สร้อยทับทิม
สร้อยทับทิม ชื่อวิทยาศาสตร์ Persicaria barbata (L.) H.Hara (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Polygonum barbatum L.) จัดอยู่ในวงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)[1]
สมุนไพรสร้อยทับทิม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักไผ่น้ำ (น่าน), ผักแพรวกระต่าย ส่วนทางภาคกลางเรียก “สร้อยทับทิม” เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของสร้อยทับทิม
- ต้นสร้อยทับทิม จัดเป็นพืชล้มลุก มีอายุได้หลายฤดู ลำต้นตั้งตรงและมีขน มีความสูงได้ประมาณ 40-80 เซนติเมตร เห็นข้อปล้องชัดเจน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำลำต้น ชอบขึ้นบริเวณริมน้ำ ริมคลอง หรือในที่น้ำท่วมขังตื้น ๆ พบขึ้นทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง[1],[2]
- ใบสร้อยทับทิม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ก้านใบสั้น ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบมีขนที่ริมใบและเส้นกลางใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านมีขนขึ้นปกคลุม มีหูใบหรือกาใบแผ่เป็นแผ่นบางหุ้มรอบลำต้นและมีขน ทำให้บริเวณข้อโป่งพองออก[1]
- ดอกสร้อยทับทิม ออกดอกเป็นช่อชาวตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีม่วงแกมชมพู[1]
- ผลสร้อยทับทิม ผลเป็นผลแห้งไม่แตก เป็นมัน[1]
สรรพคุณของสร้อยทับทิม
- ชาวเขาเผ่าแม้วจะใช้ใบสร้อยทับทิม นำมาตำคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ใบ)[1]
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบสร้อยทับทิมสด ผสมกับยาเส้น คั้นเอาน้ำทารักษาเกลื้อน เรื้อน และอาการคัน (ใบ)[1]
ประโยชน์ของสร้อยทับทิม
- ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดได้[2]
- ใช้ปลูกเป็นพรรณไม้ประดับน้ำสวนน้ำทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สร้อยทับทิม”. หน้า 174.
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักแพรวกระต่าย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [17 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, Foggy Forest, paco2046), www.kinmatsu.idv.tw
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)