สละ
สละ ชื่อสามัญ Salak, Zalacca
สละ ชื่อวิทยาศาสตร์ Salacca zalacca (Gaertn.) Voss (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calamus salakka Willd. ex Steud., Calamus zalacca Gaertn., Salacca edulis Reinw., Salacca rumphii Wall.) จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE
ต้นสละ เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีมากมายหลายกว่า 30 สายพันธุ์ โดยพันธุ์ที่นิยมรับประทานมากที่สุดคือ สละอินโด หรือสละพันธุ์ปนโดะห์ (Salak pondoh) จากเมืองยอร์กยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากมีรสหวาน กลิ่นหอมน่ารับประทาน และสละพันธุ์บาหลี (Salak Bali) จากเกาะบาหลี ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว มีรสชาติอมเปรี้ยว เนื้อเยอะ
ลักษณะของสละ
- ต้นสละ จะมีหนามแข็งแหลมออกจากก้านใบ ดอกแยกเพศสีน้ำตาล โดยสละออกผลเป็นทะลายเรียกว่า “คาน” ซึ่งในแต่ละคานก็จะมีทะลายย่อยซึ่งเราจะเรียกว่า “กระปุก”
- ผลสละ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรียาว ผลอ่อนเป็นสีน้ำตาล ส่วนผลแก่เป็นสีแดงอมน้ำตาล เปลือกเป็นเกล็ดซ้อนกัน และบนผลมีขนแข็งสั้นคล้ายหนาม
สำหรับสายพันธุ์สละที่นิยมปลูกในประเทศไทยก็มีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น สละเนินวง (ผลหัวท้ายเรียว สีส้มอมน้ำตาล มีหนามยาว ผลดิบรสฝาด ส่วนผลสุกมีรสหวานหอม), สละหม้อ (ผลยาว ปลายแหลมเป็นจะงอย และเปลือกมีสีแดงเข้ม), สละสุมาลี (ผลป้อมสั้น เนื้อมีส้มคล้ายระกำ แถมทรงต้นยังคล้ายระกำอีกด้วย)
สละกับระกําต่างกันยังไง ? ผลระกำจะออกเป็นทะลาย ลูกจะป้อม ๆกลม ๆอ้วน ๆ เปลือกหุ้มผลเป็นเกล็ดสีน้ำตาลหรือดำ ถ้าแก่ผลจะเป็นสีแดง หนึ่งผลจะมีกลีบ 2-3 กลีบ เนื้อน้อย มีสีเหลืองอมส้มมีรสเปรี้ยวมาก เมล็ดใหญ่ มีหนามเยอะและยาวกว่าหนากว่าสละ ส่วนสละจะผลสีคล้ำออกน้ำตาล หนามที่เปลือกไม่แข็งเท่าระกำ มีผลยาวกว่า เนื้อเยอะกว่า เนื้อเป็นสีเหลืองอ่อน ผลมี 1-2 กลีบ เมล็ดเล็กกว่าระกำ มีรสชาติหวานกว่า การแกะรับประทานก็ง่ายกว่าระกำ และลักษณะของต้นสละทางใบจะสั้นกว่าต้นระกำ ลำต้นก็เตี้ยกว่าด้วย (ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ด้วย)
Tip วิธีปอกเปลือกสละ เทคนิคง่าย ๆ ก็คือต้องปอกเปลือกจากปลายหางแล้วบิดเฉียงตามรูป จะทำให้ลูกสละที่อยู่ในด้านในไม่สกปรกด้วยหนามของเปลือกสละ และวิธีนี้ก็ทำให้ไม่โดนหนามของเปลือกสละทิ่มหรือตำมือด้วย ง่าย ๆ ใช่ไหมละครับ
ประโยชน์ของสละ
- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับร่างกาย
- สละเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- ช่วยบำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ (โพแทสเซียมและเพกทิน)
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา ป้องกันอาการตาบอดตอนกลางคืน
- ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง (แคลเซียมและฟอสฟอรัส)
- ช่วยบำรุงและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
- ช่วยบำรุงเลือด ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
- ช่วยป้องกันอาการหวัด บรรเทาอาการไอ
- ใช้เป็นยาขับเสมหะ (เนื้อสละ)
- ช่วยป้องกัน รักษา และบรรเทาอาการของโรคท้องร่วง
- ช่วยในการย่อยอาหาร ลดกรดในกระเพาะ ป้องกันอาการท้องผูก
- ในต่างประเทศมีการนำใบของต้นสละมาทำเป็นชาผสมกับน้ำผึ้ง เพื่อใช้รักษาและบรรเทาอาการของโรคริดสีดวง
ประโยชน์ของสละ
- ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ทำน้ำผลไม้
- สละเป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก
- ปกติแล้วนิยมรับประทานเป็นผลไม้สด สละลอยแก้ว ใช้ทำน้ำผลไม้ หรือนำไปสกัดกลิ่นเพื่อใช้แต่งกลิ่นอาหาร เป็นต้น
คำแนะนำ : ตามความเชื่อของคนบ้านเรา เขาถือกันว่ากันว่าห้ามซื้อสละเป็นของฝากให้กับข้าราชการในช่วงเดือนที่เป็นฤดูการโยกย้าย (น่าจะประมาณเดือนกันยายนนะครับ)
วิธีทําสละลอยแก้ว
คุณค่าทางโภชนาการของสละปนโดะห์ ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 368 กิโลแคลอรี
- ไขมัน 0.4 กรัม
- โปรตีน 0.8 กรัม
- วิตามินซี 8.4 มิลลิกรัม 10%
- ธาตุแคลเซียม 38 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุเหล็ก 3.9 มิลลิกรัม 30%
- ธาตุฟอสฟอรัส 18 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุโซเดียม 0 มิลลิกรัม 0%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่
แหล่งอ้างอิง : หนังสือผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน (ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, นิดดา หงษ์วิวัฒน์), FoodTravel.tv (วิธีทำสละลอยแก้ว), www.zimbio.com, www.healthbenefitstimes.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)