สาเก
สาเก ชื่อสามัญ Breadfruit, Bread fruit tree, Bread nut tree
สาเก ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus altilis (Parkinson ex F.A.Zorn) Fosberg (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Artocarpus communis J.R.Forst. & G.Forst., Artocarpus incisus (Thunb.) L.f., Saccus laevis Kuntze, Sitodium altile Parkinson ex F.A.Zorn) จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)
สมุนไพรสาเก มีชื่อเรียกอื่นว่า “ขนุนสำปะลอ“
ต้นสาเก มีสายพันธุ์มากกว่า 120 สายพันธุ์ มีการเพาะปลูกกันมานานมากกว่า 3,000 ปีแล้ว ซึ่งในเกาะมาวีและเกาะกาวาย คือแหล่งสะสมต้นสาเกสายพันธุ์ต่าง ๆ ไว้หลายสายพันธุ์ โดยปลูกเอาไว้ให้ชมกันมากที่สุดในโลก สาเกเป็นไม้ผลที่ออกลูกดก (ในหนึ่งฤดูต้นสาเกอาจออกผลราว 200 ผล) แต่ที่นิยมปลูกในบ้านเราคือ สาเกพันธุ์ข้าวเหนียว
สำหรับสาเกในบ้านเรานั้นอาจจะพบได้บ้างตามหมู่บ้านจัดสรรต่าง ๆ โดยจะขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อจากโคนต้นเก่ามาปลูก และเมื่อต้นสาเกมีอายุมากขึ้น เจ้าของก็มักจะตัดต้นสาเกทิ้ง เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ มีกิ่งก้านใบดูเก้งก้าง และยังมีหนอนมาเจาะตามกิ่งและลำต้นทำให้ต้นตายง่ายอีกด้วย
ลักษณะของสาเก
- ต้นสาเก มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่โพลีนีเซีย และเป็นผลไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียตะวันออกและมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก และต่อมาได้แพร่หลายไปยังหมู่เกาะอินดีสตะวันตก ซึ่งปลูกอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเขตร้อน โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นสีน้ำตาลปนเทา ทุกส่วนของสาเกจะมียางขาว ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำราก โดยสายพันธุ์ที่ปลูกในบ้านเรานั้นจะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ ได้แก่ สาเกพันธุ์ข้าวเหนียว (ผลใหญ่ ผลสุกเนื้อเหนียว นิยมปลูกทั่วไป หรือปลูกไว้ทำขนมสาเก), และสาเกพันธุ์ข้าวเจ้า (ผลเล็กกว่า เนื้อหยาบร่วน ไม่เป็นที่นิยมปลูก และไม่ค่อยนำมารับประทานมากนัก)
- ใบสาเก ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน ลักษณะใบคล้ายรูปไข่ ใบมีสีเขียวเข้ม ใบใหญ่และหนา มีรอยหยักหรือร่องลึกเกือบถึงก้านกลางใบ (คล้ายใบมะละกอ) ก้านใบเห็นเด่นชัด
- ดอกสาเก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกมีสีเหลือง ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้มีลักษณะคล้ายกระบองและห้อยลง มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกตัวเมียมีลักษณะกลม แต่จะแยกกันคนละดอก และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
- ผลสาเก ลักษณะของผลกลมรี ผลมีสีเขียวอมเหลือง ลูกคล้ายขนุน แต่จะลูกเล็กกว่า มีความกว้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร ส่วนเนื้อในเป็นสีเหลืองซีดหรือขาวและไม่มีเมล็ด (แต่มีสายพันธุ์หนึ่งที่มีเมล็ด จะเรียกว่า ขนุนสำปะลอ)
สรรพคุณของสาเก
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต (ผล)
- ช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ (ผล)
- สาเกมีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลในร่างกาย (เปลือกต้น)
- ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาย่างไฟจนแห้งแล้วนำมาต้มกินแต่น้ำ (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นสาเกใช้ทำเป็นยาปรับประสาท ทำให้รู้สึกผ่อนคลายความเครียด ทำให้เกิดความกระชุ่มกระชวย (เปลือกต้น)
- ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน กระดูกผุในหญิงวัยหมดประจำเดือน (ผล)
- รากสาเก มีรสเบื่อเมา ใช้เป็นยารักษากามโรค ด้วยการนำรากมาฝนผสมกับน้ำดื่มครั้งละไม่เกิน 1 แก้วตะไล วันละครั้ง อาการจะค่อย ๆ ทุเลาลงและหายเป็นปกติในที่สุด (ราก)
- ยางจากทุกส่วนของต้นสาเกสามารถนำมาใช้ในการรักษากลากเกลื้อนและหิดได้ (ยาง)
- ช่วยยับยั้งการสร้างเมลานิน สารสกัดจากเนื้อไม้สาเกมีผลยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ซึ่งมีความแรงเท่ากับกรดโคจิก (Kojic acid) โดยได้ทำการทดลองกับผิวหนังของหนูตะเภาสีน้ำตาลที่มีสีผิวคล้ำเนื่องจากแสง UV-B ผลการทดลองพบว่าสารสกัดจากเนื้อไม้สาเกสามารถทำให้สีผิวของหนูจางลงได้โดยไม่ก่อให้เกิดอาการอักเสบที่ผิวหนังและไม่มีผลก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์
ประโยชน์ของสาเก
- ผลไม้สาเกมีวิตามินหลากหลายชนิด ซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โดยช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดี (HDL) และช่วยลดระดับไขมันเลว (LDL)
- เส้นใยอาหารจากสาเก ช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลในร่างกาย มันจึงช่วยควบคุมโรคเบาหวานได้
- ช่วยในการทำงานของลำไส้และระบบขับถ่าย ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ ช่วยกำจัดสิ่งตกค้างในลำไส้ และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- เนื้อของสาเกให้พลังงานสูง มีแคลเซียมและวิตามินเอที่จำเป็นต่อร่างกาย
- ต้นสาเกนิยมปลูกตามบ้านจัดสรรทั่วไปเพื่อเป็นไม้ประดับและใช้เป็นร่มเงา
- ผลสาเกสามารถนำมาย่าง ต้ม อบ หรือนำมาเชื่อมได้ ใช้ทำเป็นขนมสาเก เช่น แกงบวด สาเกเชื่อม เป็นต้น
- มีการนำสาเกไปป่นเป็นแป้งเพื่อนำมาใช้ทำเป็นขนมปังกรอบ
- สำหรับชาวอินโดนีเซียจะนิยมนำสาเกไปอบกรอบใช้รับประทานเป็นอาหารว่าง
- ยางของต้นสาเกนิยมนำมาใช้เป็นชันยาเรือ
- ดอกสาเกสามารถใช้ไล่ยุงได้
- เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องประดับ และทำเป็นสิ่งปลูกสร้าง หรือนำมาสร้างบ้านได้
- สาเกสามารถนำมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์ ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิว ใช้ทำเป็นสารทำให้ผิวขาว (Skin whitening agent)
คุณค่าทางโภชนาการของสาเก ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 103 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 27.12 กรัม
- น้ำตาล 11 กรัม
- เส้นใย 4.9 กรัม
- ไขมัน 0.23 กรัม
- โปรตีน 1.07 กรัม
- น้ำ 70.65 กรัม
- ลูทีนและซีแซนทีน 22 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 0.11 มิลลิกรัม 10%
- วิตามินบี 2 0.03 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 3 0.9 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 6 0.457 มิลลิกรัม 9%
- วิตามินบี 9 14 ไมโครกรัม 4%
- โคลีน 9.8 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินซี 29 มิลลิกรัม 35%
- วิตามินอี 0.1 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินเค 0.5 ไมโครกรัม 0%
- ธาตุแคลเซียม 17 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุเหล็ก 0.54 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุแมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุแมงกานีส 0.06 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุโพแทสเซียม 490 มิลลิกรัม 10%
- ธาตุโซเดียม 2 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุสังกะสี 0.12 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : หนังสือผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน (นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์), เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, www.lifestyle.iloveindia.com
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by checkmihlyrics, glemley8, Island Food Community of Pohnpei, Joel Abroad), เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), เว็บไซต์ papamenu.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)