สายหยุด สรรพคุณและประโยชน์ของดอกสายหยุด 10 ข้อ !

สายหยุด สรรพคุณและประโยชน์ของดอกสายหยุด 10 ข้อ !

สายหยุด

สายหยุด ชื่อสามัญ Chinese Desmos, Desmos[4]

สายหยุด ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmos chinensis Lour. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]

สมุนไพรสายหยุด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือเขาแกลบ (เลย), กล้วยเครือ (สระบุรี), เสลาเพชร (สุราษฎร์ธานี), สาวหยุด (ภาคกลาง, ภาคใต้) เป็นต้น[1]

หมายเหตุ : ต้นสายหยุดและต้นการเวกจะมีลักษณะของดอกที่คล้ายคลึงกัน แต่ดอกของสายหยุดจะมีลักษณะเป็นกลีบยาวและบิดเป็นเกลียว ในขณะที่ดอกของการเวกจะมีเนื้อกลีบที่หนากว่าและไม่บิดเป็นเกลียวเหมือนดอกสายหยุด[4]

ลักษณะของสายหยุด

  • ต้นสายหยุด มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ ตลอดจนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ ต่อลงไปจนถึงแหลงมลายู ซึ่งประเทศไทยก็เป็นแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของต้นสายหยุดด้วย[4],[5] โดยพบขึ้นกระจายอยู่ทั่วประเทศ จัดเป็นไม้เถาเลื้อยหรือไม้พุ่มรอเลื้อย มีความยาวหรือความสูงได้ประมาณ 1-5 เมตร เปลือกเถาเรียบเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุมอยู่หนาแน่น มีรูระบายอากาศ พอกิ่งแก่จะเกลี้ยงเป็นสีดำและมีช่องอากาศจำนวนมาก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง ปลูกได้ในดินทั่วไป เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถเก็บความชื้นได้ดี น้ำท่วมไม่ถึง ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดแบบเต็มวัน มักพบขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และตามป่าเบญจพรรณตั้งแต่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 600 เมตร[1],[2],[3],[4]

ต้นสายหยุด

ต้นสายหยุด

  • ใบสายหยุด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลมหรืออาจพบติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร หลังใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีเขียวนวล เนื้อใบบางและเหนียว มีขนกระจายอยู่ทั้งสองด้าน พบมากที่ใบอ่อนและแผ่นใบด้านล่าง ใบอ่อนเป็นสีแดง มีเส้นแขนงใบประมาณ 8-10 คู่ มีก้านใบยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร[1],[2]

ใบสายหยุด

  • ดอกสายหยุด ออกดอกเดี่ยว โดยจะออกด้านล่างตรงข้ามกับใบ ตอนเริ่มออกเป็นสีเขียวและต่อมาดอกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงสีส้มอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร กลีบดอกมี 6 กลีบ แบ่งเป็น 2 ชั้น กลีบดอกชั้นนอกแยกกันมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 1.3-1.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร แต่ละกลีบมีลักษณะบิดงอ โคนกลีบดอกมีรอยคอดใกล้กับฐานดอก ปลายแหลม โคนตัด ส่วนขอบเรียบหรือเป็นคลื่น มีขนนุ่มกระจายอยู่ทั้งสองด้าน และกลีบดอกด้านในมี 3 กลีบ เรียงจรดและแยกกัน มีขนาดเล็กและสั้นกว่ากลีบดอกชั้นนอก ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปหอก มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนตัด โดยเหนือโคนกลีบเล็กน้อยมักคอดเว้า ส่วนขอบเรียบ และมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ดอกมีเกสรเพศผู้ 150-240 อัน ลักษณะเป็นรูปคล้ายทรงกระบอก ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร อับเรณูเกลี้ยงเป็นสีเหลือง อาจพบขนเล็กน้อยที่โคน ส่วนเกสรเพศเมียแยกกัน 30-50 อัน ในแต่ละอันมี 5-7 ออวุล ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล มีขนหนาแน่นตามก้านเกสรเพศเมีย ส่วนกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กสีเขียวเรียงห่างกันเล็กน้อย มี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปค่อนข้างสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายกลีบจะกระดกขึ้น ปลายแหลม โคนตัด ส่วนขอบเรียบ มีขนกระจายทั้งสองด้าน ดอกมีกลิ่นหอม และบานอยู่ได้นาน ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร มีขนกระจายทั่วไป โดยจะออกดอกมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]

ดอกสายหยุด

รูปดอกสายหยุด

  • ผลสายหยุด ออกผลเป็นกลุ่ม มีประมาณ 5-35 ผลย่อย ผลย่อยแต่ละผลจะมีลักษณะคล้ายลูกปัดคอด คือจะคอดเป็นข้อ ๆ ระหว่างช่วงเมล็ด ได้ถึง 7 ข้อ แต่ละผลจะมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลสดหรือผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เป็นมัน และห้อยลง ก้านผลย่อยยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร ก้านช่อผลยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร มีขนขึ้นกระจายตามก้านผลและก้านผลย่อย ภายในผลย่อยหนึ่งผลจะมีเมล็ดประมาณ 2-5 เมล็ด มีรอยคอดระหว่างเมล็ดชัดเจน เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมกลมหรือรูปรี ผิวเมล็ดเกลี้ยยงและเป็นสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2]

ผลสายหยุด

ลูกสายหยุด

สรรพคุณของสายหยุด

  1. ดอกสดใช้เข้ายาหอม บำรุงหัวใจ (ดอก)[1],[2],[3]
  2. ช่วยแก้ลมวิงเวียน (ดอก)[3]
  3. รากและดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ราก,ดอก)[3]
  4. ตำรายาไทยใช้รากเป็นยาแก้ท้องร่วง (ราก)[2]
  5. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเดิน (ราก)[2]
  6. ใช้เป็นยาแก้บิด (ราก)[3]
  7. ตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อย (ราก)[2]
  8. ต้นและรากใช้เข้ายาหอม หรือเข้ายาอาบอบ รักษาอาการติดยาเสพติด (ต้นและราก)[1],[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสายหยุด

  • สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากใบและต้นสายหยุด มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเอดส์ได้บ้าง และต้านการชักในสัตว์ทดลองได้ดี โดยสารสกัดนี้มีพิษเฉียบพลันในระดับปานกลาง (LD50 = 500 มก./กก.)[2]
  • สาร Linalool ซึ่งเป็นสารหลักที่มีอยู่ในน้ำมันที่ได้จากดอกสายหยุด มีฤทธิ์สงบประสาท ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และฆ่าแมลงได้[3]

ประโยชน์ของสายหยุด

  • ดอกสายหยุดสามารถนำมาใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยได้[2] โดยใช้ดอกสดนำมากลั่นเอาน้ำมันหอมระเหย ด้วยวิธีการต้มกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.005[3] ซึ่งน้ำมันหอมระเหยอาจนำไปใช้ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) หรือใช้ทำเป็นน้ำหอมสำหรับเครื่องสำอางต่าง ๆ ก็ได้[5]
  • ในด้านการเป็นไม้ประดับ ต้นสายหยุดเหมาะแก่การนำมาปลูกไว้ในสวนดอกไม้ ปลูกริมทางเดิน ปลูกเป็นต้นเดี่ยวแล้วแต่งทรงพุ่ม ปลูกเป็นซุ้มในบริเวณบ้าน หรืออาจทำนั่งร้านให้ต้นสายหยุดได้เลื้อยขึ้นไปปกคลุมอยู่ด้านบนก็ได้ ปลูกและบำรุงง่าย เติบโตเร็ว เพาะกล้าจากเมล็ดหรือปักชำหรือตอนกิ่งเอาก็ได้ สายหยุดสามารถออกได้ตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศและความสมบูรณ์ของต้น และมักออกดอกมากในช่วงฤดูฝนและต้นฤดูหนาว ดอกสายหยุดจะเริ่มส่งกลิ่นหอมแรงขึ้นเมื่อยามพลบค่ำ และจะมีกลิ่นหอมแรงที่สุดในช่วงเช้ามืด แล้วกลิ่นจะค่อย ๆ จางลงในเวลากลางวัน จึงเป็นที่มาของชื่อ “สายหยุด[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “สายหยุด (Sai Yud)”.  หน้า 300.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “สายหยุด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [12 มิ.ย. 2014].
  3. ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “สายหยุด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/.  [12 มิ.ย. 2014].
  4. ความเหมือนที่แตกต่างแห่งพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “สายหยุด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [12 มิ.ย. 2014].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 266 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “สายหยุด เสน่ห์ยามเช้าของความหอม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [12 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Alan Yip, Lão Hạc, Bryan To), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด