สมี
สมี ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesbania sesban (L.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1]
สมุนไพรสมี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักฮองแฮง สะเภาลม (ภาคเหนือ) เป็นต้น (ส่วนภาคกลางเรียก “สมี“)[1]
หมายเหตุ : นอกจากสมีจะเป็นชื่อของไม้ล้มลุกชนิดนี้แล้ว “สมี” (สะหฺมี) ยังเป็นคำที่ใช้เรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก หรือผู้ถูกไล่สึกจากการเป็นพระเพราะต้องอาบัติปาราชิก (พระนอกรีต) ซึ่งสาเหตุที่ส่งผลให้อาบัติถึงขั้นปาราชิก ได้แก่ เสพเมถุน ลักขโมย ฆ่าคน และพูดอวดคุณวิเศษ โดยบุคคลที่เป็นสมี จะบวชอีกไม่ได้ตลอดชีวิต (ข้อมูลจาก : พจนานุกรม อ.เปลื้อง ณ นคร)
ลักษณะของต้นสมี
- ต้นสมี จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 3-5 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง แตกกิ่งก้านได้น้อย ตามต้นมีขนสีขาวปกคลุม[1]
- ใบสมี ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 12-18 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน[1]
- ดอกสมี ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกเป็นสีเหลืองสด กลีบบนด้านนอกมีประสีน้ำตาล ส่วนกลีบเเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกัน[1]
- ผลสมี ออกผลเป็นฝักยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก[1]
สรรพคุณของสมี
- ใบใช้เป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[1]
- ใบใช้เป็นยาเขียวหรือใช้สุมหัวเด็กเป็นยาแก้หวัด แก้อาการปวดหัวตัวร้อน (ใบ)[1]
- ช่วยลดความเย็นในร่างกาย (ใบ)[1]
- ใบใช้เป็นยากระทุ้งพิษ (ใบ)[1]
- คนเมืองจะใช้กิ่งนำมาแช่กับน้ำร่วมกับฝอยลม (จามลม) และเห็ดลม แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้อาบเพื่อรักษาตุ่มคัน หรืออาการแพ้ (กิ่ง)[2]
ประโยชน์ของสมี
- ใบนำมาใช้ในพิธีพลีกูณฑ์ของพราหมณ์ (ข้อมูลจาก : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 )
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “สมี”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 174.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “สมี”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [10 มิ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Penny Wang, Phuong Tran, Dinesh Valke)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)