สมอพิเภก สรรพคุณและประโยชน์ของสมอพิเภก 29 ข้อ !

สมอพิเภก

สมอพิเภก ชื่อสามัญ Beleric Myrobalan, Ink Not, Bahera, Beleric

สมอพิเภก ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb. จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)

สมุนไพรสมอพิเภก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลัน (เชียงราย), สะคู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ซิบะดู่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แหน แหนต้น แหนขาว (ภาคเหนือ), สมอแหน (ภาคกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของสมอพิเภก

  • ต้นสมอพิเภก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงราว 15-35 เมตร ลักษณะเป็นทรงเรือนยอดกลมแผ่กว้างและค่อนข้างทึบ มีลำต้นเปราตรง โคนต้นมักขึ้นเป็นพูพอน เปลือกต้นมีสีเทาอมน้ำตาลหรือเป็นสีดำ ๆ ด่าง ๆ เป็นแห่ง ๆ เปลือกต้นค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ไปตามความยาวของต้น เปลือกด้านในมีสีเหลือง ส่วนกิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนอยู่ประปราย ขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยวิธีการปักชำและการตอนกิ่ง สามารถขึ้นได้ทั่วไปตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-400 เมตร ส่วนทางภาคใต้มักจะพบขึ้นตามป่าดงดิบ

ต้นสมอพิเภกเปลือกต้นสมอพิเภก
  • ใบสมอพิเภก ใบเป็นใบเดี่ยวติดเวียนกันเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปทรงรีแกมรูปไข่หัวกลับ มีความกว้างประมาณ 9-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 13-19 เซนติเมตร โคนใบสอบมาสู่ก้านใบ และส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบจะผายกว้าง ขอบใบเรียบ ที่ปลายสุดของใบจะหยักคอดเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบมีเส้นแขนงใบโค้งอ่อนประมาณ 6-10 คู่ เส้นใบเป็นแบบร่างแหเห็นได้ชัดเจนทางด้านท้องใบ ท้องใบมีสีจางหรือสีเทามีขนนุ่ม ๆ คลุมอยู่ ส่วนหลังใบมีสีเขียวเข้มและมีสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป แต่ใบทั้งสองด้านขนจะหลุดร่วงออกไปเองเมื่อใบแก่จัด และก้านใบมีความประมาณ 4-6 เซนติเมตร ที่บริเวณกึ่งกลางก้านจะมีต่อมหรือตุ่มหูดอยู่ 1 คู่

ใบสมอพิเภก

  • ดอกสมอพิเภก ออกดอกเป็นช่อเดี่ยว ๆ แบบหางกระรอกตามง่ามใบหรือรอยแผลใบตามกิ่ง ปลายช่อดอกจะห้อยย้อยลง ช่อมีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดอกสมอพิเภกมีขนาดเล็กสีขาวอมเหลือง ดอกตัวผู้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามปลายช่อ ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่ตามโคนช่อ ส่วนกลีบฐานดอกจะมีกลีบ 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยเล็ก ๆ และทั้งหมดมีขนอยู่ทั่วไป โดยเกสรตัวผู้จะมีอยู่ด้วยกัน 10 ก้าน เรียงซ้อนกันอยู่เป็นสองแถว ส่วนรังไข่ค่อนข้างแป้น ภายในมีช่องเดียวและมีไข่อ่อนอีก 2 หน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว

ดอกสมอพิเภก

  • ผลสมอพิเภก หรือ ลูกสมอพิเภก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี มีความกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร มีสัน 5 สัน ผิวภายนอกปกคลุมไปด้วยขนสีน้ำตาลอยู่หนาแน่น ผลมักออกรวมกันเป็นพวงโต ๆ เมล็ดเดี่ยวแข็ง ผลอ่อนมีรสเปรี้ยว ส่วนผลแก่มีรสเปรี้ยวฝาดหวาน (ฝาดแบบสุขุม) และเมล็ดในมีรสฝาด

สมอพิเภก

ลูกสมอพิเภก

สมุนไพรสมอพิเภก ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ได้แก่ ผลอ่อน ผลแก่ ดอก ใบ เปลือก แก่น ราก และเมล็ดใน

สรรพคุณของสมอพิเภก

  1. ผลแห้งสมอพิเภกมีสรรพคุณใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (ผลแห้ง)
  2. ผลแก่มีรสฝาดช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยแก้ธาตุกำเริบ (ผลแก่, ผลแห้ง)
  3. ผลสุกใช้เป็นยาเจริญอาหาร ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น (ผลสุก)
  4. รากสมอพิเภกใช้ต้มดื่มช่วยแก้พิษโลหิต ซึ่งทำให้มีอาการร้อนได้ (ราก)
  5. ผลอ่อนมีรสเปรี้ยวช่วยแก้ไข้ (ผลอ่อน, ผลแก่)
  6. ผลแห้งช่วยรักษาอาการไอและไข้เจือลม (ผลแห้ง)
  7. ลูกสมอพิเภกช่วยแก้ไข้เพื่อเสมหะ (ผลอ่อน)
  8. ช่วยแก้เสมหะจุกคอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ (ผลแก่)
  9. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ เสียงแห้ง (ผลแห้ง)
  10. ผลอ่อนช่วยแก้ลม (ผลอ่อน)
  11. ดอกช่วยแก้โรคในตา รักษาโรคตา แก้ตาเปียกแฉะ (ผลแก่, ดอก)
  1. ช่วยแก้อาการบิด บิดมูกเลือด (เมล็ดใน)
  2. ผลอ่อนใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย โดยใช้ผลโตแต่ยังไม่แก่ประมาณ 2-3 ผล นำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว พร้อมใส่เกลือเล็กน้อย แล้วใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว (ผลอ่อน)
  3. ผลแก่ใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) โดยใช้ผลแก่ประมาณ 2-3 ผล นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้วและใส่เกลือเล็กน้อย เคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้วและนำมาใช้ดื่มแก่อาการ (ผลแก่)
  4. ผลแก่ช่วยรักษาโรคท้องมาน (ผลแก่)
  5. ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับปัสสาวะพิการ (เปลือกต้น)
  6. เปลือกสมอพิเภกมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ โดยใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกต้น)
  7. ช่วยแก้ริดสีดวงทวารหนัก ส่วนแก่นช่วยแก้ริดสีดวงพรวก (ผลแก่, แก่น)
  8. ช่วยรักษาโรคเรื้อน (ผล)
  9. ผลช่วยแก้ผิวหนังเป็นตุ่มหนอง (ผล)
  10. ใบช่วยรักษาบาดแผล แผลติดเชื้อ โดยใช้ใบสดนำมาตำแล้วนำมาพอกรักษาแผล (ใบ)
  11. ในประเทศแถบอินโดจีนใช้ผลแห้งเป็นยาฝาดสมาน (ผลสุกเต็มที่, ผลแห้ง)
  12. ในตำรายาไทย สมุนไพรสมอพิเภกจัดอยู่ตำรับยา “พิกัดตรีผลา” ซึ่งประกอบไปด้วย ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย และลูกมะขามป้อม ซึ่งตำรับยาชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยแก้ปิตตะ วาตะ เสมหะ กองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฎฐาน
  13. ลูกสมอพิเภกจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีสมอ” ซึ่งประกอบไปด้วย ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย และลูกสมอเทศ ซึ่งตำรับยาชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยผายธาตุ รู้ถ่ายรู้ปิดเอง และช่วยแก้เสมหะ
  14. ในบัญชียาจากสมุนไพรตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา สมอพิเภกจัดให้อยู่ในตำรับยา “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งเป็นยาในกลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นในหน้าอกในผู้สูงอายุ และแก้ลมปลายไข้ (อาการหลังจากฟื้นไข้แล้วมีอาการคลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และท้องอืด)
  15. สารสกัดจากสมุนไพรสมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งได้ (ผศ.ดร.สีหณัฐ ธนาภรณ์)

ข้อควรรู้ ! : ผลหากใช้รับประทานมาก ๆ จะเป็นยาเสพติดและทำให้หลับได้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสมอพิเภก

  • สมุนไพรสมอพิเภก มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา ต้านยีสต์ ต้านไข้มาลาเรีย แก้หืด แก้ไอ แก้หวัด ช่วยลดความดันโลหิต ยับยั้งระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ป้องกันหลอดเลือดอุดตัน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันเบาหวาน ช่วยเร่งการสร้างน้ำดี ช่วยรักษาดีซ่าน ป้องกันฟันผุ ช่วยลดอาการอักเสบ รักษาสิว ช่วยคลายกล้ามเนื้อมดลูกของสตรี ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก ช่วยยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase, HIV-1 Protease ช่วยฆ่าไส้เดือน และเป็นพิษต่อปลา (ข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)

ประโยชน์ของสมอพิเภก

  • เมล็ดสมอพิเภกสามารถนำมาทุบกินเนื้อข้างในได้ (ลั้วะ)
  • นอกจากผลจะใช้รับประทานเป็นยาระบายแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ย้อมสีผ้าโดยจะให้สีขี้ม้า ส่วนเปลือกต้นจะให้สีเหลือง และยังใช้ฟอกหนัง ทำหมึกได้อีกด้วย
  • เนื้อไม้ของต้นสมอพิเภกสามารถนำมาใช้ทำพื้น หีบใส่ของ ทำฝา ใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ ทำคันไถ เครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ เรือขุด เป็นต้น

แหล่งอ้างอิง : ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ผศ.ดร.สีหณัฐ ธนาภรณ์ สาขาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), พจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม)

ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.flickr.com (by go green globe, dinesh_valke), เว็บไซต์ daramuseum.blogspot.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด