สังวาลพระอินทร์
สังวาลพระอินทร์ ชื่อสามัญ Love Vine[1]
สังวาลพระอินทร์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassytha filiformis L. จัดอยู่ในวงศ์อบเชย (LAURACEAE)[2],[3]
สมุนไพรสังวาลพระอินทร์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เขืองคำโคก (เลย), ต้นตายปลายเป็น รังนกกระสา (จันทบุรี), สังวาลย์พระอินทร์ (นครราชสีมา), เขียงคำ เขียวคำ (อุบลราชธานี), ผักปลัว (ประจวบคีรีขันธ์), ช้องนางคลี่ (ภาคใต้), เซาะเบียง (เขมร), บ่อเอี่ยงติ้ง (จีนแต้จิ๋ว), อู๋เกินเถิง อู๋เย่เถิง (จีนกลาง), รังกาสา, วัวพันหลัก, เครือเขาคำ เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของสังวาลพระอินทร์
- ต้นสังวาลพระอินทร์ จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยกึ่งกาฝาก ลักษณะคล้ายต้นฝอยทอง ลำต้นเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น ยอดอ่อนของเถามีขนนุ่ม ๆ สีเหลืองขึ้นปกคลุมอยู่ ลักษณะของลำต้นหรือลำเถามีลักษณะเป็นเส้นกลมยาว ไม่ใหญ่ เป็นสีเขียว เขียวอมเหลือง หรือสีเขียวออกเทา ส่วนกลางหรือโคนของลำของลำเถาไม่มีขนหรืออาจจะมีบ้างเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบอาศัยเกาะพาดพันต้นไม้อื่น ๆ ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ชอบความชื้นบ้าง[1],[2]
- ใบสังวาลพระอินทร์ ใบมีขนาดเล็กมาก หรือแทบไม่มี โดยใบจะมีลักษณะเป็นเกล็ดรูปสามเหลี่ยม[1],[2]
- ดอกสังวาลพระอินทร์ ออกดอกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาวได้ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ไม่มีก้านดอก ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ในช่อหนึ่งมีดอก 6 ดอก กลีบดอกกลมมนเป็นรูปไข่ มีกลีบดอก 6 กลีบ แบ่งออกเป็นชั้น 2 ชั้น ชั้นนอกดอกมี 3 กลีบ ส่วนชั้นในดอกมี 3 กลีบ กลีบดอกชั้นในจะมีขนาดใหญ่กว่าชั้นนอก ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวขนาดเล็ก ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน เรียงตามชั้นของขอบกลีบดอก[1],[2]
- ผลสังวาลพระอินทร์ ผลพบได้ในบริเวณดอก ผลมีขนาดเล็กมาก โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 มิลลิเมตร (หรือขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว) สีเขียว ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมมีเนื้อนิ่มอยู่ภายในผล ภายในผลพบเมล็ดรูปกลม 1 เมล็ด[1],[2]
สรรพคุณของสังวาลพระอินทร์
- ต้นมีรสขม ชุ่ม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับและไต ใช้ปรุงเป็นยาขับความชื้นในร่างกาย แก้พิษในเลือด ทำให้เลือดเย็น (ต้น)[1],[2]
- ใช้แก้เด็กเป็นดีซ่าน ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 15-30 กรัม นำมาตุ๋นกับเต้าหู้ 2 ชิ้น กินเป็นยา (ต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้เลือดกำเดา เลือดกำเดาออกบ่อย ๆ ด้วยการใช้ต้นสด เหล้า และเนื้อในหมู ใช้อย่างละเท่ากันนำมาตุ๋นเป็นยากิน (ต้น)[1],[2]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้หวัดเด็ก ตัวร้อน (ต้น)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด ไอร้อนในปอด (ต้น)[1],[2]
- ช่วยแก้บิดมูก ด้วยการใช้ต้นสด 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ต้น)[1]
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบ รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ตำรับยารักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ จะใช้ต้นสด 60 กรัม, บักทง 12 กรัม, เต็งซิมเช่า 12 กรัม, เปลือกรากเกากี่ไฉ่ 12 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ต้น)[1],[2]
- ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ต้น)[2]
- หากตกเลือด ให้ใช้ต้นสด 120 กรัม นำมาต้มกับน้ำตาลทรายแดงกินเป็นยา (ต้น)[1]
- ช่วยบำรุงตับและไต แก้ตับอักเสบ ตัวเหลือง แก้ร้อนในตับ (ต้น)[1],[2]
- ใช้เป็นยาแก้ไตอักเสบเรื้อรัง ด้วยการใช้ต้นสด หญ้าไผ่หยอง และฉั่งกีอึ๊ง อย่างละ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ต้น)[1]
- ต้นสดใช้ตำพอกรักษาแผลหกล้มเลือดออก (ต้น)[1]
- ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ต้นสดนำมาผิงไฟให้แห้ง แล้วนำมาบดให้เป็นผงผสมกับน้ำมันพืชทา (ต้น)[1]
- ใช้รักษาแผลเรื้อรัง แผลบวมอักเสบ แผลที่ถูกความร้อน[1]
- ต้นสดนำมาต้มใช้น้ำชะล้างรักษาแผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง (ต้น)[1]
- หากเป็นโรคผิวหนังผดผื่นคัน ฝีหนองอักเสบ ก็ให้ใช้ต้นสดมาต้มแล้วใช้น้ำชะล้าง (ต้น)[1],[2]
ขนาดและวิธีใช้ : ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนยาสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำหรือต้มกับน้ำรับประทาน การนำมาใช้ภายนอกให้ใช้ต้นสดตำพอกแผลหรือต้มเอาน้ำล้างแผลได้ตามต้องการ[2]
ข้อควรระวังในการใช้สังวาลพระอินทร์
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1],[2]
- เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้เป็นยามีพิษ จึงไม่ควรใช้เกินกว่าปริมาณที่กำหนด เพราะจะทำให้เกิดอาการชักได้[2]
- พืชชนิดนี้หากขึ้นพาดพันต้นที่มีพิษ เช่น ลำโพง ยี่โถ ฯลฯ ไม่ควรนำมาใช้ปรุงเป็นยา เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสังวาลพระอินทร์
- ทั้งต้นพบสารอัลคาลอยด์หลายชนิด เช่น cassiline, cassythidine, cassyfilline (cassythine), dulcitol, galactitol, laurotetanine, launobine, tannins และมีสารอัลคาลอยด์ชนิดอื่นอีกเล็กน้อย เป็นต้น[1],[2]
- สารสกัดจากต้นมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ ลดไข้ กดประสาทส่วนกลาง ลดความดันโลหิตร่วมกับกดการหายใจ[3]
- สารอัลคาลอยด์ที่สกัดได้จากต้น ถ้าใช้ในปริมาณมาก ๆ จะทำให้สัตว์ทดลองมีอาการชักและถึงตายได้ แต่ถ้าใช้ในขนาดน้อย ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อของสัตว์ทดลองมีการหดตัวและทำให้เส้นเอ็นเป็นตะคริว[1],[2],[3]
ประโยชน์ของสังวาลพระอินทร์
- ทั้งต้นใช้เป็นยาถ่ายพยาธิสำหรับวัวควาย โดยนำมาตำผสมกับน้ำปูนใสให้สัตว์กิน[3]
- ส่วนข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่าต้นใช้เป็นอาหารสัตว์ได้
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สังวาลพระอินทร์”. หน้า 771-772.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สังวาลพระอินทร์”. หน้า 548.
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สังวาลพระอินทร์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [11 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by André Cardoso, Nieminski, mutolisp, 翁明毅)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)