],[3]
  2. น้ำในผลนำมาผสมกับเกลือเล็กน้อย ใช้กินเป็นยาขับเสมหะ (ผล)[1],[3]
  3. ผลใช้ดองกับเกลือและทำให้แห้ง ใช้อมแก้อาการเจ็บคอ (ผล)[1]
  4. ช่วยแก้เสียงแหบ (ผล)[3]
  5. ช่วยแก้ภูมิแพ้ที่สำแดงอาการทางลำคอ (ผล)[3]
  6. ปอดเป็นอวัยวะที่ดูดซับอารมณ์ ความเศร้าเสียใจ ผู้ที่มีเรื่องเสียใจ ร้องไห้เสมอ นานเข้าจะสูญเสียพลังปอด ทำให้ปอดชื้น มีเสมหะมาก เป็นหวัดหายยาก ชาส้มจี๊ดจะช่วยรักษาได้ (ชาส้มจี๊ด)[3]
  7. ตามสรรพคุณยาจีน ผลส้มจี๊ดมีพลังเย็น รสเปรี้ยวอมหวาน มีสรรพคุณช่วยหล่อลื่นปอด (ผล)[3]
  8. เปลือกผลดิบใช้รับประทานสด ๆ จะช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ (เปลือกผล)[2] ส่วนชาส้มจี๊ดมีสรรพคุณแก้อาการท้องอืด มีลมในท้อง ลมตีขึ้นเบื้องบนซึ่งทำให้คลื่นไส้อาเจียน (ชาส้มจี๊ด)[3]
  9. ช่วยในการย่อยอาหาร (เปลือกผล)[2]

วิธีทำชาส้มจี๊ด : ให้เตรียมส้มจี๊ดสดประมาณ 5-8 ลูก และน้ำตาลกรวด 20 กรัม นำส้มจี๊ดมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ถ้วยชา ใส่น้ำตาลกรวดตามความต้องการ ชงในน้ำร้อนเดือด ๆ ปิดฝาอบไว้ให้นาน จนมีกลิ่นหอมระเหยขึ้นมา ใช้ดื่มในขณะอุ่น[3]

ประโยชน์ของส้มจี๊ด

  1. ผลส้มจี๊ดอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี และกรดอินทรีย์อีกหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย[2]
  2. ผลมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานแทนมะนาว หรือนำมาใช้ปรุงอาหาร ใช้แต่งรสเปรี้ยวในการทำน้ำผลไม้ ใช้ทำแยม ทำส้มจี๊ดแช่อิ่ม ส้มจี๊ดเชื่อม ส้มจี๊ดดอง ชาส้มจี๊ด ส่วนผลสุกนำมาคั้นทำน้ำพริก ส้มเกล่า เปลือกผลห่าม ๆ นำมาจิ้มกับน้ำพริกรับประทาน หรือนำเปลือกไปดองเค็มเรียก “กิมจ๊อ[1],[2]
  3. เปลือกผลมีน้ำมันหอมระเหยที่สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำน้ำมันหอมระเหย
  4. นอกจากจะปลูกไม้กินผลแล้ว ยังสามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย[2]

คุณค่าทางโภชนาการของส้มจี๊ด ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 71 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 15.9 กรัม
  • น้ำตาล 9.36 กรัม
  • ใยอาหาร 6.5 กรัม
  • ไขมัน 0.86 กรัม
  • โปรตีน 1.88 กรัม
  • วิตามินเอ 15 ไมโครกรัม (2%)
  • ลูทีนและซีแซนทีน 129 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1 0.037 มิลลิกรัม (3%)
  • วิตามินบี 2 0.09 มิลลิกรัม (8%)
  • วิตามินบี 3 0.429 มิลลิกรัม (3%)
  • วิตามินบี 5 0.208 มิลลิกรัม (4%)
  • วิตามินบี 6 0.036 มิลลิกรัม (3%)
  • วิตามินบี 9 17 ไมโครกรัม (4%)
  • วิตามินซี 43.9 มิลลิกรัม (53%)
  • วิตามินอี 0.15 มิลลิกรัม (1%)
  • โคลีน 8.4 มิลลิกรัม (2%)
  • แคลเซียม 62 มิลลิกรัม (6%)
  • ธาตุเหล็ก 0.86 มิลลิกรัม (7%)
  • แมกนีเซียม 20 มิลลิกรัม (6%)
  • แมงกานีส 0.135 มิลลิกรัม (6%)
  • ฟอสฟอรัส 19 มิลลิกรัม (3%)
  • โพแทสเซียม 186 มิลลิกรัม (4%)
  • โซเดียม 10 มิลลิกรัม (1%)
  • สังกะสี 0.17 มิลลิกรัม (2%)

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

เอกสารอ้างอิง
  1. พรรณไม้ในประเทศ.  “ส้มจี๊ด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.vegetation.thmy.com.  [21 ต.ค. 2014].
  2. หนังสือผลไม้ 111 ชนิด : คุณค่าอาหารและการกิน (นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์).  “ส้มกิมจ๊อ”.
  3. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี.  “ชาส้มจี๊ด (น้ำกิมกิก)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.skn.ac.th/skl/project/49/te/menu.htm.  [21 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Kiasog, HEARTS IN THE HIGHLANDS, Forest and Kim Starr, specijalac, George Ino, DianesDigitals, 3Point141)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด