สังกรณี
สังกรณี ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria strigosa Willd. จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1]
สมุนไพรสังกรณี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ไฟนกคุ้ม (ปราจีนบุรี), กำแพงใหญ่ (เลย), กวางหีแฉะ (สุโขทัย), จุกโรหินี (ชลบุรี), หญ้าหงอนไก่ หญ้าหัวนาค (ภาคเหนือ), เพิงดี (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น[1],[2],[4]
ลักษณะของสังกรณี
- ต้นสังกรณี จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขารอบ ๆ ต้นมากมาย มีความสูงของลำต้นประมาณ 60-120 เซนติเมตร ตามต้นไม่มีหนาม ตามกิ่งก้านมีขนสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นมากตามป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าดงดิบ และป่าดิบแล้ง[1],[2]
- ใบสังกรณี ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างยาวหรือเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลมและมีติ่ง โคนใบแหลมและค่อย ๆ เรียวแหลมไปจนถึงก้านใบ ส่วนขอบใบมีขนเป็นหนามเล็ก ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ท้องใบมีขนยาวตามเส้นใบ ส่วนหลังใบมีขนบ้างประปราย ก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกสังกรณี ออกดอกเป็นช่อกระจะแน่น โดยจะออกตามง่ามใบหรือที่ปลายยอด มีดอกย่อยประมาณ 10 ดอก ดอกมีใบประดับเป็นรูปรีหรือรูปหอก มี 2 แผ่น กว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ปลายแหลม ขอบหยักเป็นซี่ฟันถี่ เป็นชายครุย หุ้มโคนดอก ดอกย่อยเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 2 กลีบ เรียงตัวตรงข้ามกันเป็นคู่ เชื่อมกันที่โคน ปลายแยก คู่ด้านนอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปลายแหลม ส่วนขอบหยักซี่ฟันถี่ เป็นชายครุย ส่วนคู่ด้านนอกในเป็นรูปใบหอกขนาดเล็ก มีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ปลายเรียวแหลม ขอบกลีบมีขนต่อม กลีบดอกมีด้วยกัน 5 กลีบ เชื่อมกันเป็นหลอด รูปปากเปิด สีม่วงอ่อน หลอดกลีบดอกยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร ด้านนอกเรียบ ส่วนด้านในขรุขระ กลีบปากด้านบนมี 4 แฉก ในแต่ละแฉกจะมีขนาดใกล้เคียงกัน ลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปรี กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ปลายแฉกมนถึงกลม ขอบเรียบ ผิวด้านนอกมีขนต่อม กลีบปากด้านล่างมี 1 กลีบ ขนาดใหญ่ เป็นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายแฉกมนกลมถึงเว้าตื้น ขอบเรียบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดที่โคนหลอดกลีบดอก แบ่งเป็นคู่ 2 คู่ เกสรเพศผู้คู่ยาวมีก้านเกสรยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ช่วงโคนมีขนสั้น ช่วงปลายเรียบ อับเรณูเป็นรูปขอบขนานมีสีม่วง มีขนาดกว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร แตกตามแนวยาว ส่วนเกสรเพศผู้คู่สั้นมีก้านเกสรยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีขนสั้นขึ้นปกคุลมตลอดความยาว อับเรณูจะมีขนาดเล็ก กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร และมีเกสรเพศผู้ทีเป็นหมันอีก 1 อัน ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร แทรกอยู่ระหว่างกลาง เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน กว้างได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผิวเรียบ ด้านในแบ่งเป็นช่อง 2 ช่อง ในแต่ละช่องจะมี 2 ออวุล ติดอยู่ที่แกนจานฐานดอก สูงได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร หุ้มรอบรังไข่ ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนมกราคม[5]
- ผลสังกรณี ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักแบนเกลี้ยง สีน้ำตาล พอแห้งจะแตกได้ ภายในผลมีเมล็ดอยู่ 4 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมแบน[1],[2],[5]
สรรพคุณของสังกรณี
- ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ทั้งต้น)[2],[3],[4]ส่วนคนเมืองจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำร่วมกับสมุนไพรฮ่อสะพานควาย และดู่เครือ ใช้ดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)[7]
- ในประเทศไทยจะใช้รากปรุงเป็นยาถอนพิษไข้กาฬ โดยผสมกับเครื่องยาอื่น ๆ เป็นยาดับพิษไข้ทั้งปวง และเป็นยาแก้ไอ (ราก)[1],[2],[3]
- รากมีรสขม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ ดับพิษร้อน ช่วยลดความร้อนในร่างกาย (ราก)[1],[2],[4]
- ใบใช้เป็นยาแก้ไข้หวัดใหญ่ (ใบ)[6]
- ช่วยแก้ไข้จับสั่น (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
- ในประเทศอินเดียจะใช้รากสังกรณีปรุงเป็นยาแก้ไอ (ราก)[1]
- ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการไอเป็นเลือด (ทั้งต้น)[5]
- รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โลหิตกำเดา (ราก)[4],[5] ส่วนบางข้อมูลระบุว่าใบสังกรณีก็นำมาใช้เป็นยาแก้กำเดาได้เช่นกัน (ใบ)[6]
- ใบใช้เป็นยาแก้คออักเสบ (บางข้อมูลระบุว่าช่วยแก้ต่อมทอลซิลอักเสบ และแก้วัณโรคปอดได้ด้วย) (ใบ)[6]
- ช่วยขับปัสสาวะ และแก้ปัสสาวะพิการ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[8]
- ทั้งต้นใช้ดองกับเหล้าเป็นยาบำรุงกำหนัด (ทั้งต้น)[5]
- ตำรับยาขับน้ำคาวปลาหลังการคลอดบุตรของสตรี ระบุให้ใช้รากสังกรณี รากชุมเห็ดไทย รากหรือต้นก้างปลาแดง นำมาต้มกับน้ำดื่ม เป็นยาร้อน จะช่วยขับน้ำคาวปลาหลังคลอดได้ (ราก)[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สังกรณี”. หน้า 769-770.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สังกรณี (Sang Korani)”. หน้า 295.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “สังกรณี”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 180.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สังกรณี”. หน้า 44.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สังกรณี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [06 มิ.ย. 2014].
- งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน, โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ. “สังกรณี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.wattano.ac.th. [06 มิ.ย. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “สังกรณี”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [06 มิ.ย. 2014].
- การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี). “ขี้ไฟนกคุ่ม / สังกรณี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: inven.dnp9.com/inven/. [06 มิ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Paco Garin, John Elliott), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)