สํามะงา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสำมะงา 13 ข้อ !

สํามะงา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสำมะงา 13 ข้อ !

สำมะงา

สำมะงา ชื่อสามัญ Garden Quinine, Petit Fever Leaves, Seaside Clerodendron[3],[4]

สำมะงา ชื่อวิทยาศาสตร์ Volkameria inermis L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendrum inerme (L.) Gaertn.)[1],[4] จัจัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)

สมุนไพรสำมะงา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สำมะลิงา (ชัยภมูิ), เขี้ยวงู (ประจวบคีรีขันธ์), สัมเนรา (ระนอง), สักขรีย่าน (ชุมพร), สำปันงา (สตูล), สาบแร้งสาบกา (ภูเก็ต), สำลีงา ลำมะลีงา สำมะนา (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก), คากี (ภาคใต้), จุยหู่มั้ว โฮวหลั่งเช่า (จีน), ขู่เจี๋ยซู่ สุ่ยหูหม่าน (จีนกลาง), สามพันหว่า เป็นต้น[1],[4],[5],[7]

ลักษณะของสำมะงา

  • ต้นสำมะงา จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้เถาที่เลื้อยทอดลำต้นเกาะเกี่ยวขึ้นไป มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งก้านเป็นสีเทาหรือสีขาวมน ๆ ออกสีน้ำตาลเล็กน้อย เปลือกลำต้นเรียบ เป็นสีขาวอมสีน้ำตาล ตามกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวอมม่วง และมีขนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการตอนกิ่งปักชำ จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินชื้นแฉะหรือตามริมแม่น้ำลำคลอง ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบขึ้นตามชายป่าใกล้ ๆ ลำห้วย และตามป่าชายหาด (แต่ในปัจจุบันนี้เริ่มหายามากขึ้นทุกที)[1],[2],[4],[6]

รูปสำมะงา

ต้นสำมะงา

  • ใบสำมะงา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร พื้นใบเป็นสีเขียวและมัน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นเหม็นเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ เนื้อใบบางและนิ่ม ก้านใบเป็นสีม่วงแดง ยาวได้ประมาณ 1-2 เซนติเมตร[1],[2],[4]

ใบสำมะงา

  • ดอกสำมะงา ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายยอด ช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 3-7 ดอก แต่ส่วนมากจะพบเพียง 3 ดอก ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีขนาดเล็ก มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1 นิ้ว ส่วนปลายแยกเป็นกลีบสีขาว 5 กลีบ เมื่อบานจะกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว ลักษณะเป็นรูปถ้วย ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นยาวสีม่วง จำนวน 5 เส้น เมื่อดอกร่วงโรยไปก็จะกลายเป็นผล[1],[2],[4]

ดอกสำมะงา

สํามะงา

  • ผลสำมะงา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม รูปกลมยาว หรือเป็นรูปไข่กลับ ก้นตัด แบ่งเป็นพู 4 พู มีขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร เนื้อนิ่ม ผิวผลเรียบเป็นมันลื่น เมื่อสุกแล้วผลจะเป็นสีน้ำเงินหรือสีดำ พอแก่จะแห้งและแตกออกเป็น 4 ซีก ภายในผลแต่พูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด รวมเป็น 4 เมล็ดต่อผล[1],[2],[4,[5]

ผลสำมะงา

เมล็ดสำมะงา

สรรพคุณของสำมะงา

  1. รากสํามะงามีรสขม ใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ด้วยการใช้รากแห้ง 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน โดยใช้ไฟอ่อน ๆ (ราก)[4]
  2. ใบมีรสขมเย็น แต่มีพิษ ใช้รักษาโรคมาลาเรีย (ใบ)[4] ส่วนรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้หวัด ตัวร้อน ไข้มาลาเรีย (ราก)[5]
  3. รากมีรสขมเป็นยาเย็น มีพิษและมีกลิ่นเหม็น มีสรรพคุณเป็นยาขับลมชื้น (ราก)[5]
  4. ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะ (ราก)[5]
  5. ใบสํามะงามีสรรพคุณเป็นยาฆ่าพยาธิ (ใบ)[4]
  1. ช่วยแก้ตับอักเสบ แก้ตับและม้ามโต (ราก)[4],[5]
  2. หากแผลมีเลือดออก ให้ใช้ใบตากแห้ง นำมาบดให้เป็นผงแล้วนำไปโรยบนแผล จะช่วยห้ามเลือดและสมานแผลสดได้ (ใบ)[4],[5]
  3. ช่วยรักษาแผลเน่าเปื่อย ด้วยการใช้ใบนำมาตำพอกหรือต้มกับน้ำชะล้างก็ได้ หรืออาจตากให้แห้งแล้วบดเป็นผงทา หรือโรยบริเวณทีเป็น (ใบ)[4]
  4. ช่วยรักษาแผลฟกช้ำดำเขียวบวม อันเนื่องมาจากถูกกระทบกระแทก เอวเคล็ด เคล็ดขัดยอก ให้ใช้ใบสดตำผสมกับเหล้า ใช้ทาถูบริเวณที่ปวด (ใบ)[4],[5] ส่วนรากมีสรรพคุณแก้อาการบวมตามร่างกายบางส่วน หรือแผลบวมเจ็บที่เกิดจากการกระทบกระแทกเช่นเดียวกับใบ (ราก)[4]
  5. ทั้งต้นสดหรือต้นแห้ง มีรสเย็นเฝื่อน นำมาสับเป็นชิ้น ๆ ประมาณ 3-4 กิ่ง แล้วต้มกับน้ำอาบหรือใช้ชะล้างแผล ใช้รักษาโรคผิวหนังพุพอง และน้ำเหลืองเสีย (ทั้งต้น)[1],[2]
  6. ใบสํามะงามีรสเย็นเฝื่อน ตำรายาไทยจะใบเป็นยาทาภายนอก โดยนำมาพอก ต้มกับน้ำอาบ หรือใช้ชะล้างตามร่างกาย หรือใช้ไอน้ำอบร่างกายเป็นยารักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน แก้ฝี ประดง แก้หัด อีสุกอีใส ผดผื่นคันตามตัว และผื่นคันมีน้ำเหลือง (ใบ)[1],[2],[3],[4],[5],[7]
  7. ช่วยรักษาอาการปวดข้อ ปวดประสาทที่ก้นกบ ให้ใช้รากแห้ง 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน แต่ต้องใช้ไฟอ่อน ๆ ในการต้ม (ราก)[4]
  8. ช่วยรักษาไขข้ออักเสบเนื่องจากลมชื้น ปวดเอวและขา แก้อาการปวดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (ราก)[5]

หมายเหตุ : การใช้ตาม [5] ในส่วนของรากให้ใช้รากครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำแช่จาหรือใช้ทำเป็นยาประคบ ส่วนใบและก้านไม่ควรนำมาต้มเป็นยารับประทาน เนื่องจากมีพิษ ควรนำมาใช้เป็นยาภายนอกเท่านั้น โดยขนาดที่ใช้ให้กะเอาตามความเหมาะสม[5]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรสำมะงา

  • ยาชนิดนี้พบพิษที่ใบและก้าน ซึ่งใบจะมีพิษมากกว่าราก (รากมีพิษและมีกลิ่นเหม็น) ฉะนั้นห้ามนำมารับประทาน และควรใช้อย่างระมัดระวัง[4],[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสำมะงา

  • ใบสำมะงาจะมีสารที่ทำให้มีรสขมและละลายน้ำได้ ซึ่งเป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ (Alkaloids) อยู่หลายชนิด คือ pectolinarigenin, 4-methylscutellarein, unsaponified matters, cholesterol, higher fatty alcohols, steroids ฯลฯ นอกจากยังมีพวก resin, gum สารสีน้ำตาล เถาจากใบมีเกลือแดง (Sodium chloride) 24.01% ของเถ้าทั้งหมด[4],[5]
  • น้ำที่ได้จากการสกัดใบสำมะงา จะมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูใหญ่ที่แยกออกจากตัว และมีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตของสุนัขที่ทำให้สลบชั่วคราว หรือถ้าให้ในปริมาณน้อยจะมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้[4],[5]
  • สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากใบสำมะงาที่มีรสขม จะมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูใหญ่ที่กำลังมีท้อง และจากการสกัดแยกสารจำพวก Sterols จากพืชชนิดนี้ ไม่พบฮอร์โมนเพศหญิงหรือฮอร์โมนเพศชายหรือของต่อมเพศอื่น[4],[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “สำมะงา (Samma Nga)”.  หน้า 302.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “สํามะงา”.  หน้า 182.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สำมะงา Garden Quinine”.  หน้า 87.
  4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “สํามะงา”.  หน้า 782-784.
  5. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “สำมะงา”.  หน้า 556.
  6. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7.  “สํามะงา”.
  7. สมุนไพรไทย, มหาวิทยาลัยนเรศวร.  “สำมะงา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/49320567/.  [12 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ria Tan, Russell Cumming, Rene van Raders, 潘立傑 LiChieh Pan, naturgucker.de / enjoynature.net, Kar Wah Tam)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด