สังกรณีดง
สังกรณีดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepidagathis fasciculata (Retz.) Nees (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ruellia fasciculata Retz.) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1]
ลักษณะของสังกรณีดง
- ต้นสังกรณีดง จัดเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงและมีขน มีความสูงได้ถึง 30 เซนติเมตร[1]
- ใบสังกรณีดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะขอบใบเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน[1]
- ดอกสังกรณีดง ดอกเป็นสีขาว มีขนนุ่ม ขนาดไม่เกิน 4 เซนติเมตร โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง มีใบประดับเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-12 มิลลิเมตร[1]
- ผลสังกรณีดง ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนานแคบ แตกได้[1]
สรรพคุณของสังกรณีดง
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากสังกรณีดงจำนวน 3 ราก นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้จุกเสียด (ราก)[1]
- ทั้งต้นใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น ได้แก่ ต้นหรือรากหนาดคำ หรือต้นหรือรากผักอีหลืน ตรีชวาทั้งต้น และหัวยาข้าวเย็น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย (ทั้งต้น)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สังกรณีดง”. หน้า 143.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)