ส้มกุ้ง
ส้มกุ้ง ชื่อสามัญ False Black Pepper, White-flowered Embelia, Vidanga, Vaividang, Vai Vidang, Vavding
ส้มกุ้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Embelia ribes Burm.f. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Embelia gaseinifolia Wall. Ex Ridl) จัดอยู่ในวงศ์ PRIMULACEAE (MYRSINACEAE)[1]
สมุนไพรส้มกุ้ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สนขี้มด (หนองคาย), ส้มกุ้ง (ระนอง, ตรัง) เป็นต้น[4]
ลักษณะของส้มกุ้ง
- ต้นส้มกุ้ง จัดเป็นพรรณไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เลื้อย มีความสูงได้ประมาณ 3-6 เมตร และอาจยาวได้ถึง 13 เมตร[1]
- ใบส้มกุ้ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมวงรีถึงรูปขอบขนานแกมใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน[1]
- ดอกส้มกุ้ง ออดอกเป็นช่อแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเขียวหรือสีขาว กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกลึก ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร กลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกลึก ลักษณะเป็นรูปวงรี ยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนขึ้นหนาแน่น[1]
- ผลส้มกุ้ง ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือดำ ฉ่ำน้ำ[1]
สรรพคุณของส้มกุ้ง
- ใช้เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ด้วยการใช้เมล็ดส้มกุ้งที่แห้งแล้วนำมาป่นให้เป็นผง ใช้ประมาณ 1-2 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม เช้าและเย็น (เมล็ด)[1]
- รากและใบใช้เป็นยาแก้โลหิต (ราก,ใบ)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ไอ (เถา, ราก, ใบ)[1],[3]
- รากใช้เป็นยาขับเสมหะ ละลายเสมหะ แก้เสมหะ (ราก)[1] กัดฟอกเสมหะ (เถา, ใบ)[1] กัดฟอกเสมหะและโลหิต (เนื้อไม้)[1]
- รากหรือเถาใช้เป็นยารักษาริดสีดวงจมูก (รากหรือเถา)[4]
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หอบหืด (ใบ)[1]
- ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ทำให้อุจจาระนิ่ม (เถา, ใบ)[1],[3]
- รากใช้เป็นยาถ่ายพรรดึก (ราก)[1]
- ใช้เป็นยาขับฟอกโลหิตระดู (เถา, ใบ)[1]
- เนื้อไม้และกระพี้นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปัสสาวะขัดหรือขุ่น แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ช่วยชะล้างทางเดินปัสสาวะ (เนื้อไม้และกระพี้)[3]
- ช่วยแก้อาการช้ำใน (เถา, เนื้อไม้, ราก, ใบ)[1]
- ใช้เป็นยาถ่ายเส้นเอ็น (เถา, เนื้อไม้, ราก)[1] ช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อน (ใบ)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของส้มกุ้ง
- สารสำคัญที่พบ ได้แก่ christenbine, embelin, quercitol, D-querecitol, vilangin[1]
- ส้มกุ้งมีฤทธิ์ยับยั้งเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดระดับไขมันในเลือด ทำให้ผอมลง ยับยั้งฟันผุ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ คุมกำเนิด ทำให้แท้งบุตร ยับยั้งความเป็นพิษต่อตับ ต้านเชื้อแบคทีเรีย[1]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดจากเมล็ดส้มกุ้งด้วย 50% เอทานอลเข้าที่ช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้หนูทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งมีค่าเท่ากับ 750 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[2]
- เมื่อปี ค.ศ.1979 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากเมล็ดของส้มกุ้งในสัตว์ทดลอง ผลการทดลองพบว่าสมุนไพรชนิดนี้สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[1]
- เมื่อปี ค.ศ.1991 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองให้หนูขาวกินสารสกัดจากเมล็ดส้มกุ้งด้วย 50% เอทานอล ในขนาด 75 มิลลิกรัม นานติดต่อกัน 36 วัน ผลการทดลองพบว่าหนูผอมลง และมีระดับไขมันในเลือดลดลง[2]
ประโยชน์ของส้มกุ้ง
- ผลสุกใช้รับประทาน เป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง[3]
- ใบอ่อนและยอดอ่อนสามารถนำมารับประทานเป็นผัก หรือนำมาใส่ในแกงส้ม แกงเลียงรวมกับผักอื่น[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ส้มกุ้ง”. หน้า 152.
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ส้มกุ้ง”. หน้า 174.
- Treeofthai. “ส้มกุ้ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : treeofthai.com. [16 ก.ค. 2015].
- พืชสมุนไพรโตนงาช้าง. “กลึงกล่อม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [23 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Siddarth Machado, pawan soni)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)