สร้อยอินทนิล
สร้อยอินทนิล ชื่อสามัญ Bengal clock vine, Blue Trumpet, Blue Skyflower, Skyflower, Clock vine, Heavenly Blue[1],[5],[6]
สร้อยอินทนิล ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia grandiflora (Roxb. ex Rottl.) Roxb.[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[5]
สมุนไพรสร้อยอินทนิล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ย่ำแย้ (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์), ช่ออินทนิล (กรุงเทพฯ), น้ำผึ้ง (ชลบุรี), คาย (ปัตตานี), ปากกา (ยะลา), ช่องหูปากกา (ภาคใต้) เป็นต้น[1]
ลักษณะของสร้อยอินทนิล
- ต้นสร้อยอินทนิล มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตอนเหนือ พม่า และไทย จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นไปได้ไกล 15-20 เมตร เถามีลักษณะกลม เปลือกเถาเป็นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตื้น ๆ และจะลอกออกเป็นสะเก็ดบาง ๆ เล็ก ๆ ส่วนต้นที่อายุน้อยเปลือกจะเรียบและเป็นสีเขียวเข้ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การปักชำเถาหรือหน่อ ปลูกได้ในดินทั่วไป เจริญเติบโตได้เร็ว ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวัน[1],[3],[5],[6] พบขึ้นกระจายตั้งแต่ทางตอนเหนือของอินเดียไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามที่โล่งหรือชายป่า หรือตามป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงใกล้กับระดับน้ำทะเลไปจนถึง 1,200 เมตร สามารถออกดอกและติดผลได้ตลอด[4]
- ใบสร้อยอินทนิล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจหรือเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเว้าเป็นแฉกตื้น ๆ 3-5 พู ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบด้านบนมีขนสากคายมือ ส่วนท้องใบด้านล่างเกลี้ยง มีก้านใบยาว มีเส้นใบออกจากโคนใบประมาณ 3-5 เส้น และแตกแขนงสานกันเป็นร่างแห ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม ก้านใบยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร และมีขนปกคลุมที่สกระคายมือ[1],[2],[4]
- ดอกสร้อยอินทนิล ดอกมีลักษณะคล้ายกับดอกรางจืด โดยดอกจะออกเป็นช่อ โดยจะออกที่ปลายยอดหรือปลายกิ่ง ห้อยลง ดอกย่อยเป็นสีม่วงแกมสีน้ำเงินหรือเป็นสีฟ้าอ่อนถึงสีฟ้าเข้ม มีใบประดับหรือกลีบเลี้ยงขนาดใหญ่ 2 ใบ เป็นสีเขียว มีประจุดดำเล็ก ๆ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปโล่ ปลายมนแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และกลีบเลี้ยงจะหลุดร่วงเมื่อดอกบาน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่า ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปโล่ ปลายกลีบดอกมน ขอบกลีบดอกบิดย้วยและหยักเล็กน้อย มีขนาดกว้างประมาณ 2.7-3.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดใหญ่ ๆ ส่วนปลายบานออก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-8 เซนติเมตร โคนกลีบดอกด้านล่างมีแต้มสีม่วงเข้ม ภายในหลอดเป็นสีเหลืองนวล ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน แบ่งเป็นขนาดสั้น 2 อัน และยาว 2 อัน และมีเกสรเพศเมียที่อยู่ในหลอดดอก ดอกจะทยอยบานจากโคนช่อไปยังหลายช่อ และสามารถออกดอกได้ตลอดปี[1],[3],[4]
- ผลสร้อยอินทนิล ผลเป็นผลแห้งและแตกออกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ปลายสอบแหลมเป็นจะงอยคล้ายปากนก ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่จะเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีกจากปากจะงอย และโดยทั่วไปต้นสร้อยอินทนิลจะไม่ติดผลและเมล็ด[1],[4]
สรรพคุณของสร้อยอินทนิล
- ราก ใบ ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก,ใบ,ทั้งต้น)[1],[2]
- ใบใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง (ใบ)[4]
- ชาวเขาเผ่าอีก้อจะใช้ ราก ใบ ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (ราก,ใบ,ทั้งต้น)[1],[2]
- ใบใช้เป็นยารักษาแผลสด แผลถลอก และช่วยห้ามเลือด (ใบ)[1],[2]
- ใบนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำมาทา พอก หรือเคี้ยวกินเป็นยาแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน และหูด (ใบ)[1],[2]
- ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ บวมเป็นก้อน ติดเชื้อ (ใบ)[1],[2]
- รากและเถาใช้เป็นยาพอกแก้ฟกช้ำบวม หรือใช้ตำพอกแผลแก้อักเสบ (รากและเถา)[4]
- ใบใช้เป็นยารักษากระดูกหัก มีอาการปวดกระดูก (ใบ)[1],[2]
ประโยชน์ของสร้อยอินทนิล
- ต้นนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ปลูกประดับในซุ้มโปร่งเพราะจะมองเห็นดอกห้อยลงมาดูสวยงามมา หรือปลูกริมทะเลก็ได้ ดอกมีความสวยงาม สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[4],[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สร้อยอินทนิล (Soi Intanin)”. หน้า 288.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “สร้อยอินทนิล”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 176.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สร้อยอินทนิล”. หน้า 212.
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. “สร้อยอินทนิล”.
- ความเหมือนที่แตกต่างแห่งพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สร้อยอินทนิล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [08 มิ.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “สร้อยอินทนิล” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [08 มิ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Reinaldo Aguilar, Laszlo Bolgar, Mauricio Mercadante, Burnt Umber, 3Point141, Andre Benedito)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)