สีเสียด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสีเสียดเหนือ 23 ข้อ !

สีเสียด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสีเสียดเหนือ 23 ข้อ !

สีเสียดเหนือ

สีเสียดเหนือ ชื่อสามัญ Catechu tree, Cutch tree[1], Cutch, Black Catechu[6]

สีเสียดเหนือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia catechu (L.f.) Willd. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1],[3]

สมุนไพรสีเสียดเหนือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สีเสียดเหลือง (เชียงใหม่), สีเสียดแก่น (ราชบุรี), สีเสียด ขี้เสียด (ภาคเหนือ), สีเสียดเหนือ (ภาคกลาง), สะเจ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), สีเสียดลาว (ลาว), สีเสียดหลวง, สีเสียดไทย เป็นต้น[1],[6]

ข้อควรรู้ : ต้นสีเสียดเหนือเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดกำแพงเพชร

ลักษณะของสีเสียดเหนือ

  • ต้นสีเสียดเหนือ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศอินเดียตะวันตกของปากีสถานจนถึงพม่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมดำหรือสีเทาเข้ม แตกเป็นสะเก็ดตามยาว ผิวเปลือกค่อนข้างขรุขระ และสามารถลอกเปลือกผิวออกมาได้เป็นแผ่น ๆ เปลือกข้างในเป็นสีแดง ตามกิ่งก้านมีหนามเล็ก ๆ เป็นคู่ขึ้นอยู่ทั่วไป ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ทนต่อแสงแดดและความแห้งแล้งได้ดี สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกสภาพ ขึ้นได้ดีในที่แห้งแล้งและภูเขาหิน แต่ต้องการน้ำและความชื้นในระดับปานกลาง ไม่ชอบน้ำขัง พบขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่งทางภาคเหนือ และป่าละเมาะบนพื้นที่ราบและที่แห้งแล้งทั่วไป[1],[2],[3],[7]

ต้นสีเสียด

ต้นสีเสียดเหนือ

  • ใบสีเสียดเหนือ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ยาวประมาณ 9-17 เซนติเมตร ใบย่อยมีจำนวนมากและมีขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกันมีอยู่ประมาณ 20-50 คู่ เรียงชิดซ้อนทับกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมนเบี้ยว มีขนขึ้นประปราย หลังใบและท้องใบเรียบ ไม่มีก้าน[1],[2],[3]

สีเสียดไทย

ใบสีเสียด

  • ดอกสีเสียดเหนือ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้บริเวณปลายยอด ช่อดอกยาวได้ประมาณ 5-10 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมากอัดกันแน่น รวมกันเป็นช่อยาวคล้ายหางกระรอก ก้านช่อมีขน ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีขาวอมเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ลักษณะเป็นพู่ รูปทรงกระบอกตรง ไม่มีกลีบดอก กลีบรองดอกเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวนวล มีกลีบ 5 กลีบ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ติดกันที่ฐาน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรไม่ติดกัน เกสรเป็นเส้นเล็ก ๆ สีขาว[1],[2],[3] โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม[6]

ดอกสีเสียด

  • ผลสีเสียดเหนือ ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาว รูปบรรทัด กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนปลายและส่วนโคนฝักเรียวแหลม ตัวฝักตรง ผิวฝักเรียบเป็นมัน ซึ่งเมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีน้ำตาลดำ เมื่อฝักแก่จะแห้งและแตกอ้าออกตามด้านข้าง มองเห็นเมล็ดภายในซึ่งมีประมาณ 3-7 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็กสีน้ำตาลเป็นมัน ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปแบน (เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ด จะมีน้ำหนักประมาณ 65 กรัม)[1],[2],[3],[9] โดยจะออกผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม[6]

สีเสียดลาว

  • ก้อนสีเสียด (บ้างเรียกว่า “สีเสียดลาว“, “สีเสียดไทย“) คือ ยางที่ได้จากต้นสีเสียดที่ถูกนำมาเคี่ยวจนงวดเป็นก้อนสีดำ หรือแก่นสีเสียดที่ถูกนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ กับน้ำ กรองเคี่ยวต่อจะได้ยางสีน้ำตาลดำ มีลักษณะเหนียว แล้วนำมาปั้นเป็นก้อน ทิ้งไว้จนแห้งแข็งเก็บไว้ใช้ ไม่มีกลิ่น มีรสขมและฝาดจัด นำมาบดหรือต้มรับประทานเป็นยา[1],[2],[8],[9]

ก้อนสีเสียด

สรรพคุณของสีเสียดเหนือ

  1. เปลือกต้นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ปรุงเป็นยาแก้ธาตุพิการ (เปลือกต้น)[3] ใช้เป็นยาบำรุงธาตุและแก้อติสาร (ก้อนสีเสียด)[9]
  2. ก้อนสีเสียดและเปลือกต้นสีเสียด มีสรรพคุณช่วยปิดธาตุ คุมธาตุ แก้อาการลงแดง (เปลือกต้น, ก้อนสีเสียด)[1]
  3. ใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่น แก้อาการไอ (ก้อนสีเสียด)[7]
  4. ช่วยแก้ปากเป็นแผล ช่วยห้ามเลือดที่ออกจากจมูก รวมถึงอาการเจ็บที่มีเลือดออก (ก้อนสีเสียด)[8],[9]
  5. ใช้รักษาเหงือก ลิ้น และฟัน และช่วยรักษาแผลในลำคอ (ก้อนสีเสียด)[7],[9]
  6. ใช้เป็นยาแก้ท้องเดิน ด้วยการใช้ก้อนสีเสียดนำมาบดให้เป็นผงประมาณ 1/3-1/2 ช้อนชา (ประมาณ 0.3-1.0 กรัม) แล้วต้มเอาน้ำดื่มให้หมดใน 1 ครั้ง โดยให้ดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณแก้ท้องเดินได้เช่นเดียวกัน (ก้อนสีเสียด, เปลือกต้น)[3],[4],[8] หรือจะใช้ผงสีเสียดผสมกับผงอบเชย อย่างละเท่ากัน ถ้าท้องเดินมากให้ใช้ 1 กรัม ถ้าท้องเดินให้ใช้เพียง 1/2 กรัม แล้วนำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้รับประทานครั้งละ 4 ช้อนแกง หรือประมาณ 30 มิลลิเมตร วันละ 3 ครั้ง (ผงสีเสียด)[6]
  1. ช่วยแก้อาการท้องเสียเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ (ก้อนสีเสียด)[8]
  2. แก่นมีฤทธิ์ฝาดสมานเนื่องจากมีสารแทนนิน ตำรายาไทยจะใช้กินเป็นยาแก้ท้องร่วง (แก่น, เปลือกต้น, ก้อนสีเสียด)[1],[2],[3] ส่วนเปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วงอย่างแรง (เปลือกต้น)[1]
  3. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด หรือใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เป็นยาแก้บิด (เปลือกต้น)[1],[3],[4] ส่วนสีเสียดมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิดมูกเลือด (ก้อนสีเสียด)[1]
  4. ใช้รักษาริดสีดวง (ก้อนสีเสียด)[8]
  5. ใช้เป็นยาห้ามเลือด ด้วยการใช้ผงสีเสียดนำมาละลายกับน้ำใช้ใส่แผลสด (ผงสีเสียด)[6],[9]
  6. แก่นใช้เป็นยารักษาบาดแผล (แก่น)[1],[2] เปลือกต้น มีรสฝาด เป็นยาสมานแผล และใช้เป็นยาชะล้างบาดแผล แก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง แผลหัวแตก ล้างแผลหัวนมแตก (เปลือกต้น)[1],[3],[4] ก้อนสีเสียดใช้เป็นยาทาสมานบาดแผล หรือรักษาบาดแผล หรือนำมาต้มใช้ชะล้างบาดแผล ล้างแผลที่ถูกไฟไหม้ ทำให้แผลหายเร็ว (ก้อนสีเสียด)[1],[3],[8]
  7. ใช้ภายนอกเป็นยารักษาโรคผิวหนัง (แก่น, ก้อนสีเสียด)[1],[2]
  8. เมล็ดสีเสียดที่อยู่ในฝัก นำมาฝนเป็นยาทาแก้โรคหิด (เมล็ด)[3],[4]
  9. เมล็ดนำมาฝนทารักษาแผลน้ำกัดเท้า (เมล็ด)[4] หรือจะใช้ก้อนสีเสียดฝนกับน้ำให้ข้นใช้ทา หรือใช้ผงสีเสียดผสมกับน้ำมันพืชทาบริเวณแผลน้ำกัดเท่าก็ได้เช่นกัน (ก้อนสีเสียด)[6]
  10. เปลือกต้นนำมาต้มใช้น้ำที่ต้มเป็นยาระงับเชื้อ หรือจะใช้ก้อนสีเสียดนำมาบดหรือต้มทาเป็นยาระงับเชื้อก็ได้เช่นกัน (เปลือกต้น, ก้อนสีเสียด)[9]
  11. สีเสียดใช้ใส่ปูนที่รับประทานกับหมากและพลู จะช่วยป้องกันปูนกัดปากได้ (สีเสียด)[6]
  12. สีเสียดเหนือปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” ซึ่งเป็นตำรับยารักษาอาการโรคในระบบทางเดินอาหาร (มีส่วนประกอบของสีเสียดเหนือ สีเสียดเทศ รวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ) โดยมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ (ก้อนสีเสียด)[8]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสีเสียดเหนือ

  • เปลือกต้นพบสารจำพวก Catechol, Gallic acid, Tannin, แก่นมีสาร Catechin, Dicatechin, 3′ ,4′ ,7′ , -Tri-O-methyl catechin, 3′ ,4′ ,5 , 5′ , 7-sPenta-O-methyl gallocatechin, ใบมีสาร -(+)-Chatechin, Isoacacatechol, Tannins isoacacatechol acetate ส่วนทั้งต้นมีสาร Epicatechin[3],[4]
  • องค์ประกอบทางเคมีของสารในกลุ่ม tannins เช่น acacatechin 2-10%, catecchin, catechu red, catechutannic acid 20-35%, epicatechin, epicatechin-3-O-gallate, epigallocatechin-3-O-gallate, phlobatannin, protocatechu tannins, pyrogallic tannins และสารในกลุ่ม flavonoids เช่น quercetin , quercetagetin , fisetin flavanol dimers[8]
  • สีเสียดเหนือมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อเกิดอาการท้องร่วง (Escherichia coli) สารกลุ่มแทนนินมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ฤทธิ์ต้านเชื้อบิด มีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของลำไส้ ลดความดันโลหิต ต้านออกซิเดชัน และต้านการก่อกลายพันธุ์[8]
  • สารสกัดจากเนื้อไม้ด้วยน้ำและด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus สายพันธุ์ ATCC 25923 และสายพันธุ์ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ methicillin (MRSA) ได้ดี[10]
  • สารสกัดด้วยเมทานอลออกฤทธิ์ยับยั้ง Salmonella typhi สายพันธุ์ดื้อยาได้ปานกลาง สารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำมีฤทธิ์ยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์หรืออะซีโตนจากลำต้นที่ความเข้มข้น £ 1 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ B. subtilis, E. coli และ Salmonella typhimurium ส่วนสารสกัดจากเปลือกต้นด้วยแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 0.2 กรัมต่อมิลลิลิตร มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ B. subtilis และ S. typhimurium ปานกลาง[10]
  • สารสกัดจากยางสีเสียดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ที่ความเข้มข้น 10 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สารสกัดยางสีเสียดด้วยคลอโรฟอร์มเข้มข้น 30 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถยับยั้งเชื้อ S. aureus ได้ ในขณะที่สารสกัดด้วยน้ำเข้มข้น 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถยับยั้งเชื้อ B. subtilis[10]
  • ส่วนผสมของสารสกัดที่มี baicalin จาก Scutellaria baicalensis และ (+)-catechin และ epicatechin จากสีเสียด ที่ใช้เป็นยาบำรุงและรักษาโรคข้อ ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเลือดของคนที่มีสุขภาพดีที่ได้รับสารสกัดนี้เมื่อเทียบกับยาที่ใช้รักษาโรคเดียวกัน[10]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ โดยทำการทดลองในสัตว์ทดลองเทียบกับยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ พบว่าไม่ทำให้เกิดความผิดปกติ ไม่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะ ไม่ทำให้เกิดพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง และไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน แต่การฉีดสารสกัดจากลำต้นสีเสียดด้วยแอลกอฮอล์กับน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ พบว่ามีความเป็นพิษ[10]

ประโยชน์ของสีเสียดเหนือ

  1. ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้แก่นไม้สีเสียด นำมาเคี้ยวกินกับหมาก[9]
  2. ใบใช้เป็นอาหารสัตว์ประเภท วัว ควาย ทั้งต้นใช้เลี้ยงครั่ง[9]
  3. เปลือกต้นและก้อนสีเสียดถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้าและฟอกหนังสัตว์[2],[6] เนื้อไม้หรือแก่นของสีเสียดจะให้สีน้ำตาล ที่สามารถนำมาใช้ย้อมผ้า แห อวน และหนังได้ หรือจะใช้เปลือกต้นนำมาย้อมสีเส้นไหม โดยการลอกเอาเฉพาะเปลือกต้นแล้วนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มสกัดสีกับน้ำ ในอัตราส่วน 1:2 (เปลือกต้นสีเสียด 15 กิโลกรัม จะย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม) โดยให้ต้มสกัดสีนาน 1 ชั่วโมง แล้วนำน้ำสีที่ได้มาย้อมเส้นไหมด้วยกรรมวิธีการย้อมร้อน จากนั้นนำเส้นไหมที่ย้อมได้มาแช่ในสารละลายสารช่วยติดสี สารส้ม และจุนสี ก็จะได้เส้นไหมสีน้ำตาล (สีที่ได้จะมีความคงทนต่อการซักและคงทนต่อแสงในระดับต่ำ)[5]
  4. เนื้อไม้สีเสียดมีลักษณะแข็งเหนียว สีน้ำตาลแดง ไสกบตกแต่งได้ยาก สามารถนำมาใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ ได้ เช่น เสา คาน ตง สะพาน กงล้อเกวียน หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ เช่น ด้ามมีด ด้ามพร้า ฯลฯ[7] และยังนำมาใช้ทำถ่านทำฟืนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหุงหาอาหารหรือให้ความอบอุ่นในช่วงฤดูได้ด้วย ส่วนเยื่อไม้ที่เหลือจากการสกัดเอายางออกยังสามารถนำมาใช้ทำแผ่นไม้อัดได้อีกด้วย[9]
  5. หลายแห่งได้มีการพัฒนาและนำต้นสีเสียดเหนือมาปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านหรือประดับตามสวน ในบ้านเรามีบ้างที่ปลูกไว้เพื่อผลิตก้อนสีเสียดเป็นการค้า แต่ในอินเดียและพม่าจะปลูกเป็นสวนป่าเพื่อการค้าเป็นหลัก[9]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “สีเสียดเหนือ (Sisiad Nuea)”.  หน้า 305.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สีเสียดเหนือ Catechu Tree / Cutch Tree”.  หน้า 32.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “สีเสียดเหนือ”.  หน้า 784-785.
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “สีเสียดเหนือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :  www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [08 ต.ค. 2014].
  5. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ, กรมหม่อนไหม.  “สีเสียดเหนือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : qsds.go.th/webtreecolor/.  [08 ต.ค. 2014].
  6. ไทยเกษตรศาสตร์.  “สีเสียดเหนือมีประโยชน์อย่างไร”.  อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [08 ต.ค. 2014].
  7. พันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “สีเสียดแก่น”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th.  [08 ต.ค. 2014].
  8. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “สีเสียดไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [08 ต.ค. 2014].
  9. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “สีเสียด”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [08 ต.ค. 2014].
  10. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “สีเสียด”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/.  [08 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด