สีของปัสสาวะ (Urine Color) ปัสสาวะแต่ละสีบ่งบอกโรคที่ต่างกัน !

สีของปัสสาวะ (Urine Color) ปัสสาวะแต่ละสีบ่งบอกโรคที่ต่างกัน !

สีปัสสาวะ

สีของปัสสาวะ (Urine color) เกิดจากสีของสารยูโรบิลิน (Urobilin) ซึ่งได้มาจากสารฮีม (Heme) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง เมื่อเม็ดเลือดแดงตายตามอายุขัย สารฮีมจะสลายตัวให้เป็นสารยูโรบิลิน ซึ่งร่างกายจะกำจัดออกทางปัสสาวะและทางน้ำดีของตับ

โดยปัสสาวะปกตินั้นจะมีสีเหลืองอ่อน แต่ถ้าดื่มน้ำน้อยปัสสาวะก็จะมีสีเหลืองเข้มขึ้น หรือถ้าดื่มน้ำมากสีก็อาจออกไปทางใสหรือไม่มีสีเลยก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม สีของปัสสาวะก็ยังขึ้นอยู่กับอาหาร ยา หรือการป่วยเป็นโรคด้วย

สีของปัสสาวะปกติ

  • ปัสสาวะสีเหลือง (Yellow) หรือปัสสาวะสีเหลืองอ่อน (Pale yellow) คือ ปัสสาวะปกติ โดยโทนสีของน้ำปัสสาวะจะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่ม ถ้าดื่มน้ำน้อยสีปัสสาวะจะออกไปทางเข้ม แต่ถ้าดื่มน้ำมากสีปัสสาวะก็จะออกไปทางใส
  • ปัสสาวะสีใส หรือปัสสาวะไม่มีสี (Colorless) พบได้ในผู้ที่ดื่มน้ำมาก

สีปัสสาวะปกติ
IMAGE SOURCE : www.star2.com

สีของปัสสาวะที่ผิดปกติ

ปัสสาวะที่มีสีผิดปกติอาจเกิดจากอาหาร ยา หรือโรคและภาวะต่าง ๆ ได้ คือ

  • ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม (Dark yellow) ไปจนถึงสีเหลืองอำพัน (Dark amber) ถ้าเข้มไม่มากก็อาจเกิดการดื่มน้ำน้อยหรือจากภาวะขาดน้ำ แต่ถ้าเข้มมากจนคล้ำก็อเกิดจากโรคไวรัสตับอักเสบ โรคตับอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ ดีซ่าน การอุดกั้นทางเดินน้ำดี หรือมีน้ำดีออกมาในปัสสาวะ หรือเกิดจากโรคมะเร็งตับชนิดเกิดจากท่อน้ำดีในตับ โรคตับอ่อนอักเสบ โรคมะเร็งตับอ่อน
  • ปัสสาวะสีเหลืองสว่าง (Bright yellow) อาจเกิดจากการกินวิตามินรวม (Multivitamin) หรือวิตามินบีรวม (B complex)
  • ปัสสาวะสีส้ม (Orange) อาจเกิดจากการขาดน้ำหรือกินแครอท วิตามินซี หรือวิตามินบี 2 เป็นจำนวนมาก หรือเกิดจากการกินยาบางชนิด เช่น ยารักษาวัณโรค (Rifampicin), ยาลดการระคายเคืองทางเดินปัสสาวะ (Pyridium), ยาฟีนาซีติน (Phenacetin), ยาซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine) ฯลฯ
  • ปัสสาวะสีแดง (Red) อาจเกิดจากการกินหัวบีทรูท แก้วมังกรแดง หรือแบล็คเบอร์รี่ในปริมาณมาก (เนื่องจากสารแอนโทไซยานิน) หรือเกิดจากการได้รับยาสลบ (Propofal) ยาต้านชักเฟนิโทอิน (Phenytoin) หรือยาแก้โรคจิตเวช (Chlorpromazine) เช่น ยาฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine) หรือเกิดจากการมีเลือดปนในปัสสาวะ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI) นิ่วในไต, นิ่วในท่อไต, ไตอักเสบ, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งของไต, ภาวะฮีโมโกลบินในปัสสาวะ (Hemoglobinuria) เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolysis), ภาวะไมโอโกลบินในปัสสาวะ (Myoglobinuria) เนื่องจากกล้ามเนื้อสูญสลาย (Rhabdomyolysis), ภาวะเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะหลังจากการออกกำลังกายอย่างหนัก (Exercise-induced hematuria), โรคไตจากภาวะ IgA สะสม (IgA Nephropathy), โรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria) ซึ่งโรคหรือภาวะเหล่านี้สามารถทำให้ปัสสาวะเป็นสีแดง (Red) หรือสีแดงออกน้ำตาล (Red brown) หรือสีน้ำตาล (Brown) ได้เช่นกัน
  • ปัสสาวะสีน้ำตาล (Brown) ปัสสาวะสีน้ำตาลเข้ม (Dark brown) หรือปัสสาวะสีโค้ก (Cola-colored) อาจเกิดจากการกินถั่วปากอ้าในปริมาณมาก การกินยาบางชนิด เช่น ยาระบายเซนน่า (Senna), ยาระบายซอร์บิทอล (Sorbitol), ยาคลายกล้ามเนื้อเมโทคาร์บามอล (Methocarbamol), ยาปฏิชีวนะไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin), ยาปฏิชีวนะเมโทรนิดาโซล (Metronidazole), ยาฆ่าเชื้อรักษาอาการท้องร่วงฟูราโซลิโดน (Furazolidone), ยารักษาโรคพาร์กินสัน (Levodopa), ยาฆ่าเชื้อ (Metronidazole), ยาฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Nitrofurantoin), ยารักษามาลาเรียไพรมาควิน (Primaquine) หรือคลอโรควิน (Chloroquine) การมีรงควัตถุน้ำดี (Bile pigment) อยู่ในปัสสาวะ หรือเกิดจากการมีเลือดปนในปัสสาวะหรือมีเม็ดเลือดแตกในร่างกายแล้วถูกขับออกมาในปัสสาวะจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ในคนที่เป็นโรคขาดเอนไซม์ G6PD ที่มักจะมีอาการเม็ดเลือดแตกง่ายให้เห็นเป็นครั้งคราว หรือเกิดจากโรคทางพันธุกรรมที่ขาดเอนไซม์ในการสร้างฮีมในเม็ดเลือดแดงที่เรียกว่าโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria) ซึ่งพบได้ยาก หรือการติดเชื้อแรง ๆ เช่น มาลาเรียก็ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้
  • ปัสสาวะสีดำ (Black) พบได้ในโรคแอลแคปโตนูเรีย (Alkaptonuria) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้ไม่บ่อย
  • ปัสสาวะสีขาว (White) อาจเกิดจากการมีหนองปนในปัสสาวะ คือมีเซลล์เม็ดเลือดขาวปนอยู่ในปัสสาวะจำนวนมาก มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือในผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง หรือในผู้ติดเชื้อหนองใน (Gonorrhea) หรือเกิดจากการมีน้ำเหลืองในปัสสาวะ (Chyluria) จากการติดเชื้อพยาธิเท้าช้าง (Filariasis) หรือผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดไตบางส่วน การจี้ไตด้วยไตด้วยไฟฟ้าหรือคลื่นเสียงเพื่อรักษาโรคบางชนิด เช่น เนื้องอก หรือจากอุบัติเหตุของไต รวมถึงการมีผลึกฟอสเฟตในปัสสาวะจำนวนมากก็ทำให้ปัสสาวะขุ่นจนดูเป็นสีขาวได้
  • ปัสสาวะสีเขียว (Green) อาจเกิดจากการกินอาหารบางอย่าง เช่น หน่อไม้ฝรั่งจำนวนมาก หรือเกิดจากการได้รับยาบางชนิด เช่น ยาสลบ (Propofal), เมทิลีนบลู (Methylene blue), อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) หรืออินโดเมธาซิน (Indomethacin)
  • ปัสสาวะสีน้ำเงิน (Blue) อาจเกิดจากยาเมทิลีนบลู (Methylene blue), อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) หรืออินโดเมธาซิน (Indomethacin), รีซอร์ซินอล (Resorcinol), ไตรแอมเทอรีน (Triamterene), ไซเมทิดีน (Cimetidine), โปรเมทาซีน (Promethazine) ฯลฯ
  • ปัสสาวะสีใส หรือปัสสาวะไม่มีสี (Colorless) จะถือว่าผิดปกติก็ในกรณีที่ไม่ได้ดื่มน้ำมากแต่ปัสสาวะก็ยังคงมีสีใส ซึ่งอาจเกิดจากโรคไตหรือโรคเบาจืด

สีปัสสาวะผิดปกติ
IMAGE SOURCE : www.urineinfection.net, www.prevention.com, hubpages.com, treat-kidney.blogspot.com, www.georgetownpharmacy.com.my, www.slideshare.net (by Mohammad Anas), www.researchgate.net, hubpages.com, shakahariblog.com

วิธีการสังเกตสีของปัสสาวะ

  • ในผู้ชายจะสังเกตสีเมื่อปัสสาวะเริ่มออกหรือสังเกตสีของน้ำในชักโครก
  • ในผู้หญิงจะสังเกตที่ชักโครกและกระดาษที่ซับปัสสาวะ

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด